x close

โวยแค่เป็นหวัด-ตรวจสุขภาพ รพ.เอกชน ฟัน 9 หมื่น

โวยแค่เป็นหวัด-ตรวจสุขภาพ รพ.เอกชน ฟัน 9 หมื่น


เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก คุณ panda_eat_me สมาชิกเว็บไซต์พันทิปดอทคอม

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้ในเว็บไซต์พันทิปดอทคอม ได้มีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงการเก็บค่ารักษาพยาบาลที่แพงเกินจริงของโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง หลังจากผู้ใช้นามแฝง panda_eat_me โพสต์กระทู้แชร์ประสบการณ์ที่ญาติของตนเองประสบมากับตัว

          ทั้งนี้ เรื่องราวมีอยู่ว่า เมื่อสัปดาห์ก่อน ญาติของเจ้าของกระทู้ได้เข้าไปตรวจสุขภาพในโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งซึ่งมีประวัติการรักษาอยู่แล้ว แต่ครั้งนี้มีอาการมึนศีรษะเหมือนจะเป็นไข้ร่วมด้วย จึงได้ตรวจไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งหลังจากตรวจสุขภาพ แพทย์ประจำตัวได้ขอให้คนไข้แอดมิทในโรงพยาบาล เพราะร่างกายอ่อนเพลียมาก ซ้ำยังมีประวัติป่วยเป็นเบาหวาน และมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงอยู่แล้ว ญาติของเจ้าของกระทู้จึงได้นอนพัก โดยได้รับน้ำเกลือ ยาลดไข้ ยาแก้ไอ และยารักษาอาการหวัดตามปกติ

          ผ่านไป 5 วัน แพทย์อนุญาตให้คนไข้กลับบ้านได้ แต่ทว่า คนไข้และญาติกลับต้องตกใจเมื่อเห็นตัวเลขในใบเสร็จค่าบริการเป็นจำนวนสูงถึง 92,643 บาท จึงได้สอบถามโรงพยาบาล ซึ่งทางโรงพยาบาลก็ได้ชี้แจงว่า นี่คือค่าบริการ และโรงพยาบาลก็ให้บริการดี ค่าบริการจึงแพงนิดหน่อยเป็นธรรมดา เมื่อได้ฟังดังนั้น ทางคนไข้จึงต้องจำใจจ่ายค่ารักษาไป ไม่เช่นนั้นก็จะไม่สามารถออกจากโรงพยาบาลได้

          เจ้าของกระทู้ ยังเล่าอีกว่า หลังจากออกจากโรงพยาบาลมาไม่กี่วัน ทางแพทย์ประจำตัวได้โทรศัพท์มาอธิบายกับญาติว่า ทางโรงพยาบาลเรียกคุณหมอไปพบ และบอกให้คุณหมอโทรศัพท์มาขอโทษคนไข้ เพื่อขอให้ยุติเรื่องทั้งหมด โดยคุณหมอบอกว่า ทางโรงพยาบาลอ้างว่า ค่ารักษาแพงเป็นเพราะหมอสั่งยาแพง และค่าหมอแพง แต่คุณหมอยืนยันว่า จริง ๆ แล้วได้ค่ารักษาคนไข้วันละ 500 บาท ต่อคนไข้ 1 คนเท่านั้น ซึ่งคนไข้นอนโรงพยาบาล 5 วัน เท่ากับว่าคุณหมอจะได้เงิน 2,500 บาท ส่วนที่เหลืออีก 9 หมื่นกว่าบาท ทางโรงพยาบาลเป็นผู้ได้ไป อย่างไรก็ตาม ทางโรงพยาบาลได้ขอให้คุณหมอเป็นผู้รับผิดชอบเรื่องนี้ และทางโรงพยาบาลจะไม่รับผิดชอบใด ๆ

          พร้อมกันนี้ เจ้าของกระทู้ยังได้โพสต์ใบเสร็จรับเงินของโรงพยาบาลดังกล่าว ซึ่งมีการแจกแจงค่าใช้จ่ายชัดเจนว่าเป็นค่าบริการอะไรบ้าง พร้อมกับโพสต์ภาพถ่ายของญาติที่ร่างกายเขียวช้ำไปทั้งตัว เนื่องจากถูกเจาะเข็มน้ำเกลือที่แขนทั้ง 2 ข้าง รวมกว่า 20 จุด แต่พยาบาลกลับไม่ติดพลาสเตอร์ใสปิดหัวเข็ม หรือป้องกันเลือดออกเลย จึงไม่น่าจะเรียกว่าบริการที่ดี

          อย่างไรก็ตาม เจตนาที่เจ้าของกระทู้นำเรื่องนี้มาบอกต่อกัน ไม่ใช่เพื่อโจมตีโรงพยาบาล หรือเรียกร้องขอเงินคืน แต่ต้องการสอบถามคนอื่น ๆ ว่า ปกติแล้วค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาลเอกชนแพงขนาดนี้หรือไม่

          ทั้งนี้ สมาชิกในเว็บไซต์ที่ได้อ่านเรื่องราวนี้ก็ได้แสดงความคิดเห็นกันว่า ค่ารักษาในโรงพยาบาลเอกชนค่อนข้างแพงอยู่แล้ว แม้แต่อาการป่วยเล็ก ๆ น้อย ๆ หากนอนโรงพยาบาลก็เสียไม่ต่ำกว่าหลักหมื่นต่อคืน หรือค่ายา ค่าอะไรต่าง ๆ ก็แพงกว่าที่อื่นหลายเท่า สำหรับกรณีนี้ การนอนโรงพยาบาล 5 คืน ราคา 9 หมื่นกว่าบาท อาจจะเรียกได้ว่า เป็นราคาปกติของโรงพยาบาลเอกชนหลาย ๆ แห่งด้วยซ้ำ แม้จะดูเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงเกินจริง

          อย่างไรก็ตาม มีผู้ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า หากป่วยเป็นหวัดธรรมดา ไม่มีโรคแทรกซ้อน ทำไมถึงมีค่าตรวจห้องปฏิบัติการ ตรวจสมรรถภาพหัวใจ อัลตราซาวด์หัวใจด้วย อีกทั้งยังต้องนอนโรงพยาบาลถึง 5 คืน ซึ่งภายหลัง เจ้าของกระทู้ได้ออกมาชี้แจงอีกครั้งว่า ได้ระบุไปในตอนแรกแล้วว่า ญาติของเจ้าของกระทู้ไปตรวจสุขภาพที่โรงพยาบาลด้วย จึงมีการตรวจหัวใจอย่างละเอียด แต่รู้สึกเป็นไข้ขึ้นมา จึงตรวจอาการเป็นไข้เพิ่มเติมด้วย ซึ่งถ้าหักลบค่าตรวจสุขภาพทั่วไปออก ดูเฉพาะค่ารักษาอาการเป็นไข้ก็ไม่น่าจะแพงขนาดนี้

          เมื่อหลายคนแสดงความคิดเห็นเชิงแปลกใจว่า ทำไมค่ารักษาในโรงพยาบาลเอกชนจึงแพงหูฉี่เช่นนี้ ก็ได้มีผู้นำบทความหลายชิ้นที่วิเคราะห์ถึงสาเหตุดังกล่าวมาบอกให้ทราบกัน สรุปใจความได้ว่า ที่ค่ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชนแพงนั้น เพราะโรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งมุ่งสร้างเครือข่ายทางธุรกิจ จึงจับมือกับกลุ่มทุนต่างชาติ เพื่อสร้างความแข็งแกร่ง รองรับการแข่งขันในการเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) ในปี พ.ศ. 2558 ทำให้ต้นทุนสูงขึ้น

          ทั้งนี้ โรงพยาบาลเอกชนจะไม่ได้รับงบประมาณจากภาครัฐ จึงต้องมีค่าใช้จ่ายส่วนค่าก่อสร้างอาคาร ค่าจ้างพนักงาน ค่าน้ำ ค่าไฟ ฯลฯ ต่างกับโรงพยาบาลของรัฐซึ่งมีงบประมาณรองรับ ดังนั้น ค่าใช้จ่ายส่วนนี้จึงต้องคำนวณเรียกเก็บจากผู้ใช้บริการ ทำให้หลาย ๆ โรงพยาบาล มีการแจกแจงค่าใช้จ่ายยิบย่อยในใบเสร็จมากมาย เช่น ค่าแพทย์รักษา ค่าบริการพยาบาล ค่าบริการแพทย์ ค่าบริการพยาบาล ค่าเครื่องมือตรวจ ค่ายา ค่าห้องตรวจ ค่ารถเข็น ฯลฯ

          อีกส่วนที่คนไข้บ่นกันมากก็คือ "ค่ายา" ที่มีราคาสูงมาก ส่วนหนึ่งเกิดจากการทำการตลาดของบริษัทยาที่แข่งขันกันอย่างดุเดือด เพื่อให้แพทย์ในโรงพยาบาลเอกชนเลือกใช้ยาของบริษัทตัวเอง จึงตั้งราคายาไว้สูงเกินจำเป็น แล้วตัดเงินมาทุ่มกับผู้เกี่ยวข้อง

          ขณะที่ยาบางชนิด เช่น ยารักษาโรคมะเร็ง ยารักษาโรคเลือด ต้องยอมรับว่า เป็นยาที่มีราคาสูงจริง เพราะเป็นยาที่มีสิทธิบัตร ผู้อื่นไม่สามารถผลิตลอกเลียนแบบได้ ซึ่งหากยาชนิดใดไม่มีสิทธิบัตร หรือสิทธิบัตรหมดอายุแล้ว จะทำให้ยานั้นมีราคาถูกลงกว่าเดิมมาก

          นอกจากนี้ ประเทศไทยยังไม่สามารถผลิตยาหลายชนิดเองได้ ทางโรงพยาบาลเอกชนจึงต้องสั่งซื้อยาที่มีราคาแพงจากต่างประเทศ ซึ่งโรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งก็อาจจะบวกค่ายาเพิ่มในค่าบริการเข้าไว้ด้วย ทำให้ราคายาในโรงพยาบาลเอกชนแพงกว่าของรัฐบาลหลายเท่า


อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
โวยแค่เป็นหวัด-ตรวจสุขภาพ รพ.เอกชน ฟัน 9 หมื่น อัปเดตล่าสุด 3 กันยายน 2555 เวลา 14:13:16 4,678 อ่าน
TOP