x close

10 อาการประท้วง ของระบบทางเดินอาหาร


เจ็บคอ

10 อาการประท้วง ของระบบทางเดินอาหาร (Lisa)

         ระบบทางเดินอาหารเป็นอวัยวะส่วนสำคัญในร่างกาย ที่ทำหน้าที่ในการย่อยและดูดซึมอาหาร จนถึงขับถ่ายกากอาหารออกจากร่างกาย ซึ่งประกอบด้วยอวัยวะหลายส่วนทำงานประสานสอดคล้องกัน ไม่ได้มีเพียงแค่ปาก หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก และลำไส้ใหญ่เท่านั้น แต่ยังมีตับ ถุงน้ำดี ท่อน้ำดี และตับอ่อนเกี่ยวข้องอยู่ด้วย แต่เมื่อใดก็ตามที่ระบบการทำงานของอวัยวะ ซึ่งเกี่ยวข้องกับระบบทางเดินอาหารเหล่านี้แปรปรวน จนทำให้เราเกิดอาการเจ็บปวดทรมานในลักษณะต่าง ๆ เราอาจจะสืบสวนจากลักษณะของอาการปวดนั้น เพื่อวินิจฉัยถึงสาเหตุของอาการดังกล่าวได้

ป่วยแบบนี้มีปัญหากับส่วนไหน

         ดังกล่าวแล้วว่าระบบทางเดินอาหาร มีความเกี่ยวเนื่องกับการทำงานของอวัยวะหลายส่วน บ่อยครั้งจึงเป็นการยากที่จะระบุลงไปว่า อาการเช่นนี้เป็นการป่วยที่อวัยวะตรงส่วนไหน หากแต่ในเบื้องต้น นักวิชาการก็สามารถแยกแยะอาการป่วยที่แสดงออกของระบบนี้ ออกมาได้ดังนี้คือ

1. เจ็บคอ กลืนอาหารลำบาก

         สาเหตุอาจเกิดจากคอหอย หลอดลม หรือต่อมทอนซิลซึ่งอยู่ใกล้หลอดอาหารอักเสบ ซึ่งกรณีดังกล่าวมักจะเกิดจากภูมิแพ้อากาศ หรือเชื้อโรคเล่นงานระบบทางเดินหายใจมากกว่า แต่ถ้าหากเป็นการอักเสบที่หลอดอาหารเองโดยตรง การอักเสบมักเกิดจากกระดูก เมล็ดผลไม้ หรือก้างปลาติดคอ แต่ถ้าหากอาการเจ็บคอและกลืนลำบากดังกล่าวเป็นหนักขึ้นเรื่อย ๆ จนทำให้รู้สึกเบื่ออาหาร และซูบผอม คุณควรรีบปรึกษาแพทย์ เพราะอาการดังกล่าวอาจเกิดจากมีเนื้องอกในหลอดอาหารก็เป็นได้

2. ปวดเสียดแน่นบริเวณยอดอก

         หากอาหารดังกล่าวเกิดขึ้นภายหลังจากที่ได้รับประทานอาหาร แสดงว่าผู้ป่วยอาจมีแผลหรือการอักเสบของหลอดอาหารส่วนล่าง หรือส่วนที่เป็นรอยต่อระหว่างหลอดอาหารกับกระเพาะอาหาร เหตุนี้จึงรู้สึกปวดเสียดแน่นตรงบริเวณดังกล่าว เมื่อรับประทานอาหารเข้าไป เพราะอาหารไปกระตุ้นให้กรดในกระเพาะหลั่งออกมา ซึ่งกรดในกระเพาะก็อาจจะหลั่งเลยขึ้นมาถึงบริเวณที่เป็นแผล หรือมีการอักเสบนั้นพอดี อย่างไรก็ดีอาการเช่นนี้จะค่อย ๆ ทุเลาหากคุณได้รับประทานยาลดกรด โดยอาการเช่นนี้มักพบบ่อยในคนอ้วน และหญิงมีครรภ์

3. ปวดท้องบริเวณยอดอกหรือชายโครงขวา

         โดยระดับของความปวดนั้นมีความรุนแรงขึ้นภายใน 5-15 นาที แล้วจู่ ๆ ก็ทุเลาลง ผู้ป่วยมีเหงื่อออกมาก ทุรนทุราย ซีด และมักจะมีการอาเจียนร่วมด้วย อาการอย่างนี้ควรรีบปรึกษาแพทย์โดยด่วน เพราะอาจเป็นอาการของนิ่งในถุงน้ำดี หรือถุงน้ำดีอักเสบ และถ้าหากอาการปวดดังกล่าวเป็นต่อเนื่องยาวนานเกินกว่า 15 นาที ก็แสดงว่าอวัยวะส่วนที่มีปัญหาอาจเป็นท่อไต หรือกรวยไต

4. ปวดมวนทั่วท้อง แบบชนิดต่อเนื่องยาวนาน

         หากอาการดังกล่าวรุนแรงจนถึงขั้นทำให้ผู้ป่วยช็อกหมดสติ ก็อาจเป็นไปได้ว่าเยื่อบุภายในช่องท้องอักเสบ ซึ่งควรรีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์โดยด่วน


ปวดท้อง

5. อาเจียน

         อาจมีเหตุได้มากมายหลายประการ แม้แต่สาเหตุทางสมองหรือจิตใจ เช่น ความเครียด กดดัน ตื่นเต้น ดีใจ หรือเสียใจมากเกินไป ก็อาจทำให้คุณเกิดอาการอาเจียนได้ ส่วนสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินอาหาร ซึ่งทำให้คุณเกิดอาการอาเจียนได้นั้น อาจเป็นผลมาจากการอุดตันภายในลำไส้เล็ก หรือกระเพาะอาหารอักเสบ ยิ่งมีการอาเจียนเป็นเลือดยิ่ง อาจบ่งชี้ได้อย่างชัดเจนว่าในกระเพาะอาหารของคุณต้องมีบาดแผลแน่ ๆ

6. ท้องร่วงท้องเสียเฉียบพลัน

         อาการท้องร่วงท้องเสียเฉียบพลันอาจเกิดขึ้นได้เป็นปกติ เนื่องจากแพ้อาหาร หรือรับประทานอาหารที่มีเชื้อโรคปนเปื้อนเข้าไป แต่อาจเป็นไปได้ว่าอาการดังกล่าว เกิดจากการอักเสบของกระเพาะและลำไส้อย่างกะทันหัน หากรุนแรงจนถึงขั้นผู้ป่วยหมดแรงก็ควรรีบนำส่งโรงพยาบาล

7. ท้องเดินเรื้อรัง

         สาหตุส่วนใหญ่ของอาการท้องเดินเรื้อรังมักเป็นผลมาจากลำไส้มีปัญหา เช่น ลำไส้ดูดซึมไม่ดี ลำไส้ใหญ่อักเสบหรือมีแผล

8. ท้องผูก

         ปัญหานี้อาจมีสาเหตุได้หลากหลาย เช่น ดื่มน้ำน้อยเกินไป ลำไส้ใหญ่ไม่บีบตัว มีการอุดตันในลำไส้ใหญ่ หรือตอนปลายของลำไส้ใหญ่มีลักษณะหย่อนผิดปกติ ทำให้กากอาหารหมักหมมอยู่ตรงบริเวณนี้ และก่อให้เกิดปัญหาท้องผูกอยู่เป็นประจำ ซึ่งอาการดังกล่าวประมาณร้อยละ 10-15 มักจะนำไปสู่การป่วยด้วยโรคริดสีดวงทวาร

9. เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย น้ำหนักตัวลด

         เท่านั้นไม่พอยังมีอาการของโลหิตจางร่วมด้วย อาการดังกล่าวเหล่านี้ หากเป็นอยู่เรื่อย ๆ และเป็นเรื้อรัง ก็ควรจะไปตรวจเช็กร่างกายให้ละเอียด เพราะมีผู้ป่วยด้วยโรคมะเร็งที่กระเพาะอาหารหลายราย มักมีอาการเช่นนี้ในระยะแรก ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเมื่อตรวจน้ำย่อยในกระเพาะดู แล้วพบว่าน้ำย่อยไม่มีกรดเลย หรือบางครั้งก็มีกรดมากเกินไป จะยิ่งบ่งบอกได้ค่อนข้างแน่ชัดถึงโรคร้ายดังกล่าว

10. อาการอาหารไม่ย่อย

         อาการอย่างนี้มักจะเกิดจากการรับประทานอาหารเร็วเกินไป เคี้ยวไม่ละเอียด รับประทานอาหารที่มีไขมันมาก หรือกินอาหารผิดเวลาก็จะทำให้อาหารไม่ย่อยได้ ส่วนใหญ่อาการเช่นนี้จะเกิดกับโรคกระเพาะอาหารโดยตรง แต่ถ้านอกเหนือไปจากนี้ก็อาจเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับอวัยวะอื่น อย่างเช่น โรคถุงน้ำดีอักเสบ ไส้ติ้งอักเสบ เบาหวาน ไปจนถึงโรคของระบบประสาทก็ทำให้เกิดอาการได้เช่นกัน

         โดยปกติถ้าหากเป็นอาการอาหารไม่ย่อยแบบธรรมดาทั่วไป รวมถึงกรณีที่อาหารไม่ย่อยเนื่องจากโรคกระเพาะ ผู้ป่วยมักมีอาการดีขึ้นเมื่อรับประทานอาหารอย่างถูกต้อง ตามหลักสุขลักษณะและโภชนาการ หรือได้อาหารพักฟื้นสำหรับโรคกระเพาะสักช่วงหนึ่ง แต่ถ้าหากอาหารไม่ย่อยเนื่องจากสาเหตุของโรคเบาหวาน หรือความผิดปกติของถุงน้ำดี หรือสาเหตุอื่น ๆ เช่นนี้ การเยียวยารักษาจะต้องรักษาให้ตรงกับสาเหตุของโรคนั้น




ขอขอบคุณข้อมูลจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
10 อาการประท้วง ของระบบทางเดินอาหาร อัปเดตล่าสุด 15 มกราคม 2556 เวลา 19:32:45 5,536 อ่าน
TOP