x close

สธ. ย้ำ ไทยยังไม่พบคนติดฝีดาษลิง เตรียมศูนย์คัดกรองสนามบิน เน้นประเทศกลุ่มเสี่ยง


            กรมควบคุมโรค แถลงมาตรการเฝ้าระวังโรคฝีดาษวานร หรือ ฝีดาษลิง ในประเทศไทย เริ่มสนามบินสุวรรณภูมิ ตั้งศูนย์บริการคัดกรอง เน้นประเทศกลุ่มเสี่ยง ยันไทยยังไม่มีรายงานพบผู้ป่วย

ฝีดาษลิง

            วันที่ 25 พฤษภาคม 2565 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แถลงมาตรการในการเฝ้าระวังโรคฝีดาษวานรของประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ กรมควบคุมโรค โดยกองด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศและกักกันโรค เริ่มให้บริการคัดกรองโรคฝีดาษลิงสำหรับผู้ที่เดินทางเข้าประเทศ ผ่านระบบ Thailand Pass ซึ่งจะช่วยให้ตรวจจับกลุ่มเสี่ยงได้รวดเร็วขึ้น และป้องกันการแพร่ระบาดในประเทศ หลังพบการแพร่ระบาดในหลายประเทศ และสามารถติดต่อจากคนสู่คนได้

การเฝ้าระวังโรคภายในประเทศ


            แม้ขณะนี้ ประเทศไทยยังไม่มีรายงานพบผู้ป่วยในเทศ กรมควบคุมโรคจึงได้เน้นการติดตามเฝ้าระวังผู้ที่เดินทางมาจากประเทศที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ประเทศในแถบทวีปแอฟริกากลาง เช่น ไนจีเรีย คองโก และประเทศในยุโรปที่มีการแพร่ระบาดภายในประเทศแล้ว อาทิ สหราชอาณาจักอังกฤษ แคนาดา สเปน และโปรตุเกส ซึ่งเมื่ออยู่ที่สนามบินในประเทศต้นทางอาจจะยังไม่แสดงอาการ แต่เมื่อมาถึงประเทศไทย อาจมีอาการได้

การเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ในประเทศไทย


            - เน้นการเฝาระวัง ผู้เดินทางเขาประเทศ, ผู้ป่วยรับการรักษาในโรงพยาบาล คลินิกโรคผิวหนัง คลินิกโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์, ผู้ดูแลสัตว์ป่านำเข้าจากทวีปแอฟริกา

            - เตรียมความพร้อมทางห้องปฏิบัติการ และการเก็บตัวอย่างส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ

            - เตรียมพร้อมทีมสอบสวนโรค

            - เตรียมพร้อมด้านเวชภัณฑ์ ยา วัคซีน และอุปกรณ์การแพทย์


ฝีดาษลิง

นิยามผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวน โรคฝีดาษวานร หรือฝีดาษลิง


            กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดนิยามผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรคฝีดาษวานร หรือฝีดาษลิง (Patient Under Investigation) ซึ่งด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ได้มีการคัดกรองโดยจะดูจากอาการเหล่านี้

            1. มีไข้ตั้งแต่ 38 องศาเซลเซียส หรือประวัติมีไข้ร่วมกับมีอาการหนึ่งอาการ ได้แก่ เจ็บคอ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหลัง และต่อมน้ำเหลืองโต

            2. มีผื่นกระจายตามลำตัว มีลักษณะเป็นตุ่มนูน ตุ่มน้ำใส ตุ่มหนอง หรือตุ่มตกสะเก็ด

            3. เดินทางมาจากหรืออาศัยอยู่ ในประเทศที่มีการรายงานการระบาดของโรคฝีดาษลิงในประเทศภายใน 21 วัน


            นอกจากนี้ มีการแจกบัตรเตือนสุขภาพ (Health Beware Card) เป็น QR code ให้ผู้ที่มีอาการดังกล่าวสแกนเข้าระบบเพื่อรายงานอาการป่วย ซึ่งหลัก ๆ ในบัตรจะระบุว่าหากมีอาการ เช่น ไข้ มีตุ่มให้รายงานเข้าระบบและรีบไปพบแพทย์ในโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด รวมถึงแจ้งประวัติการเดินทางจากประเทศกลุ่มเสี่ยงให้เจ้าหน้าที่ทราบด้วย

ฝีดาษลิง
ภาพจาก Chanawat Phadwichit / Shutterstock.com

การป้องกันโรคฝีดาษลิง


            1. กรณีมีการเดินทางกลับจากประเทศที่เป็นเขตติดโรค ต้องทำการคัดกรองและเฝ้าระวังอาการจนครบ 21 วัน หากมีอาการเจ็บป่วยให้รีบไปพบแพทย์ทันที  

            2. ไม่นำสัตว์ป่ามาเลี้ยงหรือนำเข้าสัตว์จากต่างประเทศโดยไม่มีการคัดกรอง และทำการแยกกักเพื่อมิให้ผู้ป่วยมีการแพร่กระจายเชื้อ

            3. หลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรงกับเลือด สารคัดหลั่ง หรือตุ่มหนองของสัตว์ที่ติดเชื้อหรือสัตว์ป่า  

            4. หลีกเลี่ยงการกินเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุกไม่เพียงพอ

            5. หมั่นล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่และน้ำหรือ เจลแอลกอฮอล์เมื่อสัมผัสกับสัตว์หรือคนที่ติดเชื้อ


            สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

            - รู้จัก โรคฝีดาษลิง ที่กำลังระบาดในยุโรป-อเมริกา อันตรายแค่ไหน-ติดได้ยังไง

            - ฝีดาษลิง กับ 10 เรื่องที่ควรเข้าใจ ทำไมคนเกิดหลังปี พ.ศ. 2523 ถึงเสี่ยงกว่ากลุ่มอายุอื่น

ขอบคุณข้อมูลจาก กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข, สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สธ. ย้ำ ไทยยังไม่พบคนติดฝีดาษลิง เตรียมศูนย์คัดกรองสนามบิน เน้นประเทศกลุ่มเสี่ยง อัปเดตล่าสุด 25 พฤษภาคม 2565 เวลา 16:50:13 42,319 อ่าน
TOP