x close

วิจัยชี้กินจุบจิบ ไม่เกี่ยวหิว แต่ติดเป็นนิสัย


เกร็ดสุขภาพ


ชี้คนเราไม่ได้หม่ำเพราะหิว กินจุบจิบเพราะติดเป็นนิสัย (ไทยโพสต์)

          นักวิทยาศาสตร์พบว่า คนเราไม่ได้กินอาหารขยะเพราะหิว หรือเพราะความอร่อย แต่กินเพราะติดเป็นนิสัย อย่างเช่น เรามักมีนิสัยกินของบางอย่างในบางสถานที่ เช่น ข้าวโพดคั่วป๊อปคอร์นในโรงหนัง แม้ว่ารสชาติจะแสนจืดชืด

          นักวิจัยของมหาวิทยาลัยเซาเทิร์นแคลิฟอร์เนีย ได้ทำการทดลองเพื่อตอบคำถามว่า ทำไมคนเราจึงกินมากเกินความจำเป็น โดยจัดให้คนที่เข้าโรงภาพยนตร์กลุ่มหนึ่งถือป๊อปคอร์นที่เพิ่งคั่วใหม่ ๆ หนึ่งถังเข้าไปกินในโรง อีกกลุ่มให้กินที่คั่วค้างคืนมาแล้วหนึ่งสัปดาห์

          ปรากฏว่าผู้ชมภาพยนตร์ซึ่งปกติไม่กินป๊อปคอร์นเวลาดูหนัง จะกินป๊อปคอร์นค้างคืนหนึ่งอาทิตย์ ในปริมาณน้อยกว่าพวกที่กินป๊อปคอร์นคั่วใหม่มากเลยทีเดียว เพราะรู้สึกว่ามันไม่อร่อย แต่พวกที่กินป๊อปคอร์นเป็นนิสัย ตอนดูหนังจะกินป๊อปคอร์นในปริมาณพอ ๆ กัน ไม่เกี่ยงว่าเป็นป๊อปคอร์นค้างคืนหรือคั่วใหม่

          นักวิจัยสรุปว่า สำหรับคนที่กินในโรงหนังเป็นนิสัย ไม่ว่าป๊อปคอร์นจะอร่อยหรือไม่ คนกลุ่มนี้ก็กินอยู่ดี

          "เรามักเข้าใจว่า พฤติกรรมการกินขึ้นอยู่กับรสชาติอาหาร คงไม่มีใครกินป๊อปคอร์นที่เก่าเก็บเย็นชืดอ่อนนิ่ม แต่เมื่อเราได้กินจนกลายเป็นนิสัย เราก็จะกินในปริมาณพอ ๆ กัน ไม่สนใจว่าเพิ่งคั่วใหม่ ๆ หรือค้างคืน" เว็นดี วูด แห่งยูเอสซีบอก


กินอาหาร


          งานวิจัยซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Personality and Social Psychology Bulletin ชิ้นนี้ ช่วยให้เข้าใจเรื่องการกินมากเกินจำเป็น และเหตุปัจจัยที่ทำให้คนเรากินแม้ไม่ได้รู้สึกหิว หรือแม้ไม่ได้ชอบของกินนั้นเลย

          เดวิด นีล หัวหน้าทีมวิจัย บอกว่า พอเรากินอาหารอะไรซ้ำ ๆ ในที่ใดที่หนึ่งเสมอ สมองของเราก็จะเชื่อมโยงของกินนั้นเข้ากับสถานที่แบบนั้น ทำให้เรากินของสิ่งนั้นเวลาอยู่ในสภาพแวดล้อมนั้น

          นอกจากนี้ นักวิจัยยังได้ทดลองจัดให้อาสาสมัครกินป๊อปคอร์นตอนดูวิดีโอคลิปในห้องประชุมด้วย เพื่อเปรียบเทียบผลกัน ปรากฏว่าในห้องประชุม ซึ่งไม่ได้มีบรรยากาศเกี่ยวข้องกับป๊อปคอร์น คนจะแคร์ว่าป๊อปคอร์นนั้นอร่อยหรือเปล่า แม้แต่คนที่กินป๊อปคอร์นในโรงหนังเป็นประจำ ก็ยังกินป๊อปคอร์นที่จืดชืดน้อยกว่าป๊อปคอร์นคั่วใหม่

          "ผลวิจัยบ่งบอกว่า สภาพแวดล้อมมีผลอย่างมากต่อพฤติกรรมการกินที่ไม่ส่งผลดีต่อสุขภาพ บางครั้งความตั้งใจที่จะกินอย่างถูกหลักอาจไม่พอ เราต้องดัดแปลงสภาพแวดล้อมด้วย" นีลกล่าว

          นักวิจัยยังพบอีกว่า นิสัยการกินก็ปรับเปลี่ยนได้ โดยได้ขอให้อาสาสมัครกินป๊อปคอร์นด้วยมือข้างที่ไม่ถนัด เมื่อคนถนัดขวาหยิบป๊อปคอร์นด้วยมือซ้าย ก็จะเพ่งความสนใจกับสิ่งที่ตัวเองกำลังกินมากขึ้น เมื่อต้องกินป๊อปคอร์นที่จืดชืดก็จะกินน้อยลงไปด้วย


  เคล็ดลับสุขภาพ สุขภาพใกล้ตัว โรคและการป้องกัน คลิกเลย 

คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ





ขอขอบคุณข้อมูลจาก






เรื่องที่คุณอาจสนใจ
วิจัยชี้กินจุบจิบ ไม่เกี่ยวหิว แต่ติดเป็นนิสัย อัปเดตล่าสุด 16 ธันวาคม 2556 เวลา 16:15:24 1,156 อ่าน
TOP