x close

เรื่องของยาแก้ไข้ ใช้ตัวไหนปลอดภัยที่สุด


ยาแก้ไข้
 

ยาแก้ไข้ที่ปลอดภัยในการรักษาตนเอง (หมอชาวบ้าน)
โดย นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ

          ไข้ (ตัวร้อน) เป็นอาการไม่สบายที่พบได้บ่อยที่สุดในคนทุกวัย มักที่สาเหตุจากโรคติดเชื้อของระบบต่าง ๆ ของร่างกาย นอกจากนี้ยังอาจพบว่ามีสาเหตุจากโรคไม่ติดเชื้อ เช่น โรคภูมิต้านตัวเอง (อาทิ โรคเอสแอลอี) มะเร็ง (อาทิ มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งต่อมน้ำเหลือง)

          อาการไข้จึงอาจมีสาเหตุจากโรคที่หายเอง (เช่น ไข้หวัด คางทูม หัด โรคติดเชื้อไวรัสชนิดไม่รุนแรง) ไปจนถึงโรคที่ร้ายแรง (เช่น เอดส์ วัณโรค มาลาเรีย โลหิตเป็นพิษ เอสแอลอี มะเร็ง) ดังนั้น เมื่อมีอาการไข้เกิดขึ้น ควรเฝ้าสังเกตดูว่าเป็นอยู่นานกี่วัน โรคติดเชื้อไวรัส (รวมทั้งไข้หวัด) มักมีไข้อยู่นาน 4-7  วัน หากนานเกิน 7 วัน มักมีสาเหตุอื่นหรือโรคติดเชื้อที่ร้ายแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีไข้นานเกิน 3 สัปดาห์ หรือเป็นแรมเดือน มักเกิดจากโรคที่ร้ายแรง (เช่น เอดส์ วัณโรค เอสแอลอี มะเร็ง)

          นอกจากนี้ ควรเฝ้าดูว่ามีอาการอะไรอื่นร่วมด้วย ซึ่งจะช่วยบ่งชี้ว่ามีความร้ายแรงเพียงใด (ดู "สัญญาณอันตรายในคนที่มีอาการเป็นไข้ (ตัวร้อน)")

          หากพบว่ามีสัญญาณอันตรายเพียงข้อใดข้อหนึ่งร่วมด้วย ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว หากไม่มี ก็อาจให้การดูแลรักษาตัวเองเบื้องต้น (ดู "การดูแลรักษาตนเองเมื่อเป็นไข้")


เป็นไข้


สัญญาณอันตรายในคนที่มีอาการเป็นไข้ (ตัวร้อน)

          คนที่มีอาการเป็นไข้ (ตัวร้อน) หากมีอาการข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้ร่วมด้วย ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว

          มีอาการหนาวสั่นมาก ต้องห่มผ้าหนา ๆ อาจเป็นมาลาเรีย กรวยไตอักเสบเฉียบพลัน ปอดอักเสบระยะแรก หรือโรคร้ายแรงอื่น ๆ

          ซึมมาก ไม่ค่อยรู้สึกตัว หรือหมดสติ อาจเป็นโรคร้ายแรงเกี่ยวกับสมอง (เช่น สมองอักเสบ มาลาเรียขึ้นสมอง โรคพิษสุนัขบ้า) หรือโลหิตเป็นพิษ

          มีภาวะช็อก (ซึม กระสับกระส่าย เหงื่อออก ตัวเย็น) อาจเป็นไข้เลือดออก หรือโลหิตเป็นพิษ

          ปวดศีรษะมาก อาเจียนมาก แขนขาอ่อนแรง ขากรรไกรแข็ง (อ้าปากไม่ได้) คอแข็ง (ก้มคอไม่ได้) หรือชัก อาจเป็นโรคสมองอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ บาดทะยัก โรคพิษสุนัขบ้า โปลิโอ หรือไขสันหลังอักเสบ

          ตาเหลือง ตัวเหลือง ปัสสาวะสีขมิ้น อาจเป็นไข้ฉี่หนู มาลาเรีย ถุงน้ำดีอักเสบ โลหิตเป็นพิษ

          ซีด-โลหิตจาง มีเลือดออกตามที่ต่าง ๆ หรือมีจ้ำเขียวตามตัว อาจเป็นไข้เลือดออก โรคร้ายแรงเกี่ยวกับระบบเลือด (เชน มะเร็งเม็ดเลือดขาว โรคไขกระดูกฝ่อ) เอสแอลอี หรือโลหิตเป็นพิษ

          หายใจลำบาก หายใจหอบเร็ว หรือเจ็บหน้าอกมาก อาจเป็นปอดอักเสบ คอตีบ หรือโรคหัวใจอักเสบ

          ปวดท้องมาก กดหรือกระเทือนถูกหน้าท้องรู้สึกเจ็บ หรือมีอาการปวดท้องติดต่อกันนานเกิน 6 ชั่วโมง อาจเป็นไส้ติ่งอักเสบ เยื่อบุช่องท้องอักเสบ กรวยไตอักเสบ ถุงน้ำดีอักเสบ หรือฝีในตับ

          ข้ออักเสบ (ข้อบวม แดง ร้อน) อาจเป็นเอสแอลอี เกาต์ หรือไข้รูมาติก

          บวม (เท้าบวม ท้องบวม หน้าบวม) อาจเป็นโรคหน่วยไตอักเสบเฉียบพลัน หรือโรคหัวใจอักเสบ


ยาแก้ไข้

แอสไพริน หมดบทบาทในการแก้ไข้แล้ว

          ที่ผ่านมา ยาแก้ไข้มีให้เลือกใช้อยู่ 3 ชนิด ได้แก่ แอสไพริน พาราเซตามอล และไอบูโพรเฟน

          ปัจจุบันวงการแพทย์ยกเลิกการใช้แอสไพรินเป็นยาแก้ไข้ ทั้ง ๆ ที่มีการใช้มานานกว่า 100 ปีแล้วก็ตาม เนื่องเพราะมีผลข้างเคียง และอันตรายมากกว่าพาราเซตามอลหลายประการ นอกจากเป็นยาที่ชักนำให้ผู้บริโภคแพ้ได้ง่าย เป็นโรคแผลในกระเพาะลำไส้ หรือมีเลือดออกในกระเพาะลำไส้ (ถ่ายอุจจาระดำ) แล้ว ที่สำคัญคือ ถ้าผู้ป่วยเป็นไข้เลือดออก แล้วไปกินแอสไพรินแก้ไข้เข้า ก็อาจทำให้มีเลือดออกรุนแรงถึงแก่ชีวิตได้

          นอกจากนี้ ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 19 ปี ที่มีไข้จากการติดเชื้อไวรัส (เช่น ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ อีสุกอีใส หัด คางทูม) ถ้าไปใช้แอสไพรินบรรเทาไข้เข้า ก็เพิ่มโอกาสของการเกิดโรคที่เรียกว่า "กลุ่มอาการเรย์ (Reye’s syndrome)" ซึ่งทำให้เกิดความผิดปกติของสมอง และตับร่วมกัน เป็นโรคมีอันตรายร้ายแรง ทำให้เสียชีวิตได้


เป็นไข้


การดูแลรักษาตนเองเมื่อเป็นไข้

     1. หากพบว่ามีสัญญาณอันตรายเพียงข้อใดข้อหนึ่งร่วมด้วย ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว

     2. หากมีอาการปวดหู หูอื้อ เจ็บคอมาก มีน้ำมูก สีเหลืองหรือเขียว ไอมีเสมหะสีเหลืองหรือเขียว อาเจียนบ่อย ถ่ายเป็นน้ำรุนแรง หรือถ่ายเป็นมูกกะปริดกะปรอย คลำได้ก้อนที่ข้างคอหรือซอกรักแร้ เป็นแผล ฝี หนองตุ่มน้ำ พุพอง อ่อนเพลียมาก เบื่ออาหารมากน้ำหนักลด หรือมีไข้ติดต่อกันเกิน 7 วัน ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุ และให้การรักษามากกว่าการให้ยาแก้ไข้บรรเทา โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคติดเชื้อหลายกรณี แพทย์อาจพิจารณาให้ยาต้านจุลชีพ (ยาปฏิชีวนะ หรือยาต้านไวรัส) เพิ่มเติม

     3. หากไม่มีอาการดังในข้อ 1 และ 2 หรือมีเพียงอาการน้ำมูกใส หรือท้องเสียเล็กน้อยร่วมด้วย ให้ปฏิบัติดังนี้

          นอนพักผ่อน ห้ามตรากตรำงาน

          ห้ามอาบน้ำเย็น ควรเช็ดตัวหรืออาบน้ำอุ่น

          ดื่มน้ำให้มาก ๆ ทีละครึ่งถึง 1 แก้ว บ่อย ๆ จนสังเกตเห็นมีปัสสาวะออกมากและใส แสดงว่าร่างกายไม่ขาดน้ำ (ที่เกิดจากไข้หรือท้องเสีย)

          กินอาหารที่ย่อยง่าย เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก น้ำหวาน น้ำผลไม้ (หากมีอาการถ่ายเป็นน้ำร่วมด้วยให้ดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่เสริม)

          ถ้ามีไข้สูง ปวดศีรษะ หรือปวดเมื่อยตามตัว ให้กินพาราเซตามอล บรรเทาอาการ (ดู "พาราเซตามอล-ยาแก้ไข้ที่ปลอดภัย") ขณะที่มีไข้สูงจัด ให้ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัวเพื่อบรรเทาไข้อีกทางหนึ่ง

     4. หากไข้ไม่ทุเลาใน 3-4 วัน มีอาการทรุดลง มีอาการผิดปกติอื่น ๆ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาการดังในข้อ 1 และ 2) เพิ่มเติม หรือมีความวิตกกังวล ควรไปพบแพทย์

          ดังนั้น แอสไพรินจึงหมดบทบาทในการบรรเทาไข้ และไม่ได้เป็นยาสามัญประจำบ้านในการแก้ไข้อีกต่อไปแล้ว

          ปัจจุบัน แพทย์นำแอสไพรินไปใช้ป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง โดยใช้ขนาด 81 มก. วันละ 1-2 เม็ด การใช้ยาแอสไพรินในกรณีนี้ต้องให้แพทย์เป็นผู้พิจารณาและควบคุมกำกับเท่านั้น


พาราเซตามอล


ขอยาแก้ไข้แรง ๆ หน่อยเถอะ

          ปัจจุบันยาแก้ไข้มีให้เลือกใช้ระหว่างพาราเซตามอล กับ ไอบูโพรเฟน

          ไอบูโพรเฟน ในท้องตลาดมีทั้งชนิดเม็ดสำหรับผู้ใหญ่ และชนิดน้ำเชื่อมสำหรับเด็ก บางคนนิยมใช้ยาตัวนี้ เพราะอาจเคยได้รับยานี้มาจากแพทย์ จึงคิดว่าเป็นยาแก้ไข้แรงกว่าพาราเซตามอล

พาราเซตามอล ยาแก้ไข้ที่ปลอดภัย

          พาราเซตามอลจัดว่าเป็นยาแก้ไขแก้ปวดที่ปลอดภัยสำหรับคนทั่วไป ในการรักษาตนเอง แต่ก็ต้องใช้ให้ถูกวิธี และใช้ด้วยความระมัดระวัง

     วิธีใช้

          ให้กินยานี้ เป็นครั้งคราวเวลามีไข้สูง ปวดศีรษะ หรือปวดเมื่อยมาก ถ้ากินไปแล้วนาน 4-6 ชั่วโมงยังไม่ทุเลา หรือเกิดอาการขึ้นอีก ให้กินซ้ำได้อีก (ประมาณทุก 4-6 ชั่วโมง) แต่ถ้ารู้สึกสบายขึ้นก็ไม่จำเป็นต้องกินซ้ำ


     ขนาดที่ใช้

          ผู้ใหญ่ กินครั้งละ 1 เม็ด (ขนดา 500 มก.) ซ้ำได้ทุก 4-6 ชั่วโมง ในระยะที่มีไข้สูงจัดหรือปวดมากให้กินครั้งละ 2 เม็ด หลังจากทุเลาขึ้นให้ลดเหลือครั้งละ 1 เม็ด ในรายที่น้ำหนักมากกว่า 80 กก. ให้กินครั้งละ 2 เม็ด ซ้ำได้ทุก 6 ชั่วโมง โดยรวมแล้ววันหนึ่งห้ามเกิน 8 เม็ด

          เด็ก (อายุต่ำกว่า 12 ปี) กินครั้งละ 10-15 มก. ต่อน้ำหนักตัว 1 กก. ซ้ำได้ทุก 4-6 ชั่วโมง สูงสุดไมเกิน 5 ครั้งต่อวัน


     ข้อควรระวัง

          1. ยานี้อาจมีพิษต่อตับ ในผู้ใหญ่ถ้าใช้ครั้งละ 7-10 กรัม (14-20 เม็ด) ในเด็กถ้าใช้ครั้งละ 1.5-3 กรัม อาจทำให้เกิดโรคตับวายเฉียบพลัน ถึงแก่ชีวิตได้

          ดังนั้น เพื่อความปลอดภัย เด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบไม่ควรให้เกินวันละ 1,200 มก. และผู้ใหญ่ไม่ควรเกินวันละ 4 กรัม (8 เม็ด)

          2. ถ้าใช้ขนาด 5-8 กรัมต่อวัน ทุกวันติดต่อกันนานหลายสัปดาห์ หรือขนาด 3-4 กรัมต่อวัน ทุกวันติดต่อกันนาน 1 ปี อาจทำให้เกิดตับอักเสบ (ดีซ่าน) ได้ นอกจากนี้ ถ้าใช้ในขนาดปกติทุกวันติดต่อกันนาน ๆ ก็อาจทำให้เกิดภาวะไตวายเรื้อรังได้

          ดังนั้น เพื่อความปลอดภัย ไม่ควรกินยานี้ติดต่อกันนานเกิน 10 วัน

          3. บางรายอาจเกิดอาการแพ้ยานี้ได้ มีอาการลมพิษ ผื่นคัน หากสงสัยมีอาการแพ้ยานี้ ควรหยุดยา แล้วรีบไปปรึกษาแพทย์ ผู้ที่มีประวัติว่าแพ้ยานี้ ห้ามใช้ยานี้เป็นอันขาด

          แม้ว่าไอบูโพรเฟนจะออกฤทธิ์ได้ดีและนานกว่าพาราเซตามอล แต่ยาตัวนี้จัดอยู่ในกลุ่มยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สตีรอยด์ (NSAIDs) เช่นเดียวกับแอสไพริน จึงพบว่ามีผลข้างเคียงมากกว่าพาราเซตามอลผลข้างเคียงที่พบได้ เช่น อาการแพ้ยา แผลในกระเพาะ เลือดออกในกระเพาะลำไส้ ที่สำคัญถ้านำไปใช้บรรเทาไข้ในผู้ที่เป็นไข้เลือดออก (ซึ่งบางครั้งชาวบ้านไม่สามารถแยกออกจากไข้ชนิดอื่นได้ชัดเจน) ก็อาจทำให้เกิดภาวะเลือดออกรุนแรง ถึงแก่ชีวิตได้เช่นเดียวกับการใช้แอสไพริน

          ด้วยเหตุนี้ ไอบูโพรเฟน จัดว่าเป็นยาที่แพทย์เป็นผู้พิจารณาสั่งใช้เท่านั้น ชาวบ้านทั่วไปไม่ควรซื้อยานี้มาใช้แก้ไข้กันเอาเอง

สรุป

          พาราเซตามอล เป็นยาที่ใช้แก้ไข้ แก้ปวดได้ดี และไม่เกิดผลข้างเคียงแบบแอสไพรินและไอบูโพรเฟน

          ยาแก้ไข้ที่ปลอดภัยที่สุดที่คนทั่วไปนำมาใช้แก้ไข้แก้ปวดเบื้องต้น ก็คือ พาราเซตามอล นั่นเอง








ขอขอบคุณข้อมูลจาก






เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เรื่องของยาแก้ไข้ ใช้ตัวไหนปลอดภัยที่สุด อัปเดตล่าสุด 5 มิถุนายน 2563 เวลา 18:11:42 59,072 อ่าน
TOP