x close

เรื่องน่ารู้...การผ่าตัดเต้านม เพื่อรักษาโรคมะเร็งเต้านม


มะเร็งเต้านม


เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก ระบบเฝ้าระวังมะเร็งเต้านม กรมอนามัย

          ผู้หญิงทั่วโลกได้ตกตะลึงไปตาม ๆ กัน เมื่อ แองเจลินา โจลี ดาราฮอลลีวูดคนดัง ตัดสินใจตัดเต้านมของตัวเองทิ้ง เพื่อลดความเสี่ยงการเป็นมะเร็งเต้านม หลังแพทย์วินิจฉัยพบว่า ดาราสาวมีโอกาสจะต้องเผชิญกับโรคร้ายนี้มากถึง 87% จากสาเหตุทางพันธุกรรม แต่หลังจากดาราสาวยอมตัดเต้านมทิ้งแล้ว โอกาสเสี่ยงของเธอได้ลดลงเหลือเพียง 5% เท่านั้น

          อย่างที่รู้ ๆ กันว่า "มะเร็งเต้านม" เป็นโรคร้ายที่คร่าชีวิตผู้หญิงทั่วโลกไปไม่ใช่น้อย และการผ่าตัดเต้านมก็เป็นวิธีการรักษาวิธีหนึ่งที่ได้ผลดี แต่หลายคนที่ติดตามข่าวก็อาจจะเกิดความสงสัยขึ้นว่า การผ่าตัดเต้านมนั้นต้องตัดเต้านมออกทั้งหมดอย่างที่เคยได้ยินมาจริงหรือ? หรือมีวิธีอื่นอีก ลองไปอ่านความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ที่กระปุกดอทคอม ขอนำมาบอกต่อกันค่ะ

          ก่อนอื่นต้องรู้ก่อนว่า มะเร็งเต้านม (Breast Cancer) นั้น เป็นโรคที่อันตรายถึงแก่ชีวิต หากไม่รักษาจะไม่มีทางหายไปได้เอง ดังนั้น เมื่อแพทย์ตรวจพบว่า ผู้ป่วยเป็นมะเร็งเต้านมก็จะต้องรีบรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ เพราะหากตรวจพบเร็ว รักษาเร็ว ก็มีโอกาสจะหายขาดได้ และการผ่าตัดเอาก้อนเนื้อร้าย หรือผ่าตัดเต้านมนั้น ก็ถือเป็นกระบวนการแรกของการรักษาโรคมะเร็งเต้านมในปัจจุบัน

          สำหรับการผ่าตัดเต้านมนั้น มีอยู่ 2 วิธี ซึ่งแพทย์จะพิจารณาตามความเหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละราย เพื่อให้เกิดผลการรักษาที่ดีที่สุด คือ

ผ่าตัดเต้านม

1. การผ่าตัดเต้านมออกทั้งหมด (Total Mastectomy)

          การผ่าตัดเต้านมออกทั้งหมดแบบนี้เป็นวิธีดั้งเดิมที่ทำกันมานานแล้ว มี 4 วิธีคือ

          Simple Mastectomy คือการตัดเฉพาะเต้านมออก โดยไม่มีการเลาะต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ วิธีการจะใช้เมื่อแน่ใจว่า มะเร็งอยู่เฉพาะที่ ไม่ได้แพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง ซึ่งจะต้องทำ Sentinel Node เพื่อดูว่าต่อมน้ำเหลืองต่อมแรกที่มะเร็งสามารถแพร่กระจายไปนั้น มีเซลล์มะเร็งหรือไม่ ถ้าไม่มีการแพร่กระจายไป ก็ไม่จำเป็นต้องเลาะต่อมน้ำเหลืองใต้รักแร้

          Modified Radical Mastectomy (MRM) คือ การผ่าตัดเอาเต้านม และต่อมน้ำเหลืองใต้รักแร้ออก หากพบว่าเซลล์มะเร็งกระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองแล้ว

          Modified Radical Mastectomy with Reconstruction คือ การผ่าตัดเอาเต้านมออกด้วยวิธี Modified Radical Mastectomy คือตัดต่อมน้ำเหลืองออกไปด้วย และยังผ่าตัดย้ายกล้ามเนื้อจากบริเวณหลังหรือท้อง มาทำเป็นเต้านมและหัวนม เพื่อลดความรู้สึกของการสูญเสียความเป็นหญิง

          Radical Mastectomy คือ การผ่าเอาเต้านมพร้อมก้อนมะเร็งออก จากนั้นเลาะเอาก้อนน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ และตัดเอากล้ามเนื้อทรวงอก (Pectoralis Major และ Minor) ออกไปด้วย ปัจจุบันไม่นิยมทำแล้ว เนื่องจากมีผลแทรกซ้อนหลังผ่าตัดมาก แพทย์จะเลือกทำให้ในรายที่มีแพร่กระจายไปยังกล้ามเนื้อทรวงอก 

          ทั้งนี้ การผ่าตัดเต้านมออกทั้งหมดนั้น จะเหมาะกับผู้ป่วยที่มีลักษณะต่อไปนี้

           ผู้ป่วยที่ไม่ประสงค์จะผ่าตัดแบบสงวนเต้า

          ผู้ที่มีโอกาสสูงในกลับมาเป็นมะเร็งเต้านมในข้างนั้นซ้ำอีกครั้ง เช่น เป็นผู้ที่มีอายุน้อย มีกรรมพันธุ์ หรือมีปัจจัยเสี่ยง

          ผู้ที่มีมะเร็งอยู่หลายตำแหน่งในเต้านม หรือมะเร็งแพร่กระจายไปแล้ว

          ผู้ที่มีมะเร็งขนาดใหญ่เกินกว่าจะผ่าตัดแบบสงวนเต้าได้

          ผู้ที่ไม่สามารถรับการฉายแสงหลังผ่าตัดได้ เช่น มีข้อห้าม มีโรคประจำตัวบางอย่าง หรือไม่สะดวกในการเดินทางมาฉายแสง

          สำหรับผู้ป่วยที่ผ่าตัดเต้านมออกทั้งหมดไปแล้ว จะไม่ต้องมารับการฉายแสงอีก ยกเว้นผู้ป่วยบางรายอาจจำเป็นต้องมาฉายแสงด้วย ซึ่งขึ้นอยู่แต่ละกรณีไป

การผ่าตัดเต้านม


2. การผ่าตัดแบบสงวนเต้า (Partial Mastectomy)

           หรือจะเรียกว่าการผ่าตัดแบบเก็บรักษาเต้านมไว้ (Breast Conserving Therapy) โดยแพทย์จะผ่าตัดเอาเฉพาะส่วนที่เป็นก้อนเนื้อร้ายออกเท่านั้น แต่ยังคงเหลือเต้านมส่วนที่ดีเอาไว้ อย่างไรก็ตาม หากใช้การผ่าตัดวิธีนี้รักษามะเร็ง ผู้ป่วยจะต้องฉายแสงควบคู่ไปด้วยจึงจะให้ผลเทียบเท่ากับการผ่าตัดเต้านมออกทั้งหมด ไม่เช่นนั้น ผู้ป่วยจะมีโอกาสจะกลับมาเป็นมะเร็งซ้ำได้อีก

          สำหรับการผ่าตัดเต้านมแบบสงวนเต้านั้นจะมีข้อดี คือ

          1. สามารถเก็บรักษาเต้านมไว้ได้ โดยมีรูปทรงที่ใกล้เคียงกับก่อนผ่าตัด

          2. ระยะพักฟื้นเร็วกว่า ไม่จำเป็นต้องนอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล เมื่อผ่าตัดเสร็จแล้วสามารถกลับบ้านได้เลย หรืออาจจะนอนค้างที่โรงพยาบาลเพียง 1 คืนได้

          3. ทำให้ผู้หญิงไม่รู้สึกเครียด หรือไม่สบายใจที่ต้องสูญเสียเต้านม

          อย่างไรก็ตาม การผ่าตัดแบบสงวนเต้านมนี้ ไม่ใช่ว่าจะทำได้กับผู้ป่วยทุกราย เพราะยังมีผู้ป่วยบางกลุ่มที่มีข้อจำกัดไม่สามารถผ่าตัดแบบสงวนเต้าได้ คือ

          ผู้ที่มีเต้านมขนาดเล็ก เพราะแพทย์จะมีข้อจำกัดในการตัดเนื้อมะเร็งออกให้เป็นบริเวณกว้างเท่าที่ต้องการได้

          ผู้ที่ไม่สามารถรับการฉายแสงได้

          ผู้ป่วยที่ยังมีอายุน้อย หรือมีประวัติทางพันธุกรรม เพราะจะมีความเสี่ยงในการเป็นโรคซ้ำได้สูงกว่าคนทั่วไป

          ผู้ที่มีก้อนมะเร็งอยู่หลายตำแหน่งในเต้านมข้างเดียวกัน

          ผู้ที่มีก้อนมะเร็งขนาดใหญ่เกินไป คือมากกว่า 5 เซนติเมตร

          ผู้ที่เคยฉายรังสีที่หน้าอกมาก่อนที่จะผ่าตัด

          ผู้ที่เป็นโรคผิวหนัง เช่น โรคหนังแข็ง scleroma

          สตรีมีครรภ์

มะเร็งเต้านม

          สำหรับในประเทศไทย มีผู้หญิงป่วยด้วยโรคมะเร็งเต้านมปีละประมาณ 25,000 คน เมื่อแพทย์ตรวจพบ ส่วนใหญ่ก็จะทำการรักษาด้วยการผ่าตัดเต้านมออกให้ทั้งหมด ซึ่งอาจเป็นเพราะพบมะเร็งในระยะที่มากแล้ว หรือกลัวว่าจะกลับมาเป็นซ้ำอีก จึงเลือกใช้วิธีผ่าตัดออกทั้งหมดน่าจะได้ผลดีกว่า อีกทั้งยังไม่ต้องมายุ่งยากเรื่องการฉายแสง และการตัดเต้านมออกทั้งหมดจะมีค่าใช้จ่ายถูกกว่าคือราคาประมาณหลักหมื่น มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่ใช้วิธีการผ่าตัดแบบสงวนเต้า ที่มีค่าใช้จ่ายหลักแสน ซึ่งแตกต่างจากชาติตะวันตกที่ผู้ป่วยราว 2 ใน 3 จะเลือกผ่าตัดแบบสงวนเต้ามากกว่า

          อย่างไรก็ตาม การผ่าตัดเต้านมออกทั้งหมดเป็นวิธีที่ผู้หญิงกลัวกัน เพราะเมื่อผ่าแล้วหน้าอกจะแบนราบ มีอาการชา หรือไม่มีความรู้สึกบริเวณหน้าอก จากการศึกษาทางการแพทย์พบว่า ผู้ที่ผ่าตัดเต้านมออกไปแล้วจะมีปัญหาเรื่องการแต่งตัว แม้ใช้เต้านมปลอมเสริมเข้าไปก็รู้สึกไม่สบายตัว และยังมีผลกระทบทางความรู้สึก ทางจิตใจด้วย เพราะสูญเสียอวัยวะที่สัญลักษณ์ของเพศหญิงไป ทำให้รู้สึกกังวล ไม่มั่นใจตัวเอง กระทบต่อชีวิตสมรส และการเข้าสังคม

          เมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้หญิงหลาย ๆ คน จึงเลือกใช้การผ่าตัดเสริมสร้างเต้านมขึ้นมาใหม่ เพื่อช่วยให้กลับมามีเต้านมเหมือนเดิม เท่ากับเป็นการช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยให้ดีขึ้น

เสริมเต้านม

โดยการสร้างเต้านมใหม่ ทำได้ 3 แบบ คือ

1. การผ่าตัดโดยใช้เต้านมเทียม

          คือ การใส่ถุงซิลิโคนใต้ชั้นผิวหนังและกล้ามเนื้อ แล้วฉีดซิลิกาเจล หรือน้ำเกลือปลอดเชื้อเข้าไปในถุงซิลิโคนนั้น มีข้อดีคือกระบวนการผ่าตัดไม่ยุ่งยาก ใช้เวลาไม่นาน แต่อาจมีภาวะแทรกซ้อนจากการใส่เต้านมเทียม เช่น การติดเชื้อ แผลมีเลือดออก หรือในระยะยาว ถุงซิลิโคนอาจแตกได้

2. การใช้เนื้อเยื่อส่วนอื่นของร่างกายมาสร้างเต้านมใหม่

          คือการย้ายเนื้อเยื่อส่วนอื่นของร่างกาย ทั้งผิวหนัง ชั้นไขมัน และกล้ามเนื้อ หรือเรียกว่า Flap เพื่อนำไปทำเป็นเต้านมใหม่ โดยการย้าย Flap มานั้นต้องพึ่งพาเส้นเลือดเดิม เพื่อใช้เลี้ยง Flap นั้น นอกจากนี้ ยังมีวิธีการสร้างเต้านมเทียมอีกวิธีหนึ่งคือ ย้ายมาเฉพาะชั้นผิวหนัง และไขมันมาเท่านั้น โดยเอาไขมันมาจากหน้าท้อง หรือก้น แล้วมาผ่าตัดตกแต่งให้เป็นรูปทรงของเต้านม

          ข้อดีของวิธีการนี้ เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่ต้องการใช้วัสดุเทียมในร่างกาย แต่ข้อเสียคือการใช้วิธีนี้ค่อนข้างยุ่งยาก เป็นการผ่าตัดใหญ่ ใช้เวลานาน และอาจมีภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดเลาะเนื้อเยื่อจากบริเวณอื่น ๆ ของร่างกายมาเสริมสร้างเต้านมใหม่

3. การใช้ 2 วิธีดังกล่าวร่วมกัน

          จากข้อมูลข้างต้นนี้ อย่างน้อยก็คงทำให้ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมคลายความเครียดลงไปได้บ้าง เพราะหากต้องผ่าตัดเต้านมออกไปจริง ๆ ก็ยังสามารถสร้างเต้านมใหม่ขึ้นมาทดแทนได้ ซึ่งจะช่วยให้ผู้หญิงกลับมามั่นใจได้อีกครั้งนั่นเอง และยังสามารถทำได้คราวเดียวกับการผ่าตัดมะเร็งเต้านมด้วย เรียกว่าผ่าตัดปุ๊บ ก็เสริมใหม่ปั๊บ ช่วยลดความกังวลไปได้มากเลย




คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ





อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
- ระบบเฝ้าระวังมะเร็งเต้านม กรมอนามัย
- thaibreastcancer.com
- chulacancer.net
- siamhealth.net
 



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เรื่องน่ารู้...การผ่าตัดเต้านม เพื่อรักษาโรคมะเร็งเต้านม อัปเดตล่าสุด 22 พฤษภาคม 2556 เวลา 17:12:55 34,463 อ่าน
TOP