x close

ทำอย่างไรดี ไอ-จามที มีปัสสาวะเล็ด

ปัสสาวะเล็ด

ทำอย่างไรดี ไอ-จามที มีปัสสาวะเล็ด  (ไทยรัฐ)

ข้อมูลจาก โรงพยาบาลเวชธานี

         ปัญหาไอ-จามปัสสาวะเล็ดเป็นภาวะที่ก่อให้เกิดความทุกข์ทรมานแก่สตรีที่มี ปัญหาดังกล่าวอย่างมาก โดยทำให้เกิดปัญหาการระคายเคืองต่อผิวหนัง การหมักหมม มีกลิ่นไม่พึงประสงค์และยังก่อให้เกิดปัญหาด้านจิตใจ เช่น ความวิตกกังวลต่อกลิ่นไม่พึงประสงค์ ปัญหาซึมเศร้า ทำให้ไม่กล้าออกไปทำกิจกรรมต่าง ๆ ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต มีการศึกษาในประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่ามีค่าใช้จ่ายในการรักษาปัญหาปัสสาวะเล็ดราดจำนวนสูงถึง 26.3 พันล้านดอลลาร์หรือคิดเป็นค่าใช้จ่าย 3,565 ดอลลาร์ต่อคน จะเห็นได้ว่าปัญหานี้สมควรได้รับการดูแลแก้ไขอย่างจริงจัง

กลไกการกลั้นปัสสาวะในสตรี

         เกิดจากผลรวมของความตึงตัว ของเนื้อเยื่อบริเวณคอกระเพาะปัสสาวะ (bladder neck), ท่อปัสสาวะส่วนต้นและส่วนกลาง, เนื้อเยื่อเกี่ยวพันและกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานและกล้ามเนื้อหูรูดท่อปัสสาวะ ทำให้ท่อปัสสาวะหดรัดตัว (constrictive pressure) และปิดตลอดเวลา  ทำให้น้ำปัสสาวะจากกระเพาะปัสสาวะไม่สามารถเล็ดออกมาได้ถ้าตัวเรายังไม่ต้อง การให้ปัสสาวะไหลออกมา แต่ถ้าต้องการขับปัสสาวะจะเกิดสัญญาณประสาทไปยังกระเพาะปัสสาวะให้มีการหด ตัวและกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานให้หย่อนตัวทำให้แรงดันในท่อปัสสาวะลดลง  น้ำปัสสาวะจึงไหลออกมาได้

สาเหตุของการเกิดปัสสาวะเล็ดเวลาไอ-จาม

         การหย่อนยานหรือการฉีกขาดของเนื้อเยื่อเกี่ยวพันกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานทำ ให้มีอวัยวะในอุ้งเชิงกรานโผล่ย้อยออกมาภายนอก เช่น กระเพาะปัสสาวะ ทวารหนัก ซึ่งภาวะนี้จะสัมพันธ์กับความยากของการคลอดบุตรทางช่องคลอด การเสื่อมของเนื้อเยื่อเกี่ยวพันและกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานซึ่งสัมพันธ์กับ อายุที่มากขึ้น การขาดฮอร์โมนเพศหญิง กรรมพันธุ์ การเพิ่มความดันในช่องท้องอย่างเรื้อรัง เช่น การไอ จาม ท้องผูกเรื้อรัง และการยกของหนักเป็นประจำ อ้วน การได้รับอันตรายต่อเส้นประสาทที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อในอุ้งเชิงกราน การเสื่อมของท่อปัสสาวะ ยาที่มีผลยับยั้งการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติที่ไปควบคุมการทำงานของท่อ ปัสสาวะส่วนต้นและคอกระเพาะปัสสาวะ เช่น ยาลดความดันโลหิตบางตัว

การรักษา

         กำจัดสาเหตุ เช่น รักษาภาวะไอ จาม ท้องผูกเรื้อรัง หลีกเลี่ยงการยกของหนักบ่อยๆ ลดความอ้วน ฝึกบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน ทำได้โดยสอดนิ้วชี้เข้าไปในช่องคลอดให้ลึกประมาณสองข้อนิ้วมือ แล้วทำการขมิบช่องคลอด โดยเราจะรู้สึกว่ามีกล้ามเนื้อรอบช่องคลอดมากระชับนิ้ว ทำให้นิ้วถูกยกขึ้น ระยะเวลาขมิบประมาณ 2-4 วินาที ทำวันละ 50-70 ครั้ง ซึ่งได้ผลประมาณ 40-60% หลังปฏิบัติใน 3-6 เดือน แต่มีข้อจำกัดคือ ถ้าหยุดปฏิบัติแล้วจะมีโอกาสที่กลับมาเป็นได้ใหม่ และมีรายงานว่ามีถึง 49% ที่ไม่สามารถฝึกบริหารได้อย่างถูกต้อง

พฤติกรรมบำบัด ใช้หลัก squeeze before sneeze โดยฝึกตัวเองว่าก่อนเวลาไอหรือจามทุกครั้งให้ฝึกขมิบช่องคลอดก่อนเวลาไอหรือ จามจนเป็นนิสัย เปรียบได้กับก่อนที่จะไอหรือจาม แล้วเราเอามือปิดที่ปากก่อน

การผ่าตัด จะใช้เมื่อใช้วิธีข้างต้นแล้วไม่ได้ผล

         การผ่าตัด ในปัจจุบันการผ่าตัดที่ถือว่าเป็นมาตรฐานคืออัตราการหายขาดในระยะเวลา 5 ปีอยู่ที่ร้อยละ 85-90 ได้แก่

         การผ่าตัดรั้งเนื้อเยื่อด้านข้างท่อปัสสาวะทางหน้าท้อง เช่น Burch colposuspension ถือว่าเป็นการผ่าตัดมาตรฐานในการรักษาภาวะไอ-จามปัสสาวะเล็ด แต่มีข้อจำกัดคือต้องทำการผ่าตัดเปิดช่องท้องทำให้มีความเจ็บปวดที่แผลผ่า ตัด และต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาลประมาณ 3-4 วัน ต้องใช้เวลานานในการฟื้นตัว

         การผ่าตัดรั้งท่อปัสสาวะโดยคล้องท่อ ปัสสาวะขึ้น โดยใช้เนื้อเยื่อพังผืดจากร่างกายผู้ป่วยบริเวณหน้าท้องหรือขามาทำเป็นสาย คล้องท่อปัสสาวะขึ้นไปทางหน้าท้อง และผูกติดกับหน้าท้องหรือกระดูกหัวหน่าว แต่ยังมีข้อจำกัดคือต้องทำการผ่าตัดเพื่อเก็บเนื้อเยื่อพังผืดดังกล่าว ก่อให้เกิดความเจ็บปวดได้และอาจมีปัญหาปัสสาวะลำบากหลังการผ่าตัดได้

         การผ่าตัด โดยใช้วัสดุสังเคราะห์มาทำเป็นเส้นเทปคล้องท่อปัสสาวะขึ้นโดยปราศจาก แรงตึง ซึ่งผู้ที่คิดค้นเป็นสูตินรีแพทย์ชาวสวีเดน จัดเป็นการผ่าตัดชนิดหนึ่งของการรั้งท่อปัสสาวะเหมือนวิธี 4.2 แต่มีข้อดีกว่าตรงที่ไม่ต้องผ่าตัดเพื่อเก็บเนื้อเยื่อพังผืดอย่าง และใช้เวลาผ่าตัดสั้นกว่า โดยเฉลี่ยใช้เวลาผ่าตัดประมาณครึ่งชั่วโมง มีแผลขนาดเล็กที่หน้าท้องประมาณหนึ่งเซนติเมตรจำนวนสองแผลเท่านั้น มีความเจ็บปวดน้อยมากจนอาจไม่ต้องนอนโรงพยาบาลหลังการผ่าตัด หรือหากต้องพักรักษาตัวต่อในโรงพยาบาลก็ไม่เกิน 1 วัน และสามารถกลับไปทำงานได้เร็ว มีภาวะแทรกซ้อนน้อย ทำให้เป็นที่นิยมอย่างมากในต่างประเทศ

         กล่าวโดยสรุป ปัญหาไอ-จามปัสสาวะเล็ดเป็นปัญหาที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ ป่วยเป็นอย่างมาก ถึงแม้ไม่ใช่โรคร้ายแรงที่เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตแต่ก็ควรได้รับการแก้ไข ซึ่งการแก้ไขมีตั้งแต่การปรับพฤติกรรมการบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานจนถึง การผ่าตัดรักษา ซึ่งได้ผลดีและมีภาวะแทรกซ้อนต่ำ


  เคล็ดลับสุขภาพ สุขภาพใกล้ตัว โรคและการป้องกัน คลิกเลย 

 

  คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ




ขอขอบคุณข้อมูลจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ทำอย่างไรดี ไอ-จามที มีปัสสาวะเล็ด อัปเดตล่าสุด 16 ธันวาคม 2556 เวลา 17:01:03 13,097 อ่าน
TOP