x close

ข้อสังเกตใหม่ พบหญิงไทยเป็นมะเร็งปากมดลูก สายพันธุ์ 52 มาก


ตรวจภายใน
 
ข้อสังเกตใหม่มะเร็งปากมดลูก พบหญิงไทยเป็นเชื้อชนิด 52 มาก (ไทยโพสต์)

          รพ.จุฬาภรณ์ เผย ผลวิจัยคัดกรองมะเร็งปากมดลูกหญิงไทย 5 พันคน พบป่วยระยะเริ่มต้น 4 ราย ติดเชื้อกว่า 700 ราย ระบุส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์ 52 รองลงมาคือ 16, 18 เตรียมศึกษากลุ่มตัวอย่างเพิ่มเพื่อหาสายพันธุ์ในคนไทย แนะประชาชนมีเซ็กส์ปลอดภัย และตรวจคัดกรองเสมอ พร้อมเผยเทคนิคการตรวจเชื้อเอชพีวีแบบใหม่ผ่านปัสสาวะ-ประจำเดือน ให้ผลแม่นยำ 50-60%

          ศ.กิตติคุณ นพ.จรัส สุวรรณเวลา รองประธานบริหารโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ พร้อมด้วย ศ.นพ.พิทยภูมิ ภัทรนุธาพร ผอ.รพ.จุฬาภรณ์, นพ.ณัฐวุฒิ กันตถาวร แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาสูติ-นรีเวชวิทยา ด้านมะเร็งวิทยา และนางจันทนี แต้ไพสิฐพงษ์ พยาบาลวิชาชีพโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ร่วมกันแถลงข่าวสรุปผลการดำเนินงานโครงการบำเพ็ญพระกุศล "โครงการป้องกันและเฝ้าระวังมะเร็งปากมดลูกแนวใหม่" ในโอกาสวันคล้ายวันประสูติ ศ.ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี
   
          นพ.ณัฐวุฒิ กล่าวว่า ได้เริ่มโครงการดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคม 2555 เพื่อตรวจหาเชื้อเอชพีวีซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งปากมดลูกในกลุ่มผู้หญิงไทย อายุระหว่าง 20-70 ปี จำนวน 4,487 ราย โดยผลการคัดกรองพบการติดเชื้อทั้งหมด 692 ราย คิดเป็น 15.4% ในจำนวนนี้เป็นเชื้อที่มีความเสี่ยงสูงจำนวน 322 ราย คิดเป็น 7.2% เชื้อที่มีความเสี่ยงปานกลางจำนวน 72 ราย คิดเป็น 1.6% และพบสายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงต่ำจำนวน 433 ราย คิดเป็น 9.7%
   
          นพ.ณัฐวุฒิ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ในการตรวจคัดกรองยังทำให้พบผู้ที่เป็นโรคมะเร็งปากมดลูกในระยะที่ 1 A หรือระยะต้น จำนวน 4 ราย ในจำนวนนี้มี 3 รายที่เกิดจากเชื้อไวรัสเอชพีวีสายพันธุ์ที่ 16 และ 18 ส่วนอีกคนหนึ่งเกิดจากสายพันธุ์ 72 โดยทาง รพ.จุฬาภรณ์ได้ทำการรักษาด้วยการผ่าตัดผ่านกล้องจนหายขาดแล้ว แต่ยังต้องติดตามอาการต่อไปเรื่อย ๆ เพราะยังมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้ถึง 3-5% ขณะเดียวกันยังพบผู้มีรอยโรคก่อนเป็นมะเร็งจำนวน 237 ราย ซึ่งได้ทำการรักษาก่อนที่จะกลายไปเป็นมะเร็งปากมดลูกในอนาคตแล้ว  
   
          ข้อมูลที่น่าสนใจคือ ตรวจพบการติดเชื้อเอชพีวีสายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงสูงอย่างสายพันธุ์ 52 จำนวน 76 ราย รองลงมาคือสายพันธุ์ 16 จำนวน 62 ราย ซึ่งแตกต่างจากในต่างประเทศที่มักจะพบสายพันธุ์ 16, 18 มากกว่า ซึ่งสองสายพันธุ์นี้เป็นสายพันธุ์รุนแรง และเป็นที่มาของการผลิตวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก ส่วนข้อมูลในประเทศไทยกลับพบว่ามีสายพันธุ์ 52 มากที่สุดนั้น ยังไม่สามารถพูดได้ว่าเป็นสายพันธุ์ในคนไทย เพราะนี่คือกลุ่มประชากรที่เข้ามาที่ รพ.จุฬาภรณ์เท่านั้น ยังต้องมีการศึกษาในชุมชนเพิ่มเติมในทุก ๆ ภาคของประเทศ เพื่อยืนยันผลว่าเป็นสายพันธุ์นี้จริง ๆ หรือไม่ ซึ่งเร็ว ๆ นี้จะมีการลงพื้นที่คัดกรองที่ ต.บางแขยง อ.เมือง จ.ปทุมธานี เพื่อประโยชน์ในการใช้วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกต่อไป

          "ยิ่งอายุน้อยยิ่งเจอเชื้อค่อนข้างสูง แต่โดยหลักการติดเชื้อเอชพีวีเหล่านี้ตรวจติดตามไปจะสามารถหายได้เองถึง 95% มีเพียง 5% เท่านั้นที่กลายเป็นมะเร็ง และจากการตรวจคัดกรองพบผู้ที่เป็นโรคมะเร็งปากมดลูกในระยะที่ 1 จำนวน 4 ราย 3 ใน 4 เกิดจากเชื้อไวรัสเอชพีวีสายพันธุ์ที่ 16 และ 18 ส่วนอีกคนหนึ่งเกิดจากสายพันธุ์ 72 ส่วน 52 เจอบ่อย แต่ไม่รุนแรง เพราะฉะนั้นจึงคิดว่าหากใช้วัคซีนป้องกันโดยทฤษฎีอาจจะสามารถลดการเกิดโรคได้ 3 ใน 4 คน แต่ตรงนี้ยังตอบไม่ได้ เพราะยังเจอน้อยอยู่ แต่จำนวน 4 คนนี้จริง ๆ ถือว่าไม่น้อย เพราะตามหลัก 4 ใน 4 พัน เท่ากับ 1 ในพัน แต่เวลาดูค่ามะเร็งจะดูต่อแสนประชากร เพราะฉะนั้นตรงนี้จะเท่ากับ 100 ต่อแสนประชากร" นพ.ณัฐวุฒิกล่าว
   
          ผู้สื่อข่าวถามถึงความคุ้มค่าในการใช้วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกที่กระทรวงสาธารณสุขกำลังดำเนินการอยู่ นพ.ณัฐวุฒิกล่าวว่า รัฐบาลต้องไปทำการต่อรองราคาเพื่อให้ได้สิ่งที่คุ้มค่าต่อประชาชน เพราะฉะนั้นเพื่อเป็นการป้องกันเบื้องต้น อยากจะแนะนำให้มีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย หรือถ้ามีกำลังทรัพย์ก็ควรฉีดวัคซีนป้องกัน และหลังการมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกไปแล้ว 3 ปีให้ไปตรวจคัดกรอง
   
          "คนไทยมีความเชื่อที่ผิดและอายที่จะตรวจภายใน อายที่จะมาเปิดอวัยวะเพศให้หมอดู ในปัจจุบันจึงมีการตรวจหาเชื้อเอชพีวีโดยไม่ต้องตรวจภายใน ซึ่งทาง รพ.จุฬาภรณ์ได้มีการศึกษาการตรวจหาเชื้อเอชพีวีโดยใช้ปัสสาวะและเลือดประจำเดือน โดยเอาผ้าอนามัยเปื้อนเลือดประจำเดือนมาตรวจ ให้ผลแม่ยำประมาณ 50-60%"

          
นพ.ณัฐวุฒิ กล่าวอีกว่า "นอกจากนี้ยังมีการตรวจเชื้อเอชพีวีบริเวณทวารหนักในผู้หญิง เหมือนกับที่มีการศึกษาในผู้ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายทางทวารหนัก แต่ผลไม่ได้ไปด้วยกันเท่าไหร่ จึงเป็นเพียงทางเลือกในการตรวจเท่านั้น แต่ทางเลือกหลักคือการตรวจภายในเก็บเซลล์ตรงปากมดลูก ปัจจุบันมีอุปกรณ์เก็บเซลล์ที่คนไข้นำไปเก็บเซลล์จากช่องคลอดด้วยตัวเองแล้วมาส่งที่โรงพยาบาล ขณะนี้มีการศึกษาในต่างประเทศ และประเทศไทยเริ่มนำเข้ามาแล้ว คิดว่าจะได้ใช้เร็ว ๆ นี้"



  เคล็ดลับสุขภาพ สุขภาพใกล้ตัว โรคและการป้องกัน คลิกเลย 

 คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ 




ขอขอบคุณข้อมูลจาก




เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ข้อสังเกตใหม่ พบหญิงไทยเป็นมะเร็งปากมดลูก สายพันธุ์ 52 มาก อัปเดตล่าสุด 13 กุมภาพันธ์ 2556 เวลา 17:27:02
TOP