x close

ศิริราช คว้า 2 รางวัล ธาลัสซีเมียโลก ทั้งด้านสถาบัน-บุคคล


ศิริราช รักษาโรคธาลัสซีเมีย

ศิริราช รักษาโรคธาลัสซีเมีย

ศิริราช รักษาโรคธาลัสซีเมีย


เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก รายการเรื่องเล่าเช้านี้ โพสต์โดย คุณ LAKORNHD ThaiTV สมาชิกเว็บไซต์ยูทูบดอทคอม

          โรงพยาบาลศิริราชคว้า 2 รางวัลระดับโลก ด้านการรักษาโรคธาลัสซีเมีย จากมูลนิธิเพื่อมนุษยธรรมและวิทยาศาสตร์ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ท่ามกลางสถาบันทางการแพทย์กว่า 300 แห่งทั่วโลก ที่เข้าชิงรางวัลนี้

          เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2556 ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร คณบดีคณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล เปิดเผยว่า เป็นครั้งแรกที่มูลนิธิเพื่อมนุษยธรรมและวิทยาศาสตร์สุลต่านบิน คาริฟา อันนายาน ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ จัดตั้งรางวัล SITA ขึ้น เพื่อคัดเลือกสถาบันทางการแพทย์ที่ดูแลรักษาผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียได้ดีที่สุดของโลก และโรงพยาบาลศิริราช ได้รับการคัดเลือกถึง 2 รางวัล คือด้านสถาบัน และด้านบุคคล ท่ามกลางสถาบันดูแลผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียจากทั่วโลก ที่เข้าร่วมกว่า 300 แห่ง โดยได้เดินทางไปรับรางวัลเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม ที่ผ่านมา

          สำหรับรางวัลแรก คือ รางวัลด้านสถาบัน ซึ่งศูนย์ธาลัสซีเมียของโรงพยาบาลศิริราช เปิดรักษามานานกว่า 10 ปี ในการดูแลผู้ป่วยธาลัสซีเมีย หรือโรคโลหิตจาง แบบครบวงจร และยังรักษาให้หายขาดได้ ไปจนถึงการปลูกถ่ายไขกระดูก และกำลังทำการวิจัยสร้างยีนส์บำบัด ซึ่งเป็นอีกทางเลือกของการรักษาที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต 

          ส่วนรางวัลประเภทบุคคล คือ ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเวศ วะสี ผู้เชี่ยวชาญด้านโลหิตวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลศิริราช ในฐานะผู้สร้างสรรค์ผลงานวิชาการและงานวิจัยอันเป็นประโยชน์ต่อวงการธาลัสซีเมียมาอย่างยาวนาน ด้วยผลงานวิจัยและบทความทางวิชาการที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการต่างประเทศกว่า 200 เรื่อง และยังมีการแต่งตำราวิชาการและคู่มือโลหิตวิทยาแก่แพทย์รุ่นหลังไว้จำนวนมาก


          ศ.คลินิก นพ.อุดม ยังกล่าวอีกว่า โรคธาลัสซีเมียเป็นโรคเลือดที่ถ่ายทอดกันทางพันธุกรรม พบมากในภูมิภาคเอเชีย โดยประเทศไทยเป็นอีกประเทศที่มีความชุกของโรคสูง ล่าสุด พบประชาชนที่เป็นพาหะโรคถึงร้อยละ 35 และมีผู้ป่วยเป็นโรคธาลัสซีเมียราวร้อยละ 1 ของประชากรทั้งหมด หรือราว 700,000-800,000 คน แต่โรคนี้สามารถป้องกันได้ด้วยการตรวจเลือดและการวางแผนครอบครัวก่อนมีลูก

          อย่างไรก็ดี ในอนาคตอาจรักษาโรคนี้ให้หายได้ด้วยการรักษาแบบยีนบำบัด (Gene Therapy) ซึ่งขณะนี้ทางโรงพยาบาลศิริราชกำลังร่วมมือกับมหาวิทยาลัยอ็อกฟอร์ด และมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด โดยการส่งคนไข้ของโรงพยาบาลศิริราชไปทดลองทำยีนบำบัดที่ประเทศสหรัฐอเมริกาในช่วงเดือนมกราคม พ.ศ. 2557







อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ศิริราช คว้า 2 รางวัล ธาลัสซีเมียโลก ทั้งด้านสถาบัน-บุคคล อัปเดตล่าสุด 5 พฤศจิกายน 2556 เวลา 08:46:41
TOP