x close

ปวดหัวข้างซ้าย เช็กอาการให้ไว เสี่ยงป่วยโรคอะไรบ้าง

         ปวดหัวข้างซ้าย บางคนมีอาการปวดตรงขมับ หรือปวดจี๊ด ๆ ปวดตุ้บ ๆ หลังหู ลามไปปวดท้ายทอย ต้องเช็กหน่อยว่าอาการนี้เป็นสัญญาณขอโรคอะไร
          ปวดหัวข้างซ้ายข้างเดียวบ่อย ๆ เป็นอาการที่บางคนเจอกันจนชิน แต่บางทียังมีอาการลามมาปวดท้ายทอย ปวดกระบอกตา หรือปวดตุ้บ ๆ ที่กกหู ซึ่งก็คงทำให้คิดไปได้ไกลแล้วว่า อาการปวดหัวข้างซ้ายจี๊ด ๆ แบบนี้กำลังส่งสัญญาณบอกโรคอะไรอยู่หรือเปล่า ดังนั้นเพื่อไม่ให้หวั่นวิตกกันจนเกินไป เราลองมาเช็กข้อมูลกันหน่อยว่าอาการปวดหัวข้างซ้ายเกิดจากสาเหตุไหนได้บ้าง

ปวดหัวข้างซ้าย
เกิดจากโรคอะไรได้บ้าง

ปวดหัวข้างซ้าย

           อาการปวดหัวข้างซ้ายในกลุ่มที่มีสาเหตุจากโรค อาจเกิดได้หลายปัจจัย เช่น

1. ไมเกรน

          ปวดหัวข้างซ้ายเป็นอาการเบื้องต้นของไมเกรน ที่มักจะเป็นอาการปวดหัวข้างเดียวเรื้อรัง หรือบางคนมีอาการปวดหัวลามมาปวดกระบอกตา หรือขยายความปวดไปทั่วศีรษะได้ ร่วมกับมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน การมองเห็นเปลี่ยนไป ตาพร่ามัว วิงเวียน ไวต่อเสียง แสง กลิ่น สัมผัส ชา เสียวแปล๊บ ๆ ที่ใบหน้า หรือปลายแขนปลายขา ซึ่งมักจะเกิดอาการเหล่านี้อยู่ราว ๆ 4-72 ชั่วโมงต่อการเป็นไมเกรนแต่ละครั้ง
 

ไมเกรน ปวดหัวเรื้อรังต้องระวัง ยังเสี่ยงเกิดโรคแบบนี้ด้วย

2. ไซนัสอักเสบ

          อาการปวดศีรษะจากไซนัสอาจพบได้ไม่บ่อยนัก และมักจะเกิดการสับสนระหว่างไมเกรนด้วยนะคะ เพราะบางคนก็มีอาการปวดหัวข้างเดียว แต่โดยส่วนใหญ่แล้วหากเป็นไซนัสอักเสบจะปวดศีรษะทั้งสองข้าง ร่วมกับอาการปวดกกหู ปวดกระบอกตา หรือปวดไปยันกราม และมีอาการคัดจมูก จาม น้ำมูกไหล ได้ด้วย
 

ไซนัสอักเสบ แตกต่างจาก หวัด อย่างไร

3. การติดเชื้อไวรัส

          ไม่ว่าจะไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคหวัดทั่วไป ไข้หวัดใหญ่ หรือโควิด 19 ก็อาจทำให้ปวดหัวข้างใดข้างหนึ่งได้เช่นกัน และอาการอาจลามไปปวดทั่วศีรษะ ร่วมกับมีไข้ คัดจมูก ไอ จาม น้ำมูกไหล เป็นต้น

4. โรคปวดหัวข้างเดียวเรื้อรัง (Hemicrania continua)

          จัดเป็นโรคปวดหัวเรื้อรัง (Chronic headaches) ที่มีลักษณะจำเพาะชนิดหนึ่ง ซึ่งเกิดจากการทำงานของเส้นประสาทคู่ที่ 5 ของสมอง หรือเส้นประสาทใบหน้า (Trigeminal) รับความรู้สึกและส่งสัญญาณผิดปกติไป โดยจะมีอาการปวดหัวข้างเดียว ปวดขมับข้างเดียวแบบไม่เคยย้ายข้าง ร่วมกับปวดรอบกระบอกตา และเป็นเรื้อรังมากกว่า 3 เดือนขึ้นไป ส่วนระดับความปวดก็จะมีทั้งรุนแรงน้อยไปจนรุนแรงมาก พร้อมกับเมื่อมีอาการก็มักจะน้ำตาไหล ตาแดง ตาบวม น้ำมูกไหล ปากบวมข้างเดียวกับข้างที่ปวดหัวด้วย

5. โรคปวดศีรษะแบบคลัสเตอร์ (Cluster Headache)

         อีกหนึ่งโรคที่มีอาการปวดศีรษะข้างใดข้างหนึ่ง ซึ่งอาจปวดหัวข้างซ้ายหรือปวดหัวข้างขวาก็ได้ โดยอาการปวดศีรษะจะค่อนข้างรุนแรง ร่วมกับมีอาการปวดกระบอกตา ปวดตื้อ ๆ ที่ขมับ ปวดหน้าผาก และมีอาการร่วมที่เด่นชัด เช่น น้ำมูกไหล น้ำตาไหล ตาแดง หน้าบวม หนังตาตก หรือม่านตาหดเล็ก ซึ่งมักจะเกิดข้างเดียวกับที่ปวดหัว อีกทั้งยังอาจมีอาการปวดหัวในช่วงเวลาเดิม ๆ ของวัน หรือในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งของปี

6. โรคปวดศีรษะเรื้อรังจากความผิดปกติของกล้ามเนื้อคอ (Cervicogenic headaches)

         โรคนี้เกิดจากความผิดปกติของระบบกล้ามเนื้อและโครงสร้างของกระดูกสันหลังส่วนคอ ในส่วนของข้อต่อ หมอนรองกระดูก เอ็นยึดข้อต่อ กล้ามเนื้อ หรือเยื่อหุ้มไขสันหลังส่วนนอกของข้อต่อคอ โดยอาการของโรคจะค่อนข้างคล้ายกับโรคไมเกรน คือ ปวดศีรษะข้างเดียวกับข้างที่มีความผิดปกติ แต่มักจะเริ่มปวดท้ายทอย ปวดคอก่อน แล้วกระจายมาที่ศีรษะ ก่อนลามไปปวดกระบอกตา หน้าผาก ขมับ และอาการปวดจะเป็นเรื้อรังแบบเป็น ๆ หาย ๆ เป็นระยะเวลาหลายชั่วโมงจนถึงทั้งวัน หรือปวดหัวตุ้บ ๆ ตลอดเวลา สลับกับปวดมาก ๆ ปวดจี๊ด ๆ ขึ้นมาในบางจังหวะเป็นเวลาสั้น ๆ อาการมักจะกำเริบขึ้นในขณะที่มีการเคลื่อนไหวของคอ หรืออยู่ท่าใดท่าหนึ่งที่ผิดปกติ รวมถึงการไอและจาม

7. ต้อหิน

          โรคตาอย่างต้อหินก็ทำให้เกิดอาการปวดหัวข้างซ้าย หรือปวดหัวข้างเดียวกับตาที่เป็นต้อได้ เนื่องจากโรคนี้จะทำให้ผู้ป่วยมีความดันลูกตาสูง จากความผิดปกติเกี่ยวกับสมดุลน้ำภายในลูกตา ส่งผลให้ปวดหัว ปวดตา ตาแดงภายใน 30-60 นาที เห็นแสงสีรุ้งรอบดวงไฟ การมองเห็นลดลง คลื่นไส้ อาเจียนได้ โดยอาการอาจเกิดอย่างเฉียบพลัน หรือเกิดขึ้นอย่างช้า ๆ มักจะเป็นเรื้อรัง หรือเป็น ๆ หาย ๆ หากไม่รีบรักษาต้อหินก็อาจเสี่ยงตาบอดได้เลยนะคะ

8. เนื้องอกในสมอง

         ถ้าอาการปวดหัวข้างซ้ายเป็นแบบเรื้อรังมานาน และมีอาการไม่สบายอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ปวดหัวจี๊ด ๆ ในระดับรุนแรงจนสะดุ้งตื่น ปวดหัวเป็นเวลา โดยเฉพาะตอนตื่นนอน แต่พอสาย ๆ อาการปวดจะทุเลาลง หรือจะรู้สึกปวดมากขึ้นตอนเอนตัวลงนอน ตอนไอ จาม ตอนเบ่งอุจจาระ และเริ่มมองเห็นภาพซ้อน มุมมองการมองเห็นผิดปกติไป เริ่มมองด้านข้างไม่ค่อยเห็น เริ่มเดินชนข้าวของ เดินสะดุดบ่อย หรือปวดหัวจนอาเจียน ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายโดยด่วนนะคะ เพราะอาการเหล่านี้เข้าข่ายมีเนื้องอกในสมองได้
 

เนื้องอกในสมอง มะเร็งสมอง สังเกตได้จากอาการปวดหัวเรื้อรัง

9. หลอดเลือดแดงอักเสบแบบไจแอนท์ เซลล์ (Giant cell arteritis)

         หรือเรียกสั้น ๆ ว่า GCA เป็นโรคหลอดเลือดอักเสบที่ผนังหลอดเลือด บริเวณแขนงหลอดเลือดใหญ่ที่คอ (External carotid artery หรือหลอดเลือดเทมโพรัล : Temporal) ที่จะเห็นได้ชัดเวลาขบสันกราม หรือเป็นเส้นเลือดปูดตรงขมับของบางคนนั่นเอง โดยหลอดเลือดนี้เป็นหนึ่งในเส้นทางการลำเลียงเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อและอวัยวะบนศีรษะและใบหน้านอกกะโหลก ซึ่งหากหลอดเลือดนี้อักเสบหรือเกิดความผิดปกติขึ้นมาก็จะแสดงอาการปวดศีรษะข้างใดข้างหนึ่งอย่างรุนแรงเฉียบพลัน ร่วมกับอาการปวดกราม ปวดลิ้น และเป็นอย่างเรื้อรัง แต่ที่สำคัญต้องตรวจพบค่าเลือด ESR (Erythrocyte Sedimentation Rate) หรือ CRP (C-Reactive Protein) ในระดับสูงด้วยนะคะ

         นั่นหมายความว่าถ้าอยากรู้ชัดว่าอาการปวดหัวข้างซ้ายเข้าข่ายโรคนี้ไหม ควรไปตรวจร่างกายกับแพทย์จะดีที่สุด โดยเฉพาะหากอาการดังกล่าวเกิดขึ้นกับคนที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นกลุ่มที่เสี่ยงป่วยโรคนี้ได้มากกว่าวัยอื่น

10. หลอดเลือดสมองโป่งพอง (Brain aneurysm)

ปวดหัวข้างซ้าย

         หลอดเลือดสมองโป่งพอง หรือเส้นเลือดสมองโป่งพอง (Cerebral Aneurysm) เป็นโรคเกี่ยวกับความผิดปกติของผนังหลอดเลือดสมอง ที่เกิดการโป่งพองคล้ายบอลลูนและแตกออกง่าย จากสาเหตุกระตุ้น เช่น โรคทางพันธุกรรมบางชนิด ผู้มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคนี้ หรือเป็นโรคความดันโลหิตสูงที่ไม่ได้รับการรักษา ผู้ที่สูบบุหรี่เป็นระยะเวลานาน และการเสื่อมของเซลล์ร่างกายในผู้สูงวัย

         ทั้งนี้ หลอดเลือดสมองโป่งพองมักจะเกิดในตำแหน่งฐานกะโหลกศีรษะ แต่ส่วนใหญ่ไม่แสดงอาการ เว้นแต่กรณีที่หลอดเลือดสมองโป่งพองมีขนาดใหญ่จนทับเส้นประสาทข้างเคียงก็อาจมีอาการ เช่น ปวดร้าวบริเวณใบหน้า หนังตาตก หรือมองเห็นภาพซ้อน แต่หากเป็นกรณีที่หลอดเลือดสมองโป่งพองเกิดแตกขึ้นมาจะมีอาการปวดศีรษะรุนแรงและเฉียบพลัน โดยเฉพาะบริเวณต้นคอ และก้มคอไม่ได้ ร่วมกับมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน หรือบางรายอาจชักหมดสติ ไม่รู้สึกตัว และเสี่ยงเสียชีวิตได้หากรักษาไม่ทันท่วงที

11. โรคหลอดเลือดสมอง หรือสโตรก

         Stroke หรือโรคหลอดเลือดสมอง เป็นอีกหนึ่งโรคอันตรายที่มีสัญญาณเตือนเป็นอาการปวดหัว ซึ่งอาจปวดข้างใดข้างหนึ่งแบบจี๊ด ๆ ตุ้บ ๆ หรือปวดทั้งศีรษะก็ได้ แต่มักจะมีอาการปวดหัวอย่างรุนแรงและเฉียบพลันทันใด โดยสาเหตุเกิดจากความผิดปกติของเส้นเลือด หลอดเลือด ไม่ว่าจะตีบ แตก ตัน หรือมีเลือดออกในสมอง ก็เสี่ยงเกิดภาวะสโตรกได้ แถมยังอันตรายถึงอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือเสี่ยงเสียชีวิตกะทันหันหากรักษาไม่ทันกาล

ปวดหัวข้างซ้าย
จากสาเหตุที่ไม่ใช่โรค

          อาการปวดหัวข้างซ้ายอาจเกิดจากสาเหตุหรือปัจจัยกระตุ้นอื่น ๆ ที่ไม่ใช่โรคได้ด้วย เช่น

  • การดื่มเครื่องดื่มบางชนิด เช่น เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งกระตุ้นอาการปวดหัวได้
  • ความเครียด
  • การอดนอน หรือภาวะนอนไม่หลับ
  • การอดอาหาร ซึ่งจะทำให้สมองขาดน้ำตาล และกระตุ้นอาการปวดหัวได้
  • การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน โดยเฉพาะช่วงก่อนเป็นประจำเดือน ฮอร์โมนจะสวิงจนส่งผลต่อระดับเซโรโทนินและสารสื่อประสาทอื่น ๆ ในร่างกาย ทำให้ผู้หญิงมีอาการปวดหัว รวมไปถึงอาการไม่สบายกายอื่น ๆ อย่างปวดท้อง ปวดหน่วง ๆ ที่อวัยวะเพศ หรือมีอาการหงุดหงิดได้
  • อากาศที่ร้อนจนเกินไปอาจทำให้ปวดศีรษะได้
  • ถูกกระตุ้นด้วยสภาพแวดล้อมบางอย่าง เช่น แสงจ้า เสียงดัง สภาพแวดล้อมที่วุ่นวาย ขวักไขว่ หรือภาพเคลื่อนไหวเร็ว ๆ รวมทั้งกลิ่นฉุน กลิ่นไหม้ ควันบุหรี่ ควันท่อไอเสีย
  • การสวมใส่เครื่องประดับบนศีรษะ หรือสวมหมวกกันน็อกที่คับแน่นเป็นเวลานาน
  • การใช้ยาบางชนิดเกินขนาด เช่น ยาแอสไพริน ยาพาราเซตามอล ยาไอบูโพรเฟน ยานาพรอกเซน หรือยาแก้ปวดไมเกรนบางชนิด เป็นต้น
  • การรับประทานอาหารบางชนิด เช่น ถั่ว ช็อกโกแลต อาหารหมักดอง เบเกอรี่ อาหารรมควัน อาหารที่มีส่วนผสมของผงชูรส เป็นต้น อาจกระตุ้นให้เกิดอาการปวดหัวได้ในบางคน
  • ภาวะความดันโลหิตสูง

ปวดหัวข้างซ้าย
วิธีแก้ทำยังไงได้บ้าง

          หากมีอาการปวดหัวข้างซ้าย วิธีแก้ที่ทำได้ในเบื้องต้นเพื่อบรรเทาอาการ ได้แก่

  • ดื่มน้ำเปล่าเยอะ ๆ เพื่อช่วยให้เลือดไหลเวียนสะดวกขึ้น

  • นอนหลับพักผ่อนมาก ๆ 

  • ประคบร้อนหรือประคบเย็นบริเวณศีรษะ ต้นคอ เพื่อบรรเทาอาการปวดเกร็ง

  • ผ่อนคลายร่างกาย อาจด้วยกลิ่นอโรมา การทำสปาเท้า การนวดผ่อนคลาย หรือนั่งสมาธิ อยู่นิ่ง ๆ ในพื้นที่อากาศโปร่ง ๆ ฝึกลมหายใจ หรือฟังเพลงที่ชอบ

  • สังเกตว่าตัวเองมีอาการปวดหัวตอนทำกิจกรรมอะไร เช่น ปวดหัวตอนเล่นมือถือ ดูทีวี ปวดหัวเมื่ออยู่ในที่อบอ้าว อากาศร้อน หรือเจอคนเยอะ ๆ ปวดหัวเมื่อเจอแสงจ้า ก็ควรพาตัวเองให้ห่างจากปัจจัยกระตุ้นเหล่านี้

  • รับประทานยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล ตามขนาดที่เภสัชกรแนะนำ หรือตามน้ำหนักตัว

         อย่างไรก็ดี หากอาการปวดหัวข้างซ้ายไม่ทุเลา แนะนำให้รีบไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุและวิธีรักษาที่เหมาะสมนะคะ

ปวดหัวข้างซ้ายแบบไหน
ควรไปพบแพทย์

ปวดหัวข้างซ้าย

          หากใครมีอาการปวดหัวข้างซ้ายร่วมกับอาการที่เข้าข่ายตามนี้ถือว่าตกอยู่ในภาวะเสี่ยงอันตราย ซึ่งควรพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุที่แน่ชัดโดยเร็ว
  • เห็นภาพซ้อน ตาพร่ามัว มุมมองการมองเห็นเปลี่ยนไปอย่างชัดเจน

  • ตาแดง ปวดตา 

  • มีไข้

  • เหงื่อออก

  • คลื่นไส้ อาเจียน

  • ชา อ่อนแรง โดยเฉพาะหากเป็นแค่ซีกเดียวของร่างกาย

  • อาการปวดหัวเกิดขึ้นโดยเฉียบพลัน และเกิดกับผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป

  • อาการปวดหัวมีการเปลี่ยนแปลงไป เช่น ปวดหัวสลับข้าง เปลี่ยนมาปวดทั่วศีรษะ หรือปวดจี๊ด ๆ ปวดตุ้บ ๆ ในจุดที่ไม่เคยปวดมาก่อน เป็นต้น

  • มีอาการปวดเมื่อขยับศีรษะ 

  • คอแข็ง ก้มหน้าไม่ได้

  • มึนงง สับสน

  • อาการปวดหัวมีความรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะตอนไอ จาม เบ่งอุจจาระ หรือขณะทำกิจกรรมต่าง ๆ

  • อาการปวดหัวข้างซ้ายเริ่มรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน

  • หมดสติ

ปวดหัวข้างซ้าย ป้องกันได้ไหม

         อาการปวดหัวข้างซ้ายที่ไม่ได้เกิดจากโรคสามารถป้องกันได้ด้วยตัวเอง โดยทำตามนี้เลยค่ะ

  • ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ
  • อยู่ให้ไกลความเครียด

  • หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นอาการปวดศีรษะ เช่น แสงที่จ้าเกินไป ภาพเคลื่อนไหวเร็ว ๆ อย่างการดูทีวี การจ้องจอคอมพิวเตอร์หรือมือถือนาน ๆ รวมไปถึงอากาศที่ร้อนอบอ้าว และสภาพแวดล้อมที่วุ่นวาย 

  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ 

  • หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อย 6-7 ชั่วโมง

  • หมั่นออกกำลังกายเพื่อสุขภาพที่ดี

           อย่างไรก็ดี หากเป็นอาการปวดหัวข้างซ้ายที่เป็นหนึ่งในอาการหรือสัญญาณของโรคใดโรคหนึ่งก็ควรเข้ารับการรักษากับแพทย์โดยตรงเพื่อรักษาโรคที่เป็นอยู่ รวมทั้งเพื่อรับคำแนะนำในการดูแลตัวเองอย่างเหมาะสมจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญนะคะ

บทความที่เกี่ยวข้องกับอาการปวดหัว

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ปวดหัวข้างซ้าย เช็กอาการให้ไว เสี่ยงป่วยโรคอะไรบ้าง อัปเดตล่าสุด 10 มกราคม 2567 เวลา 09:15:38 273,618 อ่าน
TOP