x close

ภาวะสิ้นยินดี (Anhedonia) เฉยเมยต่อสิ่งใด ๆ ใช้ชีวิตไปวัน ๆ เราป่วยหรือยัง

          ภาวะสิ้นยินดี หรือ Anhedonia คือโรคอะไร ถ้ามีอาการไม่ยินดียินร้าย ไม่รู้ว่าความสุขอยู่ตรงไหน ความเศร้าเป็นยังไง เราป่วยแล้วหรือเปล่า
          ภาวะสิ้นยินดี เป็นโรคทางจิตใจที่ในระยะหลัง ๆ เราได้เห็นกันบ่อยขึ้นทั้งทางโซเชียลมีเดีย หรือมีประสบการณ์ตรงจากคนใกล้ตัว หรือบางครั้งที่เราเองก็รู้สึกเฉย ๆ ไปกับทุกอย่าง ไม่ได้มีความสุขแต่ก็ไม่ได้เศร้า จนเดาไม่ได้ว่าจิตใจเรายังปกติดีอยู่ไหม งั้นเอาเป็นว่ามารู้จักภาวะสิ้นยินดีกันก่อน พร้อมเช็กอาการบ่งชี้ของภาวะนี้ ว่าเราเข้าข่ายมากน้อยแค่ไหน

ภาวะสิ้นยินดี (Anhedonia) คืออะไร

ภาวะสิ้นยินดี

          ภาวะสิ้นยินดี หรือ Anhedonia เป็นคำที่ใช้อธิบายภาวะของคนที่มีความสนใจต่อสิ่งที่คุ้นเคยลดลง มีความสนุกในกิจกรรมต่าง ๆ ที่เคยทำลดลง อีกทั้งยังหาความสุข ความพอใจในชีวิตได้ยากขึ้น เรียกได้ว่าใช้ชีวิตอยู่กับความว่างเปล่าไปวัน ๆ โดยภาวะสิ้นยินดีจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

      1. ภาวะสิ้นยินดีทางสังคม (Social Anhedonia) ผู้ป่วยจะไม่อยากพบเจอ พูดคุย ไม่ได้ต้องการสร้างสัมพันธ์กับบุคคลใด

      2. ภาวะสิ้นยินดีทางร่างกาย (Physical Anhedonia) ผู้ป่วยจะไม่มีความรู้สึกเพลิดเพลินกับการทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น ไปกินอาหาร ไปดูหนัง ก็ไม่ได้แฮปปี้เหมือนที่เคย

          ทั้งนี้ ภาวะสิ้นยินดีเป็นหนึ่งในอาการที่พบได้ในผู้ป่วยโรคซึมเศร้าชนิดรุนแรง แต่ก็อาจเป็นหนึ่งในอาการของโรคทางจิตเวชอื่น ๆ หรือโรคเรื้อรัง เช่น พาร์กินสัน ได้ด้วย อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าคนที่เป็นภาวะสิ้นยินดีจะต้องป่วยด้วยโรคจิตเวชกันทุกคนนะคะ เพราะมีเคสที่ไม่รู้สึกยินดียินร้าย แต่ก็ตรวจไม่พบโรคทางจิตเวชใด ๆ เช่นกัน

ภาวะสิ้นยินดี (Anhedonia) เกิดจากสาเหตุอะไร

          สาเหตุของภาวะสิ้นยินดี เกิดได้จากหลายปัจจัยด้วยกัน เช่น

  • การเปลี่ยนแปลงของสารเคมีในสมองที่เสียสมดุลไปจากเดิม และกระทบกับการหลั่งโดปามีน ซึ่งเป็นฮอร์โมนแห่งความสุข 
  • โรคจิตเวชที่เป็นอยู่ก่อน เช่น โรคซึมเศร้า, โรคไบโพลาร์, โรคจิตเภท, อาการป่วยทางใจหลังเกิดเหตุการณ์ร้ายแรง (โรค PTSD) หรือโรคกินผิดปกติ (Eating Disorder) 
  • โรคเรื้อรังทางสมองที่เจ็บป่วยมานาน เช่น โรคพาร์กินสัน หรือโรคอื่น ๆ ที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิต 
  • การพบเจอเหตุการณ์ที่รุนแรง เช่น ถูกทำร้ายทางร่างกายหรือจิตใจ การถูกคุกคามทางเพศ
  • คนที่ใช้ชีวิตด้วยความเคร่งเครียด มีความเครียดต่อเนื่องมาเป็นเวลานาน
  • การใช้สารเสพติดต่าง ๆ

          ทั้งนี้ พันธุกรรมก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่เพิ่มความเสี่ยงของภาวะสิ้นยินดีให้มากขึ้น โดยเฉพาะในกรณีที่พ่อแม่มีปัญหาสุขภาพจิต เช่น ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ก็มีโอกาสที่ลูกจะประสบปัญหาสุขภาพจิตและนำไปสู่ภาวะสิ้นยินดีได้

ภาวะสิ้นยินดี (Anhedonia) อาการเป็นอย่างไร

ภาวะสิ้นยินดี

          เช็กกันหน่อยว่าอาการแบบไหนเข้าข่ายภาวะสิ้นยินดี

  • รู้สึกเฉย ๆ ต่อกิจกรรมที่ชอบ เช่น เคยชอบดูซีรีส์มาก แต่หลัง ๆ กลับไม่สนใจที่จะดูเลย หรือดูแล้วก็รู้สึกว่าไม่สนุกสักเรื่อง
  • ไม่มีความรู้สึกตื่นเต้นที่จะไปเจอใคร ไม่อยากคุยกับเพื่อน ไม่อยากข้องเกี่ยวกับคนรอบข้าง ชอบเก็บตัวอยู่คนเดียวเงียบ ๆ
  • แสดงสีหน้า แสดงอารมณ์ได้น้อยลง ไม่มีอารมณ์ขัน มีแต่อารมณ์เบื่อ ๆ
  • ไม่ค่อยมี Passion ในการท่องเที่ยว หรือทำกิจกรรมแฮงก์เอาต์อื่น ๆ ที่เคยสนุกกับมัน
  • รู้สึกเฉย ๆ กับคนรักมากขึ้น พร้อมกับมีความต้องการทางเพศลดลง
  • เริ่มคิดลบต่อตัวเองและสิ่งรอบตัว
  • รู้สึกว่างเปล่า ไม่ทุกข์ แต่ก็ไม่สุข เน้นใช้ชีวิตให้ผ่านไปวัน ๆ
  • บางครั้งก็รู้สึกสิ้นหวัง หมดกำลังใจ
  • ไม่กลัวความตาย เริ่มคิดหรือมีพฤติกรรมทำร้ายตัวเอง

ภาวะสิ้นยินดี (Anhedonia) รักษาได้ไหม

           การรักษาภาวะสิ้นยินดีในปัจจุบันยังใช้วิธีรักษาตามโรคหลักที่ผู้ป่วยเป็น โดยหากพบว่าเรามีอาการเข้าข่าย ควรไปพบจิตแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยอาการและรับคำปรึกษา การบำบัดรักษาที่ตรงจุด เช่น หากพบว่าป่วยโรคจิตเวชอยู่ก่อน แพทย์ก็จะรักษาด้วยวิธีทางจิตวิทยา หรือหากมีสาเหตุมาจากโรคทางกาย ก็ต้องหาวิธีรักษาโรคทางกายให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ ซึ่งอาจส่งผลให้อาการทางใจทุเลาลงไปด้วย

ภาวะสิ้นยินดี (Anhedonia) ป้องกันได้ไหม

ภาวะสิ้นยินดี

          การป้องกันภาวะสิ้นยินดีที่เราพอทำได้ คือ ดูแลสุขภาพโดยรวมให้ดี กินให้ดี นอนให้ดี และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ระบบต่าง ๆ ในร่างกายทำงานได้ตามปกติ นอกจากการดูแลทางกายแล้ว การดูแลทางจิตใจก็สำคัญเช่นกัน โดยควรฝึกการผ่อนคลาย การใช้ชีวิตอย่างยืดหยุ่น การมองโลกในหลาย ๆ ด้าน เพื่อให้เรารับมือกับสถานการณ์ยาก ๆ ในชีวิตได้ หรือสามารถจัดการความเครียดให้ตัวเองได้
          อย่างไรก็ดี ภาวะสิ้นยินดีไม่ใช่โรคร้ายแรงก็จริง แต่หากเป็นแล้วก็กระทบกับการใช้ชีวิตและการอยู่ในสังคมพอสมควร ดังนั้นหากสงสัยว่าตัวเองมีภาวะสิ้นยินดี แนะนำให้ไปพบจิตแพทย์ หรือปรึกษานักจิตวิทยา เพื่อหาทางออกหรือป้องกันไม่ให้จมอยู่กับภาวะสิ้นยินดีนาน ๆ จนกัดกร่อนชีวิตเราได้

บทความที่เกี่ยวข้องกับปัญหาสุขภาพจิต

ขอบคุณข้อมูลจาก : รามา แชนเนล, healthline.com, webmd.com
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ภาวะสิ้นยินดี (Anhedonia) เฉยเมยต่อสิ่งใด ๆ ใช้ชีวิตไปวัน ๆ เราป่วยหรือยัง อัปเดตล่าสุด 10 มกราคม 2566 เวลา 18:33:46 57,299 อ่าน
TOP