x close

ซีเซียม-137 อันตรายอย่างไร เช็กอาการและวิธีรักษาเมื่อโดนสารกัมมันตรังสี

          ซีเซียม-137 คืออะไร มีครึ่งชีวิตเท่าไร รู้จักวัตถุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ว่าอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพ อย่างไรบ้าง
ซีเซียม-137

          จากข่าวท่อบรรจุสารซีเซียม-137 ซึ่งเป็นวัตถุกัมมันตรังสีสูญหายไปจากโรงไฟฟ้าพลังงานไอน้ำที่จังหวัดปราจีนบุรี แม้ว่าในที่สุดจะตามหาพบแล้ว ทว่าวัตถุดังกล่าวได้ถูกถลุงกลายเป็นฝุ่นแดง จึงสร้างความวิตกกังวลให้คนในพื้นที่ไม่น้อย เพราะหวั่นเกรงว่าฝุ่นจะฟุ้งกระจายออกมาและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ขณะที่หลายคนก็อยากทราบว่า ซีเซียม-137 คืออะไร และหากเข้าสู่ร่างกายจะเป็นอันตรายแค่ไหน เราจึงนำข้อมูลมาบอกกัน

ซีเซียม-137 คืออะไร มีครึ่งชีวิตเท่าไร

          ซีเซียม-137 (Caesium-137) หรือ Cs-137 เป็นธาตุลำดับที่ 55 คือไอโซโทปของธาตุซีเซียม ซึ่งเป็นสารกัมมันตรังสี เกิดจากปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิชชัน (Nuclear Fission) ซึ่งพบในฝุ่นกัมมันตรังสีที่ตกค้างจากการทดลองลูกระเบิดอะตอม และจากอุบัติเหตุทางนิวเคลียร์ เช่น เหตุการณ์อุบัติเหตุที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลเมื่อปี ค.ศ. 2005  

          ซีเซียม-137 เป็นโลหะอ่อนสีขาวเงิน ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น มีสถานะเป็นของเหลวที่อุณหภูมิ 28 องศาเซลเซียส แต่มักจะจับตัวกับคลอไรด์กลายเป็นผงผลึก ซีเซียม-137 มีครึ่งชีวิต 30.17 ปี ประมาณ 95% จะสลายตัวโดยการปลดปล่อยอนุภาครังสีบีตาแล้วกลายเป็นแบเรียม-137m (Barium-137m) ซึ่งมีครึ่งชีวิตเพียง 2.5 นาที และเมื่อรังสีบีตาสลายตัวจะให้รังสีแกมมา ขณะที่อีก 5% จะสลายตัวไปเป็นไอโซโทปเสถียรโดยตรง โดยการตรวจวัดซีเซียม-137 สามารถทำได้จากรังสีแกมมาที่ปล่อยออกมา

หมายเหตุ : ครึ่งชีวิต คือ ระยะเวลาที่สารกัมมันตรังสีใช้ในการสลายตัวให้เหลือครึ่งหนึ่งของที่มีอยู่เดิม อย่างกรณีซีเซียม-137 มีค่าครึ่งชีวิต 30.17 ปี หมายความว่า จะต้องใช้เวลาประมาณ 30 ปี สารตัวนี้จึงจะเหลือครึ่งหนึ่ง และต้องใช้เวลาอีก 30 ปีไปเรื่อย ๆ ถึงจะเหลืออีกครึ่งหนึ่งจากของเดิม รวม ๆ แล้วหากต้องการให้ซีเซียม-137 สลายไปจนหมดหรือไม่สามารถแผ่รังสีได้อีกต้องใช้เวลาเป็นร้อย ๆ ปี

ซีเซียม-137 มีประโยชน์อย่างไร

ซีเซียม-137

          ซีเซียม-137 เป็นไอโซโทปรังสีที่นิยมนำมาใช้ทางอุตสาหกรรม ดังนี้

  • ใช้สำหรับปรับเทียบเครื่องมือวัดรังสีแกมมาในห้องปฏิบัติการวิจัยทางรังสี 
  • ใช้เป็นเครื่องมือวัดทางอุตสาหกรรม เช่น เครื่องวัดความหนาของวัสดุ เช่น กระดาษ แผ่นโลหะ, เครื่องวัดการไหลของของเหลว, เครื่องวัดความชื้น, วัดปริมาณขี้เถ้าที่เกิดจากการเผาชีวมวล เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าในโรงไฟฟ้า
  • ใช้เป็นต้นกำเนิดรังสีแกมมาในการวัดความหนาแน่นของเครื่องมือเจาะสำรวจน้ำมัน 
  • ใช้เป็นต้นกำเนิดรังสีในการรักษามะเร็ง 
  • ใช้ตรวจสอบไวน์ที่หายาก

ซีเซียม-137 เข้าสู่สิ่งแวดล้อมได้อย่างไร

          ต้นกำเนิดใหญ่ที่สุดมาจากฝุ่นกัมมันตรังสี เช่น จากการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ การระเบิดของโรงไฟฟ้า ส่วนซีเซียม-137 ที่ถูกนำมาใช้ในโรงพยาบาลหรือห้องวิจัยมักไม่ได้รั่วไหลเข้าสู่สิ่งแวดล้อม แต่อาจรั่วไหลได้หากอุปกรณ์ที่มีซีเซียม-137 เป็นส่วนประกอบสูญหายหรือถูกขโมยออกไปและถูกขายต่อเป็นเศษโลหะ ทำให้สารถูกหลอมละลายและปนเปื้อนต่อสิ่งแวดล้อม

ซีเซียม-137 อันตรายกับร่างกายอย่างไร

ซีเซียม-137

          หากซีเซียม-137 รั่วขึ้นมาจะกระจายอยู่ทั้งในดิน น้ำ และเข้าสู่ห่วงโซ่อาหาร ดังนั้น อาหารในกลุ่มผัก ผลไม้ นม อาหารทะเล และอาหารที่แปรรูปจากวัตถุดิบทางการเกษตร ย่อมมีโอกาสปนเปื้อนซีเซียม-137 ได้มากกว่าอาหารประเภทอื่น ถ้าคนรับประทานเข้าไปจะกระจายไปทั่วร่างกาย แม้บางส่วนจะถูกขับออกทางเหงื่อและปัสสาวะได้ แต่ยังมีบางส่วนตกค้างและสะสมในกล้ามเนื้อ ตับ ไขกระดูก

          กรณีได้รับในปริมาณมากหรือเป็นเวลานาน เช่น เป็นคนที่อยู่ในบริเวณที่มีสารเปรอะเปื้อนรอบรัศมี 5-10 กิโลเมตร หรือประสบอุบัติเหตุทางนิวเคลียร์ รังสีที่แผ่ออกมาจากฝุ่นซีเซียม-137 จะทำให้เซลล์ในร่างกายกลายพันธุ์ หรือกลายเป็นเซลล์ที่ผิดปกติ อีกทั้งจะทำให้เกิดความผิดปกติในระดับโครโมโซมหรือพันธุกรรม และนำไปสู่การเกิดโรคมะเร็งในช่วง 5-10 ปี

          ในกรณีที่เผลอไปหยิบจับต้นกำเนิดซีเซียม-137 โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เช่น กลุ่มคนรับซื้อ-ขายของเก่า รับซื้อเศษเหล็ก เก็บขยะขาย อาจทำให้เนื้อเยื่อที่สัมผัสเปื่อยเน่า ผิวหนังไหม้หรือถึงขั้นสูญเสียอวัยวะบริเวณนั้นไป ผมร่วง ภูมิต้านทานลดลง เพราะรังสีไปทำลายตัวแอนติบอดีในร่างกาย

          อย่างไรก็ตาม ผลกระทบที่ได้รับจะมาก-น้อยแค่ไหนนั้นยังขึ้นอยู่กับความแรงของต้นกำเนิด ปริมาณรังสี ระยะเวลาที่ร่างกายได้รับรังสี รวมทั้งเครื่องกําบังที่วางกั้นระหว่างคนกับแหล่งกําเนิดรังสีด้วย

อาการแบบไหนแสดงว่าสารกัมมันตรังสีเข้าสู่ร่างกาย

          เมื่อได้รับสารกัมมันตรังสีในปริมาณมาก มักมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ปวดท้อง ท้องเสีย อ่อนเพลีย มีไข้ ผิวหนังที่ถูกรังสีอาจแดง อักเสบ ไหม้ หลุดลอก ผมหรือขนหลุดร่วง ปากเปื่อย

          นอกจากนี้ยังอาจส่งผลต่อระบบเลือด เม็ดเลือดขาวถูกทำลาย เม็ดเลือดแดงและเกล็ดเลือดลดระดับต่ำลงเรื่อย ๆ กดไขกระดูก ระบบประสาท ทำให้ซึม สับสน ชักเกร็ง และเสียชีวิตได้

ทำอย่างไรเมื่อได้รับซีเซียม-137 เข้าสู่ร่างกาย

          หากเผลอสัมผัสซีเซียม-137 ให้ปฏิบัติตัวดังนี้

  1. ล้างตาด้วยน้ำสะอาด โดยให้น้ำไหลผ่านจากหัวตาไปทางหางตา
  2. ล้างมือ อาบน้ำ สระผม และเปลี่ยนเสื้อผ้าทันทีถ้าสามารถทำได้ เก็บเสื้อผ้าใส่ถุงปิดปากให้สนิทเพื่อตรวจสอบว่ามีการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีหรือไม่
  3. ไปลงทะเบียนยังหน่วยงานที่กำหนดให้มีการจัดทำทะเบียนผู้สัมผัสหรืออยู่ในเหตุการณ์ เพื่อการเฝ้าระวังสุขภาพและควบคุมการแพร่กระจายของกัมมันตรังสี
  4. ห้ามหยิบจับวัตถุทุกชนิด ห้ามสูบบุหรี่ ห้ามรับประทานอาหารและเครื่องดื่ม ห้ามนำมือสัมผัสบริเวณพื้นที่ที่เจ้าหน้าที่ได้กำหนดไว้ให้เป็นพื้นที่อันตราย
  5. หากมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลวมากเกินกว่า 2 ครั้ง มีไข้ หนาวสั่น ชักเกร็ง มีเลือดออกที่ใดที่หนึ่งภายใน 1 สัปดาห์ หลังโดนรังสี ให้รีบไปพบแพทย์ พร้อมทั้งแจ้งประวัติสัมผัสสารกัมมันตรังสี
ซีเซียม-137

ภาพจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดปราจีนบุรี

วิธีรักษาเมื่อได้รับซีเซียม-137 เข้าสู่ร่างกาย

          กรณีได้รับซีเซียม-137 เข้าสู่ร่างกาย แพทย์จะจ่ายยาชื่อ ปรัสเซียนบลู (Prussian Blue) เพื่อจะได้ไปทำปฏิกิริยาเคมีจับกับซีเซียม ทำให้ขับออกจากร่างกายได้เร็วขึ้น
          จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หากใครอยู่ในพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรี หรือจังหวัดใกล้เคียง ถ้ามีอาการผิดปกติที่ต้องสงสัยว่าเกิดขึ้นจากการสัมผัสซีเซียม-137 สามารถเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน พร้อมแจ้งประวัติการสัมผัสสารกัมมันตรังสีให้แพทย์ทราบทันที

บทความที่เกี่ยวข้องกับซีเซียม-137

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ซีเซียม-137 อันตรายอย่างไร เช็กอาการและวิธีรักษาเมื่อโดนสารกัมมันตรังสี อัปเดตล่าสุด 21 มีนาคม 2566 เวลา 19:41:47 46,417 อ่าน
TOP