x close

ยาและอาหารเสริมลดน้ำหนัก...เรื่องจริงหรือนิยาย?


ยาลดน้ําหนัก

ยาและอาหารเสริมลดน้ำหนัก เรื่องจริงหรือนิยาย (Slim Up)
โดย นายแพทย์ไพศิษฐ์ ตระกูลก้องสมุทร

Weight-Loss Supplements and Drugs…Fact or Fiction?

          ก่อนอื่นจะลดน้ำหนักให้ได้ผล หมอแนะนำให้คุณผู้อ่านทุกท่านใช้เทคนิค "รู้เรา" รู้เราคือการสำรวจตัวเอง ไปตรวจสุขภาพกับคุณหมอ เพราะสาเหตุของความอ้วนมีสารพัดสาเหตุ เพื่อทราบจุดอ่อนของเรา แล้วช่วยกันหาทางแก้โดยใช้อาหารธรรมชาติ (real food) อาหารเสริม การปรับไลฟ์สไตล์ ถ้าคุณอ้วนอย่าปล่อยทิ้งไว้นาน ไม่เช่นนั้นอาจตายผ่อนส่งได้ครับ ทางลัดของหลายคน คือ มักไปหาซื้อยาชุดรับประทานลดน้ำหนักเพื่อหวังให้ลดได้เร็วสมใจอยาก แต่บอกได้เลยครับว่าคิดผิด ลองไปดูกันครับยาชุดลดน้ำหนักที่ขาย ๆ กันมียาอะไรบ้าง

1. ยาลดความอยากอาหาร

          เป็นตัวยาที่ออกฤทธิ์ที่สมองทำให้เบื่ออาหาร ได้แก่ เฟนเทอร์มีน ไซบูทรามีน ทำให้ความอยากอาหารลดลง แต่ยากลุ่มนี้มักทำให้ปากแห้ง คอแห้ง ท้องผูก นอนไม่หลับ ความดันโลหิตสูง ใจสั่น ใช้ติดต่อกันนาน ๆ ทำให้ประสาทหลอน หงุดหงิด การใช้ยากลุ่มนี้ต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์เท่านั้นครับ

2. ยาขับปัสสาวะ

          นำมาใช้ผิดจุดประสงค์ ทำให้น้ำหนักลงรวดเร็วจากการขับน้ำออกมา ทำให้ร่างกายสูญเสียเกลือแร่โพแทสเซียม และโซเดียมออกมาด้วย จึงทำให้อ่อนเพลียจนถึงหัวใจทำงานผิดปกติได้

3. ยาไทรอยด์ฮอร์โมน

          ช่วยกระตุ้นการเผาผลาญพลังงานในร่างกาย ยากลุ่มนี้ทำให้ใจสั่น ต้องระวังการเกิดภาวะไทรอยด์เป็นพิษโดยไม่รู้ตัวในคนที่กินยาเป็นเวลานาน โดยเฉพาะในคนที่ไทรอยด์ปกติ เพราะยานี้ใช้ในคนที่มีภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ

4. ยาระบาย

          กินแล้วทำให้ถ่ายคล่อง ระบายสะดวก ยาทำให้ลำไส้บีบตัว ยาระบายลดการดูดซึมของอาหารได้ประมาณ 12 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือว่าไม่มากพอที่จะมีผลให้ลดน้ำหนัก หนำซ้ำยายังมีผลทำให้สูญเสียเกลือแร่ ทำให้อ่อนเพลีย ไตมีปัญหาได้

ยาลดความอ้วน

          ยาลดน้ำหนักที่ปลอดภัย คือยาที่ออกฤทธิ์ที่ระบบทางเดินอาหาร ได้แก่ ออลิสแตท ยาออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ย่อยไขมันที่ชื่อ "ไลเปส" สามารถลดการดูดซึมของไขมัน 30 เปอร์เซ็นต์

          จากการศึกษาพบว่า การรับประทานออลิสแตทช่วยลดน้ำหนักได้ประมาณ 2.9 กิโลกรัม ยามีผลให้ถ่ายอุจจาระมีไขมันมันปนออกมา ถ้าใช้ยาเป็นเวลานานเกิน 3 เดือน แนะนำให้คุณผู้อ่านเสริมวิตามินกลุ่มที่ละลายในไขมันได้แก่ วิตามินเอ วิตามินดี วิตามินอี วิตามินเค โดยเฉพาะในคนที่มีแนวโน้มขาดวิตามินอยู่แล้ว ดั้งนั้นการรับประทานยาลดความอ้วน ต้องอยู่ในความดูแลของคุณหมอผู้เชี่ยวชาญทุกครั้ง พิจารณาถึงความจำเป็นในการใช้ยาและผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นครับ

อาหารเสริม

          อาหารเสริมลดน้ำหนัก ไม่ใช่ยาลดน้ำหนัก แต่คนที่ต้องการลดน้ำหนักหลายคนนิยมรับประทานกัน อาหารเสริมมีประโยชน์แต่ถ้าเสริมผิดวิธีก็เกิดผลเสียได้ครับ ปัจจุบันมีการนำมาใช้ค่อนข้างแพร่หลาย มาดูข้อเท็จจริงทีละตัวกันเลยครับ

1. ซีแอลเอ (Conjugated Linoleic Acid ; CLA)

          เป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัวที่ร่างกายไม่สามารถสร้างเองได้ พบในเมล็ดทานตะวัน เมล็ดดอกคำฝอย ช่วยยับยั้งการสะสมไขมันใต้ผิวหนัง ช่วยสลายไขมันและเร่งการใช้พลังงาน ข้อมูลหลักฐานงานวิจัยพบว่าการเสริม CLA ขนาด 3.2 กรัมต่อวัน ลดน้ำหนักได้ 0.05 กิโลกรัมต่อสัปดาห์

          อย่างไรก็ตามการเสริม CLA ชนิด trans-10, cis-12 นาน 3 เดือน มีรายงานเรื่องการเพิ่มการอักเสบและการเกิดอนุมูลอิสระเพิ่ม ปัจจัยเสี่ยงเรื่องภาวะดื้ออินซูลินหรือเบาหวานชนิดที่ 2 ในอนาคต ดังนั้นการเสริมอย่างปลอดภัยในระยะยาวนานถึง 6 เดือน แนะนำให้เสริม CLA ชนิด trans-10, cis-12 คู่กับชนิด cis-9, trans-11 จะไม่มีผลกระทบการทำงานของอินซูลิน ไม่เพิ่มการเกิดภาวะดื้ออินซูลิน และเสี่ยงเบาหวานในอนาคต การเสริม CLA ให้ได้ประสิทธิภาพลดผลข้างเคียง ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญครับ

2. สารสกัดจากถั่วขาว (White kidney bean ; Phaseolus vulgaris)

          ถั่วขาวมีสารออกฤทธิ์ชื่อ "ฟาซิโอลามิน(Phaseolamin)" สามารถยับยั้งการทำงานของเอนไซม์อัลฟ่า-อะไมเลสจากตับอ่อน ที่ทำหน้าที่ย่อยแป้งให้เป็นน้ำตาลก่อนที่จะถูกดูดซึม ทำให้ร่างกายได้รับพลังงานลดลง เกิดการดึงไขมันที่สะสมมาเผาผลาญ ทำให้น้ำหนักลดลง

          นอกจากนั้นสารไฟโตฮีโมแอกกลูตินินในถั่วขาว (phytohemoagglutinin) ยังช่วยกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนซีซีเค (CCK, Cholecystokinin) และ จีแอลพี (GLP ; Glucagon-like peptide) จากระบบทางเดินอาหาร ส่งสัญญาณผ่านระบบประสาทไปสู่ผลศูนย์ความอิ่มในสมอง ทำให้ไม่ค่อยหิวอีกด้วย มีการศึกษาพบว่า ให้รับประทานสารสกัดจากถั่วขาว ขนาด 445 มิลลิกรัมต่อวัน ติดต่อกันเป็นเวลา 1 เดือน ช่วยลดน้ำหนักและดัชนีมวลกาย ลดไขมันสะสม ลดรอบเอว รอบสะโพกและต้นขาลง

3. สารสกัดจากผลส้มแขก (Garcinia cambogia)

          ผลส้มแขกมีกรดที่ชื่อ "เฮชซีเอ หรือไฮดรอกซีซิตริก (HCA; Hydroxy Citric Acid)" ช่วยลดการเปลี่ยนแป้งเป็นไขมัน และกระตุ้นไขมันที่สะสมอยู่แล้ว นำไปใช้เป็นพลังงาน จัดเป็นอาหารเสริมที่มีการศึกษามากทางคลินิก พบว่า การเสริมขนาด 1-2.8 กรัมต่อวัน ในช่วงเวลาสั้น ๆ ประมาณ 2-3เดือน ช่วยลดน้ำหนักได้เล็กน้อยประมาณ 0.7-1 กิโลกรัม ในคนที่อ้วนมาก ๆ ไม่เหมาะเอามาใช้ เหมาะกับคนที่ต้องการใช้รักษาน้ำหนักตัวมากกว่า

4. ชาเขียว (Camellia sinensis)

          เป็นชาที่ไม่ผ่านการหมัก เมื่อเก็บเกี่ยวแล้ว มีการอบความร้อน เพื่อไล่ความชื้น หรืออบไอน้ำ เมื่ออบแล้วจะนำมาคั่วแห้งและเก็บไว้ชงชา มีรายงานวิจัยที่มีข้อมูลสนับสนุนว่า สารคาเทชิน (catechin) หรือ "อีจีซีจี" ในชาเขียว (EGCG ; Epigallocatechin-3-gallate) "ช่วยลดน้ำหนักโดยผ่านการกระตุ้นปฏิกิริยาออกซิเดชั่นของไขมัน คือช่วยเพิ่มกระบวนการการเผาผลาญพลังงานของเนื้อเยื่อไขมัน และมีรายงานการทดลองในคนแล้วว่าช่วยลดความอ้วนได้

          โดยการศึกษาของคณะแพทย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น พบว่าการรับประทานชาเขียวสกัด 750 มิลลิกรัมต่อวัน (เทียบเท่าสาร อีจีซีจี 100 มิลลิกรัม) เป็นเวลา 3 เดือน ช่วยลดน้ำหนักลงได้ 2.7 กิโลกรัม นอกจากนั้นอีกงานวิจัยพบว่า ผู้ที่ดื่มชาประมาณสองถ้วยต่อวัน สามารถลดคอเลสเตอรอลในเลือดลงได้ มีนัยสำคัญทางคลินิก ขนาดใบชาเขียวแห้ง 1 ซอง (1.5 กรัม ต่อซอง) จะให้ EGCG ประมาณ 35 - 110 มิลลิกรัม


  เคล็ดลับสุขภาพ สุขภาพใกล้ตัว โรคและการป้องกัน คลิกเลย 




ขอขอบคุณข้อมูลจาก

 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ยาและอาหารเสริมลดน้ำหนัก...เรื่องจริงหรือนิยาย? อัปเดตล่าสุด 16 เมษายน 2556 เวลา 19:30:48 11,209 อ่าน
TOP