x close

ข้อดีของการหายใจช้า





ข้อดีของ "หายใจ" ช้า (ประชาชาติธุรกิจ)

          "หายใจ" พฤติกรรมของร่างกายที่หลายคนมองว่า เป็นเรื่องที่สุดแสนจะง่าย เพราะหายใจใครๆ ก็ทำได้ทั้งนั้น แต่...เชื่อหรือไม่ว่า การหายใจของคนจำนวนไม่น้อยนั้น ต้องบอกว่า "ผิด"

          เพราะการหายใจที่ถูกวิธี ถูกกับสรีระและธรรมชาตินั้นคือ การที่หายใจเข้าท้องป่อง หายใจออกท้องแฟบ แต่ในความเป็นจริง วิธีการหายใจของหลายคนกลับกลับตาลปัตรไป ซึ่งหารู้ไม่ว่าการที่เราหายใจถูกวิธีจะช่วย ให้สุขภาพดีขึ้น และลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคอื่นๆ ที่ตามมา และเชื่อหรือไม่ว่า แค่หายใจถูกๆ ดีๆ ก็สามารถช่วย "ลดความดัน" ได้แล้ว

          เรื่องของความดันโลหิตสูงในปัจจุบัน นับว่าเป็นเรื่องที่น่ากลัวทีเดียว เพราะเมื่อเกิดอาการนี้ขึ้นไม่ใช่เพียงแค่ทำให้คุณรู้สึกวูบวาบ วิงเวียนศีรษะเท่านั้น แต่หากปล่อยให้ร่างกายมีภาวะความดันโลหิตสูงอยู่เป็นเวลานาน จะทำให้เกิดการเสื่อมสภาพของหลอดเลือดแดง โดยเฉพาะหลอดเลือดเลี้ยงสมอง หัวใจและไต อันจะทำให้หลอดเลือดสมองแตกหรือตีบตัน นอกจากนั้นแล้วความดันโลหิตสูงยังทำให้หัวใจต้องทำงานหนักขึ้นจนหัวใจโต กล้ามเนื้อหัวใจหนา อาจเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว หรือหัวใจวายจนถึงแก่ชีวิตได้...

          เรื่องของเรื่องคือ เมื่อเกิดภาวะนี้ การหายใจ อย่างช้า...ช้า... ก็จะสามารถช่วยลดอาการดังกล่าวได้
      
        การทำกิจกรรมเพื่อลดความดันโลหิตนั้นมีข้อจำกัดหลายประการ แต่ก็มีหลายวิธีที่อาจช่วย ลดความดันโลหิตได้ในผู้ที่ยังมีอาการไม่มาก เช่น การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันควบคู่ไปกับการใช้ยา การควบคุมอาหาร และการหากิจกรรมที่ช่วยผ่อนคลายความเครียด เช่น การเล่นโยคะ การนั่งสมาธิ และการหายใจอย่างมีประสิทธิภาพ การหายใจที่มีประสิทธิภาพ คือ การหายใจที่มีอัตราต่ำกว่า 10 ครั้งต่อนาที (อัตราปกติของการหายใจโดยเฉลี่ยเท่ากับ 13.8-19.4 ครั้งต่อนาที) การหายใจที่ยาวและลึกขึ้นนั้นจะส่งผลดีต่อระบบหลอดเลือดหัวใจ

          จากผลงานวิจัยทางการแพทย์พบว่า ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงที่มี การฝึกการหายใจช้าและลึกวันละประมาณ 15 นาที ติดต่อกันเป็น ระยะเวลา 2 เดือนนั้น ค่าความดันโลหิตลดลงมากกว่าผู้ป่วยกลุ่มที่ไม่ได้เข้ารับการฝึกการหายใจ

          นั่นเพราะการหายใจช้าและลึกนั้นจะมีผลไปกระตุ้นปลายประสาท ที่สัมพันธ์กับระบบการทำงานที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงความดัน การเต้นของหัวใจและการไหลกลับของเลือดเข้าสู่หัวใจ ซึ่งจะเป็นผล ต่อเนื่องกับความดันที่ลดลงและความต้านทานภายในหลอดเลือด ทั่วร่างกายด้วย

          แต่การฝึกหายใจให้มีประสิทธิภาพด้วยตนเองนั้น อาจไม่ใช่เรื่องง่ายหากจิตใจไม่ผ่อนคลาย มีความฟุ้งซ่าน หงุดหงิด โมโห กังวล ร่างกายไม่พร้อมฝึก รวมไปถึงสภาวะแวดล้อมที่อาจสร้างความรบกวนทางจิตใจ เช่น เสียงดัง อากาศที่ร้อนหรือหนาวเกินไป ล้วนแต่มีผลที่จะทำการฝึกทั้งสิ้น


          หากการฝึกหายใจจะไม่เป็นเรื่องยากอีกต่อไป ด้วยเครื่องช่วยการฝึกหายใจที่เรียกว่า Device-Guided Breathing นวัตกรรมใหม่ทางการแพทย์ที่ใช้รักษาโรคความดันโลหิตสูงได้โดยปราศจากผลข้างเคียง

          เครื่องทำงานโดยใช้ระบบคอมพิวเตอร์วิเคราะห์รูปแบบการหายใจและยังออกแบบการหายใจใหม่ให้เหมาะสม อย่างมีแบบแผนและแน่นอน นั่นคือหายใจช้าและลึกขึ้น

          "การฝึกหายใจที่มีแบบแผนแน่นอนจะสามารถกำหนดได้ว่า ต้องปฏิบัตินานเท่าใดจึงสามารถลดความดันได้ เพราะการฝึกอย่าง ต่อเนื่องเป็นประจำจะช่วยควบคุมภาวะความดันโลหิตสูงได้ ที่สำคัญ คือการใช้เครื่องมือนี้จะไม่มีผลข้างเคียงแต่อย่างใด"

          การฝึกหายใจด้วยเครื่องจะส่งผลให้กล้ามเนื้อรอบหลอดเลือดขยายทำให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงหัวใจและอวัยวะต่าง ๆ ได้ดียิ่งขึ้น จึงส่งผลให้ความดันโลหิตลดลง เพียงฝึกหายใจด้วยเครื่องวันละ 15 นาที หรือสัปดาห์ละ 45 นาที จะมีผลทำให้ความดันโลหิตลดลงได้ถึง 14/9 มิลลิเมตรปรอท และจะสามารถเห็นผลชัดเจนภายใน 4 - 8 สัปดาห์

          อย่างไรก็ตาม การรักษาโรคความดันโลหิตสูงจะมีประสิทธิภาพ มากยิ่งขึ้น หากใช้เครื่องควบคู่กับการรักษาโดยการใช้ยาและหรือ 1วิธีการอื่น ๆ ที่ไม่ใช้ยา       

          ฉะนั้นจึงไม่ใช่เรื่องตลก ถ้าจะลุกขึ้นมาหัดหายใจกันใหม่ อีกครั้ง !!


             เคล็ดลับสุขภาพ สุขภาพใกล้ตัว โรคและการป้องกัน คลิกเลย

                     
คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อน ๆ ได้ที่นี่ค่ะ


ขอขอบคุณข้อมูลจาก



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ข้อดีของการหายใจช้า อัปเดตล่าสุด 26 ธันวาคม 2556 เวลา 20:35:53 3,532 อ่าน
TOP