x close

หนาวนี้ระวัง! ผื่นผิวหนังอักเสบบริเวณผิวมัน

ผื่นผิวหนังอักเสบบริเวณผิวมัน

หนาวนี้ระวัง! ผื่นผิวหนังอักเสบบริเวณผิวมัน (ไทยรัฐ)
ข้อมูลจากโรงพยาลบาลเวชธานี

          คนเมืองร้อนอย่างบ้านเรา เมื่อลมหนาวมาเยือนทีไร พากันดีอกดีใจยกใหญ่ ผู้ที่ชอบอากาศเย็นสบาย รีบจัดเวลาท่องเมืองเหนือหรือไปทัวร์ต่างประเทศ สัมผัสความหนาวกันให้ถึงใจ แต่ปัญหากวนใจที่มักมาพร้อมกับอากาศแห้ง ๆ ในช่วงฤดูหนาวโดยไม่ทันได้ระวังกันนั่นก็คือ โรคผิวหนัง และที่พบได้บ่อย ๆ คือ โรคผื่นผิวหนังอักเสบบริเวณผิวมัน หรือ Seborrheic dermatitis

โรคผื่นผิวหนังอักเสบบริเวณผิวมัน มีอาการสำคัญอย่างไร?

          พญ.ดวงกมล ทัศนพงศากุล อายุรแพทย์เฉพาะทางโรคผิวหนัง โรงพยาบาลเวชธานี กล่าวถึงโรคผื่นผิวหนังอักเสบชนิดนี้ว่า จะมีลักษณะเป็นผื่นแดง  มีสะเก็ดเล็ก ๆ เป็นขุยลอกเป็นมัน มีขอบเขตชัดเจน  มักพบในบริเวณที่มีต่อมไขมัน เช่น ตามบริเวณระหว่างคิ้ว, ซอกจมูก, รูหู, หลังใบหู, ศีรษะ, ไรผม, คอ, หน้าอกช่วงบน, หลังช่วงบน, รักแร้  บริเวณขาหนีบก็พบได้ โดยผื่นเหล่านี้มักจะเป็น ๆ หาย ๆ และมักพบว่าเป็นมากขึ้นในบางช่วง เช่น ในช่วงที่อากาศหนาว หรือช่วงที่ร่างกายอ่อนแอ เช่น เครียด วิตกกังวล นอนไม่หลับ หรือช่วงที่เจ็บป่วย

          โรคผื่นผิวหนังอักเสบบริเวณผิวมัน (Seborrheic dermatitis) หากเกิดที่หนังศีรษะจะต่างจากรังแค (Dandruff) ตรงที่รังแคเป็นสะเก็ด เป็นขุยสีขาว หรือเทา และมีอาการคันหนังศีรษะ รังแคจะไม่มีอาการอักเสบบวมแดงที่หนังศีรษะเลย ส่วนโรคผื่นผิวหนังอักเสบบริเวณต่อมไขมัน จะมีอาการอักเสบของหนังศีรษะร่วมด้วย ถ้าเผลอไปแกะหรือเกาอาจมีน้ำเหลืองเยิ้ม หรือถ้าทิ้งไว้นาน ๆ ไม่รักษา สะเก็ดจะหนามากขึ้นเรื่อย ๆ อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ผมร่วงได้

          โรคนี้ส่วนใหญ่มักพบในช่วงหนุ่มสาว ผู้ใหญ่ อายุตั้งแต่ 18-40 ปี ในทารกระยะ 6 เดือนแรก หรือในผู้สูงอายุก็พบได้เช่นกัน โดยพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง

          สาเหตุของโรคนี้ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่เชื่อว่าโรคนี้อาจเกี่ยวข้องกับเชื้อ Pityrosporum ovale หรือ Pityrosporum orbiculare เป็นเชื้อยีสต์ที่อาศัยอยู่ในรูขุมขน กินไขมันและโปรตีนของผิวหนังเป็นอาหาร ซึ่งในคนที่เป็นโรคนี้จะพบเชื้อ Pityrosporum ovale มากขึ้นผิดปกติ ก่อให้เกิดการกระตุ้นการลอกตัวของผิวหนัง ปรากฏเป็นขุยเล็ก ๆ เนื่องจากเชื้อยีสต์นี้ เป็นเชื้อที่มีอยู่เป็นปกติ (Normal flora) จึงอาจมีโอกาสเป็นใหม่ได้อีกเสมอ

          นอกจากนี้เชื้อ Pityrosporum ovale สามารถเปลี่ยนไขมันธรรมดาให้เป็นกรดไขมันได้ และพบว่าผู้ที่เป็นโรคนี้จะมีผนังรูขุมขนไม่แข็งแรง เซลล์หนังกำพร้าบริเวณนั้น ๆ จะหลุดลอกง่ายเนื่องจากขาดไขมันชนิด linoleic acid ทำให้เซลล์เหล่านี้หลุดลอกง่ายขึ้น เมื่อมีกรดไขมันมารบกวน ทำให้เกิดการอักเสบแบบเรื้อรังเป็น ๆ หาย ๆ

          แสงแดด ความร้อน ความหนาวเย็น อากาศแห้ง ความเป็นด่างของสบู่ และเครื่องสำอางที่มีแอลกอฮอล์ สามารถกระตุ้นให้เกิดผื่นผิวหนังอักเสบเป็นผื่นแดงและลอกเป็นขุยได้

การดูแลรักษาเมื่อเป็นโรคผื่นผิวหนังอักเสบบริเวณผิวมัน

1. การดูแลรักษา

          โรคนี้ควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ เพื่อป้องกัน และลดข้อแทรกซ้อนจากยาที่ใช้ในการรักษา เช่น ยาทาคอร์ติโคสเตียรอยด์ และยาทาลดเชื้อยีสต์ สำหรับยาทาคอร์ติโคสเตียรอยด์ ถ้าใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานาน ๆ จะทำให้เป็นสิว ผิวบาง เส้นเลือดขยาย และติดสเตียรอยด์ได้

2. การดูแลผิว

          การล้างหน้า ควรใช้สบู่ที่ไม่ระคายเคืองต่อผิว หรืออาจใช้น้ำเปล่าล้างหน้า ล้างหน้าด้วยความนุ่มนวล ไม่ควรล้างหน้าบ่อยจนเกินไป

          เลือกใช้ครีมชุ่มชื้นที่ไม่มีสารก่อให้เกิดอาการแพ้ และระคายเคืองได้ง่าย และเลือกใช้ให้เหมาะกับสภาพผิว

          ควรเลือกใช้เครื่องสำอางชนิดที่เหมาะสำหรับผิวแพ้ง่าย และไม่ควรใช้เครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ ซึ่งสามารถกระตุ้นให้เกิดผื่นผิวหนังอักเสบ เป็นผื่นแดงและลอกเป็นขุยได้

          ควรทาครีมกันแดดเพื่อป้องกันผิวหน้าจากการรบกวนจากรังสีในแสงแดด

          โรคนี้มักจะมีอาการเป็น ๆ หาย ๆ  และไม่หายขาด แต่การรู้วิธีดูแลสุขภาพร่างกาย และดูแลผิวอย่างถูกต้องก็ช่วยทำให้อาการต่าง ๆ ของโรคเป็นน้อยลง และหายเร็วขึ้น




ขอขอบคุณข้อมูลจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
หนาวนี้ระวัง! ผื่นผิวหนังอักเสบบริเวณผิวมัน อัปเดตล่าสุด 16 ธันวาคม 2552 เวลา 15:56:41 12,667 อ่าน
TOP