x close

มะเร็งปอด แสนร้ายกาจ ไม่สูบบุหรี่ก็ถึงฆาตเพราะโรคนี้ได้

          มะเร็งปอด ใช่ว่าจะเกิดจากการสูบบุหรี่ หรือรับเอาควันบุหรี่เข้าสู่ร่างกายเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีอีกหลายปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งปอดได้ แม้คุณไม่ได้สูบบุหรี่สักมวนเลยก็ตาม

มะเร็งปอด

          มะเร็งร้ายที่คร่าชีวิตคนไทยเป็นอันดับต้น ๆ อีกโรคหนึ่งก็คือมะเร็งปอด และนับว่าเป็นโรคที่อันตราย เนื่องจากผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดมักจะไม่แสดงอาการ รู้ตัวอีกทีก็พบว่าเป็นมะเร็งปอดระยะแพร่กระจาย ลุกลามกินเนื้อปอดจนสายเกินแก้ และที่ร้ายไปกว่านั้น โรคมะเร็งปอดยังไม่ได้เกิดกับคนที่สูบบุหรี่อย่างที่หลายคนเข้าใจ แต่มะเร็งปอดยังเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ ได้อีกมากมาย และก็มีผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดที่ไม่เคยสูบบุหรี่เลยสักมวนมานักต่อนักแล้วด้วย

          ดังนั้นเพื่อเป็นการรู้เท่าทันมะเร็งปอด รวมทั้งเรียนรู้วิธีป้องกันปัจจัยเสี่ยงโรคมะเร็งปอด เราจะพาทุกคนมาทำความรู้จักมะเร็งปอดให้มากขึ้นกันค่ะ

มะเร็งปอด

มะเร็งปอด หมายถึงภาวะผิดปกติของปอดแบบไหน
     
          มะเร็งปอด (ภาษาอังกฤษ Lung Cancer) คือ อุบัติการณ์ที่เซลล์ของเนื้อปอดมีการแบ่งตัวมากเกินปกติจนไม่สามารถควบคุมได้ และเซลล์ร้ายนั้นได้ลุกลามรวมกันเป็นเนื้องอกที่สามารถแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น ๆ ทั้งนี้มะเร็งปอดรั้งอันดับสองในโรคมะเร็งที่พบรวมทั้งเพศหญิงและเพศชาย ทั้งยังเป็นโรคมะเร็งที่มีอัตราการเสียชีวิตสูงสุดเป็นอันดับหนึ่ง และพบโรคมะเร็งปอดในเพศชายมากกว่าเพศหญิง

          อย่างไรก็ตาม มะเร็งปอดแบ่งออกได้ 2 ชนิดตามลักษณะของเซลล์ที่ตรวจพบในระดับกล้องจุลทรรศน์ ซึ่งจะพบได้จากการส่องกล้องหรือการผ่าตัดชิ้นเนื้อไปตรวจสอบ โดยสามารถแยกมะเร็งปอดได้ ดังนี้

          1. มะเร็งปอดชนิด Non-small cell เป็นชนิดของมะเร็งปอดที่พบมากที่สุดถึง 80% ของทั้งหมด โดยสามารถแบ่งออกเป็นชนิดย่อย ๆ ได้ ดังนี้

          - มะเร็งชนิดที่เกิดกับเนื้อปอดบริเวณด้านนอก (Adenocarcinoma) พบบ่อยในผู้หญิงหรือในรายที่ไม่เคยสูบบุหรี่เลย  

          - มะเร็งที่เกิดจากเซลล์ชนิดเยื่อบุอยู่ตามทางเดินหายใจ (Squamous cell carcinoma) พบมากในผู้ป่วยที่มีความเกี่ยวข้องกับการสูบบุหรี่

          - มะเร็งที่ไม่ทราบต้นกำเนิดแน่ชัด (Large cell carcinoma)

        2. มะเร็งปอดชนิด Small cell พบได้ประมาณ 10% ของมะเร็งปอดทั้งหมด มักมีสาเหตุมาจากการสูบบุหรี่ และแม้จะเป็นเซลล์ขนาดเล็กแต่สามารถเพิ่มจำนวนได้อย่างรวดเร็ว จนก่อเป็นมะเร็งก้อนใหญ่ และอาจแพร่กระจายไปยังอวัยวะส่วนอื่นได้ทั่วร่างกาย

มะเร็งปอด

มะเร็งปอด เกิดจากอะไร

          ปัจจัยเสี่ยงโรคมะเร็งปอดหลายคนอาจเข้าใจว่ามะเร็งปอดเกิดจากการสูบบุหรี่จัด ๆ เพียงเท่านั้น ทว่าสาเหตุของมะเร็งปอดเกิดได้จากหลายปัจจัย จำแนกได้ตามนี้

1. พฤติกรรมสูบบุหรี่

          การสูบบุหรี่เป็นปัจจัยเสี่ยงโรคมะเร็งปอดอันดับต้น ๆ ไม่ว่าจะเป็นการสูบบุหรี่ด้วยตัวเองหรือการสูดดมควันบุหรี่เข้าไปเฉย ๆ ก็ตาม ทั้งนี้มีรายงานพบว่า ประมาณ 85% หรือมากกว่าของผู้ป่วยมะเร็งปอดมีประวัติการสูบบุหรี่

          สารในบุหรี่นั้นมีผลกระทบโดยตรงต่อปอด มีประมาณ 60 ชนิดที่เป็นสารพิษและก่อมะเร็ง แม้ว่าหยุดสูบไปแล้วแต่ความเสี่ยงก็ยังคงมีอยู่ พบว่าผู้สูบบุหรี่มีความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งปอดสูงขึ้น 10 เท่า ยิ่งสูบมาก สูบนาน ความเสี่ยงยิ่งเพิ่มสูงขึ้น

          ทั้งนี้รวมถึงผู้ได้รับควันบุหรี่ด้วย (30% ของผู้ที่ไม่สูบบุหรี่แต่ตายจากมะเร็งปอด จะเป็นผู้ที่อยู่ใกล้ชิดผู้สูบบุหรี่) หากสูบบุหรี่มากกว่า 20 pack years (คำนวณจากจำนวนบุหรี่ที่สูบเป็นซองต่อวัน คูณ จำนวนปีที่สูบ แล้วหาร 20) จะเพิ่มโอกาสเสี่ยงมะเร็งปอดได้มาก แต่หากลดการสูบบุหรี่ลง 50% หรือหยุดสูบบุหรี่ จะสามารถลดความเสี่ยงโรคมะเร็งปอดได้ 27-28% เลยทีเดียว

2. ซิการ์และไปป์

          การสูบซิการ์หรือไปป์ก็เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอดได้เช่นกัน

มะเร็งปอด

3. แร่ใยหิน (Asbestos)

          พบได้ตามโรงงานอุตสาหกรรมฉนวนกันความร้อน ใช้เป็นวัตถุไวไฟ แผ่นกันความร้อนตามอาคาร และอุตสาหกรรมสิ่งทอ หรืออุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับสารเคมี เป็นต้น การสูดดมแร่ใยหินเข้าไปจะก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อปอด ทั้งนี้มะเร็งปอดสามารถเกิดขึ้นได้แม้ว่าจะหยุดสัมผัสกับแร่ใยหินเป็นเวลากว่า 10 ปี แล้วก็ตาม

          นอกจากนี้ความเสี่ยงโรคมะเร็งปอดจะเพิ่มขึ้นในผู้ที่สูบบุหรี่ร่วมกับสูดรับแร่ใยหินเข้าปอด โดยมีรายงานพบว่า ความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งปอดในคนกลุ่มนี้จะมีมากกว่าผู้ที่ไม่ได้สูบบุหรี่และไม่ได้รับแร่ใยหินประมาณ 8.7 เท่า

4. ก๊าซเรดอน (Radon gas)


          เป็นก๊าซที่เกิดจากการสลายของสารยูเรเนียม (Uranium-238) และสารเรเดียม (Radium-226) โดยก๊าซนี้จะไม่มีสี ไม่มีกลิ่น และสามารถพบได้ทั่วไปตามแหล่งดินในธรรมชาติ หรือบริเวณที่มีแร่ยูเรเนียม โดยก๊าซเรดอนจะระเหยขึ้นมาจากพื้นดิน และหากสูดดมเข้าไป ก๊าซนี้จะทำลายเยื่อบุทางเดินหายใจ ดังนั้นผู้ที่สูดก๊าซชนิดนี้เป็นเวลานาน เช่น ผู้ที่ประกอบอาชีพในเหมืองแร่ยูเรเนียม เป็นต้น ทั้งนี้หากสูบบุหรี่ร่วมด้วยก็จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงเป็นมะเร็งปอดมากขึ้น

5. ควันจากการประกอบอาหารหรือความร้อน

          ควันที่เกิดจากการเผาถ่านหรือไม้เพื่อประกอบอาหารหรือเพื่อให้เกิดความอบอุ่น หากสูดดมเป็นเวลานานก็สามารถทําให้เกิดโรคมะเร็งปอดได้เช่นเดียวกัน

มะเร็งปอด

6. ฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5)

          มีรายงานว่าหากได้รับฝุ่นละออง PM2.5 มากกว่า 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จะเพิ่มความเสี่ยงโรคมะเร็งปอดได้ถึง 1.3 เท่า

          - ฝุ่นละอองในอากาศ เล็กจนหลายคนมองข้าม แต่โทษต่อสุขภาพมหาศาลเลยนะ

7. สารอื่น ๆ

          เช่น โครเมียม นิกเกิล ฝุ่นจากอุตสาหกรรมหนัก ไอสารระเหยน้ำมัน เขม่าควันต่าง ๆ รวมถึงมลภาวะทางอากาศที่ไม่บริสุทธิ์ สามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอดได้หากได้รับเป็นระยะเวลานาน

8. โรคปอดเรื้อรังบางชนิด

          ผู้ที่เป็นวัณโรคปอดจะมีโอกาสเกิดโรคมะเร็งปอดมากขึ้น โดยมะเร็งปอดจะเกิดขึ้นที่ตำแหน่งรอยแผลเป็นจากการเกิดเชื้อวัณโรคปอด รวมไปถึงผู้ที่ป่วยด้วยโรคถุงลมโป่งพองก็เสี่ยงเป็นมะเร็งปอดเพิ่มขึ้นเช่นกัน

9. การฉายแสง

          มีรายงานว่าการฉายแสงเพื่อรักษามะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งเต้านม ก็เพิ่มอัตราเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็งปอดได้

10. กรรมพันธุ์

          หากมีประวัติการเป็นมะเร็งปอดของญาติพี่น้องสายตรง โดยเฉพาะหากตรวจพบมะเร็งปอดเมื่ออายุยังน้อย ปัจจัยนี้ก็เป็นสาเหตุให้เกิดโรคมะเร็งปอดเพิ่มขึ้นได้

มะเร็งปอด

มะเร็งปอด อาการเป็นอย่างไร
 
          อาการของผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดในระยะแรก ๆ มักจะไม่ค่อยแสดงอาการอย่างชัดเจนนัก แต่ทั้งนี้อาการของโรคมะเร็งปอดก็ขึ้นอยู่กับความรุนแรงและการกระจายตัวของเซลล์มะเร็ง รวมไปถึงตำแหน่งของก้อนมะเร็งในร่างกายผู้ป่วยแต่ละรายด้วยนะคะ โดยอาการมะเร็งปอดจะแบ่งตามความรุนแรงของโรคได้ ดังนี้

1. อาการไอ


          ผู้ป่วยมักมีอาการไอเรื้อรัง พบได้ทั้งอาการไอแห้ง ๆ และไอแบบมีเสมหะ โดยพบอาการไอในผู้ป่วยมะเร็งปอดได้ 45-75% ซึ่งเป็นผลมาจากก้อนมะเร็งที่อยู่บริเวณทางเดินหายใจส่วนกลาง ถ้าไอแห้ง ๆ มักจะเป็นเพราะการระคายเคืองต่อเยื่อบุทางเดินหายใจส่วนกลาง แต่หากมีอาการไอแบบมีเสมหะข้นเหนียวอาจจะเกิดจากปอดอักเสบเนื่องจากการอุดตันของทางเดินหายใจ

2. อาการไอมีเลือดปน

          พบได้ 20-50% ในผู้ป่วยโรคมะเร็งปอด โดยอาการอาจมีความรุนแรงเล็กน้อย ตั้งแต่ไอปนเสมหะโดยเป็นเลือดสีแดงสดน้อยครั้ง จนกระทั่งไอปนเลือดปริมาณมากจนอาจทำให้ถึงแก่ชีวิตเนื่องจากขาดอาการหายใจ ซึ่งอาการนี้มักเกิดจากก้อนมะเร็งที่อยู่บริเวณทางเดินหายใจส่วนกลางเช่นกัน

3. หายใจหอบ เหนื่อยง่ายกว่าปกติ

          พบได้ในผู้ป่วยมะเร็งปอดที่มีก้อนมะเร็งขยายขนาดเข้าไปในท่อทางเดินหายใจ ทำให้ท่อทางเดินหายใจถูกกดเบียด มีขนาดเล็กลง ผู้ป่วยจึงมีอาการหายใจสั้น หายใจหอบ และเหนื่อยง่ายกว่าปกติ

4. เจ็บหน้าอก แน่นหน้าอก

          ถ้าก้อนมะเร็งไปอยู่บริเวณชายปอด จะก่อให้เกิดอาการระคายเคืองต่อเยื่อบุช่องปอด รู้สึกแจ็บแปล๊บ ๆ ที่หน้าอก และจะเจ็บหน้าอกมากตอนหายใจเข้าสุดหรือตอนไอ หรืออาจมีอาการแน่นหน้าอกได้เหมือนกัน

5. เสียงแหบ


          ในกรณีที่ก้อนมะเร็งกระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองบริเวณเยื่อที่กั้นช่องอก แล้วกดเบียดเส้นประสาทกล่องเสียงทำให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดมีอาการเสียงแหบไปจากเดิม

6. คอบวม หน้าบวม

          ผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดอาจมีอาการหน้าบวม คอบวม จากการที่ก้อนมะเร็งลุกลามมาอุดกั้นภายในหลอดเลือดแดง ผู้ป่วยมักจะมีอาการหน้าบวม คอบวม แขนบวม หรือผนังหน้าอกบวมร่วมด้วย

7. ปวดร้าวที่ไหล่ ต้นแขน และสะบักหลัง

          สำหรับผู้ป่วยที่มีก้อนมะเร็งบริเวณยอดปอด ก้อนมะเร็งอาจลุกลามไปยังเส้นประสาทบริเวณรอบ ๆ ทำให้เกิดอาการปวดไหล่ร้าวไปที่ต้นแขน และสะบักหลัง ทั้งนี้หากมีอาการดังกล่าวนาน ๆ อาจทำให้กล้ามเนื้อที่มือฝ่อได้

8. เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน

          หากมีการกระจายเซลล์มะเร็งไปที่กระดูก ร่วมกับร่างกายมีภาวะสร้างและหลั่งฮอร์โมนมามากกว่าปกติ ผู้ป่วยมะเร็งปอดจะมีอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ท้องผูก น้ำหนักลด

9. ปอดบวม ปอดอักเสบบ่อย

          ผู้ป่วยโรคมะเร็งจะมีอาการติดเชื้อในปอดได้ง่าย ทำให้เกิดภาวะปอดอักเสบและปอดบวมได้บ่อย

มะเร็งปอด

มะเร็งปอดมีกี่ระยะ

          มะเร็งปอดแบ่งออกได้เป็น 4 ระยะ ไม่ต่างจากโรคมะเร็งชนิดอื่น

          - มะเร็งปอดระยะที่ 1 ก้อนเนื้อมะเร็งมีขนาดเล็ก และยังไม่ลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลือง

          - มะเร็งปอดระยะที่ 2 ก้อนเนื้อขนาดโตขึ้น และเริ่มลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองที่ขั้วปอด

          - มะเร็งปอดระยะที่ 3 ก้อนมะเร็งโตขึ้นมาก และลุกลามเข้าเนื้อเยื่อข้างเคียงหรือลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองในช่องอก หรือลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองเหนือไหปลาร้า

          - มะเร็งปอดระยะที่ 4 โรคมะเร็งแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว เกิดน้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอด หรือแพร่กระจายเข้าสู่กระแสโลหิตไปยังอวัยวะต่าง ๆ ทั่วร่างกาย ที่พบบ่อยและเป็นสาเหตุให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ คือ ตัวปอดเอง กระดูก สมอง และตับ

มะเร็งปอด ตรวจพบไว โอกาสหายยิ่งมาก

          การตรวจคัดกรองมะเร็งปอดสามารถทำได้หลายวิธี ทั้งการตรวจจากเสมหะ การตัดชิ้นเนื้อไปตรวจ การทำ CT Scan หรือการเอกซเรย์ปอด แต่การตรวจคัดกรองมะเร็งปอดที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในขณะนี้ก็คือการตรวจมะเร็งปอดด้วย PET scan ซึ่งกลุ่มเสี่ยงโรคมะเร็งปอดควรเข้ารับการตรวจคัดกรองตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อลดอัตราเสี่ยงเสียชีวิตด้วยโรคนี้นะคะ

มะเร็งปอด

มะเร็งปอด ใครเสี่ยงบ้าง กลุ่มไหนควรตรวจมะเร็งปอดที่สุด

          สำหรับกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเป็นมะเร็งปอด ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปอดด้วยโดยเร็วที่สุด โดยกลุ่มเสี่ยงโรคมะเร็งปอด มีดังนี้

          - ผู้ที่มีอายุระหว่าง 55-74 ปี ร่วมกับมีประวัติสูบบุหรี่อย่างน้อย 30 pack years และหยุดสูบบุหรี่มาน้อยกว่า 15 ปี

          - ผู้ที่มีอายุอย่างน้อย 50 ปี ร่วมกับมีประวัติการสูบบุหรี่อย่างน้อย 20 pack years และมีปัจจัยอื่น ๆ ที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปอดนอกเหนือจากกลุ่มควันบุหรี่มือสอง อย่างน้อย 1 อย่าง ดังนี้

          + มีประวัติสัมผัสแร่ใยหิน ก๊าซเรดอน หรือสารก่อมะเร็งอื่น ๆ

          + มีประวัติเป็นมะเร็งชนิดอื่นในร่างกาย
      
          + มีประวัติเป็นโรคปอดเรื้อรัง

          + มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งปอด

          หากใครอยู่ในกลุ่มเสี่ยงดังกล่าว ควรตรวจเช็กสุขภาพอย่างละเอียดและเข้ารับการตรวจ PET scan สักครั้งด้วยนะคะ

มะเร็งปอด

มะเร็งปอด รักษาอย่างไร 
   
          การรักษามะเร็งปอดมีอยู่หลายวิธีด้วยกัน ขึ้นอยู่กับระยะมะเร็งปอดที่เป็น รวมไปถึงสภาพร่างกายของผู้ป่วยด้วย โดยวิธีรักษามะเร็งปอดมีอยู่ด้วยกัน 5 ทางเลือก ดังนี้

1. การผ่าตัด

          มักจะใช้รักษามะเร็งปอดในระยะเริ่มต้น ไปจนถึงระยะที่ 3 เฉพาะในรายที่แพทย์พิจารณาแล้วว่าหากผ่าตัดเอาก้อนมะเร็งออก เนื้อปอดที่หลงเหลืออยู่จะเพียงพอต่อการหายใจ ทั้งนี้ ขนาดของปอดที่ตัดออกจะขึ้นอยู่กับขนาดและตำแหน่งของมะเร็ง ซึ่งแพทย์อาจเลือกตัดปอดบางกลีบหรือตัดออกทั้งกลีบ หรือตัดปอดออกทั้งข้าง ร่วมกับอวัยวะอื่น ๆ ที่เซลล์มะเร็งลุกลามไปด้วย เช่น กลีบปอดร่วม หรือเนื้อเยื่อที่กั้นกลางช่องอก เพื่อตัดเอาเซลล์มะเร็งออกให้มากที่สุด

2. การฉายแสง


          รังสีรักษาหรือการฉายแสงจะใช้รักษามะเร็งปอดที่ไม่สามารถผ่าตัดเซลล์มะเร็งออกได้ หรืออาจใช้การฉายแสงกับผู้ป่วยมะเร็งปอดที่ผ่าตัดเซลล์มะเร็งออกไปไม่หมดหรือคาดว่าเซลล์มะเร็งอาจงอกขึ้นมาอีกได้หลังจากการผ่าตัด อย่างไรก็ตามการฉายสีรักษามะเร็งปอดยังช่วยบรรเทาอาการของผู้ป่วยมะเร็งปอดได้ เช่น ในผู้ป่วยมะเร็งปอดที่มีการอุดกั้นของหลอดเลือดดำใหญ่ มีอาการปวดกระดูก หรืออาการทางสมอง เป็นต้น

3. เคมีบำบัด

          วิธีนี้มักให้ผลการรักษาที่ดีกับผู้ป่วยมะเร็งปอดที่มีสภาพร่างกายแข็งแรง สมบูรณ์ และมีเซลล์มะเร็งในร่างกายค่อนข้างน้อย โดยการใช้เคมีบำบัดรักษามะเร็งปอดจะช่วยกำจัดและยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งที่มีอยู่ทั่วร่างกาย ทั้งนี้ การให้ยาเคมีบำบัดจะเป็นในรูปยาฉีดเข้าเส้น และมักจะใช้ยาหลายตัวร่วมกันเพราะให้ผลการรักษาที่มีประสิทธิภาพกว่าการใช้ยาตัวเดียว

4. การรักษาแบบเฉพาะเจาะจง

          หรือการรักษามะเร็งปอดด้วยการให้แอนติบอดี้ต่อเซลล์มะเร็งเท่านั้น แต่ไม่ส่งผลไปยังเซลล์ปกติของร่างกาย ซึ่งจะช่วยลดผลข้างเคียงของการรักษา ต่างจากการทำเคมีบำบัด

5. การรักษาแบบผสมผสาน

          การรักษามะเร็งปอดโดยทั่วไปแพทย์มักจะพิจารณาใช้หลาย ๆ วิธีรักษาร่วมกัน อย่างการผ่าตัดร่วมกับการทำเคมีบำบัด การผ่าตัดร่วมกับการฉายแสงรักษา เนื่องจากผลลัพธ์ของการรักษาและผลข้างเคียงของการรักษาในแต่ละวิธีมีความต่างกัน ดังนั้นแพทย์จึงจำเป็นต้องเลือกใช้วิธีรักษาที่เหมาะสมกับอาการและสภาพร่างกายของผู้ป่วยด้วย

มะเร็งปอด

มะเร็งปอด ป่วยแล้วควรดูแลตัวเองอย่างไร

          หากเริ่มเข้าสู่กระบวนการรักษา ผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดควรปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เพื่อลดผลข้างเคียงที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ โดยควรปฏิบัติตัวขั้นพื้นฐาน ดังนี้

          - งดสูบบุหรี่ในทันที

          - ควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่แออัดที่มีคนมาก ๆ เช่น ตลาด โรงภาพยนตร์ ศูนย์การค้า หากจำเป็นควรสวมหน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันการติดเชื้อ

          - ไม่ควรใกล้ชิดกับคนที่ไม่สบาย เด็กที่ป่วย เนื่องจากผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัด มีโอกาสติดเชื้อได้ง่ายกว่าปกติ หากจำเป็นควรสวมหน้ากากอนามัยด้วยเช่นกัน

          - นอนหลับให้เพียงพออย่างน้อยวันละ 6-8 ชั่วโมง โดยเฉพาะหลังได้รับเคมีบำบัด ควรพักผ่อนให้มาก ๆ

          - ออกกำลังกายได้ตามความเหมาะสมของร่างกาย ทั้งนี้ ก่อนออกกำลังกายควรปรึกษาแพทย์ประจำตัวทุกครั้งด้วยนะคะ

          - ควรดูแลผิวหนังบริเวณที่ฉายแสง โดยชำระล้างด้วยน้ำอุ่นและสบู่อ่อน หลีกเลี่ยงการโดนแสงแดด รวมถึงการใช้ถุงน้ำร้อน หรือประคบเย็น สำหรับโลชั่นหรือครีมทาผิวไม่ควรทาก่อนมารับการฉายแสง

มะเร็งปอด

มะเร็งปอด VS อาหารที่ควรกินและไม่ควรกิน
 
          ร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรงจะส่งเสริมให้การรักษาโรคมะเร็งปอดเป็นไปได้ด้วยดีมากขึ้น ดังนั้นผู้ป่วยควรเตรียมสภาพร่างกายให้พร้อมที่จะรับการรักษา โดยควรรับประทานอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่ คือ แป้ง เนื้อสัตว์ ไขมัน ไข่ นม ผัก และผลไม้ ปรุงสุกสะอาด และควรรับประทานอาหารให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย โดยเฉพาะในช่วงที่เข้ารับการทำเคมีบำบัด ควรให้ร่างกายได้รับสารอาหารครบถ้วนและสะอาด ถูกหลักอนามัย ทั้งนี้ ผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดควรรับประทานไข่ขาวให้มากขึ้น เพราะไข่ขาวเป็นโปรตีนที่ย่อยง่ายและมีประโยชน์ต่อร่างกาย

          ส่วนอาหารที่ผู้ป่วยมะเร็งปอดไม่ควรรับประทานก็คืออาหารที่อาจทำให้ท้องเสียได้ง่าย เช่น อาหารค้างคืน ขนมจีน ส้มตำ หรือยำต่าง ๆ นอกจากนี้ควรงดการรับประทานผักสด ผลไม้เปลือกบาง เช่น องุ่น ชมพู่ และผลไม้ที่ไม่มีเปลือก เช่น สตรอว์เบอร์รี โดยเฉพาะในช่วง 14 วันแรก หลังได้รับยาเคมีบำบัดด้วยนะคะ

          อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่เข้ารับการรักษามะเร็งปอด หากมีอาการผิดปกติกับร่างกาย เช่น มีไข้สูงเกิน 38 องศาเซลเซียส ท้องเสียหรือท้องผูกอย่างรุนแรง มีอาการปวดมาก หายใจลำบาก หรือมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนอย่างรุนแรง ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด

มะเร็งปอดรักษาหายไหม
    
          มะเร็งปอดรักษาให้หายได้ หากตรวจเจอเซลล์มะเร็งปอดในระยะเริ่มต้น และผู้ป่วยมาพบแพทย์พร้อมทั้งปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด

มะเร็งปอด

มะเร็งปอด ป้องกันอย่างไรดี

         1. ลด ละ เลิก การสูบบุหรี่ และไม่ควรอยู่ใกล้คนที่สูบบุหรี่

         2. หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ที่มีเขม่าควัน มลพิษทางอากาศเยอะและต่อเนื่องนาน ๆ

         3. หากมีอาการผิดปกติทางปอด ไม่ว่าจะเป็นอาการปอดอักเสบ ปอดบวม โดยเฉพาะวัณโรค ควรรักษาโรคดังกล่าวให้หายขาด

         4. หลีกเลี่ยงการสูดควันจากการหลอมเหลวสารเคมีหรือแร่ใยหินโดยตรง แต่หากปฏิบัติงานในโรงงานอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการใช้ใยหิน ใยแก้ว หรือโลหะหนักต่าง ๆ ควรใส่หน้ากากอนามัยที่กรองฝุ่นละอองขนาดเล็กได้ตลอดเวลาปฏิบัติงาน

         5. หลีกเลี่ยงการใช้สเปรย์ในห้องอับ

         6. หากมีอาการไอเรื้อรัง น้ำหนักลด ป่วยด้วยโรคปอดบ่อย ๆ มีอาการเจ็บหน้าอก ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและรักษาโดยเร็ว

         7. ตรวจร่างกายและเอกซเรย์ปอดอย่างน้อยปีละครั้ง

         8. รักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ ด้วยการหมั่นออกกำลังกาย รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และพักผ่อนให้เพียงพอ

          อย่างที่บอกว่ามะเร็งปอดถ้ารู้ตัวไวก็มีโอกาสในการรักษามากขึ้น และอย่าคิดว่าเราไม่ได้สูบบุหรี่ไม่น่าจะเสี่ยงมะเร็งปอด เพราะในแต่ละวันเราเจอทั้งฝุ่น ควัน มลพิษในอากาศที่หลากหลาย โดยเฉพาะควันบุหรี่มือสองเองก็อันตรายไม่น้อย ดังนั้นหากมีความผิดปกติเกิดขึ้นกับปอดก็ไม่ควรละเลยที่จะไปตรวจสุขภาพกับแพทย์โดยเร็วที่สุด

          - ไม่สูบก็เสี่ยง ! ควันบุหรี่มือสอง-มือสาม แค่ได้กลิ่น-ติดตามตัว ก็อาจป่วยถึงตาย


***หมายเหตุ : อัปเดตข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2561

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็ง
Chula Cancer
มะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย
มูลนิธิรณรงค์ช่วยให้เลิกบุหรี่และสารเสพติด
ศูนย์การแพทย์เฉพาะทางโรงพยาบาลมหาชัย
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
มะเร็งปอด แสนร้ายกาจ ไม่สูบบุหรี่ก็ถึงฆาตเพราะโรคนี้ได้ อัปเดตล่าสุด 10 มีนาคม 2565 เวลา 17:43:23 290,911 อ่าน
TOP