x close

วิธีรักษาโควิดด้วยตัวเองเบื้องต้น เมื่อต้อง Home Isolation กักตัวที่บ้าน

           สำหรับคนติดโควิด 19 มีอาการไม่รุนแรง และใช้วิธีกักตัวที่บ้าน หรือ Home Isolation ควรปฏิบัติตัวอย่างไร เพื่อไม่ให้คนในบ้านติดเชื้อไปด้วย และรักษาตัวเองอย่างไรให้หายเร็วขึ้น มาทำความเข้าใจกัน
          สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ในช่วงกลางปี 2565 มีแนวโน้มลดลง ขณะที่ผู้ติดโควิดสายพันธุ์โอมิครอนส่วนใหญ่ไม่มีอาการ ส่วนคนที่มีอาการก็มักเป็นแค่เจ็บคอ ไอ มีไข้ ซึ่งไม่รุนแรงมาก การรักษาจึงเน้นดูแลแบบกักตัวที่บ้าน หรือ Home Isolation เป็นหลัก หรือถ้าอยู่ใน Hospitel และโรงพยาบาล ก็ใช้เวลาเพียงระยะสั้น ๆ แล้วกลับไปพักฟื้นต่อที่บ้านได้

          แล้วถ้าเราเป็นหนึ่งในผู้ป่วยโควิดที่ต้องกักตัวที่บ้านเราต้องทำอะไรบ้าง ดูแลตัวเองและป้องกันคนรอบข้างไม่ให้สัมผัสเชื้อไวรัสได้อย่างไร มาดูคำแนะนำกัน
 

ตรวจ ATK แล้วผลเป็นบวก ทำไงดี นี่เราติดโควิดชัวร์แล้วหรือยัง ?

ใครกักตัวที่บ้านได้บ้าง
Home Isolation

          ผู้ป่วยในกลุ่มสีเขียว คือ ไม่มีอาการ หรือมีอาการเล็กน้อย เช่น เจ็บคอ จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส ไอ มีน้ำมูก มีผื่น ถ่ายเหลว ตาแดง มีไข้ 37.5 องศาเซลเซียสขึ้นไป สามารถเข้าสู่กระบวนการรักษาด้วยการไปรับยาที่โรงพยาบาลตามสิทธิและแยกกักตัวที่บ้าน (เจอ แจก จบ) 

         แต่หากใครอยู่ในกลุ่มเสี่ยง คือเป็นผู้ป่วยสีเหลืองและสีแดง อาจได้เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล หรือ Hospitel ตามการพิจารณาของแพทย์ ซึ่งคนกลุ่มเสี่ยง ได้แก่

  • มีอาการแน่นหน้าอก หายใจลำบาก หายใจเร็ว หายใจเหนื่อย

  • ปอดอักเสบ ไอแล้วเหนื่อย

  • อ่อนเพลีย ถ่ายเหลวมากกว่า 3 ครั้งต่อวัน

  • มีอาการแทรกซ้อนจากโรคประจำตัว

  • ในเด็กเล็ก มีอาการซึม หายใจลำบาก กินนม/อาหารน้อยลง

  • กลุ่ม 608 (ผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป, ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว 7 โรค คือ โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง, หัวใจและหลอดเลือด, ไตวายเรื้อรัง, โรคหลอดเลือดสมอง, โรคอ้วน น้ำหนักมากกว่า 90 กก., มะเร็ง, เบาหวาน และกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป)

ติดโควิด โทร. แจ้งที่ไหน ลงทะเบียนยังไง

          ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2565 หากติดโควิดและต้องการรักษาตัวที่บ้าน ไม่จำเป็นต้องโทร. แจ้งหน่วยงานไหน เพราะสามารถไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล แล้วรับยาแบบเจอ แจก จบ เพื่อกลับมากักตัวที่บ้านได้เลย ซึ่งหากใครต้องการรักษาฟรีจะต้องไปที่โรงพยาบาลตามสิทธิของตัวเอง ดังนี้

สิทธิบัตรทอง

  • รักษากับสถานพยาบาลที่ตัวเองขึ้นทะเบียนบัตรทองไว้ ซึ่งจะถูกจัดอยู่ในกลุ่มผู้ป่วยนอกที่แพทย์จะให้ยารักษาตามอาการ (เจอ แจก จบ) และให้กลับไปแยกกักตัวที่บ้าน 

  • รักษากับหน่วยบริการปฐมภูมิที่ไหนก็ได้ทั่วประเทศ โดยไม่ต้องใช้ใบส่งตัว เช่น สถานีอนามัย, รพ.สต., หน่วยบริการปฐมภูมิของโรงพยาบาล, ศูนย์สุขภาพชุมชน ศูนย์บริการสาธารณสุข รวมถึงคลินิกชุมชนอบอุ่น เป็นต้น

  • ร้านยาในโครงการ "เจอ แจก จบ" (รับเฉพาะผู้ป่วยโควิด 19 สีเขียว และใช้สิทธิบัตรทอง) เช็กรายชื่อร้านขายยาที่เข้าร่วมโครงการ ที่นี่

  • ลงทะเบียนพบหมอผ่านแอปพลิเคชัน เพื่อให้แพทย์ซักถามและจ่ายยาตามอาการ พร้อมจัดส่งยาให้ถึงบ้าน ฟรี รับเฉพาะผู้ป่วยโควิดสีเขียวที่ใช้สิทธิบัตรทองใน กทม. นนทบุรี นครปฐม ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร เท่านั้น โดยเลือกลงทะเบียนได้ที่
    • 1. แอปพลิเคชัน Good Doctor Technology ให้บริการโดย บริษัท กู๊ด ด็อกเตอร์ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด (คลิกที่นี่) 
    • หรือ 2. แอปพลิเคชัน MorDee (หมอดี) ให้บริการโดย บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด (คลิกที่นี่) 

สิทธิประกันสังคม

          รักษาได้ฟรีที่โรงพยาบาลตามสิทธิที่ตัวเองลงทะเบียนไว้ รวมทั้งสถานพยาบาลคู่สัญญาในระบบประกันสังคมทุกแห่ง

สิทธิข้าราชการ

ต้องกักตัวที่บ้านกี่วัน

          ผู้ป่วยจะเริ่มแพร่เชื้อก่อนมีอาการประมาณ 2-3 วัน ไปจนถึงสิ้นสุดสัปดาห์แรกของการเจ็บป่วยนับจากวันที่เริ่มมีอาการ แม้อาการดีขึ้นแล้วก็ยังมีเชื้อไวรัสหลงเหลือในน้ำมูก น้ำลาย ซึ่งแพร่ไปสู่ผู้อื่นได้อีกประมาณ 10 วัน หลังจากเริ่มป่วย

          ดังนั้น คนที่กักตัวที่บ้านต้องแยกตัวเองจากผู้อื่นขณะอยู่ที่บ้านเป็นเวลาอย่างน้อย 10 วัน นับตั้งแต่วันที่เริ่มป่วยหรือตรวจพบเชื้อ (นับวันที่ตรวจพบเชื้อ หรือวันที่มีอาการเป็นวันที่ 0) หากครบ 10 วันแล้วยังมีอาการอยู่ ควรแยกกักตัวต่อจนกว่าอาการจะหายไม่น้อยกว่า 24-48 ชั่วโมง 

วิธีรักษาโควิดด้วยตัวเองเบื้องต้น
Home Isolation

           ผู้ป่วยควรวัดอุณหภูมิร่างกายและระดับออกซิเจนของตัวเองทุกวัน และถ้ามีอาการอื่น ๆ ที่ไม่รุนแรงร่วมด้วยก็สามารถดูแลตัวเองเบื้องต้นได้ ดังนี้

หากมีไข้ขึ้นสูงกว่า 37.5 องศาเซลเซียส

  • รับประทานยาพาราเซตามอล 500 มิลลิกรัม ครั้งละ 1 เม็ด ทุก 4-6 ชั่วโมง หรือกินตามน้ำหนัก โดยสามารถกินได้ 10-15 มิลลิกรัม ต่อ​น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม แต่ห้ามเกิน 1,000 มิลลิกรัมต่อครั้ง แต่ถ้าแพ้ยาพาราเซตามอลให้เช็ดตัวแทน

  • ไม่ควรรับประทานยาแอสไพริน ไอบูโพรเฟน ยากลุ่ม NSAID อื่น ๆ เพราะอาจส่งผลกระทบต่ออาการโควิด 19

  • เช็ดตัวบ่อย ๆ เพื่อลดไข้

  • ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ 1.5-2 ลิตรต่อวัน

  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอจะช่วยให้ร่างกายฟื้นตัวเร็วขึ้น

หากมีอาการไอ เจ็บคอ

  • รับประทานยาแก้ไอ หรือยาอมบรรเทาอาการไอ

  • จิบน้ำผึ้งผสมน้ำอุ่น

  • ดื่มน้ำเยอะ ๆ เพื่อช่วยในการละลายเสมหะ ขับเสมหะออกง่าย

  • ควรนอนตะแคง หรือนอนหมอนสูง

  • หลีกเลี่ยงอาหารระคายคอ เช่น ของทอด ของมัน

หากมีอาการหวัด คัดจมูก หายใจไม่สะดวก

  • หายใจช้า ๆ ลึก ๆ ทางจมูกและปาก เหมือนกำลังจะเป่าเทียน

  • นั่งตัวตรง ไม่นั่งหลังค่อม ผ่อนคลายบริเวณหัวไหล่

  • เอนตัวมาข้างหน้าเล็กน้อย โดยใช้มือวางบนหน้าขาทั้งสองข้าง และหายใจลึก ๆ ยาว ๆ

  • รับประทานยาลดน้ำมูกได้

หากมีอาการท้องเสีย

  • ดื่มน้ำมาก ๆ และผสมน้ำเกลือ เพื่อให้ได้สารน้ำและเกลือแร่ชดเชย
  • ในเด็กอาจจผสมน้ำเกลือแร่และผสมน้ำหวานทำเป็นไอศกรีมแช่แข็งก็ช่วยให้กินได้ แต่ถ้าเด็กมีอาการซึมลงให้รีบปรึกษาแพทย์

หากอาเจียน

  • จิบน้ำเกลือแร่ หรือน้ำข้าวต้ม 
  • หลีกเลี่ยงอาหารย่อยยาก อาหารรสจัด

หากสงสัยว่าโควิดลงปอดหรือยัง ?

ให้เช็กตัวเองดังนี้

  • ทำกิจกรรมตามปกติแล้วรู้สึกเหนื่อยเร็วกว่าเดิม หรือมีอาการแน่นหน้าอก เหนื่อยหอบ หายใจลำบากมากขึ้น

  • ใช้เครื่องตรวจวัดระดับออกซิเจนในเลือดที่ปลายนิ้ว (Pulse Oximeter) หากมีปริมาณออกซิเจนในเลือดต่ำกว่า 96% จะแสดงถึงความผิดปกติที่ปอด 

  • ทดลองเดินเร็ว ๆ เป็นเวลา 6 นาที หากมีภาวะปอดอักเสบจะรู้สึกเหนื่อยง่าย รวมทั้งระดับออกซิเจนในเลือดอาจลดต่ำลงเหลือน้อยกว่า 96%

  • ทดสอบด้วยการออกกำลังกายด้วยการลุก-นั่ง 1 นาที แล้วลองวัดออกซิเจน ถ้าตกลงเกิน 3% หรือถ้าวัดชีพจรแล้วเกิน 120 ครั้งต่อนาที หรือคนไข้หายใจหอบเหนื่อยมาก พูดเป็นคำไม่ได้ แสดงว่าน่าจะมีปัญหาในปอด ทำให้ออกซิเจนไม่พอ

  • ถ้ามีอาการดังกล่าวให้นอนคว่ำ เพื่อให้เนื้อปอดส่วนหลังที่ถูกหัวใจกดทับขยายได้ดีขึ้น การแลกเปลี่ยนก๊าซของปอดดีขึ้น ระบายเสมหะได้ดีขึ้น ถ้านอนคว่ำไม่ได้ เช่น มีภาวะอ้วน หรือตั้งครรภ์ ให้นอนตะแคงเอาด้านซ้ายลง

  • ถ้าอยู่ในท่านอนนาน ๆ ให้ขยับขาบ่อย ๆ เพื่อป้องกันการเกิดลิ่มเลือด
     

อาการโควิดลงปอดเป็นยังไง พร้อมวิธีเช็กเบื้องต้น สัญญาณไหนต้องรีบรักษา

การใช้ฟ้าทะลายโจร

  • สำหรับคนติดเชื้อโควิดที่มีอาการไข้ หวัด เจ็บคอ ครั่นเนื้อครั่นตัว และไอ สามารถใช้ฟ้าทะลายโจรได้ โดยรับประทานสารสกัดฟ้าทะลายโจรที่มีแอนโดรกราโฟไลด์ (Andrographolide) ในปริมาณ 180 มิลลิกรัมต่อวัน แบ่งกินวันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร ติดต่อกันเป็นเวลา 5 วัน และไม่เกินนี้ 

  • ห้ามใช้ฟ้าทะลายโจรในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร ผู้ที่มีความดันต่ำ ผู้ที่แพ้ฟ้าทะลายโจร คนที่มีปัญหาเรื่องตับ เป็นต้น
     

วิธีกินฟ้าทะลายโจรรักษาโควิด 19 ควรใช้อย่างไร ต้องกินวันละเท่าไร

สิ่งที่ควรทำเมื่อ Home Isolation
Home Isolation

    1. ไม่ให้บุคคลอื่นมาเยี่ยมที่บ้าน และงดออกจากบ้าน

    2. อยู่ในห้องส่วนตัวตลอดเวลา หากยังไอ จาม ต้องสวมหน้ากากอนามัยแม้อยู่ในห้อง (ควรสวมหน้ากากอนามัย ไม่ใช้หน้ากากผ้า)

    3. ไม่อยู่ใกล้ชิดบุคคลอื่นในบ้าน ถ้าจำเป็นต้องสวมหน้ากากอนามัย และอยู่ห่างอย่างน้อย 1-2 เมตร 

    4. ล้างมือด้วยสบู่และน้ำ หรือเจลแอลกอฮอล์เป็นประจำ ทั้งหลังจากเข้าห้องน้ำ หรือก่อนสัมผัสจุดเสี่ยงที่ใช้ร่วมกันในบ้าน

    5. กรณีผู้ป่วยเป็นมารดาให้นมบุตร สามารถให้นมบุตรได้ แต่ต้องสวมหน้ากากอนามัย

    6. ใช้ห้องน้ำแยกจากคนอื่น แต่ถ้าเลี่ยงไม่ได้ควรเข้าเป็นคนสุดท้าย ปิดฝาชักโครกก่อนกดน้ำ ทำความสะอาดห้องน้ำ พื้นผิว โถสุขภัณฑ์ ด้วยน้ำและน้ำยาฟอกขาว หรือโซเดียมไฮโปคลอไรท์ 5% (เช่น ไฮเตอร์, คลอรอกซ์)

    7. แยกห้องพัก และไม่ใช้สิ่งของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น จาน แก้วน้ำ ช้อน-ส้อม ผ้าเช็ดตัว คอมพิวเตอร์

    8. ไม่ร่วมรับประทานอาหารกับผู้อื่น

    9. ทิ้งหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วและขยะปนเปื้อนในถุงพลาสติก ปิดปากถุงให้สนิทก่อนทิ้ง และล้างมือด้วยน้ำและสบู่ทันที

    10. วัดไข้และออกซิเจนในเลือดทุกวัน

อาการแบบไหนต้องส่งต่อโรงพยาบาล

          ในกรณีที่รักษาตัวอยู่บ้านแล้วมีอาการรุนแรงขึ้นดังต่อไปนี้ ให้รีบติดต่อโรงพยาบาลที่ใกล้บ้านที่สุด เพื่อให้เจ้าหน้าที่ประสานเข้าระบบการรักษาในโรงพยาบาล โดยเกณฑ์ในการนำส่งต่อผู้ป่วยเข้าโรงพยาบาล คือ

           1. เมื่อมีอาการไข้สูงกว่า 39 องศาเซลเซียส ระยะเวลานานกว่า 24 ชั่วโมง

           2. หายใจเร็วกว่า 25 ครั้งต่อนาที ในผู้ใหญ่

           3. ค่าออกซิเจนที่วัดปลายนิ้วต่ำกว่า 94%

           4. โรคประจำตัวที่มีการเปลี่ยนแปลง หรือจำเป็นต้องติดตามอาการอย่างใกล้ชิด ตามดุลยพินิจของแพทย์

           5. สำหรับในเด็ก หากมีอาการหายใจลำบาก ซึมลง ดื่มนมหรือรับประทานอาหารน้อยลง

           ทั้งนี้ การรักษาตัวที่บ้านต้องปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด เพื่อให้หายป่วยโดยเร็ว และป้องกันการแพร่เชื้อสู่คนในบ้าน

บทความที่เกี่ยวข้องกับโควิด 19

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
วิธีรักษาโควิดด้วยตัวเองเบื้องต้น เมื่อต้อง Home Isolation กักตัวที่บ้าน อัปเดตล่าสุด 27 กรกฎาคม 2565 เวลา 16:07:53 189,952 อ่าน
TOP