x close

ท้องผูกเรื้อรัง

ท้องผูก



ท้องผูกเรื้อรัง (Lisa)

          ตามปกติอาหารที่เรารับประทานเข้าไปในวันนี้ จะต้องมีกากของอาหารไปสุดที่ลำไส้ใหญ่ในเช้าวันรุ่งขึ้น หรือไม่เช่นนั้นก็อาจจะเกิดขึ้นเร็วหรือช้ากว่านี้ ภายใน 12-72 ชั่วโมง หลังจากรับประทานอาหาร 

          อย่างไรก็ดีชนิดของอาหารมีส่วนเกี่ยวข้องกับเวลาของการขับถ่าย คืออาหารที่มีกากมากจะต้านทานการย่อยของน้ำย่อย หรือจะไปดูดน้ำภายในลำไส้ใหญ่ส่งผลให้ลำไส้บีบตัวขับถ่ายอุจจาระได้รวดเร็ว ตรงข้ามกับอาหารที่มีกากน้อยจะทำให้ลำไส้บีบตัวน้อยลง

          นอกเหนือจากการเลือกกินอาหารที่ไม่ถูกต้องแล้ว อาการท้องผูกยังอาจเกิดความเคร่งเครียดในชีวิตประจำวัน การนั่งรถนาน การเดินทางไกล ไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย ใช้ที่สวนทวารบ่อยครั้ง และดื่มน้ำน้อยในแต่ละวัน ซึ่งการใช้ชีวิตเช่นนี้จะทำให้คุณไม่อาจหลีกเลี่ยงอาการท้องผูกได้ แต่หากอาการท้องผูกของคุณยังเกิดขึ้นเรื้อรัง ทั้ง ๆ ที่คุณไม่ได้มีพฤติกรรมเสี่ยงดังกล่าว  อาจแสดงว่าระบบการขับถ่ายของลำไส้ใหญ่ทำงานผิดปกติ

อะไรเป็นสาเหตุให้ลำไส้ใหญ่ทำงานผิดปกติ

ความผิดปกติของลำไส้ใหญ่ที่ก่อให้เกิดอาการท้องผูก มีอยู่ด้วยกัน 3 กรณี คือ

           1.กรณีลำไส้ไม่บีบตัว เป็นกรณีที่พบบ่อยที่สุด เนื่องจากผนังลำไส้ไม่มีการเคลื่อนไหว หรือลดการเคลื่อนไหว ทำให้กากอาหารเคลื่อนที่ช้า ส่งผลทำให้เกิดการสะสมและหมักหมมตัวอยู่ในลำไส้นาน มักจะเป็นมากในผู้สูงอายุ  คนอ้วนมาก ผู้ป่วยที่เพิ่งผ่าตัดซึ่งต้องนอนอยู่เฉย ๆ เป็นเวลานาน และสตรีที่อยู่ในระหว่างการตั้งครรภ์ นอกจากอาการของท้องผูกของบุคคลในกลุ่มนี้แล้ว ยังอาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย อย่างเช่น ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ลิ้นเป็นฝ้า ลมหายใจมีกลิ่นเหม็น และรู้สึกขมในปาก หรือบางรายอาจมีสิวขึ้นมาก แต่ถ้าได้ถ่ายออกไปแล้ว อาการเหล่านี้จะทุเลาเบาบางลง

           2.กรณีลำไส้หดเกร็งมากบ้างน้อยมาก เกิดขึ้นเนื่องจากประสาทกระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ทำงานสม่ำเสมอ บางครั้งมากจนเกินไปจนทำให้เกิดอาการปวดท้องและท้องเสีย แต่บางครั้งลำไส้ก็ไม่บีบตัวเลยทำให้ท้องผูกไปหลายวัน ผู้ป่วยในกลุ่มนี้โดยมากจะเคยป่วยเป็นโรคกระเพาะอาหาร หรือโรคทางประสาทมาก่อน

           3.กรณีลำไส้ตีบหรืออุดตัน เป็นกรณีที่ร้ายแรงและอันตรายมาก เนื่องจากมีคราบเศษอาหารเกาะติดแน่นอยู่ที่ผนังของลำไส้ใหญ่ หรืออาจจะเป็นเนื้องอก ซึ่งกีดขวางการเคลื่อนตัวของกากอาหาร หรืออาจถึงขั้นเป็นเนื้องอกของเซลล์มะเร็งก็เป็นได้ ผู้ป่วยในกรณีนี้จะมีอาการปวดท้องอย่างมากแต่ถ่ายไม่ค่อยจะออก  นอกจากนี้ยังมีอาการถ่ายเป็นเลือดร่วมอีกด้วย

อาการท้องผูกในแต่ละกรณี ควรได้รับการบำบัดอย่างไร

          การบำบัดรักษาแต่ละกรณีจะแตกต่างกัน ซึ่งสำหรับอาหารท้องผูกในกรณีแรกแบบลำไส้ไม่บีบตัวหากอยู่ในขั้นไม่รุนแรง ผู้ป่วยอาจจะรักษาตัวเองได้ด้วยการรับประทานอาหารที่มีเส้นใยไฟเบอร์มากขึ้น อันได้แก่ ผัก ผลไม้ ข้าวกล้อง ธัญพืชชนิดต่าง ๆ พร้อมกับดื่มน้ำหรือนมมาก ๆ และหมั่นนวดท้องเพื่อช่วยเร่งให้ลำไส้ใหญ่บีบตัวมากขึ้น ของเสียก็จะถูกขับไปได้ง่ายและเป็นไปตามระบบปกติ แต่ถ้าหากยังไม่ได้ผลอาจต้องให้การสวนทวารด้วยน้ำ

          ส่วนในกรณีที่ท้องผูกเนื่องจากลำไส้หดเกร็งเกินไป ผู้ป่วยจะต้องงดดื่มหรือเครื่องเสพสิ่งที่มีสารกระตุ้นอย่างเด็ดขาด ไม่ว่าจะเป็น ชา น้ำอัดลม กาแฟ เหล้า เบียร์ หรือแม้กระทั่งน้ำผลไม้ก็ต้องจำกัดปริมาณการดื่ม เพราะอาจจะไปกระตุ้นการบีบของลำไส้มากขึ้นได้

          ลักษณะอาหารที่เหมาะสมกับผู้ป่วยกลุ่มนี้ จะต้องป็นอาหารที่ครบทั้งห้าหมู่ มีเส้นใยกากอาหารน้อย และควรบดละเอียดหรือต้มให้เละ เพื่อไม่ให้ระคายเคืองต่อผนังลำไส้ ซึ่งอาหารลักษณะนี้จะเหมาะสมกับผู้ป่วยท้องผูกในกรณีที่ลำไส้ตีบหรืออุดตันด้วยเช่นกัน และถ้าหากการตีบตันของลำไส้เป็นมากจนกากอาหารไม่สามารถเดินทางผ่านได้เลย แพทย์อาจสั่งให้ทานอาหารเหลว หรือให้อาหารทางเส้นเลือด อีกทั้งยังต้องรักษาด้วยวิธีผ่าตัด

  เคล็ดลับสุขภาพ สุขภาพใกล้ตัว โรคและการป้องกัน คลิกเลย 

  คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ


ขอขอบคุณข้อมูลจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ท้องผูกเรื้อรัง อัปเดตล่าสุด 16 ธันวาคม 2556 เวลา 16:23:43 7,990 อ่าน
TOP