x close

ไฝ...แฝงอันตราย อาจกลายเป็นเนื้อร้าย ก่อมะเร็ง


ไฝ

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม


          กลายเป็นข่าวที่สร้างความตกตะลึงไม่น้อย เมื่อคุณลุงเกี๊ยง หรือ นายเกี๊ยง ชำนาญเขียว อายุ 70 ปี ไฝแตกที่ข้างแก้ม แต่ไม่ยอมไปหาหมอ หนำซ้ำยังซื้อยารักษาอาการด้วยตนเอง เวลาที่แผลมีหนองก็จะใช้เข็มเจาะเพื่อเอาหนองออก และเนื้อส่วนไหนตายก็จะใช้กรรไกรตัดเล็บตัดออก จนแผลของลุงเกี๊ยงเริ่มลุกลาม ทำให้ใบหน้าหายยุบเข้าไป เป็นที่น่าเวทนาของผู้ที่พบเห็นยิ่งนัก

          ทั้งนี้ ทางด้าน ศ.นพ.ประวิตร อัศวานนท์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนังโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ได้กล่าวถึงกรณีลุงเกี๊ยงว่า ลักษณะจุดดำคล้ายไฝของลุงเกี๊ยง จริง ๆ แล้วเซลล์ชนิดนี้คือมะเร็งชนิดหนึ่ง หรือที่เรียกกันว่า "มะเร็งไฝ" มักจะขึ้นตามใบหน้าและใบหู โดยเฉพาะจุดใกล้ ๆ จมูก เช่นเดียวกับลุงเกี๊ยง ซึ่งหากไม่พบแพทย์ เซลล์ตัวนี้ก็จะกินเนื้อผิวหนังไปเรื่อย ๆ หรือทีเรียกกันว่า "แผลหนูแทะ" ในทางการแพทย์เรียกว่า "Basal Cell"

          สำหรับคนไทยมักจะเป็นกันมากในกลุ่มชาวไร่ ชาวสวน และกรรมกร ที่ทำงานอยู่กลางแดดมาตลอดชีวิต พออายุมากขึ้นก็จุดดำดังกล่าวก็จะขึ้นตามใบหน้า ใบหู หรือบางคนก็ขึ้นที่ศีรษะ ซึ่งต้องคอยสังเกตอาการ ถ้าหากขึ้นมาแล้วไม่หาย ให้ไปพบแพทย์ และแพทย์ก็จะทำการตรวจด้วยกล้องเดอโมสโคป โดยในเบื้องต้นจะระบุได้เลยว่า จุดดำดังกล่าวเป็นเซลล์มะเร็งหรือไม่ ถ้าใช่แพทย์ก็จะทำการตัดออกและทายา ซึ่งสามารถรักษาหายได้ แต่คนไข้ส่วนใหญ่มักไม่ทราบ และแยกไม่ออก เพราะคิดว่าจุดดำดังกล่าวเป็นไฝธรรมดา จึงไม่มาพบแพทย์ เพราะไม่คิดว่าจะเป็นโรคร้าย พอนาน ๆ เข้าก็จะลุกลามกินเนื้อเหมือนหนูแทะไปเรื่อย ๆ

          ศ.นพ.ประวิตร เผยถึงวิธีดูว่าจุดดำดังกล่าว เป็นไฝหรือเนื้อร้ายด้วยว่า ถ้าหากเป็นไฝธรรมดา ก็จะโตถึงจุดหนึ่งแล้วจะหยุด และจะต้องมีไม่เกิน 100 เม็ด ส่วนเด็กต้องมีไม่เกิน 50 เม็ด ซึ่งถ้าหากไฝมีสีเข้มขึ้นเรื่อย ๆ และมีรอยนูนใหญ่ขึ้น ก็เสี่ยงที่จะเป็นโรคมะเร็งเซลล์สี หรือเมลาโนมาอีกด้วย

สำหรับวิธีสังเกตไฝ ที่มีลักษณะผิดปกติ

 
          1. ไฝที่เกิดการระคายเคืองบ่อย ๆ
         
2. ไฝในบริเวณที่สังเกตได้ยาก เช่น บนหนังศีรษะ หรืออวัยวะเพศ
         
3. ไฝที่มีมาแต่กำเนิดและขนาดใหญ่ เช่น ไฝยักษ์ (Giant congenital melanoma)
         
4. ไฝที่มีสีดำเข้มผิดปกติกว่าที่อื่น ๆ
         
5. ไฝที่เปลี่ยนสีอย่างกะทันหัน
         
6. ขอบไฝไม่เรียบ
         
7. ไฝที่มีขนาดใหญ่เกิน 5 มิลลิเมตร
         
8. ไฝที่เปลี่ยนแปลงขนาดและโตขึ้นเร็วในระยะเวลาอันสั้น
 
          อย่างไรก็ดี ทางการแพทย์ระบุว่า คนไทยส่วนมากที่ป่วยเป็นโรคมะเร็งชนิดนี้ ประมาณปีละ 340 คน ส่วนมากจะเกิดกับคนผิวขาวที่อายุ 50 ปีขึ้นไป ซึ่งหากทำงานที่ต้องถูกแดดมาก ก็จะมีความเสี่ยงสูง ดังนั้นควรสังเกตขนาดและความผิดปกติว่าจุดดำดังกล่าว เป็นเพียงแค่ไฝธรรมดา หรือมะเร็งร้ายกันแน่


อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก

- นิตยสาร ชีวจิต


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ไฝ...แฝงอันตราย อาจกลายเป็นเนื้อร้าย ก่อมะเร็ง อัปเดตล่าสุด 19 เมษายน 2556 เวลา 18:01:20 11,984 อ่าน
TOP