x close

ปลอดภัยไว้ก่อน... ทะเล กับปัญหาสุขภาพที่คุณควรจะรู้


ทะเล


ปลอดภัยไว้ก่อน... ทะเล กับปัญหาสุขภาพที่คุณควรจะรู้ (Lisa)

          อย่าลืมเตรียมตัวให้ดีกับความเจ็บป่วยที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในท้องทะเล เพราะถ้าถึงเวลาจริง ๆ คนที่ช่วยคุณได้อาจมีแต่ตัวคุณเองเท่านั้นนะ ไม่ว่าจะเป็นเมาเรือ หอยเม่น แมงกะพรุน หรือเป็นลมแดด มารู้จักวิธีรับมือกันก่อน แล้วถึงเวลาก็พาสติไปด้วยเยอะ ๆ ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ไม่น่ากลัวแล้วล่ะ

เมาเรือ

          เมาเรือคืออะไร? ที่แน่ ๆ คือมันไม่สนุกเอาเสียเลยเมื่อเราเมาเรือในวันหยุด การเมาเรือเกิดขึ้นเมื่อเกิดความขัดแย้ง ระหว่างประสาทสัมผัสในร่างกายกับระบบการทรงตัว นั่นก็คือหูชั้นใน ตา และส่วนอื่น ๆ ที่ร่างกายใช้รับรู้การเคลื่อนไหว ส่งสัญญาณขัดแย้งไปยังสมอง เช่น หูชั้นในพบว่าร่างกายกำลังเคลื่อนไหว ในขณะที่ส่วนอื่นนึกว่าปกติ อย่างเช่น หากคุณอยู่บนเรือ หูชั้นในก็จะพบว่ามีคลื่นแรง แต่ดวงตากลับมองไม่เห็นความเคลื่อนไหว จึงทำให้เกิดเป็นอาการเมาเรือได้

ป้องกันไม่ให้เมาเรือ

          การป้องกันเป็นวิธีที่ดีกว่าการรักษา เพราะเมื่อเกิดเมาเรือขึ้นมาครั้งหนึ่งแล้วจะหยุดยาก (หากเมาเรือขึ้นมาจริง ๆ อาการจะบรรเทาลงได้ก็ต่อเมื่อการเคลื่อนไหวนั้นหยุดลง) ยิ่งถ้าคุณเคยมีประวัติเมาเรือมาก่อน อย่าพยายามมองเข้าไปในตัวเรือ หากหยุดเรือไม่ได้ คุณอาจจะนั่งหรือนอนในบริเวณที่เรือโคลงน้อยที่สุดก่อนก็ได้ โดยยาแก้เมาเรือที่หาซื้อได้ตามท้องตลาดทั่วไปสามารถป้องกันไม่ให้คลื่นเหียนอาเจียนได้ เพียงแต่คุณควรจะกินก่อนลงเรือ ซึ่งบางชนิดอาจกล่อมประสาทและทำให้ง่วง นอกจากนี้ คนที่ไม่ชอบกันยาก็อาจเลือกกินแคปซูลขิงแทน หรือใส่ริสแบนด์ที่ช่วยเรื่องการทรงตัวก็ได้ แม้ว่าเทียบกับวิธีอื่นแล้วจะมีราคาแพงและไม่มีข้อพิสูจน์ว่าช่วยได้จริง แต่ก็ปลอดภัย

หากเมาเรือขึ้นมาทำอย่างไรดี

          หายใจลึก ๆ แล้วดื่มน้ำเยอะ ๆ

          อย่าเข้าไปในตัวเรือที่มองข้างนอกไม่เห็น แล้วแทนที่จะลงไปนอนในตัวเรือ ให้ไปนั่งอยู่ในที่ที่ไม่โคลงนักแต่มีอากาศถ่ายเทดีกว่า

          มองเส้นขอบฟ้าเพื่อให้สมองปรับตัวกับสภาพแวดล้อมที่ไม่มั่นคง

          พยายามกินน้อย ๆ หลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูงหรืออาหารเผ็ด


หอยเม่น

หอยเม่นตำ

           สำหรับนักท่องเที่ยวที่ชอบดำนำตื้นคงต้องระวังเป็นพิเศษ อย่างที่เราทราบกันว่าถ้าไม่ทำอะไรหอยเม่น มันก็จะไม่ทำอะไรเรา แต่การถูกหอยแม่นตำก็ยังเป็นเรื่องที่พบได้บ่อยอยู่ดี

เมื่อหอยเม่นตำควรทำอย่างไร

          ใช้แหนบถอนหนามเม่นออก

          แช่บริเวณที่ถูกตำในน้ำร้อนที่สุดเท่าที่ผู้ป่วยจะทนได้ 30-90 นาที หรือแช่ซ้ำเพื่อบรรเทาปวด (ส่วนปัสสาวะหรือน้ำส้มสายชูนั้น จะไม่ช่วยบรรเทาปวดสักเท่าไหร่)

          อย่าเพิ่งทุบหนามให้แตก ถ้าเห็นเป็นรอยช้ำม่วงอาจจะไม่ใช่หนามที่หลงเหลืออยู่ แต่เป็นสีตกจากหอยเม่นบางชนิดซึ่งจะคงอยู่ประมาณ 24-48 ชั่วโมง แต่ถ้าเลยไปแล้ว ยังมีสีดำ ก็เป็นไปได้ว่ายังมีหนามตำอยู่

          แผลหอยเม่นมีโอกาสจะอักเสบได้อยู่แล้ว เราจะสังเกตได้จากอาการบวมแดง หรือเป็นตุ่มน้ำขึ้นมา หรือคุณอาจจะมีไข้ ถ้าเป็นอย่างนั้นก็ควรไปพบแพทย์ เพราะอาจต้องใช้ยาปฏิชีวนะ

 แมงกะพรุนไฟ

          ข่าวหนึ่งที่คุณสบายใจได้คือ แผลจากแมงกะพรุนไฟอาจหายได้เองภายใน 15-20 นาที ถ้าคุณไม่แพ้ แต่ความจริงข้อนี้ก็ทำให้เกิดวิธีบรรเทาแผลแมงกะพรุนแบบแปลก ๆ ขึ้นมาเหมือนกัน เช่น การใช้น้ำส้มสายชู ปัสสาวะ หรือแอลกอฮอล์ ซึ่งไม่เหมาะกับแผลแมงกะพรุนไฟ เพราะอาจทำให้พิษจากแมงกะพรุนบางชนิดถูกขับออกมามากขึ้น (แต่บางชนิดก็น้อยลงเช่นกัน) ดังนั้น การปฐมพยาบาลแผลแมงกะพรุนไฟจึงมีหลักดังนี้

          1.หากมีหนวดที่ยังมองเห็นอยู่ ให้ค่อย ๆ หยิบออกโดยสวมถุงมือหรือใช้กิ่งไม้เขี่ย ระวังอย่าให้ถูกผิวหนัง

          2.ล้างบริเวณที่โดนด้วยน้ำทะเลหรือน้ำเปล่า

          3.ประคบน้ำแข็งหากเจ็บปวดมาก

          4.หากบริเวณที่โดนเป็นดวงตา ให้ลืมตาในน้ำเปล่าเรื่อย ๆ อย่างน้อย 15 นาที หลังจากนั้น ถ้ายังมองไม่เห็น ภาพเบลอ แสบตา บวม หรือแพ้แสง ให้รีบไปพบแพทย์

แผลปะการัง

          คุณไม่ควรจับปะการังด้วยเหตุผลทั้งปวง ตั้งแต่ปะการังเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีสัตว์น้ำอื่น ๆ มาอาศัย ไปจนถึงความจริงว่าปะการังอาจคมกว่าที่คิด แผลจากปะการังมักไม่ใช่รอยตัด แต่เป็นการฉีกขาดของผิวหนัง จงทำให้เกิดอาการอักเสบได้ง่ายหรือหายยากนั่นเอง ซึ่งวิธีทำความสะอาดแผลปะการังมีดังนี้

          ใช้สบู่และน้ำสะอาดล้างแผล แล้วใช้น้ำสะอาดล้างตามอีกมาก ๆ

          ใช้ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ผสมน้ำล้างแผล แล้วล้างอีกที่ในน้ำเปล่า

          ใช้เบตาดีนล้างแผล แล้วปิดแผลด้วยผ้าก๊อซ (หรือไม่ต้องปิดก็ได้ แต่ก็ยังจำเป็นต้องทำความสะอาดแผลอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง)


ลมแดด

Expert’s Corner

รู้จักกับ "Heat Stroke"

          ไม่ว่าคุณจะไปเที่ยวเขาหรือทะเลท่ามกลางอากาศร้อนเช่นนี้ย่อมเสี่ยงกับการเป็น "ฮีทสโตรก" ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต เราจึงต้องไปทำความรู้จักกับ นพ.นรินทร สุรสินธน แพทย์ด้านเวชปฏิบัติทั่วไป รพ.สมิติเวช สุขุมวิท

"ฮีทสโตรก" คืออะไร?

          อาการลมแดด (Heat Stroke) เกิดจากการที่ร่างกายไม่สามารถควบคุมความร้อนที่เพิ่มขึ้นในทันทีทันใดได้ โดยปกติศูนย์ควบคุมอุณหภูมิกายจะทำหน้าที่ควบคุมอุณหภูมิภายในร่างกายให้อยู่ที่ 37 องศาเซลเซียส ศูนย์นี้มีความไวต่ออุณหภูมิเลือดที่ไหลผ่าน หากอุณหภูมิในเลือดสูงขึ้นศูนย์จะส่งสัญญาณไปตามเส้นใยประสาททั่วร่างกาย ซึ่งจะทำให้มีการขยายหลอดเลือดบริเวณผิวหนัง เพื่อให้ความร้อนกระจายออกจากร่างกาย และลดกระบวนการเมตาบอลิซึ่มภายในร่างกาย เพื่อมิให้มีการผลิตความร้อนมากเกินควร

          หากศูนย์ควบคุมอุณหภูมิกายได้รับอันตรายเนื่องจากความร้อนจนทำให้ไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ ผลที่ตามมาก็คือทำให้เกิดลมแดดได้ ยิ่งมีการเสียเหงื่อ (น้ำ) มากเท่าไร โอกาสที่จะเป็นลมแดดก็มีมากขึ้นเท่านั้น ถ้าเป็นการออกกำลังกายหนักและนานก็จะทำให้ความทนทานต่อการขาดน้ำลดน้อยลง การขาดน้ำทำให้ปริมาณเลือดที่หล่อเลี้ยงผิวหนังและอวัยวะภายใน เช่น สมอง ตับ และกล้ามเนื้อไม่เพียงพอร่างกายจึงจำเป็นต้องเลือกทางใดทางหนึ่ง ซึ่งตามธรรมชาติก็มักจะเลือกการส่งเลือดไปยังอวัยวะภายในและกล้ามเนื้อ เมื่อเป็นเช่นนี้ปริมาณเลือดที่หล่อเลี้ยงผิวหนังจึงถูกตัดลง ทำให้อุณหภูมิของร่างกายเพิ่มขึ้นโดยไม่อาจควบคุมได้

ทำอย่างไรเมื่อเป็นลมแดด

          เมื่ออยู่กลางแสงแดดนาน ๆ ให้สังเกตตนเองว่ามีอาการเริ่มต้นของลมแดดรึเปล่า โดยจะมีอาการกระหายน้ำมาก ปากคอแห้ง ตัวร้อนจัด หายใจสั้นและถี่ เวียนศีรษะ ตาพร่า การเคลื่อนไหวและสติสัมปชัญญะควบคุมไม่ได้ ถ้าเป็นเช่นนี้ให้เข้าไปพักในที่ร่มใกล้ ๆ คลายเสื้อผ้าออก หรือถอดออกเท่าที่ทำได้ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตามตัว ดื่มน้ำได้ โดยต้องจิบช้า ๆ เป็นระยะ ๆ จนความกระหายหมดไป

          แต่ถ้าหมดสติต้องปฐมพยาบาลทันที ให้ผู้ป่วยนอนราบ ยกเท้าสูง นำเข้าไปพักในที่ร่มที่มีอากาศโปร่งสบาย คลายหรือถอดเสื้อผ้าออก ใช้น้ำเย็นชโลมตัวแล้วเช็ดออกติดต่อกัน ถ้ายังไม่ฟื้นสติ ลองลดอุณหภูมิด้วยวิธีต่าง ๆ ก็แล้ว แต่ก็ยังไม่ฟื้น ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยต้องปฐมพยาบาลไปตลอดทางด้วยครับ


  เคล็ดลับสุขภาพ สุขภาพใกล้ตัว โรคและการป้องกัน คลิกเลย

 คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ




ขอขอบคุณข้อมูลจาก



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ปลอดภัยไว้ก่อน... ทะเล กับปัญหาสุขภาพที่คุณควรจะรู้ อัปเดตล่าสุด 9 พฤษภาคม 2555 เวลา 11:14:31 1,532 อ่าน
TOP