x close

คลายกังวล โรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ

ผู้ชาย

คลายกังวลอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ (เดลินิวส์)
นท.ดร.นพ.สมพล เพิ่มพงศ์โกศล
ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

          คุณผู้ชายที่ตกอกตกใจกับสภาวะปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้ ความต้องการทางเพศ หรือความสนใจทางเพศลดลง การหลั่งน้ำอสุจิผิดปกติ การหลั่งเร็ว หรือหลั่งช้าผิดปกติ เกิดอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ จนไม่สามารถคงความแข็งตัวขององคชาตเพื่อใช้งานได้

          ปัญหาทั้งหมดนี้ มักเกิดขึ้นได้ในผู้ชายทั่วโลก ส่วนใหญ่เมื่อเกิดปัญหาก็มักเขินอายที่จะไปพบแพทย์ ต้องบอกก่อนว่า ปัญหาเหล่านี้อาจเกิดซ้ำซ้อนกันได้ เพราะบางรายอาจมีปัญหามากกว่าหนึ่งในเวลาเดียวกัน แต่ข่าวดีคือปัญหาดังกล่าวสามารถแก้ไขได้ และจะช่วยให้ผู้ชายและคู่สมรส สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติสุขมากขึ้น

          ปัญหาสำคัญในการเริ่มต้นแก้ไขนั่นก็คือ อย่าอายที่จะนำปัญหาดังกล่าวมาพบแพทย์ หรือไม่ควรคิดว่าไม่มีทางในการรักษา และสุดท้ายก็ปล่อยทิ้งไว้ไม่ได้รับการรักษา ซึ่งหากพูดถึงกลุ่มปัญหาข้างต้น เราจะเรียกกลุ่มโรคนี้ว่า "โรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ"  

          ผู้ชายที่มีโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศมักมีปัญหาในการแข็งตัวขององคชาต เพื่อให้เพียงพอในการมีเพศสัมพันธ์ ผู้ชายส่วนใหญ่มีความลำบากในการแข็งตัวขององคชาตเมื่อวันเวลาผ่านไป บางคนมีอาการไม่รุนแรง และนาน ๆ ครั้งจึงจะมีอาการ แต่บางคนมีปัญหารุนแรงมาก และเป็นบ่อยครั้งที่จะมีเพศสัมพันธ์ ปัญหาดังกล่าวนี้จะทำให้ความมั่นใจในตัวเองเสียไป เกิดความกังวลใจ ซึมเศร้า รู้สึกเครียด และรบกวนการมีคุณภาพชีวิตของคู่สมรสเป็นอย่างมาก อุบัติการณ์ในประเทศไทยพบผู้ที่มีอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศอยู่ประมาณ 42.18% (อายุระหว่าง 40-70 ปี)

สาเหตุของโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ มีสาเหตุหลายประการที่เป็นไปได้ทั้งทางร่างกายและจิตใจ

          ปัจจัยทางด้านร่างกาย เช่น เลือดไหลเข้าในองคชาตไม่เพียงพอ มีหลายภาวะที่ลดการไหลของเลือด ซึ่งปัญหาที่พบบ่อยคือ เส้นเลือดขอดหรืออุดตัน โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเส้นเลือด และการสูบบุหรี่เป็นสาเหตุของปัญหาดังกล่าว สาเหตุต่อมาคือ องคชาตไม่สามารถเก็บเลือดไว้ได้ในระหว่างการแข็งตัว สาเหตุเกิดจากเส้นเลือดดำรั่ว ทำให้ไม่สามารถคงการแข็งตัวได้ ภาวะนี้เกิดขึ้นได้ทุกช่วงอายุ อีกสาเหตุหนึ่งที่พบคือ การส่งข่าวของเส้นประสาทจากสมองหรือไขสันหลังไม่สามารถส่งมายังองคชาตได้ ซึ่งผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง โรคพาร์กินสัน อาจเป็นสาเหตุของปัญหานี้ การบาดเจ็บหรือการผ่าตัดบริเวณเชิงกรานก็อาจเป็นสาเหตุที่ทำลายเส้นประสาท ที่มาเลี้ยงองคชาตได้เช่นกัน

          ปัจจัยทางด้านจิตใจ การมีกิจกรรมทางเพศต้องมีจิตใจและร่างกายทั้งสองอย่างร่วมกัน ปัญหาด้านอารมณ์และความสัมพันธ์สามารถ ทำให้เกิดโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ หรือทำให้อาการแย่ลง ตัวอย่างปัญหาเช่น โรคซึมเศร้า ความขัดแย้งในครอบครัว ความเครียด ความกังวลใจเกี่ยวกับพฤติกรรมทางเพศ เป็นต้น

คำถามตามมาก็คือ การแข็งตัวขององคชาตเกิดขึ้นได้อย่างไร?

          ต้องบอกว่าถ้าผู้ชายไม่ได้รับการกระตุ้นทางเพศ องคชาตของผู้ชายจะอ่อนตัว แต่เมื่อมีการกระตุ้นทางเพศ เส้นประสาทจะส่งข่าวให้มีการหลั่งสารเคมีไปเพิ่มการไหลของเลือดเข้าในองคชาต เลือดจะไหลเข้าแกนขององคชาตที่มีสองห้องที่เป็นฟองน้ำอยู่ด้านข้าง กล้ามเนื้อเรียบของห้องฟองน้ำจะคลายตัวและทำให้เลือดไหลเข้าไปและคงอยู่ภายในห้อง ความดันเลือดทำให้องคชาตแข็งตัว เมื่อผู้ชายถึงจุดสุดยอด เลือดจะไหลออกจากองคชาตอีกครั้งและองคชาตจะเริ่มอ่อนตัวลงทันที

แล้วจะทราบได้อย่างไรว่ามีปัจจัยเสี่ยง?

          ส่วนมากปัญหาอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ จะพบได้มากในผู้ป่วยที่เป็นโรคต่าง ๆ ดังนี้ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคซึมเศร้า โรคพิษสุราเรื้อรัง โรคหัวใจขาดเลือดหรือเส้นเลือดหัวใจอุดตัน โรคอ้วน โรคไตวาย รวมทั้งผู้ที่สูบบุหรี่จัด ติดยาเสพติด ได้รับการผ่าตัดบริเวณเชิงกรานหรือฉายแสงรักษามะเร็งต่อมลูกหมาก

การตรวจวินิจฉัยรักษา

          แพทย์จะตรวจวินิจฉัยพิเศษให้ยารักษา หรือผ่าตัดแก้ไขปัญหาการแข็งตัวขององคชาต หากปัญหาเกิดจากระดับฮอร์โมน ก็จะได้รับฮอร์โมนทดแทน หากปัญหาเกิดจากจิตใจ ก็จะส่งไปพบจิตแพทย์เพื่อแก้ไขปัญหา ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าจะไม่มีปัญหาทางจิต จิตแพทย์ก็จะช่วยเป็นที่ปรึกษาหรือร่วมแก้ปัญหาได้

          สิ่งที่จะได้รับการตรวจเมื่อมาพบแพทย์ ลำดับแรก แพทย์จะทำการซักประวัติ ผู้ป่วยจะต้องแจ้งปัญหา และระบุโรคที่เป็นอยู่ให้ทราบ บางคำถามอาจเกี่ยวกับประวัติทางเพศสัมพันธ์และอาจเป็นคำถามที่ค่อนข้างเป็นเรื่องส่วนตัว คำตอบที่แพทย์ได้รับจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างมากในตรวจวินิจฉัยรักษา

          ต่อมา แพทย์จะทำการตรวจร่างกายอย่างระมัดระวัง เพื่อดูว่ามีอาการของโรคอื่นด้วยหรือไม่ เช่น ระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบประสาท และระบบต่อมไร้ท่อ แพทย์จะทำการตรวจร่างกายโดยการวัดความดัน การตรวจองคชาตหรือลูกอัณฑะ รวมทั้งตรวจต่อมลูกหมาก

          ส่วนการตรวจทางห้องปฏิบัติการ เป็นขั้นตอนการตรวจในลำดับถัดมา แพทย์จะทำการตรวจเลือดเพื่อหาค่าระดับฮอร์โมนเพศชาย ระดับน้ำตาล ระดับไขมันในเส้นเลือด หรือฮอร์โมนธัยรอยด์ ตรวจปัสสาวะ ซึ่งทั้งหมดจะทำให้ทราบถึงปัญหาได้ดียิ่งขึ้น

          ปัญหาทางเพศสัมพันธ์เป็นสิ่งที่อ่อนไหวมาก ทำให้รู้สึกลังเลใจ ไม่มั่นใจที่จะมาปรึกษาแพทย์ ซึ่งจากสถิติพบว่า มีผู้ป่วยโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศจำนวนร้อยละ 14.81 ที่รู้สึกค่อนข้างไม่สะดวกที่จะมาปรึกษาแพทย์ ร้อยละ 13.75 รู้สึกอึดอัดกับการปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ มีเพียงร้อยละ 9.7 ที่รู้สึกค่อนข้างยินดีที่จะเปิดเผยและพูดคุยกับแพทย์ ดังนั้น ควรได้รับการนัดหมายเพื่อตรวจสุขภาพ โดยอาจแจ้งว่ามานัดตรวจเพื่อตรวจสุขภาพชายก็ได้

          อีกสิ่งหนึ่งที่จะแนะนำก็คือ คนใกล้ชิดหรือคู่สมรส ควรรับรู้ปัญหาร่วมกัน เพราะเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นร่วมกัน คู่ชีวิตจึงควรให้กำลังใจซึ่งกันและกัน ต้องไม่ทิ้งปัญหาไว้แก้แต่เพียงผู้เดียว ให้ระลึกว่าปัญหาโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศเป็นสิ่งที่รักษาได้

          ทิ้งท้ายไว้ว่า การรักษาที่ดีที่สุดสำหรับโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศก็คือ ทั้งคู่ยอมรับการรักษาร่วมกันและให้กำลังใจกัน ฉะนั้น..มาร่วมแก้ปัญหากันเถอะ



  เคล็ดลับสุขภาพ สุขภาพใกล้ตัว โรคและการป้องกัน คลิกเลย 

 คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ




ขอขอบคุณข้อมูลจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
คลายกังวล โรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ อัปเดตล่าสุด 30 พฤศจิกายน 2552 เวลา 13:20:31 20,581 อ่าน
TOP