x close

8 วิธี ชะลออาการหลงลืม


ขี้ลืม


เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

          เคยเป็นบ้างไหมที่หลงลืมอะไรไปอย่างน่าโมโห ทั้ง ๆ ที่เป็นเรื่องที่ควรจะจำได้แท้ ๆ  อาการหลงลืมมักเริ่มจากเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างเช่น ลืมนัดทำฟัน หรือจำไม่ได้ว่าเก็บเอกสารสำคัญไว้ที่ไหน ซึ่งการหลงลืมเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้อาจเป็นการส่งสัญญาณเบื้องต้นของอาการความจำเสื่อมก็เป็นได้ แต่อย่าเพิ่งวิตกกังวลกันไป เพราะกิจกรรมหลาย ๆ อย่างที่เราทำกันในชีวิตประจำวันมีส่วนช่วยให้เราได้ฝึกใช้งานสมองอยู่บ่อย ๆ ช่วยขจัดอาการหลงลืมได้เป็นอย่างดี รวมถึงพฤติกรรมบางอย่างที่ต้องเฝ้าระวัง ว่าแต่จะมีอะไรกันบ้าง ไปดูกันเลย

1. สนทนาวิสาสะ

          การพูดคุยกับใครสักคนหนึ่ง นอกจากจะช่วยเพิ่มทักษะการเข้าสังคม และกระชับความสัมพันธ์ระหว่างผู้สนทนาแล้ว ยังช่วยในเรื่องของการบริหารสมอง ซึ่งมีผลดีต่อความทรงจำอีกด้วย ทั้งนี้ต้องเป็นบทสนทนาที่ดำเนินไปอย่างสุภาพ ไม่ใช่การชวนทะเลาะให้ผิดใจซึ่งจะไม่เกิดประโยชน์ใด ๆ การพยายามทำความเข้าในบทสนทนาของอีกฝ่าย รวมถึงคาดเดาสิ่งที่อีกฝ่ายจะตอบกลับมา ทำให้เรามีสติ ซึ่งเชื่อมโยงไปถึงสมอง อันเป็นการดีต่อความทรงจำของเราด้วย

2. หลีกเลี่ยงเหตุที่ก่อให้เกิดความเครียด

          เคยบ้างไหมที่คุณเดินเข้าไปในครัว แต่กลับนึกไม่ออกว่าเข้ามาทำอะไร นี่เป็นอาการที่เกิดขึ้นได้เสมอเมื่อคุณเกิดความเครียด ความเครียดทำให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนที่มีชื่อว่า "คอติซอล" ซึ่งจะเข้าไปทำลายความทรงจำระยะสั้น ซึ่งอาจเป็นผลดีหากคุณอยู่ในอาการบาดเจ็บ เพราะจะช่วยทำให้ลืมความเจ็บปวดได้ชั่วคราว แต่ในยามปกติ ฮอร์โมนตัวนี้จะทำให้คุณนึกไม่ออกถึงสิ่งที่ควรจะทำเป็นลำดับต่อไป ฉะนั้นควรหลีกเลี่ยงปัจจัยต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดความเครียด และอาจบริหารจิตใจได้ด้วยกำหนดลมหายใจ หรือนั่งสมาธิ ทำให้อารมณ์เย็นลง และจิตใจอยู่กับเนื้อกับตัวมากขึ้น

3. เรียนภาษาต่างประเทศ

          การเรียนรู้ภาษาใหม่ ๆ ช่วยให้เราหลีกหนีจากภาวะหลงลืม และความจำเสื่อมเมื่อเข้าสู่วัยชราได้มากโข มีผลการวิจัยยืนยันแล้วว่า การเรียนรู้ภาษาอื่น ช่วยป้องกันสมองส่วนที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับความทรงจำ จึงมีผลโดยตรงในการลดความเสี่ยงต่อการการหลงลืม ยิ่งเรียนรู้หลายภาษา ความเสี่ยงยิ่งลดน้อยลงเรื่อย ๆ โชคดีที่เรื่องภาษาเราเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต ใครไม่อยากลงลืมง่าย ๆ เริ่มต้นเรียนตอนนี้ก็ยังไม่สาย

4. ดื่มน้ำบีทรูท

          การดื่มน้ำบีทรูทซึ่งมีไนเตรทสูงจะช่วยให้สมอง และความทรงจำทำงานได้ดีขึ้น เมื่อเข้าสู่ร่างกาย "ไนเตรท" จะเปลี่ยนสภาพเป็น "ไนไตรท์" ซึ่งช่วยในการลำเลียงเลือด จากการศึกษาพบว่าผู้ที่มีภาวะความจำเสื่อม หรือประสิทธิภาพการเรียนรู้ต่ำ มักเกิดจากเลือดนำออกซิเจนไปหล่อเลี้ยงที่สมองไม่เพียงพอ แต่หากบริโภคอาหารที่มีไนเตรทในปริมาณที่เหมาะสม สารไนไตรท์จะช่วยลำเลียงเลือดไปยังบริเวณดังกล่าว เมื่อเลือดเข้าหล่อเลี้ยงก็จะมีการแลกเปลี่ยนออกซิเจนเกิดขึ้นนั่นเอง นอกจากบีทรูทที่มีไนเตรทสูงแล้ว ยังมีพืชผักอื่น ๆ อีก เช่น เซเลรี่ หรือคึ่นไช่ฝรั่ง กะหล่ำปลี ผักโขม ใครอยากมีสมองที่เฉียบคม และไม่หลงลืมง่าย ๆ ก็ต้องไปหาทานกันดู

5. ทานอาหารสไตล์เมดิเตอร์เรเนียน

          มีการวิจัยยืนยันว่าการทานอาหารสไตล์เมดิเตอร์เรเนี่ยน ช่วยชะลออาการหลงลืมได้ดีกว่าอาหารเพื่อสุขภาพทั่วไป ทั้งนี้อาหารเมดิเตอร์เรเนี่ยนมักประกอบด้วย ผักชนิดต่าง ๆ, พืชตระกูลถั่ว, น้ำมันมะกอก, เนื้อปลา และไวน์ นอกจากดีต่อสุขภาพแล้ว ยังดีต่อสมองและความทรงจำด้วย รู้อย่างนี้แล้ว อยากเริ่มทานอาหารเมดิเตอร์เรเนียนขึ้นมาทันทีเลย

นอนหลับ


6. ภาวะการหยุดหายใจขณะนอนหลับ

          อาการหยุดหายใจเป็นระยะเวลาหนึ่งขณะนอนหลับ นอกจากรบกวนการนอน ทำให้ร่างกายอ่อนล้าเมื่อยามตื่น ยังส่งผลกระทบต่อสมองส่วนความทรงจำได้เช่นกัน เนื่องจากการหยุดหายทำให้ขาดอากาศไปเลี้ยงสมองชั่วครู่หนึ่ง ส่งผลทำลายเนื้อเยื่อประสาท และสมองส่วนสีเทา ซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับการให้เหตุผล และความทรงจำด้วย ผู้ที่ประสบภาวะนี้ จึงควรเข้ารับคำปรึกษา และทำการรักษาจากแพทย์เป็นการด่วน

7. ภาวะไขมันอุดตันในเส้นเลือด

          ผู้ที่ชอบกินของมัน ของทอด ควรตั้งใจฟังให้ดี ผลงานวิจัยล่าสุดจากสถาบันประสาท สหรัฐอเมริกา บ่งชี้ว่า ผู้ป่วยที่มีภาวะคอเรสเตอรอล และความดันสูง ซึ่งนำไปสู่ภาวะไขมันอุดตันในเส้นเลือด มีโอกาสเสี่ยงต่อการถดถอยของประสิทธิภาพด้านความคิด และการเรียนรู้ มากกว่าผู้ที่มีสุขภาพปกติดี และความเสี่ยงนี้ยิ่งเพิ่มขึ้นมากในเพศหญิงอีกด้วย เพราะฉะนั้น ใครหลีกเลี่ยงของทอด หรืออาหารที่มัน ๆ ได้ นั่นก็เท่ากับว่า คุณถอยหนีจากภาวะหลงลืมมาได้อีกก้าวหนึ่งแล้ว

8. บริหารสมอง

          เคยมีคนกล่าวว่า สมองก็เหมือนกับกล้ามเนื้อส่วนหนึ่ง ถ้าไม่ได้รับการบริหารใช้งานบ่อย ๆ สุดท้ายมันก็จะเสื่อมสภาพไป ซึ่งเป็นคำกล่าวที่เป็นความจริงไม่เบา ตัวอย่างง่าย ๆ สมมุติว่าเราเลิกใช้งานแขนข้างซ้ายเป็นระยะเวลา 3 เดือน หลังจากนั้นแม้แค่กระดิกนิ้วก็คงเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก สมองของเราก็เช่นกัน ต้องได้รับการใช้งานอยู่บ่อย ๆ เพื่อบริหารให้มีความทรงจำที่ดีอาจเริ่มง่าย ๆ จากการจดจำหมายเลขโทรศัพท์ หรือถ้าใครอยากสนุกกว่านั้น ลองเล่นซูโดกุดูก็ไม่เลว

          อ่านดูแล้วการดูแลรักษาสมอง และความทรงจำของเราทำได้ง่าย ๆ ในทุก ๆ วัน แค่เอาใจใส่ และให้เวลากับมันสักหน่อย คุณก็จะมีความทรงจำแม่นยำ และจดจำเรื่องราวดี ๆ ให้ได้ระลึกถึงไปอีกนานเลยละค่ะ


  เคล็ดลับสุขภาพ สุขภาพใกล้ตัว โรคและการป้องกัน คลิกเลย








เรื่องที่คุณอาจสนใจ
8 วิธี ชะลออาการหลงลืม อัปเดตล่าสุด 18 ธันวาคม 2556 เวลา 10:51:23 10,580 อ่าน
TOP