x close

ชิคุนกุนยา โรคติดต่อจากยุงลาย อาการคล้ายไข้เลือดออก

          โรคชิคุนกุนยา เกิดจากอะไร ติดต่อทางไหน อาการแตกต่างจากไข้เลือดออกหรือไม่ ถ้าป่วยแล้วเป็นอันตรายไหม มารู้จักโรคนี้กันหน่อย

ชิคุนกุนยา

          โรคชิคุนกุนยา เป็นอีกหนึ่งโรคติดต่อจากยุงที่พบบ่อยในช่วงฤดูฝน ดูเผิน ๆ อาจจะคล้ายโรคไข้เลือดออก แต่ก็มีความแตกต่างอยู่พอสมควร ซึ่งทุกปีก็พบคนไทยถูกยุงลายกัดจนป่วยโรคนี้อยู่ไม่น้อย ดังนั้นก็จำเป็นที่จะต้องมาทำความเข้าใจโรคชิคุนกุนยากันให้มากขึ้นค่ะ

โรคชิคุนกุนยา คืออะไร

          โรคชิคุนกุนยา (Chikungunya) หรือที่บางพื้นที่เรียกว่า โรคไข้ปวดข้อยุงลาย โรคไข้คุณย่า หรือโรคไข้ญี่ปุ่น (คาดว่าเรียกกันเพราะชื่อโรคออกเสียงคล้ายภาษาญี่ปุ่น) ไม่ใช่โรคใหม่อะไรหรอกค่ะ แต่เป็นโรคที่อุบัติขึ้นมานานแล้วตั้งแต่ปี ค.ศ. 1955 (พ.ศ. 2498) โดยชิคุนกุนยามีถิ่นกำเนิดอยู่ที่ทวีปแอฟริกา ก่อนจะแพร่ระบาดไปหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยด้วย ซึ่งผู้ที่บรรยายลักษณะของโรคชิคุนกุนยาเป็นคนแรกคือ Marion Robinson และ W.H.R. Lumsden ในปี ค.ศ. 1955 (พ.ศ. 2498) ซึ่งก่อนหน้านั้น 3 ปี เกิดมีการระบาดของโรคในดินแดนที่ราบสูงมากอนดี พรมแดนระหว่างประเทศโมแซมบิก และแทนซาเนียในปัจจุบัน จากนั้นก็พบการระบาดของเชื้อชิคุนกุนยา เป็นครั้งคราวในทวีปแอฟริกา เอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

          การแพร่เชื้อโรคชิคุนกุนยา ในทวีปแอฟริกานั้น มี 2 วงจร คือ "วงจรชนบท" คน-ยุง-ลิง ซึ่งมีลิงบาร์บูน เป็นโฮสต์ โดยมีการระบาดเล็ก ๆ เป็นครั้งคราว ก่อนที่คนจะนำเชื้อชนิดนี้ออกมาสู่ชุมชนเมือง ทำให้เกิด "วงจรในเมือง" คน-ยุง กลายเป็นการแพร่ระบาดชิคุนกุนยา จากคนสู่คน โดยมียุงเป็นพาหะนั่นเอง

          ส่วนการแพร่เชื้อชิคุนกุนยา ในทวีปเอเชียต่างจากในทวีปแอฟริกา เนื่องจากวงจรที่พบคือ "วงจรในเมือง" มียุงลายเป็นพาหะนำเชื้อติดต่อไปสู่คนได้ รูปแบบคล้ายคลึงกับโรคติดเชื้อที่นำโดยยุงลายอื่น ๆ ซึ่งอุบัติการณ์ของโรคเป็นไปตามการแพร่กระจาย และความชุกชุมของยุงลาย โดยเกิดการแพร่ระบาดในทวีปเอเชียครั้งแรกที่เมืองกัลกัตตา ประเทศอินเดีย ในปี ค.ศ. 1963 (พ.ศ. 2506)

          จากนั้นพบการระบาดเป็นครั้งคราว จนกระทั่งในปี ค.ศ. 2005–2006 (พ.ศ. 2548–2549) พบการระบาดใหญ่ของชิคุนกุนยา ที่หมู่เกาะทางตอนใต้ของอินเดีย มีผู้เสียชีวิต 237 ราย และประชากรหนึ่งในสามติดเชื้อไวรัสชิคุนกุนยา ขณะที่ในช่วงเวลาใกล้เคียงกันก็พบการระบาดในประเทศไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ด้วย โดยในประเทศไทยยังคงพบผู้ป่วยชิคุนกุนยาอยู่ทุกปี ส่วนใหญ่มักพบการระบาดในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้

ชิคุนกุนยา

ไวรัสชิคุนกุนยา ชื่อนี้มาจากไหน

          ชื่อของเชื้อไวรัสชิคุนกุนยา มาจากคำในภาษา Makonde ซึ่งเป็นภาษาของชนพื้นเมืองในแอฟริกาที่อาศัยอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศแทนซาเนีย และทางตอนเหนือของประเทศโมแซมบิก โดยรากศัพท์พื้นเมืองเดิมเรียกว่า kungunvala ซึ่งมีความหมายเป็นภาษาอังกฤษว่า "That which bends up" คือ เจ็บจนตัวงอ สอดคล้องกับลักษณะอาการปวดข้อของโรคชิคุนกุนยา

โรคชิคุนกุนยา เกิดจากสาเหตุอะไร

          โรคชิคุนกุนยา เกิดจากเชื้อไวรัสชิคุนกุนยา (Chikungunya virus) ซึ่งเป็น RNA Virus จัดอยู่ใน genus alphavirus และ family Togaviridae ที่มียุงลายเป็นพาหะนำโรคที่สำคัญ ดังนั้นจึงมักพบการระบาดของชิคุนกุนยา ในช่วงฤดูฝนที่มีสภาพแวดล้อมเหมาะกับการเพาะพันธุ์ของยุงลาย ซึ่งเมื่อประชากรยุงเพิ่มขึ้น ทำให้มีการติดเชื้อในยุงลายมากขึ้น โดยพบโรคชิคุนกุนยาได้ในทุกกลุ่มอายุ ซึ่งต่างจากไข้เลือดออก และหัดเยอรมันที่ส่วนมากพบในผู้อายุน้อยกว่า 15 ปี

ชิคุนกุนยา ติดต่อกันทางไหน

          การติดต่อของโรคชิคุนกุนยา เกิดขึ้นเมื่อยุงลายตัวเมียกัดและดูดเลือดผู้ป่วยที่อยู่ในระยะไข้สูง ซึ่งเป็นระยะที่มีไวรัสอยู่ในกระแสเลือด เชื้อไวรัสนั้นจะไปเพิ่มจำนวนมากขึ้นในตัวยุง และเมื่อยุงนั้นไปกัดคนอื่นต่อ ก็จะปล่อยเชื้อไปยังคนที่ถูกกัด ทำให้เกิดการติดเชื้อโรคชิคุนกุนยาได้

          ทั้งนี้ โรคชิคุนกุนยามีระยะฟักตัว 1-12 วัน แต่ช่วง 2-3 วันจะพบบ่อยที่สุด ส่วนในช่วงวันที่ 2-4 วัน จะเป็นช่วงที่มีไข้สูง มีไวรัสอยู่ในกระแสเลือดมาก และสามารถติดต่อกันได้หากมียุงลายมากัดผู้ป่วยในช่วงนี้ และนำเชื้อไปแพร่ยังผู้อื่นต่อ

ชิคุนกุนยา อาการเป็นอย่างไร

ชิคุนกุนยา

          ผู้ที่เป็นโรคชิคุนกุนยาจะมีไข้สูงอย่างฉับพลัน อาจสูงถึง 40 องศาเซลเซียส ประมาณ 2 วัน หลังจากนั้นไข้จะลดลงอย่างรวดเร็ว โดยเป็นไข้ร่วมกับอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายข้อร่วมกัน คือ
 
          - มีผื่นแดงขึ้นตามร่างกาย ผิวหนังจะมีสีแดงเพิ่มขึ้นเพราะเส้นเลือดฝอยในชั้นผิวหนังขยายตัว
          - ปวดกล้ามเนื้อ
          - ปวดกระดูกหรือข้อ
          - ปวดกระบอกตา
          - ปวดศีรษะมาก
          - ตาแดง แต่ไม่ค่อยพบจุดเลือดออกในตาขาว
          - มีเลือดออกตามผิวหนัง อาจมีอาการคันร่วมด้วย

          อย่างไรก็ตาม โรคชิคุนกุนยาสามารถเป็นได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ แต่ผู้ใหญ่จะมีอาการรุนแรงกว่า คือมักจะมีอาการปวดข้อทั้งข้อมือ ข้อเท้า และเป็นข้ออักเสบตามมาด้วย ซึ่งมักจะเปลี่ยนตำแหน่งที่ปวดไปเรื่อย ๆ บางครั้งมีอาการรุนแรงมากจนขยับข้อไม่ได้ แต่จะหายภายใน 1-12 สัปดาห์ ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการปวดข้อเกิดขึ้นได้อีกภายใน 2-3 สัปดาห์ต่อมา  หรือบางคนอาจจะปวดเรื้อรังอยู่เป็นเดือนหรือเป็นปีก็ได้ และไม่พบผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงถึงช็อกจนเสียชีวิต

ชิคุนกุนยา

ชิคุนกุนยา แตกต่างจาก ไข้เลือดออก อย่างไร

          ถึงจะมียุงลายเป็นพาหะนำโรคเหมือนกัน แต่ชิคุนกุนยาก็มีอาการแสดงแตกต่างจากไข้เลือดออกที่เกิดจากเชื้อเดงกี คือ

          - โรคชิคุนกุนยาจะมีอาการไข้สูงเกิดขึ้นฉับพลันกว่าไข้เลือดออก คนไข้จึงมาโรงพยาบาลเร็วกว่า

          - เนื่องจากโรคชิคุนกุนยาจะมีไข้สูงฉับพลัน จึงพบอาการชักร่วมกับไข้สูงได้ถึง 15% ซึ่งมากกว่า ไข้เลือดออก 3 เท่า

          - ผู้ป่วยชิคุนกุนยาจะมีระยะไข้เพียง 2 วัน ซึ่งต่างกับไข้เลือดออกที่ส่วนใหญ่ไข้จะลดลงใน 4 วัน

          - โรคชิคุนกุนยานอกจากจะมีไข้สูงแล้ว ยังมีอาการปวดข้อ ข้ออักเสบบวมแดงมากกว่าไข้เลือดออก

          - โรคชิคุนกุนยา จะไม่มีเกล็ดเลือดต่ำอย่างมากจนมีเลือดออกรุนแรงอย่างโรคไข้เลือดออก

          - ชิคุนกุนยาจะตรวจพบจุดเลือดได้ที่ผิวหนัง และการทดสอบทูนิเกต์ให้ผลบวก ซึ่งจำนวนทั้งที่เกิดเอง และจากการทดสอบจะน้อยกว่าไข้เลือดออก

          - ไข้ชิคุนกุนยาจะไม่พบผื่นหายที่มีลักษณะวงขาว ๆ เหมือนไข้เลือดออก

          - โรคชิคุนกุนยา จะไม่มีการรั่วของพลาสมาออกนอกเส้นเลือด จึงไม่พบผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงมากจนถึงมีการช็อก

          - โรคชิคุนกุนยาไม่เป็นอันตรายถึงชีวิตอย่างโรคไข้เลือดออก

          การจะทราบว่าป่วยเป็นชิคุนกุนยาหรือไม่นั้น ต้องให้แพทย์ตรวจวินิจฉัย โดยเจาะเลือดผู้ป่วยส่งเพาะหาเชื้อไวรัสชิคุนกุนยา หรือตรวจด้วยวิธีการอื่นในห้องปฏิบัติการ

ชิคุนกุนยา รักษาอย่างไร
  
          ทุกวันนี้ยังไม่มีวัคซีนสำหรับการรักษาและป้องกันโรคชิคุนกุนยา ดังนั้นจึงเป็นการรักษาตามอาการ เช่น หากเป็นไข้ก็ให้ยาลดไข้ แต่ห้ามกินยาแอสไพรินเด็ดขาด หรือหากปวดข้อก็ให้พักผ่อนอย่างเพียงพอ เพื่อบรรเทาอาการเท่านั้น แต่ก็มีผลการศึกษาวิจัยพบว่า ยาคลอโรควิน (Chloroquin) สามารถบรรเทาอาการที่เกิดจากโรคชิคุนกุนยาได้ผลดีเช่นกัน

ชิคุนกุนยา ป้องกันได้ไม่ยาก

ชิคุนกุนยา

          อย่างที่ทราบว่า ชิคุนกุนยา เกิดจากยุงลายเป็นพาหะ ดังนั้นวิธีป้องกันโรคนี้ก็ต้องกำจัดยุงลายอันเป็นต้นตอของโรค ตามวิธีดังนี้

          - หมั่นตรวจดูแหล่งน้ำภายในบ้าน เช่น บ่อ กะละมัง ชาม โอ่งน้ำ ตุ่ม ฯลฯ ควรหาฝาปิดให้เรียบร้อยเพื่อป้องกันไม่ให้ยุงมาวางไข่

          - ใส่ทรายอะเบทในอัตรา 1 กรัมต่อน้ำ 10 ลิตร ลงไปในน้ำ จะช่วยป้องกันการวางไข่ของยุงลายได้

          - ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาฉีดพ่นหมอกควันตามอาคารบ้านเรือนที่มีแหล่งน้ำขังอยู่ เพื่อเป็นการป้องกันและกำจัดลูกน้ำยุงลาย

          นอกจากนี้ เราก็ต้องป้องกันตัวเองไม่ให้ถูกยุงลายกัด โดยการ...

          - ทายากันยุง หรือใช้สารไล่ยุงจากธรรมชาติ เช่น ตะไคร้
          - สวมเสื้อผ้ามิดชิด เช่น เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว ป้องกันไม่ให้ยุงกัด
          - นอนกางมุ้ง หรือนอนในห้องที่มีมุ้งลวด ปิดประตู หน้าต่างให้สนิท
          - เฝ้าสังเกตอาการของคนรอบข้างว่ามีอาการใกล้เคียงกับโรคชิคุนกุนยาหรือไม่ หากมีอาการคล้ายเคียงหรือต้องสงสัยให้รีบพาไปพบแพทย์โดยเร็ว

          จะเห็นว่าแม้โรคชิคุนกุนยาจะไม่ทำอันตรายถึงชีวิต แต่ก็ทำให้คนป่วยได้รับความทุกข์ทรมาน และความรำคาญใจจากอาการปวดได้เช่นกัน ดังนั้นเราจึงควรป้องกัน และเตรียมพร้อมรับมือกับโรคชิคุนกุนยาไว้ก่อนจะดีที่สุดค่ะ


***หมายเหตุ : อัปเดตข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2562


ขอขอบคุณข้อมูลจาก
 
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ชิคุนกุนยา โรคติดต่อจากยุงลาย อาการคล้ายไข้เลือดออก อัปเดตล่าสุด 1 กรกฎาคม 2564 เวลา 16:35:15 32,410 อ่าน
TOP