x close

ใช้จาน-ชามพลาสติกราคาถูก-ด้อยคุณภาพ เสี่ยงรับสารก่อมะเร็ง


ใช้จาน-ชามพลาสติกราคาถูก-ด้อยคุณภาพ เสี่ยงรับสารก่อมะเร็ง



         สธ. เตือน ใช้ถ้วย-จาน-ชามพลาสติกสีสวย ราคาถูก ด้อยคุณภาพ เสี่ยงรับสารก่อมะเร็ง หลังสุ่มเก็บตัวอย่างจานพลาสติกที่ขายในตลาดนัดจนถึงห้างสรรพสินค้า พบ ทำจากเมลามีนปลอมเพียบ หากใส่อาหารร้อน ๆ จะมีสารก่อมะเร็งแพร่ออกมา

         เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม นายแพทย์นิพนธ์ โพธิ์พัฒนชัย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ออกมาเตือนผู้ที่ชอบใช้ถ้วย จาน ชามพลาสติกราคาถูก ที่มีลวดลาย สีสันสวยงาม ให้ระมัดระวังในการนำมาเป็นภาชนะใส่อาหาร เพราะจากการสุ่มเก็บตัวอย่างมาทดสอบพบว่า ภาชนะพลาสติกราคาถูกจำนวนไม่น้อย มีสารฟอร์มาลดีไฮด์ (Formaldehyde) ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง เจือปนอยู่ 

         ทั้งนี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ลงเก็บตัวอย่างภาชนะใส่อาหาร ประเภทถ้วย จาน ชามราคาถูกที่ทำด้วยพลาสติก รูปแบบสีสันสวยงาม ซึ่งวางจำหน่ายตามตลาดนัด ร้านแผงลอยในห้างสรรพสินค้า งานแสดงสินค้า ร้านค้าส่ง ร้านค้าปลีก และห้างสรรพสินค้า จำนวน 113 ตัวอย่าง ราคาใบละ 5-29 บาท มาทดสอบ พบว่า ภาชนะเหล่านี้ดูคล้ายภาชนะเมลามีนเป็นอย่างมาก การทำแยกความแตกต่างทำได้ยาก และเมื่อตรวจวิเคราะห์วัสดุที่ใช้ทำด้วยเครื่อง Fourier Transform Infrared Spectrophotometer  (FT-IR) ผลปรากฏว่า เนื้อภาชนะถูกต้องตามฉลากเป็นเมลามีน-ฟอร์มาลดีไฮด์ (Melamine Formaldehyde) หรือเมลามีนแท้ มีเพียง 7 ตัวอย่าง และอะคริโลไนไตรล์-บิวทาไดอีน-สไตรีน (Acrylonitrile Butadiene Styrene) 1 ตัวอย่าง ซึ่งผลิตในประเทศไทย 

         นอกจากนี้ ยังมีภาชนะที่ไม่แจ้งชนิดวัสดุในฉลาก ซึ่งตรวจสอบได้เป็นพอลิพรอพิลีน (Polypropylene) 1 ตัวอย่าง พอลิสไตรีน (Polystyrene) 1 ตัวอย่าง และในฉลากที่ระบุว่าเป็นพลาสติก 103 ตัวอย่างนั้น เมื่อตรวจสอบก็พบว่าเป็นยูเรีย-ฟอร์มาลดีไฮด์ หรือเมลามีนปลอม แบ่งได้เป็น 4 กลุ่มดังนี้ 

         - เนื้อยูเรีย-ฟอร์มาลดีไฮด์เคลือบผิวด้านในด้วยเมลามีน-ฟอร์มาลดีไฮด์ 45 ตัวอย่าง 
         - เนื้อยูเรีย-ฟอร์มาลดีไฮด์เคลือบผิวด้านนอกด้วยเมลามีน–ฟอร์มาลดีไฮด์ 53 ตัวอย่าง
         - เนื้อยูเรีย-ฟอร์มาลดีไฮด์เคลือบผิวด้านในและด้านนอกด้วยเมลามีน-ฟอร์มาลดีไฮด์ 4 ตัวอย่าง
         - และเนื้อยูเรีย-ฟอร์มาลดีไฮด์ทั้งชิ้น 1 ตัวอย่าง

         ทั้งนี้ เมื่อนำภาชนะตัวอย่างจากกลุ่มเมลามีนปลอมมาทดสอบการแพร่กระจายของสารฟอร์มาลดีไฮด์ โดยใช้ความร้อน 60 องศาเซลเซียส 30 นาที ตามมาตรฐานการทดสอบผลิตภัณฑ์เมลามีนแท้ ก็พบว่า มีฟอร์มาลดีไฮด์แพร่กระจายออกมาในน้ำที่ใช้ทดสอบ เกินค่ามาตรฐาน 37 ตัวอย่าง และเมื่อทดสอบที่อุณหภูมิ 80 องศาเซลเซียส หรือ 100 องศาเซลเซียส ซึ่งแจ้งไว้ในฉลากของผลิตภัณฑ์ กลับพบฟอร์มาลดีไฮด์แพร่กระจายออกมาในน้ำที่ใช้ทดสอบ เกินค่ามาตรฐาน 38 ตัวอย่าง 

ถ้วยพลาสติก

         นอกจากนี้ เมื่อทำการทดสอบ โดยใส่สารละลายกรดอะซิติก (acetic acid) หรือกรดน้ำส้ม ความเข้มข้นร้อยละ 4 โดยปริมาตร ตั้งอุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียส เพื่อเลียนแบบการใส่อาหารประเภทต้มยำหรือแกงส้มร้อน ๆ กลับพบฟอร์มาลดีไฮด์ออกมาเกินค่ามาตรฐานถึง 64 ตัวอย่าง และพบปริมาณที่สูงเกินกว่า 100 มิลลิกรัมต่อลิตร 38 ตัวอย่าง ซึ่งเกินมาตรฐานที่ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 295) พ.ศ.2548 เรื่อง กำหนดคุณภาพหรือมาตรฐานของภาชนะบรรจุที่ทำจากพลาสติกและสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม มอก. 524-2539 เรื่องภาชนะและเครื่องใช้เมลามีน กำหนดว่าต้องไม่พบฟอร์มาลดีไฮด์ (ค่าต่ำสุดที่ตรวจวัดได้ 4 มิลลิกรัมต่อลิตร)

         ด้าน นางลัดดาวัลย์ โรจนพรรณทิพย์ ผู้อำนวยการสำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวเสริมว่า จากการสำรวจครั้งนี้พบว่า ภาชนะที่ทำด้วยยูเรีย-ฟอร์มาลดีไฮด์ หรือเมลามีนปลอม ส่วนใหญ่นำเข้ามาจากต่างประเทศ และมีวางจำหน่ายทั่วไป ซึ่งภาชนะเหล่านี้ไม่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค เนื่องจากฟอร์มาลดีไฮด์ที่เป็นสารก่อมะเร็งสามารถแพร่ออกมาได้ตามอุณหภูมิการใช้งาน ยิ่งใช้งานที่อุณหภูมิสูงจะมีฟอร์มาลดีไฮด์ออกมาปริมาณมาก โดยเฉพาะถ้าอาหารนั้นมีความเป็นกรดและความร้อนสูง 

         ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค ควรสังเกตและเลือกซื้อภาชนะถ้วย จาน พลาสติกที่มีฉลากกำกับให้รายละเอียดชนิดของวัสดุ ข้อกำหนดการใช้งาน มีแหล่งผลิตที่เชื่อถือได้ และที่สำคัญคือภาชนะเหล่านี้ต้องที่ได้รับการรับรอง หรือมีตราเครื่องหมายการรับรองคุณภาพมาตรฐานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นการยืนยันได้ในระดับหนึ่งว่า สินค้าเหล่านั้นได้ผ่านการตรวจสอบคุณภาพว่าได้มาตรฐาน และควรปฏิบัติตามคำเตือนที่ผู้ผลิตแจ้งไว้ เพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายจากการได้รับสารฟอร์มาลดีไฮด์




อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ใช้จาน-ชามพลาสติกราคาถูก-ด้อยคุณภาพ เสี่ยงรับสารก่อมะเร็ง อัปเดตล่าสุด 3 พฤษภาคม 2556 เวลา 10:17:16 4,463 อ่าน
TOP