x close

Pain Checklist อาการปวดบอกโรคได้

ปวดหลัง

PAIN CHECKLIST อาการปวดบอกโรคได้ (Health&Cuisine)

          อาการปวดเกิดจากประสาทสัมผัสรับความรู้สึก (sensory modality) ที่ร่างกายมีอยู่ตามปกติ เป็นสัญญาณบอกอันตรายที่เกิดขึ้นภายในและภายนอกร่างกาย หรือกำลังประท้วงว่าคุณใช้งานร่างกายหนักเกินไป คนที่เกิดมาแล้วไม่มีความรู้สึกปวดเลย เช่น ภาวะ hereditary sensory autonomic neuropathy จะอายุไม่ยืน เพราะไม่มีกลไกสำคัญในการป้องกันตัวเองจากโรคติดเชื้อ บาดแผล หรือแม้กระทั่งความผิดปกติของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายได้

ปวดหัวแบบไหนที่ไม่ธรรมดา

          อาการปวดหัวไม่ใช่การปวดที่สมองโดยตรง แต่อาจเกิดจากกล้ามเนื้อบริเวณศีรษะและคอหดตัว โดยทั่วไปเป็นแล้วหายเองได้ แต่ถ้าอาการปวดไม่ดีขึ้นและปวดมากขึ้นเรื่อย ๆ ควรไปพบแพทย์

สิ่งที่คุณควรบอกแพทย์เมื่อปวดหัวคือ

          รูปแบบการปวด - ปวดทันทีแบบไม่เคยเป็นมาก่อน - ปวดเป็น ๆ หาย ๆ - ปวดมากขึ้นเรื่อย ๆ
         
          ประวัติการปวด - ปวดเป็นครั้งแรก - เคยปวดแบบนี้มาก่อนแล้ว - เป็น ๆ หาย ๆ  
         
          ตำแหน่งที่ปวด - ขมับ - กลางหัว - ทั้งหัว - ท้ายทอย - ด้านซ้าย - ด้านขวา - ปวดต่อเนื่องไปที่คอ สะบัก แขน ไหล่ หรือหลัง - อื่น ๆ
         
          ช่วงเวลาการปวด - เช้า - กลางวัน - เย็น - กลางคืน - ไม่เป็นเวลา 
         
          ระยะเวลาปวด - 30 นาที - 1-2 ชั่วโมง - ทั้งวัน - ไม่แน่นอน - อื่น ๆ
         
          อาการปวด - ปวดแบบหนักหัว เหมือนถูกบีบรัดหัว - ปวดแบบมึน - ปวดและเจ็บตามหนังศีรษะ เส้นผม - ปวดเมื่อต้องใช้สายตาเพ่งมอง - อื่น ๆ

          อาการร่วม - มีไข้ - คอแข็ง - คลื่นไส้ อาเจียน - เห็นแสงระยิบระยับในตา - มีน้ำมูก ปวดโพรงไซนัส

          อาการ : ปวดหัวรุนแรง ไม่มีไข้ หรือปวดหัวรุนแรงหลังเกิดอุบัติเหตุ

          สาเหตุที่อาจเป็นไปได้ : อุบัติเหตุที่ศีรษะ เลือดออกในศีรษะ ความดันสูง เส้นเลือดโป่งพอง 


          อาการ : ปวดหัวเฉียบพลันรุนแรงมากจนทนไม่ได้ มีอาการทางระบบประสาท เช่น มือสั่น สูญเสียความจำ เคลื่อนไหวลำบาก

          สาเหตุที่อาจเป็นไปได้ : โพรงในสมองโต (มีน้ำในสมอง) เนื้องอก และเลือดออกในสมอง


          อาการ : ปวดหัวรุนแรง มีไข้สูง คอแข็ง คลื่นไส้ อาเจียน

          สาเหตุที่อาจเป็นไปได้ : เยื่อหุ้มสมองอักเสบ 


          อาการ : ปวดหัวเป็นประจำ ไม่โปร่งหัว ตึงหัว หนักหัว ปวดท้ายทอย บางครั้งปวดหัวตุ๊บ ๆ

          สาเหตุที่อาจเป็นไปได้ : ปวดหัวจากความเครียด (Tension headache)


          อาการ : ปวดหัวแบบเป็น ๆ หาย ๆ เวลาปวดปวดมาก แต่เวลาหายก็หายสนิท มีรูปแบบการปวดแน่นอน คือค่อย ๆ ปวดจนพีค แล้วปวดหัวตุ๊บ ๆ จากนั้นจึงอาเจียน ก่อนปวดหัว อาจเห็นแสงระยิบระยับในตา มองเห็นตัวหนังสือยึกยักร่วมด้วย

          สาเหตุที่อาจเป็นไปได้ : ไมเกรน


          อาการ : ปวดคล้ายปวดหัวจากความเครียด หรือไมแกรน ที่สำคัญมักมีอาการเจ็บและปวด เวียนหัว ตามัว เจ็บหนังศีรษะ แตะผมแล้วเจ็บ เจ็บเวลากลอกตา บางครั้งแขนขาอ่อนแรง หรืออาจปวดลามไปที่คอ  สะบัก แขน ไหล่ หรือหลังด้วย

          สาเหตุที่อาจเป็นไปได้ : ปวดหัวจากเส้นประสาทอักเสบ


          อาการ : ปวดหัว  ร่วมกับมีน้ำมูกไหล มีกลิ่นปาก ปวดโพรงไซนัส

          สาเหตุที่อาจเป็นไปได้ : ปวดหัวจากไซนัส


          อาการ : ปวดหัวเมื่อใช้สายตานาน ๆ ปวดหัวรุนแรงโดยไม่ทราบสาเหตุ 

          สาเหตุที่อาจเป็นไปได้ : ปวดหัวจากตา ได้แก่ ต้อหิน สายตาสั้น สายตายาว สายตาเอียง

ปวดท้องแบบไหนที่ไม่ธรรมดา

          อาการปวดท้องที่ต้องพบแพทย์ทันที คือ ปวดท้องเฉียบพลัน รุนแรง ความดันต่ำ เป็นลม ไข้ขึ้น มีเลือดออกร่วมด้วย (อาเจียน หรือถ่ายอุจจาระมีสีดำ) ซึม ไม่รู้สึกตัว และมีอาการเปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหัน

          สิ่งที่คุณต้องบอกแพทย์เมื่อปวดท้อง คือ รูปแบบการปวด ประวัติการปวด ช่วงเวลาการปวด ระยะเวลาปวด เช่นเดียวกับการเช็คอาการปวดหัว รวมทั้ง..

          ตำแหน่งที่ปวด - ทั้งท้อง - ซ้ายบน - ซ้ายล่าง - ขวาบน - ขวาล่าง - ข้างซ้าย - ข้างขวา - อื่น ๆ
         
          อาการ - ปวดเกร็ง ๆ เป็นพัก ๆ - ปวดแสบ - ปวดมวน - อยากถ่าย - ปวดแบบลำไส้ถูกบิด - อื่น ๆ
         
          อาการร่วม - อึดอัด แน่นท้อง - ท้องร่วง ท้องเสีย - มีไข้ - ถ่ายอุจจาระมีเลือดปน - รู้สึกเหมือนมีอะไรติด คอ - คลื่นไส้อาเจียน - แสบร้อนหน้าอก - ตาเหลือง ตัวเหลือง

          สิ่งกระตุ้นอาการปวด - ความหิว - แอลกอฮอล์ - ชา กาแฟ - อาหารมันเลี่ยน - อื่น ๆ

          สิ่งที่ทำให้รู้สึกดีขึ้น - การกินอาหาร - นอนพัก - นั่งงอตัว - อื่น ๆ เช่น ยาแก้ปวด ยาเคลือบกระเพาะ ฯลฯ

          อาการ : ปวดหรือจุกเสียดช่องท้องส่วนบน อึดอัด แน่นท้อง หรือท้องเฟ้อแม้กินอาหารเข้าไปเพียงเล็กน้อย 
         
          สาเหตุที่อาจเป็นไปได้ : การย่อยอาหารไม่ดี


          อาการ : ปวดท้อง ท้องเสีย มีไข้ อาเจียน มีเลือดปนในอุจจาระ

          สาเหตุที่อาจเป็นไปได้ : อาหารเป็นพิษ


          อาการ : ปวดท้องแบบแสบ ปวดทั้งก่อนและหลังกินอาหาร เป็น ๆ หาย ๆ จุกเสียดแน่นท้อง และอาจมีคลื่นไส้อาเจียน

          สาเหตุที่อาจเป็นไปได้ : กระเพาะอาหารเป็นแผล


          อาการ : คล้ายเป็นแผลในกระเพาะ กลืนอาหารแล้วติดคอ จุก ไอกลางดึกโดยเหมือนมีอะไรติดคอ แสบร้อนหน้าอก ไอเรื้อรัง

          สาเหตุที่อาจเป็นไปได้ : กรดไหลย้อน


          อาการ : ปวดท้องเฉียบพลัน ปวดท้องด้านล่างขวา จุกเสียดลิ้นปี่ คลื่นไส้อาเจียน หากเป็นไส้ติ่งแตก อาจมีไข้ร่วมด้วย 

          สาเหตุที่อาจเป็นไปได้ : ไส้ติ่งอักเสบ


          อาการ : ปวดท้องรุนแรง ปวดเกร็งช่องท้องบนขวา ปวดร้าวถึงด้านหลัง ท้องอืดหลังอาหารมื้อหนัก 1/2 - 1 ชั่วโมง และมีอาการ 2-3 ชั่วโมง คลื่นไส้ อาเจียน 

          สาเหตุที่อาจเป็นไปได้ : นิ่วในถุงน้ำดี


          อาการ : ปวดท้องแบบเป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรัง

          สาเหตุที่อาจเป็นไปได้ : ตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง


          อาการ : ปวดท้องเฉียบพลันรุนแรงมาก เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วง อาจถึงขั้นต้องนอนโรงพยาบาล

          สาเหตุที่อาจเป็นไปได้ : ตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน


          อาการ : ปวดท้องเฉียบพลันรุนแรง เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อ่อนเพลีย และมีไข้

          สาเหตุที่อาจเป็นไปได้ : ฝี หนองในตับ


          อาการ : ปวดท้อง  แน่นท้อง  เหมือนอาหารไม่ย่อย  น้ำหนักลด  กินอาหารไม่ได้  อาเจียน  อาการแย่ลงเรื่อย ๆ

          สาเหตุที่อาจเป็นไปได้ : เนื้องอกในกระเพาะอาหาร


          อาการ : ปวดท้องแบบบีบๆ อยากถ่าย ปวดเป็นพัก ๆ ท้องอืด แน่นท้อง ท้องเสีย อาเจียน มีไข้ มีอาการไม่เกิน 7 วัน

          สาเหตุที่อาจเป็นไปได้ : ลำไส้อักเสบเฉียบพลัน


          อาการ : ปวดท้องเรื้อรังแบบเป็น ๆ หาย ๆ ถ่ายเป็นมูกเลือด ท้องเสีย ปวดท้องนานเกิน 3 สัปดาห์

          สาเหตุที่อาจเป็นไปได้ : ลำไส้อักเสบเรื้อรัง


          อาการ : ปวดท้องแบบเฉียบพลัน ปวดท้องมาก คลื่นไส้อาเจียน ปัสสาวะขัด ยาก และมีเลือดปน ไข้ขึ้นสูง   

          สาเหตุที่อาจเป็นไปได้ : นิ่วในไต


          อาการ : ปวดท้องเฉียบพลัน รุนแรง ปวดร้าวไปถึงด้านหลัง ความดันโลหิตเพิ่มขึ้นสูงและต่ำลงอย่างรวดเร็ว

          สาเหตุที่อาจเป็นไปได้ : ปวดท้องเฉียบพลันจากหลอดเลือดแดงใหญ่ปริหรือแตก

ปวดหลังแบบไหนที่ไม่ธรรมดา

          อาการปวดหลังส่วนใหญ่ไม่ร้ายแรงและหายเองได้ แต่อาการปวดหลังที่เป็นไข้หรือความผิดปกติของระบบปัสสาวะด้วย หรือปวดแบบไม่ทุเลาแม้จะนอนพักแล้วก็ตาม เจ็บปวดแบบเฉียบพลันแบบไม่รู้สาเหตุ อาจเกิดจากสาเหตุอื่นที่ไม่ได้มาจากกล้ามเนื้อและข้อ เช่น

          เนื้องอกของกระดูกสันหลัง หรือมะเร็งที่กระจายมาที่กระดูกสันหลัง

          ความผิดปกติของอวัยวะภายใน แล้วมีอาการปวดร้าวไปถึงหลัง เช่น นิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ 

          การอักเสบหรือมีการติดเชื้อ เช่น วัณโรคกระดูกสันหลัง

          สิ่งที่คุณต้องบอกแพทย์เมื่อปวดหลัง คือ รูปแบบการปวด ประวัติการปวด ช่วงเวลาการปวด ระยะเวลาปวด เช่นเดียวกับการเช็คอาการปวดหัว รวมทั้ง..

          ตำแหน่งที่ปวด - ปวดทั้งแผ่นหลัง - กลางกระดูกสันหลัง - ปวดเอว - กดกล้ามเนื้อแผ่นหลังแล้วเจ็บ - อื่น ๆ

          อาการ - ปวดเมื่อยตามตัว - ปวดตามกล้ามเนื้อ - ปวดร้าวหลังและไหล่ - อื่น ๆ

          อาการร่วม - มีไข้ - ถ่ายอุจจาระมีเลือดปน - รู้สึกเหมือนมีอะไรติดคอ - คลื่นไส้อาเจียน - เบื่ออาหาร - ความดันเลือดสูง - อื่น ๆ

          อาการ : ปวดเมื่อย กล้ามเนื้อตึงตัว เคลื่อนไหวลำบาก หลังยกของหรือทำงานหนัก

          โรค : ปวดหลังแบบธรรมดา


          อาการ : ปวดเสียว กล้ามเนื้อกระตุก ปวดเหมือนไฟฟ้าช็อต   

          โรค : เส้นประสาทอักเสบ


          อาการ : มีไข้สูงลอย 2-7 วัน ปวดหัว ปวดเมื่อยตามตัว คล้ายเป็นไข้หวัดใหญ่ แต่ไม่มีอาการไอ เจ็บคอ มีจุดแดงขึ้นตามตัว

          โรค : ไข้เลือดออก


          อาการ : มีไข้สูง หนาวสั่น ปวดกล้ามเนื้อ คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร เจ็บหน้าอก รู้สึกอ่อนเพลีย

          โรค : ไข้หวัดใหญ่


          อาการ : ปวดหลัง ปวดเอว มีไข้สูง หนาวสั่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดแสบปวดร้อนขณะถ่ายปัสสาวะ

          โรค : ไตและกรวยไตอักเสบ


          อาการ : ปวดเหนือบั้นเอวทั้งสองข้าง อาจคลำพบก้อนบริเวณไต มีเลือดปนในปัสสาวะ ความดันโลหิตสูง โลหิตจาง 

          โรค : ถุงน้ำในไต


          อาการ : ครั่นเนื้อครั่นตัว  ทางเดินอาหารผิดปกติ มีไข้ ปวดรุนแรงและเรื้อรังตามเส้นประสาท มีผื่นแดงและตุ่มน้ำขนาดเล็ก 

          โรค : งูสวัด

 

  เคล็ดลับสุขภาพ สุขภาพใกล้ตัว โรคและการป้องกัน คลิกเลย 

 คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ




ขอขอบคุณข้อมูลจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
Pain Checklist อาการปวดบอกโรคได้ อัปเดตล่าสุด 30 มิถุนายน 2564 เวลา 16:36:20 140,631 อ่าน
TOP