x close

กระดูกพรุนป้องกันได้ง่ายนิดเดียว

กระดูกพรุน

 

กระดูกพรุนป้องกันได้ง่ายนิดเดียว  (ชีวจิต)

         
โรคกระดูกพรุนได้รับความสนใจแพร่หลายมากขึ้นในขณะนี้ เพราะนอกจากจะเป็นประเด็นใกล้ตัวแล้ว ยังมีรายงานการวิจัยใหม่ ๆ ออกมาว่ามีการเกิดโรคนี้สูงขึ้นในหลายประเทศ  รวมทั้งไทยของเราด้วย

          สำหรับประเทศไทย  แม้จะพบโรคนี้เพียง 2 ใน 3 ของชาติในแถบตะวันตก แต่ก็มีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เพราะโรคนี้ถือเป็นภัยเงียบ เพราะผู้ป่วยมักจะไม่มีอาการผิดปรกติใด ๆ ในระยะเริ่มแรก จนกระทั่งมีความรุนแรงมากขึ้นจึงแสดงอาการ เช่น อาการปวด โดยเฉพาะบริเวณกระดูกสันหลัง หรือรุนแรงถึงกระดูกหัก ซึ่งโรคนี้จะพบได้บ่อยในผู้สูงอายุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหญิงวัยหมดประจำเดือน เนื่องจากขาดฮอร์โมนเพศหญิงคือ เอสโตรเจน ทำให้แคลเซียมสลายออกจากกระดูกมากกว่าปกติ

          จากโครงการวิจัยการป้องกันและรักษาโรคกระดูกพรุนในคนไทย โดยมี ศาสตราจารย์ นายแพทย์รัชตะ  รัชตะนาวิน จากคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี เป็นหัวหน้าโครงการ ได้กล่าวโดยสรุปตอนหนึ่งว่า คนไทยมีความแตกต่างจากคนตะวันตกในปัจจัยสำคัญที่ควบคุมเมตาโบลิซึ่ม (Metabolism) ของแคลเซียม คือ

          1. คนไทยกินแคลเซียมน้อยกว่า

          2. คนไทยกินโปรตีนและเกลือแกงน้อยกว่า

          3. คนไทยมีระดับวิตามินดีในเซรั่ม (Serum) พอเพียงและไม่ลดลงตามอายุ

          4. คนไทยจำนวนมาก (ร้อยละ 85) มี VRD genotype ชนิด bb ซึ่งมีความสามารถในการดูดแคลเซียมจากลำไส้ได้มากกว่า

          5. คนไทยในกรุงเทพมหานครออกกำลังกายค่อนข้างน้อย

          จากความแตกต่างดังกล่าวนี้จึงมีข้อสันนิษฐานว่า ปริมาณที่เหมาะสมของแคลเซียมที่คนไทยอายุต่าง ๆ ควรจะได้รับในแต่ละวันอาจจะน้อยกว่าปริมาณในคนตะวันตก ซึ่งจากรายงานการศึกษาวิจัยต่าง ๆ ให้ผลสอดคล้องกันว่าอยู่ที่ประมาณ 1,200 มิลลิกรัมต่อวัน

          ทั้งนี้สถานการณ์ของโรคกระดูกพรุนของหญิงไทยในกรุงเทพมหานครนั้น สูงกว่าของหญิงไทยในชนบท ทั้งที่บริเวณกระดูกสันหลัง กระดูกสะโพก และกระดูกข้อมือ ความแตกต่างนี้เป็นเพราะหญิงในชนบทรับประทานแคลเซียมมากกว่า

          โดยแหล่งแคลเซียมของหญิงในชนบทจะได้มาจากพืชผัก และปลาเล็กปลาน้อยมากกว่าในกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นดัชนีบ่งชี้ว่า แคลเซียมจากแหล่งอื่นที่ไม่ใช่นมน่าจะดูดซึมได้ดี  การศึกษาวิจัยยังพบอีกด้วยว่า หญิงในกรุงเทพมหานครได้รับแสงแดดและออกกำลังกายน้อยกว่าหญิงในชนบท

          ส่วนอาหารประจำวันซึ่งเป็นอาหารไทย ๆ หาได้ง่าย ๆ ราคาไม่แพง และมีสารอาหารแคลเซียมสูงนั้น ศาสตราจารย์ นายแพทย์สุรัตน์ โคมินทร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้แนะนำไว้ว่า

          ควรรวมอยู่ในอาหารประจำวัน ได้แก่ กุ้งแห้งตัวเล็ก กุ้งฝอย กะปิ ปลาสลิด งาดำคั่ว เต้าหู้ ถั่วเหลืองสุก ถั่วเขียวสุก ใบยอ มะขามฝักสด ผักคะน้า และมะเขือพวง

          นอกจากนั้นยังมีรายงานการวิจัยอีกว่า การออกกำลังกายร่วมกับการรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูง จะช่วยป้องกันโรคกระดูกพรุนได้ดีอีกด้วย

          รู้อย่างนี้แล้ว คุณ ๆ ที่กลัวว่าตัวเองจะเสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุนอยู่ละก็ มาเริ่มต้นด้วยวิธีง่าย ๆ อย่างการออกกำลังกายและรับประทานอาหารที่มีแคลเซียม เพื่อบำรุงกระดูกของเรากันดีกว่า

 

  เคล็ดลับสุขภาพ สุขภาพใกล้ตัว โรคและการป้องกัน คลิกเลย

  คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
กระดูกพรุนป้องกันได้ง่ายนิดเดียว อัปเดตล่าสุด 14 ตุลาคม 2552 เวลา 10:51:50 1,759 อ่าน
TOP