x close

โอเซลทามิเวียร์ กับ ซานามิเวียร์ ต่างกันอย่างไร?

ไข้หวัด 2009



โอเซลทามิเวียร์ กับ ซานามิเวียร์ ต่างกันอย่างไร? (สสส.)
ที่มา : คมชัดลึก

          หากใครติดตามข่าวคราวช่วง 3 เดือนนี้ คงเห็นการนำเสนอข่าวการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ไม่เว้นแต่ละวัน ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ประมาณการว่าคนไทยติดเชื้อชนิดนี้ไปแล้วราว 5 แสนคน เผลอๆ น้องๆ ที่น่ารักอาจจะติดเชื้อนี้แล้วก็ได้ เพียงแต่ไม่แสดงอาการ เพราะผู้ติดเชื้อโรคนี้ 90% อาการไม่รุนแรง สามารถหายได้เอง มีเพียง 10% ที่จะมีอาการรุนแรง 

          โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว หญิงตั้งครรภ์ คนอ้วน เด็กเล็กและผู้สูงอายุเมื่อป่วยเป็นไข้ต้องรีบไปพบแพทย์ทันทีเพื่อรับการรักษา ส่วนคนปกติหากมีไข้กินยาลดไข้ 2 วันแล้วไข้ยังไม่ลด ต้องรีบไปพบแพทย์เช่นกัน

          แต่เอ!! ผู้ป่วยโรคนี้ แพทย์จะให้กินยาพาราเซตามอลเหมือนกับที่คุณพ่อ คุณแม่ให้น้องๆ กินตอนเป็นไข้หวัดธรรมดาหรือเปล่า ด้วยความกระหายใคร่รู้บวกกับต้องการนำเรื่องดีๆ มาเล่าสู่น้องๆ เลยค้นคว้าข้อมูล สอบถามผู้รู้จนตกผลึกว่า โรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 สามารถรักษาให้หายได้ด้วยยาต้านไวรัสที่ชื่อว่า โอเซลทามิเวียร์ (Oseltamivir) และซานามิเวียร์ (Zanamivir) แต่ลักษณะการใช้ยา 2 ชนิดนี้ต่างกันนะคะ

          ยาโอเซลทามิเวียร์ เป็นยาตัวเดียวกับที่ใช้รักษาโรคไข้หวัดนกและโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์อื่นๆ เป็นยาชนิดกินเพราะตัวยาจะดูดซึมได้ดีในทางเดินอาหาร ปัจจุบันในประเทศไทยมีการใช้ยาตัวนี้ใน 2 ชื่อ คือ ทามิฟลู ของบริษัทโรช ราคาเม็ดละประมาณ 120 บาท และจีพีโอ เอ-ฟลูขององค์การเภสัชกรรม (อภ.) ราคาเม็ดละ 25 บาท ปัจจุบันไทยมีการสำรองยานี้แล้วไม่ต่ำกว่า 10 ล้านเม็ด

          การใช้รักษาผู้ป่วยจะต้องรับประทานยานี้ติดต่อกัน 5 วัน วันละ 2 เม็ด รวม 10 เม็ดจึงจะถือว่าได้รับยาครบตามขนาดการรักษา อาการป่วยจึงจะหาย แต่ช้าก่อนค่ะน้องๆ อย่าเพิ่งวิ่งไปหาซื้อยานี้มากินเองเป็นอันขาด เพราะการได้รับยานี้ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น ไม่ใช่จะกินแบบสุ่มสี่สุ่มห้า อาจเกิดผลข้างเคียง เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ปวดศีรษะ นอนไม่หลับ และท้องเสีย

          ส่วนยาซานามิเวียร์จะใช้ในกรณีที่เชื้อไวรัสดื้อยาโอเซลทามิเวียร์ หรือใช้ยาโอเซลทามิเวียร์แล้วไม่ได้ผล เป็นยาผง ชนิดพ่นเข้าทางปาก เพราะดูดซึมเข้าสู่ร่างกายทางกระเพาะอาหารได้น้อย ปัจจุบันทั่วโลกมีเพียงบริษัท แกล็คโซสมิธ ไคลน์ หรือจีเอสเคเท่านั้นที่ผลิตยานี้ออกจำหน่าย ในชื่อ รีเล็นซา ราคา 450 บาทต่อชุดรักษา โดย 1 ชุดรักษาจะมียา 10 หลุม

          ผู้ป่วยที่ต้องใช้ยาซานามิเวียร์ จะต้องพ่นยา วันละ 2 ครั้ง เช้า - เย็น ติดต่อกัน 5 วัน จึงจะถือว่ารักษาครบชุด ซึ่งกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข สั่งยาชนิดนี้มาสำรองไว้แล้วประมาณ 2 หมื่นชุด


  เคล็ดลับสุขภาพ สุขภาพใกล้ตัว โรคและการป้องกัน คลิกเลย 

 คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ


ขอขอบคุณข้อมูลจาก



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
โอเซลทามิเวียร์ กับ ซานามิเวียร์ ต่างกันอย่างไร? อัปเดตล่าสุด 31 สิงหาคม 2552 เวลา 18:57:16 1,855 อ่าน
TOP