x close

สธ. ชี้คนเมืองน่าห่วง เสี่ยงมะเร็งลำไส้ใหญ่-ทวารหนัก เพิ่มขึ้น





เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

            สธ. เผย มะเร็งลำไส้ใหญ่-ทวารหนัก มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น สาเหตุจากการใช้ชีวิตแบบคนเมืองที่นิยมกินแต่เนื้อสัตว์ กินผักผลไม้ ออกกำลังกายน้อย

            เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2556 นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า วันที่ 4 กุมภาพันธ์ของทุกปี องค์การอนามัยโลกและสมาคมต่อต้านมะเร็งสากล กำหนดให้เป็นวันมะเร็งโลก ปัจจุบันมะเร็งเป็นสาเหตุการตายอันดับ 1 ของโลก องค์การอนามัยโลกรายงานว่า ปี 2573 หรืออีก 17 ปีข้างหน้า คาดการณ์ว่าจะมีผู้ป่วยใหม่ 21.3 ล้านคน และจะมีผู้เสียชีวิตเพิ่มเป็น 13 ล้านคน

            สำหรับประเทศไทย ล่าสุดในปี 2554 มีผู้เสียชีวิต 61,082 ราย เฉลี่ยชั่วโมงละเกือบ 7 ราย เป็นชาย 35,437 ราย และหญิง 25,645 ราย คาดว่า มีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นปีละประมาณ 118,600 ราย และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ มะเร็งที่ผู้ชายป่วยมากที่สุดได้แก่มะเร็งตับ ปอด ลำไส้และทวารหนัก ต่อมลูกหมาก ส่วนในผู้หญิงได้แก่ มะเร็งเต้านม ตับ ปากมดลูก ปอด ลำไส้ใหญ่และทวารหนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น จากการใช้ชีวิตแบบคนเมือง นิยมกินแต่เนื้อสัตว์ กินผักผลไม้น้อย ออกกำลังกายน้อย

            โดย นพ.ประดิษฐ กล่าวว่า สธ. เตรียมผลักดันการเพิ่มการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก เป็นนโยบายของประเทศเช่นเดียวกับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก โดยได้มอบให้สถาบันมะเร็งแห่งชาติ และสถาบันวิจัยและประเมินเทคโนโลยีทางการแพทย์ หรือไฮแทป ศึกษาความเป็นไปได้ คาดจะเสร็จภายในกลางปีนี้ เพื่อเสนอต่อ ครม. ซึ่งการตรวจคัดกรองจะเป็นการค้นหาคนที่เริ่มมีความผิดปกติของลำไส้ เพื่อเข้าสู่ระบบการตรวจวินิจฉัยและได้รับการรักษาได้เร็วตั้งแต่ระยะเริ่มต้น โอกาสหายมีมาก การเสียชีวิตลดลง

            ด้าน นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ. กล่าวว่า ที่ผ่านมาพบว่าคนไทยยังมีความเชื่อผิด ๆ เรื่องโรคมะเร็งว่าเป็นโรคเคราะห์กรรม หรือเชื่อว่าเป็นแล้วต้องตาย รักษาไม่ได้ จึงไม่ได้ให้ความสนใจที่จะป้องกันหรือเข้ารับการตรวจคัดกรองตามที่ สธ.รณรงค์ เนื่องจากเซลล์มะเร็งใช้เวลาก่อตัวนานและไม่แสดงอาการใด ๆ ให้รู้ ทำให้ผู้ป่วยมะเร็งที่มาพบแพทย์ประมาณร้อยละ 70-80 อยู่ในระยะเซลล์ลุกลามไปที่อวัยวะอื่นแล้ว โอกาสหายมีน้อยมาก ทำให้สถิติการเสียชีวิตติดอันดับ 1

            ทั้งนี้ สัญญาณอันตรายของมะเร็ง 7 ประการ ได้แก่

            1. ระบบขับถ่ายอุจจาระ และปัสสาวะผิดปกติ  เช่น ถ่ายอุจจาระเป็นสีดำ หรือปัสสาวะเป็นเลือด
            2. กลืนอาหารลำบาก หรือมีอาการเสียดแน่นท้องเป็นเวลานาน
            3. มีอาการเสียงแหบและไอเรื้อรัง
            4. มีเลือดหรือตกขาวที่ผิดปกติ เช่น มีกลิ่นเหม็น
            5. เป็นแผลรักษาไม่หาย
            6. ก้อนหูดหรือไฝตามร่างกายโตขึ้น
            7. มีก้อนที่เต้านมหรือส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ขอให้ไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษาโดยละเอียดต่อไป


อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สธ. ชี้คนเมืองน่าห่วง เสี่ยงมะเร็งลำไส้ใหญ่-ทวารหนัก เพิ่มขึ้น อัปเดตล่าสุด 6 กุมภาพันธ์ 2556 เวลา 17:56:16 3,174 อ่าน
TOP