x close

4 ข้อเท็จจริง เรื่องยีนมะเร็งเต้านมที่คุณควรจะรู้!


มะเร็งเต้านม

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

          กำลังเป็นประเด็นฮอตของโลกเลยก็ว่าได้ กับเรื่องที่ดาราฮอลลีวูดชื่อดังอย่างแองเจลนา โจลี (Angelina Jolie) ตัดสินใจตัดเต้านมทิ้ง เพื่อลดความเสี่ยงของโรคมะเร็งเต้านม หลังเธอตรวจพบว่า ตัวเองมียีนผิดปกติที่ชื่อว่า BRCA1 ซึ่งทำให้เธอมีความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านมถึง 87% และมะเร็งรังไข่ 50% แต่หลังจากเธอตัดเต้านมออก ความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านมก็ลดลงเหลือเพียง 5% เท่านั้น

          และเพราะเหตุนี้เอง จึงทำให้สาว ๆ หลายคนกลับมาตระหนักถึงภัยร้ายจากมะเร็งเต้านมกันอีกครั้ง ดังนั้นวันนี้กระปุกดอทคอมเลยขอโหนกระแส นำข้อมูลดี ๆ เกี่ยวกับข้อเท็จจริงของยีนมะเร็งเต้านมที่คุณอาจไม่เคยรู้มาฝากกันค่ะ

1. มะเร็งเต้านมส่วนใหญ่เกิดจากกรรมพันธุ์ ไม่ใช่การผ่าเหล่าของยีน BRCA

          BRCA1 และ BRCA2 เป็นกลุ่มยีนที่ทำหน้าที่ควบคุมการเจริญของเซลล์ในมนุษย์ (tumor suppressors) ซึ่งหากไม่มีความผิดปกติของยีนเกิดขึ้น ก็จะช่วยควบคุมไม่ให้เกิดเนื้องอก แต่หากเกิดความผิดปกติขึ้นกับยีน หรือที่เรียกกันว่าการผ่าเหล่า (mutations) ก็จะสามารถนำไปสู่การพัฒนาเซลล์มะเร็งเต้านมที่ถ่ายทอดได้ทางพันธุกรรมได้

          อย่างไรก็ตาม แพทย์ได้ออกมาบอกข้อเท็จจริงว่า การผ่าเหล่าของยีน BRCA สร้างความเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมเพียงแค่ 5-8% เท่านั้น และคนไข้มะเร็งเต้านมส่วนใหญ่ก็ไม่ได้เกิดจากสาเหตุการผ่าเหล่าของยีน BRCA แต่อย่างใด รวมทั้งในกรณีของแองเจลินา โจลี ก็ด้วย และที่เธอมีความเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมได้สูงถึง 87% นั้น ก็เป็นเพราะพันธุกรรม เนื่องจากแม่ของเธอเองก็เป็นมะเร็งรังไข่จนถึงแก่ชีวิตตั้งแต่อายุยังน้อยนั่นเอง

มะเร็งเต้านม

2.  หากไม่มีปัจจัยเสี่ยง ไม่จำเป็นต้องตรวจหาเซลล์มะเร็งก็ได้

          สถาบันวิจัยโรคมะเร็ง MD Anderson ของมหาวิทยาเท็กซัส (The University of Texas MD Anderson Cancer Center) ได้ออกมาแนะนำว่า คนที่ควรได้รับการตรวจหาความผิดปกติของยีนมะเร็งเต้านมก็คือ คนที่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น มีญาติใกล้ชิดสายตรง (มารดา, บุตรสาว, พี่สาว, น้องสาว) เป็นมะเร็งชนิดเดียวกันอย่างน้อย 2 คน (เป็นมะเร็งรังไข่ 2 คน หรือเป็นมะเร็งเต้านม 2 คน) และมีคนเป็นมะเร็งรังไข่หรือมะเร็งเต้านมเมื่ออายุน้อยกว่า 50 ปี อย่างน้อย 1 คน

          ดังนั้น หากคนในครอบครัวของคุณไม่มีประวัติป่วยเป็นมะเร็งอย่างที่ได้กล่าวมาข้างต้น ก็ถือว่าคุณมีความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งน้อย และอาจไม่จำเป็นต้องไปตรวจหาเซลล์มะเร็งเต้านมก็ได้ค่ะ

3. คนที่มีความผิดปกติของยีน BRCA อาจไม่ได้เป็นมะเร็งเสมอไป

          ผู้หญิงที่ตรวจพบว่ามีความผิดปกติของยีน BRCA1 หรือ BRCA 2 มีความเสี่ยงที่เซลล์จะพัฒนาเป็นเซลล์มะเร็งมากกว่าผู้หญิงที่ไม่มีความผิดปกติทางยีน ถึง 5 เท่า แต่อย่างไรก็ดี การตรวจพบว่าผลของความผิดปกติของยีนออกมาเป็นบวก (หมายถึงมีความผิดปกติของยีน) บ่งบอกได้แค่เพียงว่า บุคคลนั้นมี "ความเสี่ยงมากขึ้น" ต่อการเป็นมะเร็งเท่านั้น ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นหรือไม่เป็นโรคมะเร็ง และไม่จำเป็นว่าผู้ที่มีความผิดปกติของยีนจะต้องเป็นโรคมะเร็งทุกคน

          อีกทั้ง แพทย์ผู้เชี่ยวชาญยังบอกอีกด้วยว่า แม้ผู้ที่มีความผิดปกติทางยีนชนิด BRCA1 จะมีความเสี่ยงเป็นมะเร็งถึง 80% แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับประวัติการเป็นมะเร็งรังไข่ และมะเร็งเต้านมของคนในครอบครัวด้วย  ซึ่งถ้าหากพบว่าไม่มี หรือมีบุคคลในครอบครัวเป็นมะเร็งทั้ง 2 ชนิดนี้น้อย ความเสี่ยงก็จะลดลงเหลือไม่ถึง 37-60% เลยล่ะค่ะ

มะเร็งเต้านม

4. สมาชิกในครอบครัวที่มีความเสี่ยงสูงที่สุดควรได้รับการตรวจหาเซลล์มะเร็งเป็นคนแรก

          ถ้าอยู่ ๆ พบว่ามีคนในครอบครัวป่วยเป็นโรคมะเร็ง ญาติใกล้ชิดสายตรง (มารดา, บุตรสาว, พี่สาว, น้องสาว) ควรได้รับการรวจหาเซลล์มะเร็งก่อนเป็นคนแรก โดยเฉพาะหากคนในครอบครัวที่ป่วยเป็นโรคมะเร็งนั้นมีอายุไม่เกิน 40 ปี แต่แม้จะมีอายุที่มากกว่านั้น (เกิน 65 ปี) ก็ยังจำเป็นต้องตรวจหาเซลล์มะเร็งด้วยเช่นกัน เพราะอาจเกิดการสืบทอดการกลายพันธุ์ของยีนไปยังคนในครอบครัวได้ และหากผลการตรวจของคนที่มีความเสี่ยงสูงที่สุดคนแรกออกมาเป็นลบ (หมายถึงไม่มีความผิดปกติของยีน) ก็อย่าเพิ่งวางใจ เพราะญาติลำดับถัดไปอาจมีการกลายพันธุ์ของยีนแอบแฝงอยู่ด้วยก็ได้ค่ะ

          4 ข้อเท็จจริงของโรคมะเร็งเต้านมนี้ อาจทำให้ใครหลายคนโล่งใจ เพราะยังไม่เข้าข่ายเสี่ยงเป็นโรคร้ายนี้สักเท่าไร และก็เชื่อว่าคงไม่มีผู้หญิงคนไหนอยากเป็นกันใช่ไหมคะ ดังนั้น ทางที่ดีเราก็ควรดูแลสุขภาพร่างกายให้ดี ด้วยการทานอาหารให้ถูกหลักโภชนาการ และหมั่นออกกำลังกายอยู่เสมอ ที่สำคัญ อย่าวิตกกังวลกับโรคมะเร็งเกินเหตุ จนพาลให้สุขภาพจิตเสียไปเปล่า ๆ ด้วยนะจ๊ะ




  เคล็ดลับสุขภาพ สุขภาพใกล้ตัว โรคและการป้องกัน คลิกเลย





เรื่องที่คุณอาจสนใจ
4 ข้อเท็จจริง เรื่องยีนมะเร็งเต้านมที่คุณควรจะรู้! อัปเดตล่าสุด 16 พฤษภาคม 2556 เวลา 15:05:43 2,094 อ่าน
TOP