x close

ผักที่ช่วยลดไขมันในเลือด เลือกกินอะไรได้บ้าง ช่วยลดความเสี่ยงคอเลสเตอรอลสูง

           ผักที่ช่วยลดไขมันในเลือด มีอะไรบ้างที่กินแล้วช่วยลดไขมันในร่างกาย หรือมีไฟเบอร์ที่ดูดซับไขมันได้ ตามมาดูเลย
            ผักที่ช่วยลดไขมันในเลือด หรือสมุนไพร ลดไขมันในเลือด หาได้ง่าย ๆ ในบ้านเราเลยค่ะ เพราะเมืองไทยเป็นเมืองแห่งผัก-ผลไม้อยู่แล้ว แต่ก่อนที่จะไปรู้จักว่ามีผักที่ช่วยลดไขมันในเลือดชนิดไหนบ้าง เรามาทำความเข้าใจไขมันในร่างกายของเรากันก่อนดีกว่า

ไขมันในร่างกายมีกี่ประเภท

ไขมันในเลือดสูง

           ไขมันในร่างกาย จะแบ่งออกได้ 3 ตำแหน่ง คือ ไขมันในหลอดเลือด, ไขมันใต้ชั้นผิวหนัง และไขมันในช่องท้อง โดยที่เรารู้จักและคุ้นเคยกันดีจะมีอยู่ 2 ประเภท คือ คอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์

คอเลสเตอรอล (Cholesterol)

           คือ ไขมันที่ร่างกายสังเคราะห์ขึ้นได้เอง ทำหน้าที่สำคัญหลายอย่าง เช่น สร้างน้ำดีเพื่อช่วยดูดซึมอาหารที่มีไขมัน และใช้สร้างฮอร์โมนบางชนิด ถือเป็นไขมันที่จำเป็นต่อร่างกาย แต่หากมีมากเกินไป คือเกิน 200 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร อาจก่อให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยคอเลสเตอรอลจะแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ
1. ไขมันชนิดความหนาแน่นสูง (High Density Lipoprotein - HDL) หรือไขมันดี หรือคอเลสเตอรอลชนิดดี

           เป็นไขมันที่ดีต่อร่างกาย ทำหน้าที่นำคอเลสเตอรอลที่สะสมตามผนังหลอดเลือดหรือบริเวณเนื้อเยื่ออื่น ๆ ไปทำลายที่ตับ ทำให้ระดับคอเลสเตอรอลต่ำลง ดังนั้นการมีระดับ HDL ในเลือดสูง คือตั้งแต่ 40 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรขึ้นไป จึงช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ และเราก็สามารถเพิ่มไขมันดี HDL ได้ โดยออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และรับประทานอาหารที่มีไขมันดีอย่างเหมาะสม
 

9 อาหารอุดมไขมันดี กินเพื่อช่วยเติม HDL ในร่างกาย

2. ไขมันชนิดความหนาแน่นต่ำ (Low Density Lipoprotein - LDL) หรือไขมันเลว หรือคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี
            เป็นคอเลสเตอรอลที่หากมีมากเกินไปจะสะสมอยู่ในผนังหลอดเลือด ทำให้เกิดหลอดเลือดแดงตีบและแข็ง ซึ่งถ้าวัดค่า LDL ได้เกิน 160 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร จะถือว่ามีไขมันในเลือดสูงนะคะ แต่เราสามารถลดระดับ LDL ได้ด้วยการลดการรับประทานอาหารที่มีไขมันสัตว์และไขมันอิ่มตัวสูง เช่น น้ำมันจากสัตว์ เครื่องในสัตว์ น้ำมันปาล์ม น้ำมันมะพร้าว กะทิ

ไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride)

           เป็นไขมันที่ตับสังเคราะห์ขึ้นมาเพื่อใช้เป็นแหล่งพลังงานของร่างกาย และการรับประทานอาหาร เช่น น้ำตาล เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือได้รับพลังงานจากอาหารมากจนเกินไป จะกระตุ้นให้ตับสร้างไตรกลีเซอไรด์ขึ้นมาเพิ่มได้ ซึ่งหากร่างกายมีไตรกลีเซอไรด์มากกว่า 150 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรขึ้นไป จะถือว่ามีไตรกลีเซอไรด์ในเลือดค่อนข้างสูง และหากเกิน 200 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร จะถือว่าไตรกลีเซอไรด์สูงเกินไป ควรรีบลดไตรกลีเซอไรด์ในเลือดเลยดีกว่า
 

14 วิธีลดไตรกลีเซอไรด์ ไขมันในเลือดสูงทำอย่างไรดี

ไขมันในเลือดสูง อันตรายแค่ไหน

ไขมันในเลือดสูง

           หากร่างกายเรามีระดับไขมันดี (HDL) ในเลือดสูง จะถือว่าเป็นเรื่องที่ดีต่อสุขภาพ แต่หากมีระดับคอเลสเตอรอลที่ไม่ดีหรือไขมันเลว (LDL) สูง จุดนี้ค่อนข้างอันตรายค่ะ เพราะจะเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคไทรอยด์ต่ำ หรือโรคตับ เป็นต้น

           ส่วนการมีระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงจะเพิ่มความเสี่ยงภาวะไขมันอุดตันในหลอดเลือด รวมไปถึงโรคอ้วนและเบาหวานชนิดที่ 2 ยิ่งหากผลเลือดออกมาคือมีทั้ง LDL และไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงด้วยกันทั้งคู่ ต่างกับระดับไขมันดี HDL ที่ต่ำ ก็จะยิ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพได้แบบทบทวีคูณ

ผักที่ช่วยลดไขมันในเลือด เลือกกินอะไรได้บ้าง

           เพื่อไม่ให้ไขมันในเลือดสูงเกินไป เราควรเลือกรับประทานผักหรือสมุนไพรที่ช่วยลดไขมันในเลือดได้ ดังนี้

1. กระเจี๊ยบเขียว

กระเจี๊ยบเขียว

          ไฟเบอร์ชนิดละลายน้ำในกระเจี๊ยบเขียวคืออาวุธเด็ดที่ช่วยลดไขมันในเลือดเราค่ะ เนื่องจากเมื่อไฟเบอร์ชนิดนี้เคลื่อนที่ไปเจอน้ำในระบบย่อยอาหารจะกลายสภาพเป็นเจล ลดการดูดซึมไขมันและน้ำตาล อีกทั้งยังจะไปจับกับไขมันส่วนเกินในน้ำดี ให้ร่างกายขับถ่ายไขมันส่วนนี้ได้ง่ายขึ้นด้วย
 

กระเจี๊ยบเขียว สรรพคุณบรรเจิด เป็นเลิศที่เมือกลื่น ๆ บนฝัก

2. กระเจี๊ยบแดง

กระเจี๊ยบแดง

           กระเจี๊ยบแดงจัดเป็นผักและสมุนไพรที่มีสรรพคุณช่วยลดไขมันในเลือดได้ นอกจากนี้ส่วนกลีบเลี้ยงของดอกหรือกลีบของส่วนผลยังมีสรรพคุณขับปัสสาวะ ลดความดันโลหิต ช่วยย่อยอาหาร แก้กระหาย รักษาแผลในกระเพาะอาหาร โดยสามารถนำกลีบเลี้ยงหรือกลีบดอกสีม่วงแดงมาตากแห้ง แล้วบดเป็นผงตักครั้งละ 1 ช้อนชา ชงกับน้ำเดือด 250 มิลลิลิตร แล้วกรองดื่มแต่น้ำ หรือจะดื่มน้ำกระเจี๊ยบแทนก็ได้
 

กระเจี๊ยบแดง สรรพคุณดีงาม ลดความดัน ไขมัน บำรุงหัวใจ

3. กระเทียม

กระเทียม

           กระเทียมเป็นผักที่ใส่ในอาหารไทยแทบทุกเมนู ซึ่งนอกจากกระเทียมจะช่วยเพิ่มความหอม ชูรสชาติอาหารแล้ว กระเทียมยังจัดเป็นผักและสมุนไพรลดไขมันในเลือดด้วยนะคะ โดยการศึกษาหลายชิ้นพบว่า ในกระเทียมมีสารอัลลิซิน ซึ่งเป็นสารที่มีส่วนช่วยลดคอเลสเตอรอลในเลือดได้ไม่เกิน 10% ของคอเลสเตอรอลทั้งหมดในร่างกาย

          อย่างไรก็ตาม มีคำแนะนำว่า ไม่ควรรับประทานกระเทียมสดในปริมาณที่มากเกินไปนะคะ โดยสามารถรับประทานกระเทียมขนาดกลาง ๆ ได้ไม่เกินวันละ 1 หัว หรือประมาณ 1 ช้อนชา (5 กรัม) เพราะถ้ากินมาก ๆ ต่อเนื่องกันเป็นเวลานานอาจจะทำให้เกิดโลหิตจาง หรือภาวะเลือดแข็งตัวช้าได้ โดยเฉพาะคนที่รับประทานยาลดไขมันในเลือด หรือยาต้านการแข็งตัวของเลือด ซึ่งควรปรึกษาแพทย์ก่อนกินกระเทียม
 

สรรพคุณของกระเทียมอย่างเจ๋ง ช่วยลดความเสี่ยงได้หลายโรค !

4. หอมหัวใหญ่

หอมหัวใหญ่

            หอมหัวใหญ่เป็นพืชตระกูลเดียวกับกระเทียม จึงมีสรรพคุณช่วยลดไขมันในเลือดได้เช่นกัน เพียงแต่ต้องกินหอมหัวใหญ่ในปริมาณครึ่งลูก ถึงจะได้สารสำคัญเท่า ๆ กับที่ได้จากกระเทียมนะคะ
 

หอมใหญ่ผัดไข่ เมนูไข่ง่าย ๆ อร่อยนุ่มอิ่มท้อง

5. มะเขือม่วง

มะเขือม่วง

           มะเขือม่วง หรือมะเขือยาวสีม่วง เป็นผักที่มีไฟเบอร์สูงมาก โดยในปริมาณ 100 กรัม มีไฟเบอร์ราว ๆ 3 กรัม และไฟเบอร์นี่ล่ะค่ะที่จะช่วยดักจับคอเลสเตอรอลในเลือด แล้วพากันขับถ่ายออกมา ลดการสะสมไขมันในร่างกาย
 

มะเขือยาว สรรพคุณน่าว้าว ช่วยลดคอเลสเตอรอลก็ได้

6. ปวยเล้ง

ปวยเล้ง

           ถ้าพูดถึงผักที่มีไฟเบอร์สูง ปวยเล้งก็ยืนหนึ่งไม่แพ้ใคร นอกจากนี้ปวยเล้งยังอุดมไปด้วยวิตามินซี โปรตีน แคลเซียม และยังมีเบต้าแคโรทีนสูงมากอีกด้วย ประโยชน์ดี ๆ แบบนี้ต้องไปหาปวยเล้งมากินสักหน่อยแล้ว
 

ผักโขม ปวยเล้ง สองคู่หูตระกูลผัก แล้วคุณจะรักถ้าได้รู้คุณประโยชน์

7. ผักเคล

ผักเคล

          อีกหนึ่งผักใบเขียวที่มีไฟเบอร์สูงปรี๊ด โดยในปริมาณ 1 ถ้วยตวง ผักเคลจะให้ไฟเบอร์มากถึง 4.7 กรัม ซึ่งนอกจากไฟเบอร์จะช่วยดักจับคอเลสเตอรอลในเลือดแล้ว ยังจะช่วยเรื่องระบบขับถ่ายได้ดีมาก ๆ อีกด้วย นอกจากนี้ยังมีลูทีนที่มีงานวิจัยพบว่า สารนี้มีส่วนช่วยลดระดับไขมันเลว LDL ได้อีกต่างหาก

8. ถั่วแระญี่ปุ่น (Edamame)

ถั่วแระญี่ปุ่น

           ผักที่เคี้ยวเพลิน ๆ และเป็นที่ถูกอกถูกใจของใครหลายคนอย่างถั่วแระญี่ปุ่นก็ช่วยลดไขมันในเลือดได้เหมือนกัน โดยมีงานวิจัยพบว่า การรับประทานถั่วแระญี่ปุ่น รวมไปถึงพืชตระกูลถั่วชนิดอื่น ๆ เป็นประจำ จะช่วยลดไขมันเลวในเลือดได้ อีกทั้งถั่วแระยังอุดมไปด้วยไฟเบอร์ ไขมันดี มีสารต้านอนุมูลอิสระ และไอโซฟลาโวนที่มีโครงสร้างคล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจน จึงช่วยลดอาการวัยทอง ลดความเสี่ยงโรคกระดูกพรุนในสตรีวัยหมดประจำเดือนได้ด้วย
 

นมถั่วแระญี่ปุ่น เครื่องดื่มสุขภาพทางเลือกใหม่ สายเฮลธ์ตี้ต้องลอง

9. ขึ้นฉ่ายฝรั่ง

ขึ้นฉ่ายฝรั่ง

           ขึ้นฉ่ายฝรั่ง หรือเซเลอรี่ (Celery) มีไฟเบอร์ชนิดไม่ละลายน้ำจำนวนมาก จึงจัดเป็นผักที่ช่วยลดไขมันในเลือดได้ แถมยังมีสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นโปรตีน วิตามินซี วิตามินเอ วิตามินอี วิตามินเค วิตามินบี โฟเลต สารต้านอนุมูลอิสระ ธาตุเหล็ก โพแทสเซียม แมกนีเซียม จัดเต็มคุณค่าทางสารอาหารมาขนาดนี้ไปปั่นน้ำเซเลอรี่กินเลยดีไหมนะ
 

ประโยชน์ขึ้นฉ่ายฝรั่ง ของดีที่คนอยากหุ่นปัง สุขภาพปั๊วะต้องไม่พลาด !

            จะเห็นได้ว่ามีผักที่ช่วยลดไขมันให้เราเลือกกินหลายชนิดเลยทีเดียว แต่นอกจากการกินผักช่วยลดไขมันในเลือดเหล่านี้แล้ว ควรปรับพฤติกรรมเพื่อช่วยลดไขมันในเลือดไปพร้อมกันด้วย เช่น เน้นกินอาหารที่ไขมันต่ำ อาหารโปรตีนสูง เช่น เนื้อปลา อกไก่ เนื้อไม่ติดมัน ผัก ผลไม้ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ พยายามไม่เครียด และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ

บทความที่เกี่ยวข้องกับการลดไขมันในเลือด

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ผักที่ช่วยลดไขมันในเลือด เลือกกินอะไรได้บ้าง ช่วยลดความเสี่ยงคอเลสเตอรอลสูง อัปเดตล่าสุด 15 พฤศจิกายน 2566 เวลา 10:52:46 262,639 อ่าน
TOP