x close

ปรับตัวรับมือปัญหาหมอกควัน


หมอกควันภาคเหนือ

หมอกควันภาคเหนือ

หมอกควันภาคเหนือ


หนทางปรับตัวรับมือปัญหาหมอกควัน (ไทยโพสต์)

          สถานการณ์หมอกควันในเขตพื้นที่ภาคเหนือ เริ่มจากที่เป็นปัญหาเฉพาะพื้นที่ ขณะนี้ได้กลายเป็นปัญหาระดับชาติ ที่ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง เนื่องจากปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบในวงกว้างทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม เศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และที่สำคัญคือ ผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพของประชาชนเป็นวงกว้างในเวลานี้

          เห็นได้จากรายงานสถิติของหลายจังหวัดพบว่า มีผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบเข้ารักษาในโรงพยาบาลแล้วจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยจากโรคหัวใจ โรคระบบทางเดินหายใจ โรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน หอบหืด และโรคตาอักเสบ แต่เมื่อไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ เครือโรงพยาบาลกรุงเทพ มีวิธีการปรับตัวเพื่อป้องกันและการดูแลตนเอง เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบจากฝุ่นละอองในอากาศมาแนะนำ

          ฝุ่นละอองในอากาศมีทั้งชนิดที่เป็นอินทรีย์และอนินทรีย์ ทั้งนี้ขึ้นกับแหล่งที่มาของฝุ่นละออง ซึ่งจะเป็นตัวบ่งชี้ความอันตราย ซึ่งอันตรายจากฝุ่นละอองในอากาศมักจะหมายถึงการทำให้เกิดปฏิกิริยาแพ้ (allergic reaction) การอุดตันจนเกิดปอดอักเสบ (pneumonitis) และการเกิดพังผืดในปอด (fibrosis) ซึ่งส่วนมากเป็นอนินทรีย์สาร แต่จะไม่รวมอันตรายที่เกิดจากกลุ่มอินทรีย์สารที่เป็นกลุ่มโรคหรือสารพิษ เช่น เชื้อวัณโรค เชื้อแอนแทรกซ์ เชื้อไวรัสหัด เชื้อไข้ทรพิษ (ฝีดาษ) เชื้อราชนิด Histoplasmosis หรือสารอินทรีย์เคมี เช่น ยากำจัดศัตรูพืช เป็นต้น

          เมื่อฝุ่นละอองเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ อาจทำให้เกิดปฏิกิริยาภายในร่างกาย เริ่มตั้งแต่เกิดอาการแพ้หรืออักเสบในโพรงจมูก โพรงไซนัส ช่องคอ และหลอดลม จนทำให้เกิดโรคระบบทางเดินหายใจ หรือโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน หอบหืด เนื่องจากเมื่อฝุ่นละอองเข้าไปถึงส่วนที่อยู่ลึกที่สุดของทางเดินหายใจ ซึ่งก็คือถุงลมปอด เมื่อฝุ่นละอองสะสมเป็นปริมาณมากเกินกว่าความสามารถที่มาโครฟาจจะกำจัดออกไปได้ จึงทำให้เกิดการบาดเจ็บของเนื้อปอด จนเกิดเป็นโรคปอดอักเสบ เมื่อเป็นเรื้อรังก็จะทำให้เกิดพังผืด หรือเกิดรอยแผลเป็นภายในปอดได้ ปัจจัยที่มีผลต่อปฏิกิริยาเหล่านี้ได้แก่ ปริมาณ ขนาด ชนิดของฝุ่นละออง รูปแบบการหายใจ อัตราการหายใจ และระยะเวลาที่หายใจอากาศที่มีฝุ่นละอองเหล่านี้

ภูมิแพ้


          สำหรับข้อแนะนำเพื่อป้องกันปัญหาจากหมอกควันนั้นได้แก่ หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่มีหมอกควันหรือฝุ่นละออง ถ้าจำเป็นต้องอยู่ในสถานที่ที่มีหมอกควันหรือฝุ่นละออง ควรใช้หน้ากากอนามัยชนิดกรอง 3 ชั้นปิดปากและจมูก เพราะจะช่วยป้องกันฝุ่นละอองที่มีขนาดใหญ่กว่า 5 ไมครอนได้ โดยไม่จำเป็นต้องใช้หน้ากากอนามัยชนิด N95 ที่สามารถกรองฝุ่นละอองที่มีขนาดตั้งแต่ 0.3 ไมครอนได้ ควรเปลี่ยนหน้ากากอนามัยทุกวัน และถ้าเป็นไปได้ควรใช้แบบครั้งเดียวทิ้ง เพื่อสุขลักษณะที่ดี
 
          หากจำเป็นต้องอยู่ในสถานที่ที่มีฝุ่นละอองติดต่อกันยาวนาน เช่น เกินกว่าสัปดาห์ หรือเดือน ควรเตรียมความพร้อมด้านการกรองอากาศในที่อยู่อาศัย เช่น ติดระบบกรองอากาศในบ้าน ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบของฝุ่นต่อร่างกายได้ โดยเลือกใช้ระบบกรองอากาศที่เหมาะสม และสามารถถอดล้างได้ในระยะยาว สำหรับบริเวณพื้นที่ว่างเปล่าควรปลูกพืชคลุมหน้าดินไว้ เพื่อลดโอกาสที่ฝุ่นละอองจะลอยฟุ้งขึ้นมาในอากาศได้

          สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือด โรคความดัน โรคระบบทางเดินหายใจ โรคภูมิแพ้ โรคหอบหืด ควรเตรียมยาประจำตัวให้พร้อมและพกติดตัว เพื่อป้องกันและใช้รักษาเมื่ออาการกำเริบ หากมีอาการผิดปกติ เช่น หายใจลำบาก แน่นหน้าอก ควรรีบพบแพทย์ที่โรงพยาบาลหรือสถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน



  เคล็ดลับสุขภาพ สุขภาพใกล้ตัว โรคและการป้องกัน คลิกเลย 

คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ



ขอขอบคุณข้อมูลจาก



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ปรับตัวรับมือปัญหาหมอกควัน อัปเดตล่าสุด 12 มีนาคม 2555 เวลา 14:32:46 7,313 อ่าน
TOP