x close

เรื่องใกล้ตัวทำหูคนยุคใหม่ป่วย



เรื่องใกล้ตัวทำหูคนยุคใหม่ป่วย (ชีวจิต)

          ศาสตราจารย์เกียรติคุณแพทย์หญิงสุจิตรา ประสานสุข ที่ปรึกษาอาวุโสศูนย์โสตประสาทการได้ยินกรุงเทพฯ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เล่าถึงสาเหตุที่ทำให้คนสมัยนี้เป็นโรคเกี่ยวกับหูกันมากขึ้น คุณหมอมีคำอธิบายค่ะ

1.การดำน้ำ 

          การดำน้ำทำให้ออกซิเจนและเลือดไปเลี้ยงหูชั้นในน้อยลง ซึ่งในหูชั้นในจะมีอวัยวะเกี่ยวกับการทรงตัวอยู่ เมื่อเลือดหรือออกซิเจนไปเลี้ยงไม่พอ อวัยวะเหล่านั้นก็ทำงานได้น้อยลงหรือไม่ทำงานเลย ก่อให้เกิดอาการ เวียนหัว บ้านหมุน

           สองคือ ร่างกายไม่สามารถปรับความดันในหูได้ เพราะการดำน้ำทำให้ความดันในหูเปลี่ยนแปลง เมื่อความดันภายในช่องหูต่างจากความดันภายนอก จึงรู้สึกหูอื้อและปวดหู

           สุดท้ายคือ ขี้หูอมน้ำ ซึ่งปัจจัยนี้เกิดกับคนที่ว่ายน้ำด้วย เพราะขี้หูคนเรามีส่วนประกอบส่วนใหญ่ที่ไม่ละลายน้ำ และส่วนน้อยที่ละลายน้ำได้ปะปนกัน เมื่อโดนน้ำจึงทำให้ขี้หูพองตัวในรูหู ทำให้ได้ยินเสียงไม่ชัดและอาจมีอาการคันด้วย ซึ่งตรงกับอาการที่ฉันเป็นตอนนี้ คนที่ว่ายน้ำก็อาจมีอาการนี้ด้วยเช่นกัน

 วิธีป้องกันเบื้องต้น

           ผู้ที่ดำน้ำได้จะต้องไม่มีประวัติเป็นโรคภูมิแพ้มาก่อน โดยเฉพาะโรคภูมิแพ้อากาศและหอบหืด เพราะระบบท่อระบายอากาศในหูชั้นกลางของผู้ที่มีอาการดังกล่าวทำงานไม่ดี หากไปดำน้ำ เยื่อบุผนังท่อระบายอากาศในหูชั้นกลางอาจบวม ส่งผลให้ระบบการปรับความดันในหูไม่ดี

           ผู้ที่เพิ่งเดินทางลงจากเครื่องบินไม่ควรดำน้ำในทันที เพราะหูยังปรับความดันไม่ได้ ควรรอประมาณ 1-2 วัน จึงจะดำน้ำได้ 

           ใส่ที่อุดหูสำหรับว่ายน้ำเพื่อป้องกันน้ำเข้าหู และใช้คอตตอนบัทซับน้ำบริเวณใบหูรอบนอกเท่านั้น หากขึ้นจากน้ำแล้วมีอาการหูอื้อ หรือหูดับ (สูญเสียการได้ยินเสียงแบบฉับพลัน) ต้องรีบพบแพทย์ทันที ส่วนการรักษาอาการของฉันนั้นไม่ยาก เพียงแค่ดูดเอาขี้หูออกเท่านั้น

2. หูฟังเครื่องเล่นเสียงพกพา 

          คุณหมอบอกว่า เดี๋ยวนี้มีคนหูเสื่อมจากการฟังเสียงผ่านหูฟังกันมากขึ้น โดยเฉพาะวัยรุ่นทั้งที่เด็กกลุ่มนี้อาจไม่เคยเข้าผับ แต่ก็ป่วยเป็นโรคเกี่ยวกับการได้ยินกันมาก ซึ่งมีสาเหตุได้หลายอย่างดังนี้

           เซลล์ประสาทหูและเซลล์ขนในหูถูกทำลาย เพราะการใส่หูฟังเข้าไปในรูหูซึ่งใกล้กับหูมาก ก่อให้เกิดความดันของคลื่นเสียง ซึ่งจะเข้าไปทำปฏิกิริยากับแก้วหูโดยตรง และทำลายเซลล์ประสาทหูและเซลล์ขนในหู จึงทำให้สูญเสียการได้ยินบางส่วนหรือถึงขั้นหูดับ

           ประสาทรับเสียงเสื่อม เกิดจากความผิดปกติของกระแสไฟฟ้าในหู ส่งผลให้เกิดเสียงรบกวนในหู เช่น เสียงแมงหวี่ร้อง เสียงวิทยุจูนผิดคลื่นตลอดเวลา หรืออาจเป็นเสียงอื่น ๆ ได้อีกมากมาย

           เชื้อโรคในหูฟัง นอกจากหูฟังจะเป็นแหล่งกำเนิดเสียงดังที่เป็นอันตรายแล้ว ยังเป็นแหล่งสะสมเชื้อแบคทีเรีย และเชื้อโรคอื่นที่ทำให้เกิดโรคในหูมากมาย อาทิ หนองในหู หรือเกิดการอักเสบในช่องหูได้


 วิธีป้องกันเบื้องต้น


           ควรเปิดเครื่องเล่นเสียงให้มีระดับความดังแค่ครึ่งเดียว ของระดับเสียงที่เครื่องมีอยู่

           ฟังเพลงในเวลาที่เหมาะสมเท่านั้น เพื่อให้หูได้หยุดพักการใช้งานบ้าง

           ไม่ควรใช้หูฟังร่วมกับคนอื่น เพราะอาจติดเชื้อโรคได้ และควรเปลี่ยนฟองน้ำหูฟัง หรือทำความสะอาดเป็นประจำ

3.โทรศัพท์มือถือ 

          คุณหมอบอกว่าโทรศัพท์มือถือเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ระบบหู และการได้ยินของคนยุคใหม่เสื่อมมากขึ้น โดยมีสาเหตุจาก

           เชื้อโรคในหูลุกลามจากความร้อน เพราะปกติในหูคนเราจะมีเชื้อโรคอยู่บ้าง แต่ก็มีขี้หูและผิวหนังที่ช่วยป้องกันไว้ แต่เมื่อโดนความร้อนจากการใช้โทรศัพท์มือถือ ประกอบกับการใช้มือเขี่ย หรือเกา จนทำให้ผิวหนังถลอก เท่ากับขาดปราการป้องกันเชื้อโรค จึงทำให้เชื้อโรคเติบโตได้ดีและเกิดอาการอักเสบ เช่น

           มีสิวในหู หรือมีอาการอักเสบเป็นฝี หูบวมแดง คัน และมีน้ำเหลืองไหล

           คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าทำลายประสาทหู คลื่นที่ออกจากมือถือคือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เมื่อใช้โทรศัพท์นาน ๆ คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจะส่งผลต่อระบบการทำงานของคลื่นไฟฟ้า และอิเล็คโตรไลท์ในหู นอกจากนี้ยังทำให้โมเลกุลในหูเกิดความสั่นสะเทือนจนทำให้หูร้อน หากมีพฤติกรรมเช่นนี้ประจำ จะทำให้เส้นประสาทในหูถูกทำลายได้ จนได้ยินเสียงต่าง ๆ น้อยลง

 วิธีป้องกันเบื้องต้น

           ใช้อุปกรณ์เสริมในการใช้โทรศัพท์ เช่น หูฟัง (Small Talk) หรือ บลูทูธ (Bluetooth)เพื่อหลีกเลี่ยงคลื่นเสียงและความร้อนโดยตรง

           เช็ดทำความสะอาดโทรศัพท์ด้วยแอลกฮอล์ และใช้โทรศัพท์มือถือเท่าที่จำเป็น

4. การพักผ่อนไม่เพียงพอ 

          คุณหมอเล่าให้ฟังว่า การพักผ่อนมีความสำคัญต่อหูในส่วนที่เกี่ยวกับการทรงตัว การพักผ่อนนั้นมีความสำคัญต่อระบบการทรงตัวเพราะ

          การพักผ่อนน้อยส่งผลให้การไหลเวียนของกระแสเลือดไม่ดี โดยเฉพาะหูชั้นในนั้นต้องการเลือดมาเลี้ยงมาก หากขาดเลือดจะทำให้น้ำในหูชั้นในเสียสมดุล ซึ่งน้ำในหูนี่เองที่เป็นตัวหล่อเลี้ยงเซลล์ประสาท ที่ควบคุมระบบการทรงตัว เมื่อน้ำในหูทั้งสองข้างไม่เท่ากัน ข้างหนึ่งทำงานมาก อีกข้างหนึ่งทำงานน้อย จะเกิดความผิดปกติของระบบการทรงตัวในที่สุด

          นอกจากนี้อาการน้ำในหูไม่เท่ากันที่เกิดจากการพักผ่อนน้อย ยังส่งผลให้เกิดอาการเวียนหัว บ้านหมุนเฉียบพลัน คลื่นไส้ อาเจียน โดยจะมีอาการนานเป็นชั่วโมง แต่ไม่เกิน 24 ชั่วโมง แต่การเวียนหัวบ้านหมุนอาจไม่ได้เกิดจากกรณีน้ำในหูไม่เท่ากันเสมอไป ซึ่งต้องสังเกตให้ดีเพื่อรับการรักษาที่ถูกต้อง

          วิธีสังเกตว่าการเวียนหัวเกิดจากความผิดปกติของระบบส่วนใดในหู สังเกตได้จาก ถ้าอาการเวียนหัวเกิดทุกครั้งเมื่อเคลื่อนไหวศีรษะ ก็มีสาเหตุมาจากน้ำในหูไม่เท่ากัน แต่หากเวียนหัวเฉพาะเมื่ออยู่ในท่าใดท่าหนึ่ง หรือเอียงหัวไปข้างใดข้างหนึ่งเท่านั้น ถือว่าเป็นความผิดปกติของก้อนหินปูนในหูชั้นใน หรือเรียกว่าโรคหินปูนในหูหลุด ซึ่งเป็นโรคเกี่ยวกับหูที่พบได้บ่อยเช่นเดียวกัน

 วิธีป้องกันเบื้องต้น

           การป้องกันเบื้องต้นที่ดีที่สุดคือการพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่เครียด เพื่อให้ระบบไหลเวียนของเลือดทำงานได้ดี

           ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และไม่ควรกินอาหารไขมันสูง เพื่อป้องกันโรคไขมันอุดตันในเส้นเลือด ซึ่งส่งผลต่อการทำงานของหูชั้นในได้

5. ยาบางชนิด

          อีกปัจจัยหนึ่งที่คุณหมอบอกว่าคนทั่วไปมักมองข้ามนั่นก็คือ การกินยาบางชนิด เพราะสารเคมีในยาส่งผลต่อเส้นประสาทหู แต่ก็เป็นยาเพียงบางชนิดเท่านั้น และส่วนใหญ่จะเป็นยาที่แพทย์สั่ง ประเภทยาที่มีผลกระทบต่อหูให้ฟังดังนี้

           ยาปฏิชีวนะ เช่น ยาฆ่าเชื้อโรคหรือยาต้านเชื้อแบคทีเรียกลุ่มที่เรียกว่า อะมิโนไกลโคไซด์ เช่น เจนตามัยซินเจนตามิซิน (gentamicin) กานามัยซิน (kanamycin) หรือ อะมิกาซิน (amikacin) ยากลุ่มนี้จะมีผลทำให้เส้นประสาทหูเสื่อม และทำให้การได้ยินเสียงลดลง

           ยารักษาโรคบางชนิด เช่น ยารักษาโรควัณโรค ยารักษาเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ยารักษาโรคมาลาเรียเหล่านี้ส่งผลให้ประสาทหูเสื่อมเช่นเดียวกัน

 วิธีป้องกันเบื้องต้น

           ผู้ป่วยที่ต้องฉีดยาหรือกินยาชนิดดังกล่าวเป็นประจำ ต้องคอยสังเกตตัวเองว่า มีอาการได้ยินเสียงน้อยลงหรือไม่ เพื่อรักษาได้ทันท่วงที

           หากมีอาการเกี่ยวกับหูไม่ควรซื้อยาแก้อักเสบ หรือยาฆ่าเชื้อกินเอง เพราะอาจทำอันตรายต่อประสาทหูจนหูดับเลยก็ได้

6. มลภาวะทางอากาศ 

          ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า ปัจจัยที่สุดแสนใกล้ตัวอย่างมลภาวะทางอากาศจะทำให้โรคหูน้ำหนวก โรคที่หาได้ยากในปัจจุบันกลับมาเล่นงานคนในยุคนี้อีกครั้ง

          สิ่งแปลกปลอมในอากาศ เช่น ฝุ่นละออง และควันรถ คือตัวการทำให้เกิดโรคในระบบทางเดินหายใจ โดยเฉพาะคนที่เป็นโรคภูมิแพ้หรือเป็นหวัดบ่อย หากปล่อยให้โรคลุกลามจนเกิดการอักเสบหลังโพรงจมูกและคอ เชื้อโรคก็จะเดินทางจากหลังโพรงจมูกมาที่หู และเกิดเป็นโรคหูน้ำหนวกในที่สุด

 วิธีป้องกันเบื้องต้น

           รักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง เพื่อป้องกันอาการหวัด 

           ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้หรือหวัดเรื้อรังต้องคอยสังเกตตัวเอง หากเป็นหวัด แล้วมีของเหลวลักษณะเหมือนเลือดผสมหนองไหลจากรูหู และมีอาการปวดหูร่วมด้วยให้รีบไปหาคุณหมอ เพราะแก้วหูอาจอักเสบจนถึงขั้นทะลุแล้วก็ได้

  เคล็ดลับสุขภาพ สุขภาพใกล้ตัว โรคและการป้องกัน คลิกเลย 

 คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ


ขอขอบคุณข้อมูลจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เรื่องใกล้ตัวทำหูคนยุคใหม่ป่วย อัปเดตล่าสุด 16 ธันวาคม 2556 เวลา 12:16:45 17,800 อ่าน
TOP