x close

ใช้กระดาษทิชชู...ให้ถูกงาน หนี จุลินทรีย์ ตัวร้าย

ทิชชู

ใช้กระดาษทิชชู...ให้ถูกงาน หนี จุลินทรีย์ ตัวร้าย (ประชาชาติธุรกิจ)
ที่มา : นิตยสารฉลาดซื้อ

          "กระดาษทิชชู"มีหลายประเภท ควรใช้ให้ถูกงาน ถูกหน้าที่ "กระดาษชำระ" ซึ่งเป็นที่นิยมเพราะราคาถูก ควรนำไปใช้บนโต๊ะอาหารหรือไม่ และทำไม พบคำตอบได้ที่นี่

          ถ้าพูดถึง "ทิชชู" (Tissue) หรือกระดาษทิชชู่ ส่วนใหญ่เรามักเหมารวมว่า หมายถึง "กระดาษสีขาว เนื้อบางเบา" ที่มีคุณสมบัติซึมซับน้ำได้ดี เป็นสินค้าจำเป็นประจำครัวเรือน สำนักงาน ร้านอาหารหรือเกือบในทุกสถานที่ทุกแห่งที่มีคนอยู่ก็ว่าได้ "ทิชชู" มักถูกนึกถึงในเวลาฉุกเฉิน เอาไว้เช็ดทำความสะอาด อย่างไรก็ตาม กระดาษทิชชู่มีอยู่หลายประเภท สามารถแบ่งออกตามลักษณะการใช้งาน ได้แก่ 1.กระดาษชำระ (Toilet tissue) 2.กระดาษเช็ดหน้า (Facial tissue) 3.กระดาษเช็ดปาก (Paper Napkin) 4.กระดาษเช็ดมือ (Paper Hand towel) และ 5.กระดาษเอนกประสงค์

          แต่ดูเหมือนว่าคนไทยอย่างเรา ๆ จะใช้ทิชชูโดยไม่ได้คำถึงถึงประเภทของทิชชู เรามักเห็นกระดาษชำระวางอยู่บนโต๊ะอาหาร หรือถูกนำไปเช็ดหน้าเช็ดตา หรือแม้กระทั่งเอาไว้ห่อหรือวางรองอาหารด้วยซ้ำ โดยที่ไม่คิดรังเกียจใด ๆ ทั้งที่ "กระดาษชำระ" นั้นคือกระดาษเหมาะสำหรับทำความสะอาดหลังขับถ่าย เป็นกระดาษย่น นุ่ม ดูดซึมน้ำได้ดีและยุ่ยง่ายเมื่อถูกน้ำ (มอก.214/2530)

          ด้วยความที่เราใช้กระดาษชำระ ชำระกันไปเสียแทบทุกอย่าง จึงมีข้อสงสัยว่ากระดาษชำระดังกล่าวมีความสะอาดและปลอดภัยมากแค่ไหน ทั้งนี้ หลังจากพลิกอ่านคู่มือมาตรฐานอุตสาหกรรมกระดาษทิชชู พบว่า ตามมาตรฐานของกระดาษชำระ จะเน้นความสำคัญไปที่การซึมซับน้ำ การย่อยสลาย ขนาดและจุดสกปรก ซึ่งเมื่อดูจากตาเปล่า เราไม่สามารถเห็นสิ่งปกติใด ๆ แต่ความจริงแล้ว มันมีสิ่งแปลกปลอมใด ๆ แฝงอยู่หรือไม่ ต้องตามอ่านกันต่อไป

          เราได้ส่งตัวอย่างกระดาษชำระ ทั้งแบบเกรดเอและบี 24 ตัวอย่างไปตรวจสอบในห้องปฏิบัติกลางประเทศไทย จำกัด เพื่อทดสอบหาปริมาณจุลินทรีย์ชนิดก่อโรค ได้แก่ Bacillus cereus, Staphylococcous, Escherichis coli, Salmonella, Yeast and mold และ Total Plate Count ผลการทดสอบพบว่า ทุกยี่ห้อมีการปนเปื้อนของจุลินทรีย์ในปริมาณน้อยมาก ไม่ก่อให้เกิดโรค

          อย่างไรก็ตาม ยังถือว่าไม่ปลอดจุลินทรีย์ ดังนั้น จึงควรใช้กระดาษชำระให้ถูกกับงาน การนำไปใช้ผิดงานอาจก่อให้จุลินทรีย์ปนเปื้อน และหากทิ้งไว้เป็นเวลานาน เมื่อสิ่งที่ถูกเช็ดมีสภาวะเหมาะสมต่อการเติบโตของจุลินทรีย์ จุลินทรีย์จะสามารถขยายตัวได้ จนอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้

ที่มาของกระดาษทิชชู

          หลายคนอาจสงสัยถึงที่มาที่ไปของกระดาษชำระ เราจึงสืบประวัติของมันย้อนไปถึงราวศตวรรษที่ 14 พบว่ากระดาษชำระเริ่มมีความนิยมใช้กันในราชสำนักจีน ขณะที่คนธรรมดาทั่วไปยังใช้สิ่งของมาเช็ดก้นกันตามสะดวก เช่น ใบไม้ เศษผ้า ต่อมาในยุคหลัง ๆ ก็หันมานิยมใช้กระดาษหนังสือพิมพ์ นิตยสาร ใบปลิวต่าง ๆ มาเช็ดแทน

          กระทั่งนักธุรกิจอเมริกันคนหนึ่ง ชื่อว่า "โจเซฟ กาเย็ตตี้" เป็นคนแรกที่ผลิตกระดาษชำระออกวางขายในปี ค.ศ.1857 แต่ต้องประสบกับภาวะขาดทุน เนื่องจากตลาดยังนิยมใช้ของเช็ดแบบเดิมมากกว่า แถมยังไม่ต้องเสียเงินซื้ออีกด้วย จากนั้นอีก 20 ปีต่อมา 2 พี่น้องสกุล "สก๊อต" ได้ผลิตกระดาษชำระออกขายอีกครั้งหนึ่ง โดยใช้ชื่อว่า "สก๊อตทิชชู"

          ในขณะนั้นส้วม และชักโครกภายในอาคารเริ่มเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวาง ทำให้คนหันมาใช้กระดาษชำระมากขึ้นตามไปด้วย นอกจากนี้ ยังเป็นเพราะกระดาษชำระใช้ได้สะดวก มีเนื้อนุ่มและเข้ากับการตกแต่งห้องน้ำ จากนั้นเป็นต้นมาตลาดกระดาษชำระก็โตขึ้นอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับวิวัฒนาการที่พัฒนาขึ้น จนปัจจุบันกลายเป็นเพียงสินค้าที่ใคร ๆ ก็สามารถหาซื้อได้ (ข้อมูลจากหนังสือ 108 ซองคำถาม)

  เคล็ดลับสุขภาพ สุขภาพใกล้ตัว โรคและการป้องกัน คลิกเลย 

 คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ



ขอขอบคุณข้อมูลจาก



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ใช้กระดาษทิชชู...ให้ถูกงาน หนี จุลินทรีย์ ตัวร้าย อัปเดตล่าสุด 18 พฤศจิกายน 2552 เวลา 14:34:54 8,225 อ่าน
TOP