x close

สำรวจความเสี่ยงเป็นโรคภัยไข้เจ็บ แค่สังเกตร่างกายตัวเอง


ตรวจสุขภาพ


เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

          แม้วิวัฒนาการทางด้านการแพทย์จะพัฒนาขึ้นในทุก ๆ วัน แต่เชื้อโรคต่าง ๆ ก็ไม่ได้ได้ยอมแพ้ เพราะโมดิฟายด์ตัวเองให้มีความรุนแรงมากขึ้นตามมาติด ๆ แถมยังแอบแฝงตัวเนียน ๆ อยู่กับร่างกายเราอีกต่างหาก และกว่าเราจะรู้ตัวอีกทีก็เมื่อตอนเป็นโรคระยะท้าย ๆ หรือมีอาการค่อนข้างหนักไปแล้ว ฉะนั้น วันนี้เราก็เลยขอนำเสนอวิธีการสำรวจความเสี่ยงเป็นโรคภัยไข้เจ็บของตัวเอง จากการสังเกต 10 จุดต่อไปนี้ในร่างกายของเรา พร้อมแล้วก็เริ่มสำรวจตามที่ เว็บไซต์พรีเวนชั่น เขาแนะนำกันเลย


ความยาวของนิ้วมือ
1. ความยาวของนิ้วมือ
           
          จากการศึกษาของ Arthritis & Rheumatism พบว่า ผู้หญิงที่นิ้วชี้สั้นกว่านิ้วนาง จะมีความเสี่ยงเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมมากถึง 2 เท่า เนื่องจากส่วนมากจะมีระดับเอสโตรเจนที่ต่ำกว่าปกติ เป็นเหตุให้เสี่ยงเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมได้นั่นเอง ส่วนวิธีการป้องกันก็ทำได้โดยบริหารกล้ามเนื้อรอบ ๆ หัวเข่าเสมอ เวลาที่นั่งก็ให้เหยียดขาออกขนานกับพื้น เกร็งขาอยู่ในระดับหัวเข่าประมาณ 5-10 วินาที ทำซ้ำกันอย่างนี้ครั้งละ 10 ยก
 

วิธีทำให้สูง
2. ความสูง

          สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์แห่งชาติได้ทำการศึกษาจัยแล้วพบว่า ผู้หญิงที่มีความสูงมากกว่า 158.5 เซนติเมตร มีแนวโน้มจะมีอายุไม่ถึง 100 ปี เนื่องจากผู้หญิงที่สูงเกินนี้ มักจะขาดยีนของการกลายพันธุ์ (Mutation) ทำให้ร่างกายอาจจะปรับตัวต่อสภาพแวดล้อมได้ดีไม่เท่าคนที่มียีนการกลายพันธุ์มากกว่า แต่ถ้าอยากจะต่ออายุให้ตัวเองอยู่บนโลกนี้ได้นาน ๆ ก็ต้องดูแลร่างกายให้ดีหน่อย หลีกเลี่ยงแอลกอฮอล์ บุหรี่ และเนื้อสัตว์ แล้วกันมารับประทานผักผลไม้ นม และอาหารที่มีประโยชน์กับร่างกายแทน
 

ความยาวของขา
3. ความยาวของขา

          ถ้าขาของคุณมีลักษณะอ้วนป้อม และสั้น ก็ควรจะหันมาดูแลตับให้มากขึ้นแล้วล่ะ เพราะการศึกษาทางการแพทย์ที่ถูกตีพิมพ์ในนิตยสาร Journal of Epidemiology and Community Health ของประเทศอังกฤษพบว่า ผู้ที่มีความยาวของขาระหว่าง 20-29 นิ้ว มีแนวโน้มที่ระดับเอนไซม์ 4 ชนิดที่เชื่อมโยงกับโรคตับจะอยู่ในระดับสูงกว่าปกติ ซึ่งไม่ได้มีผลแค่การเจริญเติบโตได้ไม่เต็มที่ในวัยเด็กเท่านั้น แต่โตมาก็เสี่ยงจะเกิดความผิดปกติกับตับได้เช่นกัน

          สำหรับวิธีปกป้องตับให้มีสุขภาพดีอยู่เสมอก็คือ ให้เลี่ยงการรับสารพิษทุกชนิด สวมหน้ากากปิดปากและจมูกทุกครั้งที่อยู่ในที่ที่มีฝุ่นควัน รวมทั้งหลีกเลี่ยงการสูดดมสารพิษ ที่สำคัญควรจำกัดระดับแอลกอฮอล์ให้ไม่เกินระดับแอลกอฮอล์เท่ากับไวน์ 5 แก้ว หรือเบียร์ 1 ขวดด้วย
 

การดมกลิ่น

4. ประสาทสัมผัสการดมกลิ่น
 
          Annals of Neurology ได้ทำการศึกษาและพบว่า ผู้สูงอายุที่ไม่สามารถแยกแยะกลิ่นผลไม้ได้ หรือไม่ค่อยได้กลิ่นอะไร มีความเสี่ยงเป็นโรคพาร์กินสันหลังจากมีอาการดังกล่าวไปแล้วประมาณ 4 ปี โดยนักวิจัยก็อธิบายว่า โดยปกติแล้ว อาการแยกแยะกลิ่นไม่ได้เกิดจากระบบประสาทส่วนรับรู้กลิ่นเริ่มบกพร่อง และส่วนมากสมองส่วนที่รับผิดชอบด้านการดมกลิ่น ก็จะส่งสัญญาณด้วยการแสดงอาการบกพร่องนี้ก่อนจะเกิดโรคสัก 2-7 ปี แต่ถ้าอยากป้องกันโรคพาร์กินสัน ให้รับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยกรดไขมันโอเมก้า 3 และน้ำมันปลาเยอะ ๆ


ความยาวของแขน
5. ความยาวของแขน
           
          สถาบันประสาทวิทยาได้ทำการศึกษาแล้วพบว่า ผู้ที่มีแขนสั้น แบบที่เอื้อมไปหยิบของบนตู้เก็บของได้ลำบาก มีความเสี่ยงเป็นโรคอัลไซเมอร์มากกว่าผู้ที่มีแขนยาว โดยคุณสามารถวัดระดับแขนตัวเองได้โดยยืนกางแขนขนานกับพื้น แล้วขอแรงใครสักคนมาช่วยวัดความยาวของแขน จากปลายนิ้วข้างหนึ่งไปจนถึงปลายนิ้วของอีกข้างหนึ่ง ระยะของการวัดจะต้องไม่น้อยกว่า 60 นิ้ว ถ้าน้อยกว่านี้ ก็แสดงว่าคุณเป็นคนแขนสั้นนะจ๊ะ

          ส่วนสาเหตุของการมีแขนสั้นก็มีทั้งการขาดสารอาหารในวัยเด็ก และพันธุกรรม ซึ่งไม่ว่าจะเป็นด้วยปัจจัยอะไร คนที่มีแขนสั้นส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นคนที่ขี้หลงขี้ลืม และมีแนวโน้มจะเป็นโรคอัลไซเมอร์ได้ด้วย แต่ถ้าหมั่นทำกิจกรรมสร้างสรรค์สมอง เช่น วาดรูป ประดิษฐ์เครื่องปั้นดินเผา หรือเล่นเกมฝึกสมองบ่อย ๆ ก็มีโอกาสลดความเสี่ยงเป็นโรคอัลไซเมอร์ถึง 2.5 เท่าเชียวนะ


ติ่งหู
6. รอยพับที่ติ่งหู
           
          การศึกษาของ The American Journal of Medicine ชี้ว่า รอยเส้นหนึ่งหรือสองแฉกบนกกหู คล้ายรอยพับที่ติ่งหู อาจคาดเดาได้ถึงการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจในอนาคต เช่น หัวใจวาย เป็นต้น

          อีกทั้งยังเพิ่มเติมด้วยว่า รอยย่นบนติ่งหูเพิ่มความเสี่ยงเป็นโรคนี้ได้ 33% ส่วนรอยพับที่ติ่งหูสองเส้นเพิ่มความเสี่ยงเป็นโรคได้ถึง 77% ซึ่งผู้เชี่ยวชาญก็ยังสงสัยว่า การสูญเสียเส้นใยอิลาสติกของติ่งหู อาจทำให้เกิดรอยย่นและการแข็งตัวของหลอดเลือดแดงนั่นเอง และการดูแลตัวเองของคนที่มีลักษณะติ่งหูแบบนี้ ก็ต้องหลีกเลี่ยงของมัน อาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูง และพยายามควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้เกินมาตรฐานด้วยนะจ๊ะ
 

วัดรอบเอว

7. รอบเอว
           
          ผู้ใหญ่ที่มีขนาดรอบเอวเกินไซส์กางเกงยีนส์ 40 มีแนวโน้มที่จะเกิดภาวะสมองเสื่อมได้มากกว่าคนทั่วไปถึง 3.6 เท่า ซึ่งลักษณะรอบเอวขนาดนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องของน้ำหนักตัวแต่อย่างใดด้วยนะคะ เพราะแพทย์จะยึดระดับไขมันใต้ผิวหนัง และระดับไขมันในอวัยวะภายในมากกว่า ซึ่งการมีระดับไขมันใต้ผิวหนังสูงอย่างนี้ จะมีส่วนให้ฮอร์โมนในร่างกายเกิดการอักเสบ จนเกิดภาวะสมองเสื่อมได้ด้วย

          ถ้าอยากจะเลี่ยงภาวะสมองเสื่อมก็ควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เช่น ถั่ว ธัญพืช ดาร์กช็อกโกแลต และหลีกเลี่ยงอาหารที่อุดมไปด้วยไขมันไม่อิ่มตัว และอาหารขยะทั้งหลาย
 

ขนาดของบรา
8. ขนาดของบรา
           
          ใช่ว่าสาวอกตู้มโดยธรรมชาติจะดีเสมอไป เพราะนักวิจัยที่ได้เผยแพร่ผลการวิจัยใน Canadian Medical Association Journal บอกว่า หญิงสาววัย 20 ที่สวมใส่บราคับ D มีแนวโน้มเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 มากกว่าคนใส่บราคับ A ถึง 1.5 เท่า แต่ความเสี่ยงนี้ก็จะเชื่อมโยงกับผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคเบาหวาน รวมทั้งกับคนที่สูบบุหรี่ด้วย โดยนักวิจัยก็อธิบายว่า เนื้อเยื่อไขมันในเต้านมของผู้หญิง อาจจะมีผลต่อระดับฮอร์โมนในร่างกาย ซึ่งมีผลกระทบกับความต้านทานอินซูลินนั่นเอง
           
          สำหรับสาวอกตู้มที่อยากลดความเสี่ยงโรคเบาหวาน ให้หมั่นออกกำลังกาย เผาผลาญน้ำตาลในเลือดและไขมันออกไป ด้วยการแอโรบิก หรือปั่นจักรยานสัก 30 นาที เป็นประจำค่ะ
 

วิธีลดน่อง
9. ขนาดน่อง
          
          อาจจะฟังดูแปลกนิดหน่อย แต่นักวิจัยจากประเทศฝรั่งเศสได้บอกว่า ผู้หญิงที่มีขนาดน่องเล็กกว่า 13 นิ้ว มีแนวโน้มจะเสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดสมองอุดตัน และพัฒนาเป็นโรคอัมพาตได้ด้วย โดยนักวิจัยได้อธิบายว่า คนที่มีขนาดน่องใหญ่ ก็เพราะว่ากล้ามเนื้อน่องได้ดึงเอากรดไขมันจากหลอดเลือดมาเก็บสะสมไว้ ดังนั้นคนที่มีน่องใหญ่ก็เลยมีความเสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดสมองอุดตันน้อยกว่านั่นเอง

          แต่ถ้าอยากจะลดความเสี่ยง นักวิจัยก็แนะนำให้ดื่มชาเขียวร้อน ๆ เป็นประจำ เพราะสารในชาเขียวมีส่วนช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลและไขมัน การันตีด้วยผลการทดลองจากคนญี่ปุ่นกว่า 45,000 คนเลยด้วย
 

กรุ๊ปเลือดบอกโรค
10. กรุ๊ปเลือด
           
          คนที่มีเลือดกรุ๊ป A, B และ AB มีแนวโน้มความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งตับอ่อนมากกว่าผู้ที่มีเลือดกรุ๊ป O ยืนยันด้วยผลการศึกษาล่าสุดจากผู้ใหญ่จำนวน 107,503 คน ที่นักวิจัยจาก Dana-Farber Cancer Institute in Boston และ Harvard Medical School ได้ทำการทดลอง และค้นพบว่า ยีนที่เป็นตัวบ่งบอกกรุ๊ปเลือดของกรุ๊ปเลือด A, B และ AB มีความสัมพันธ์กับยีนที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งตับอ่อนนั่นเอง
           
          และผู้ที่รู้ตัวว่าตัวเองมีความเสี่ยง ก็ควรให้ร่างกายได้รับวิตามินดีประมาณ 300 IU หรือมากกว่า เป็นประจำทุกวัน ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงโรคมะเร็งตับอ่อนได้ถึง 44% เมื่อเทียบกับผู้ที่บริโภควิตามินดีน้อยกว่า 150 IU ต่อวัน นอกจากนี้ก็ควรดื่มนมไขมันต่ำ และรับประทานปลาแซลมอนเพื่อเสริมวิตามินดีจากอาหารเข้าไปด้วย
 
          หลายความจริงเกี่ยวกับสัดส่วนและร่างกายที่เราไม่เคยรู้ ก็สามารถบ่งบอกความเสี่ยงเป็นโรคต่าง ๆ ได้เหมือนกัน แต่ก็ไม่ต้องตกใจไปนะถ้าคุณมีบางข้อที่ตรงกับความเสี่ยงของโรค เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นเพียงข้อมูลที่รวบรวมมาจากสถิติ เพื่อเตือนให้ระวังก็เท่านั้นเอง แต่ไม่ได้หมายความว่าต้องเป็นโรคกันทุกคนหรอกนะคะ



  เคล็ดลับสุขภาพ สุขภาพใกล้ตัว โรคและการป้องกัน คลิกเลย

 

คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อน ๆ ได้ที่นี่ค่ะ





เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สำรวจความเสี่ยงเป็นโรคภัยไข้เจ็บ แค่สังเกตร่างกายตัวเอง อัปเดตล่าสุด 4 พฤศจิกายน 2556 เวลา 15:38:34 1,947 อ่าน
TOP