x close

กินอย่างไร ไม่เสีย (สม) ดุล


อาหารเพื่อสุขภาพ


กินอย่างไร ไม่เสีย (สม) ดุล (Modern Mom)
เรื่อง : มาลี พัฒน์ฯ

          ถ้าคุณเป็นคนที่เอ็นจอยกับการกินเนื้อสัตว์ โปรดปรานกับอาหารรสจัดจ้าน ฝากท้องกับอาหารสำเร็จรูปอยู่เป็นนิจ แถมยังเป็นคอกาแฟตัวยง เห็นทีว่าได้เวลาปรับเปลี่ยนอาหาร เพื่อปรับสมดุลร่างกายแล้วล่ะค่ะ ก็อาหารต่าง ๆ ที่ว่ามานั้น ล้วนแล้วแต่เป็นอาหารเพิ่มดีกรีความร้อนให้แก่ร่างกายแทบทั้งนั้น ปล่อยร่างกายให้อยู่ในโหมดที่ร้อนไป หรือเย็นไปนาน ๆ ไม่เป็นผลดีกับสุขภาพและความสุขสบายกายเป็นแน่

          ตามแนวทางของธรรมชาติบำบัดเชื่อว่า อาหารแต่ละชนิดมีฤทธิ์ร้อนและเย็นในตัวที่ส่งผลกับร่างกายและความเจ็บป่วยของคนกิน เช่นเดียวกับร่างกายคนเราและสภาพแวดล้อมภายนอกที่มีทั้งร้อนและเย็น ซึ่งสองอย่างหลังนั้นเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงได้ตลอดขึ้นอยู่กับภูมิอากาศ อาหารที่เรากินเข้าไป และการใช้ชีวิตประจำวันของเรา

          ดังนั้นสมดุลร้อนเย็นเพื่อสุขภาพ "เบากาย สบาย มีกำลัง" จึงไม่ได้หมายถึงสัดส่วนอาหารร้อนเย็นที่เท่ากัน 50-50 แต่คือชนิดอาหารร้อนหรือเย็นที่เหมาะสมกับภาวะพื้นฐานของร่างกาย สภาพอากาศ และความเปลี่ยนแปลงภายในร่างกายในช่วงเวลานั้น ๆ เพื่อไม่ให้ร่างกายเรามีภาวะร้อน หรือเย็นเกินไปจนสำแดงฤทธิ์ออกมาด้วยอาการเจ็บป่วย


อาหาร
แล้วจะรู้ได้ยังไงว่าร่างกายเราอยู่ในภาวะไหน ?

แบบไหน...ร้อนเกิน เย็นเกิน

          การจะรู้ว่าร่างกายเราตอนนี้อยู่ในโหมดแบบใดนั้น ไม่ยากเย็นอะไร แถมเป็นเรื่องดีที่ให้เราได้หันกลับมาสำรวจร่างกายของเราเองอยู่อย่างต่อเนื่อง ที่ว่าไม่ยากนั้นก็เพราะใช้แค่ความใส่ใจ และการสังเกตด้วยตัวเองล้วน ๆ คือสังเกตอาการและความเปลี่ยนแปลงของร่างกายที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะหลังจากที่กินอาหารเข้าไป ว่า อาหารที่กินเข้าไปนั้นทำปฏิกิริยาให้ร่างกายร้อนขึ้นหรือเย็นลงแค่ไหน และเหล่านี้ก็เป็นแนวทางที่ช่วยในการสังเกตความเป็นไปของร่างกายเราเอง

ร้อนเกิน

          ท้องผูก ปัสสาวะปริมาณน้อย สีเข้ม ออกร้อนท้องแสบท้อง รู้สึกร้อนแต่เหงื่อไม่ออก ร้อนในช่องปาก เหงือกอักเสบ เจ็บปลายลิ้น เจ็บคอ เสียงแหบ ปากคอแห้ง ริมฝีปากแห้ง มีแผลต่าง ๆ ในช่องปากด้านล่าง หิวมาก หิวบ่อย ตัวร้อน มือเท้าร้อน หน้าแดง มีสิวขึ้น ครั่นเนื้อครั่นตัว มีเส้นเลือดขอดตามส่วน เป็นต้น

          ตามตำราท่านว่า ถ้ามีภาวะร้อนภายในร่างกายมากและสะสมเป็นเวลานาน ๆ แล้ว อาการเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็อาจพัฒนาเป็นโรคหัวใจ หวัดร้อน ไซนัสอักเสบ หลอดลมอักเสบ ริดสีดวงทวาร เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ฯลฯ ต่อไปได้

เย็นเกิน

          ท้องอืด จุก เสียด แน่น ปัสสาวะมีปริมาณมาก อุจจาระ ท้องเสีย หน้าซีด มีตุ่มหรือแผลในช่องปากด้านบน มือเท้าเย็น ชา หนาวสั่นตามร่างกาย ตาแฉะ ตามัว เสมหะมากแต่ไม่เหนียว สีใส ริมฝีปากซีด เฉื่อยชา เคลื่อนไหวช้า มือเท้าชาและเย็น เป็นต้น

          นอกจากสังเกตได้จากอาการที่ว่ามาแล้ว เรายังสามารถสังเกตภาวะร้อน หรือเย็นเกินสมดุลของร่างกายได้จากลักษณะของอุจจาระได้ด้วยค่ะ ถ้าอุจจาระเป็นก้อนแข็ง สีเข้ม มีกลิ่นเหม็นผิดปกติ แสดงว่าร่างกายอยู่ในโหมดร้อนเกินไป แต่ถ้าอุจจาระเหลว ท้องร่วง แสดงว่ามีอยู่ในโหมดเย็นเกินไป ลำดับต่อไปต้องเลือกหาอาหารที่จะมาช่วยปรับร้อนให้คลาย ปรับเย็นให้อุ่นขึ้นค่ะ

อาหารเพื่อสุขภาพ

ปรับสมดุลร้อน-เย็นด้วยอาหาร

          ร่างกายของคนเรา ต้องการทั้งอาหารฤทธิ์ร้อนและเย็นอย่างสมดุลตามฤดูกาล แต่ถ้าเมื่อไหร่ร่างกายป่วยหรือรู้สึกไม่สบายตัว นั่นแสดงว่าภายในเราเริ่มเสียสมดุลแล้ว ซึ่งเราสามารถปรับสมดุลคืนกลับมาให้ร่างกายได้ด้วยการรับประทานอาหารที่มีฤทธิ์ตรงกันข้าม

          ถ้าร่างกายร้อน เราซ่อมด้วยอาหารที่มีฤทธิ์เย็น แต่ถ้าช่วงไหนร่างกายเย็นก็ปรับสภาพด้วยอาหารร้อน แต่ก่อนจะทำอย่างนั้นได้ ไม่เพียงรู้จักการสังเกตภาวะร่างกายของตัวเองเท่านั้น ยังต้องรู้ด้วยว่าอาหารแบบไหนเข้าช่วยอาหารฤทธิ์ร้อนหรือเย็น

          วิธีเรียนรู้ว่าพืช ผัก สมุนไพร หรืออาหารที่กินนั้นมีฤทธิ์ร้อน หรือเย็นนั้นก็อาศัยตัวเราเองอีกเช่นกันค่ะ สังเกตได้จากการกิน ถ้ากินเข้าไปแล้วรู้สึกปากคอแห้ง กระหายน้ำ และเมื่อดื่มน้ำตามแล้ว รู้สึกสดชื่น รู้สึกอร่อย อย่างกินพริกเยอะ ๆ เผ็ดทรมาน พอดื่มน้ำจะรู้สึกสบายขึ้น หรือว่ากินอาหารเค็มเยอะ ดื่มน้ำก็จะรู้สึกสบายขึ้น แสดงว่าเป็นอาหารฤทธิ์ร้อน

          แต่ถ้าเป็นอาหารฤทธิ์เย็น ถ้ากินเข้าไปแล้วจะรู้สึกชุ่มปากชุ่มคอ ดื่มน้ำตามเข้าไปแล้วไม่อร่อย หรืออีกวิธีหนึ่งคือถ้าเรามีอาการไม่สบายจากการกินอาหารฤทธิ์ร้อน/เย็นมากเกินไป เมื่อกินสิ่งใดแล้วอาการไม่สบายนั้นลดลง สิ่งนั้นจะมีฤทธิ์ตรงกันข้าม นอกจากนี้ยังสังเกตได้จากลักษณะของอาหารด้วยค่ะ

ผลไม้

          อาหารฤทธิ์เย็น ช่วยปรับสมดุล ทำให้สงบ เย็น ผ่อนคลาย รสชาติมักจะอ่อน ๆ ไม่จัดจ้านเกินไป อาจหวานจากธรรมชาติ หรือจืดไปเลย สีสันอยู่ในโทนอ่อนไม่จัดจ้าน เช่น สีขาว เขียว เหลืองอ่อน เนื้ออาหารมีลักษณะยุ่ย ไม่แน่น ชุ่ม สด อ่อน

          ตัวอย่างอาหารฤทธิ์เย็น เช่น ถั่วเหลือง ถั่วเขียว เห็ดนางฟ้า เห็ดฟาง เห็ดหูหนู ข้าวกล้อง (เหลือง) ข้าวซ้อมมือ ก๋วยเตี๋ยวที่ไม่มีน้ำมัน ผักบุ้ง แตงกวา มะละกอดิบ มะเขือยาว มะเขือเปราะ ถั่วงอก ฟัก แฟง ใบมะยม ผักแว่น ยอดตำลึง ผักหวานป่า ยอดชะมวง มะรุม ย่านาง ดอกขจร หัวไชเท้า กะหล่ำดอก กล้วยน้ำว้า สับปะรด ส้มโอ ส้มเช้ง กล้วยหักมุก กระท้อน มังคุด แตงไทย แตงโม พุทรา มะดัน มะยม มะม่วงดิบ ฯลฯ

อาหารร้อน

          อาหารฤทธิ์ร้อน รสชาติจะออกไปทางจัดจ้าน ทั้งหวานจัด เค็มจัด เผ็ด เปรี้ยว สีสันก็อยู่ในโทนเข้ม ออกไปทางดำ แดง ม่วง เขียวเข้ม พืชที่มีกลิ่นฉุน รสเผ็ดทุกชนิด รวมทั้งอาหารที่ใส่สารปรุงแต่งมาก ๆ อาหารที่ผ่านกระบวนการแปรรูป อย่างขนมกรุบกรอบ บะหมี่สำเร็จรูป ผงชูรส เหล้า เบียร์ ไวน์ ชา กาแฟ น้ำอัดลม เครื่องดื่มชูกำลัง

          ตัวอย่างอาหารฤทธิ์ร้อน เช่น เนื้อ นม ไก่ ถั่วเหลือง ถั่วลิสง ถั่วแดง ถั่วดำ เห็ดโคน ปลาร้า น้ำปลา เต้าเจี้ยว ไข่เค็ม ปลาเค็ม ผักรสเผ็ดและพืชที่มีกลิ่นฉุนทุกชนิด เช่น ตะไคร้ ขิง ข่า กะเพรา พริก พริกไทย สะระแหน่ หอม กระเทียม กะหล่ำ มะกรูด คะน้า สะตอ โหระพา ถั่วฝักยาว ฟักทอง หน่อไม้ ใบยอ สาหร่าย ส่วนผลไม้ ได้แก่ ทุเรียน มะเฟือง มะไฟ มะตูม ขนุนสุก มะม่วงสุก ลิ้นจี่ เงาะ ลำไย กล้วยหอม กล้วยไข่ กล้วยเล็บมือนาง องุ่น น้อยหน่า ฝรั่ง ทับทิมแดง มะละกอสุก

          อาหารที่ให้ฤทธิ์ร้อน ให้พลังงาน กระตุ้นร่างกายให้ทำงานคึกคัก มีชีวิตชีวา แต่ถ้ามากเกินก็จะกระตุ้นร่างกายให้ทำงานอยู่ตลอดเวลา ร่างกายร้อน ใครที่ชื่นชอบอาหารที่มีฤทธิ์ร้อน รู้ไว้เลยว่าร่างกายคุณถูกใช้งานมาก ซึ่งไม่เป็นผลดีกับร่างกาย

          ความจริงเราไม่จำเป็นต้องรอให้เกิดอาการไม่สบายเนื้อสบายตัวขึ้น เพื่อฟ้องว่าร่างกายเราร้อนหรือเย็นเกินไปค่อยปรับอาหารการกิน แต่ปรับสมดุลระหว่างอาหารร้อนเย็นที่กินเข้าไปในแต่ละวัน โดยกำหนดง่าย ๆ ว่า ถ้าวันใดกินอาหารที่มีฤทธิ์ร้อนหรือเนื้อสัตว์มาก ก็ควรที่จะหาผลไม้หรือผักที่เป็นฤทธิ์เย็นกินตามเข้าไป เป็นต้น

          วิถีชีวิตคนยุคใหม่โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ ทำให้วิถีชีวิตและวิถีการกินของเราเปลี่ยนไป อาหารส่วนใหญ่ที่เรากินกันมักจะมีฤทธิ์ร้อน เช่น อาหารสำเร็จรูป อาหารที่เค็มจัด มันจัด หวานจัด เผ็ดจัด เปรี้ยวจัด อาหารที่มีสารเคมี อาหารใส่ผงชูรส เรากินอยู่นิ่งมากกว่าเคลื่อนไหว เคร่งเครียด และเร่งร้อนในทุกกิจกรรมของชีวิต

          แม้กระทั่งการกิน เรากินเร็ว ลืมกินเพราะไม่มีเวลา กินรวบมื้อแบบหนัก ๆ กินปรนเปรอความเหนื่อยล้าและเคร่งเครียด และสังคมบริโภคนิยมยังกระตุ้นเร้าให้เรากิน กิน และกินได้ตลอด 24 ชั่วโมง กินเพราะอยาก กินเพราะภาพและคำเชิญชวน มากกว่ากินเพื่อตอบสนองร่างกายภายใน เป็นสาเหตุให้คนเดี๋ยวนี้เจ็บป่วยด้วยโรควิถีชีวิตกันมากขึ้น คงถึงเวลาแล้วที่เราต้องหันกลับมาใส่ใจตัวเองอย่างจริงจัง เริ่มจากเรื่องง่าย ๆ อย่างการกินนี่แหละค่ะ


เคล็ดลับสุขภาพ สุขภาพใกล้ตัว โรคและการป้องกัน คลิกเลย    




ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ข้อมูลจาก หนังสือถอดรหัสสุขภาพ เล่ม 1 ร้อน-เย็นไม่สมดุล : ใจเพชรมีทรัพย์ (หมอเขียว) สำนักพิมพ์กลุ่มสุดฝั่งฝัน



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
กินอย่างไร ไม่เสีย (สม) ดุล อัปเดตล่าสุด 28 พฤศจิกายน 2556 เวลา 17:11:09 40,588 อ่าน
TOP