x close

5 กลุ่มเสี่ยงป่วยพีเอสเอส อาการเครียดจากการเมือง


สหรัฐฯ ประณามความรุนแรงในไทย ขอให้เจรจาอย่างสันติ
ภาพประกอบจาก PORNCHAI KITTIWONGSAKUL / AFP


เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม 

          ช่วงเวลาไหนที่สถานการณ์บ้านเมืองร้อนแรง ก็จะทำให้ประชาชนที่ตื่นตัวติดตามข่าวสารบ้านเมืองอย่างใกล้ชิดอยู่ภายใต้สภาวะกดดัน จนเกิดอาการเครียดอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ซึ่งอาการเครียดลักษณะนี้ หากสะสมไปเรื่อย ๆ อาจพัฒนาไปสู่กลุ่มอาการที่เรียกว่า เครียดจากการเมืองหรือเรียกว่า พีเอสเอส (PSS : Political Stress Syndrome) ได้เลย

          โดยกลุ่มอาการพีเอสเอสนั้น ทาง นายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้ข้อมูลว่า อาการนี้ไม่ใช่อาการทางจิต แต่เป็นปฏิกิริยาของอารมณ์และจิตใจที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือติดตามสนใจปัญหาการเมืองอย่างใกล้ชิด หรือมีความเอนเอียงไปกับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง จนทำให้เกิดอาการทางจิตใจ ทางกาย และกระทบต่อสัมพันธภาพกับผู้อื่น ที่สำคัญคืออาจมีความคิดคาดการณ์ที่นำไปสู่ความวิตกกังวล หรือกังวลต่อเหตุการณ์ในอนาคต เช่น กลัวว่าจะเกิดความรุนแรงเช่นในอดีต ซึ่งเป็นความหวั่นวิตกที่แฝงอยู่ในใจคนส่วนหนึ่ง

          แล้วใครล่ะที่เป็นกลุ่มเสี่ยงของอาการพีเอสเอส? นายแพทย์วชิระ ก็ระบุว่า บุคคลที่เป็นกลุ่มเสี่ยงของอาการนี้มีอยู่ 5 กลุ่ม คือ

          1. กลุ่มนักการเมือง

          2. กลุ่มที่สนับสนุนทั้ง 2 ฝ่าย  

          3. กลุ่มผู้ติดตาม

          4. กลุ่มผู้ที่สนใจข่าวสารการเมือง

          5. กลุ่มผู้มีปัญหาสุขภาพจิต


อาการเครียดจากการเมือง


          สำหรับผู้ที่เป็นพีเอสเอสจะปรากฏออกมา 3 อาการ คือทางกาย จิตใจ และกระทบต่อความสัมพันธภาพกับผู้อื่น โดยสามารถสังเกตได้จาก

          1. อาการทางกาย จะมีอาการปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ตึงบริเวณขมับ ต้นคอ แขน ขา นอนไม่หลับ หลับ ๆ ตื่น ๆ ตื่นกลางดึกแล้วหลับต่อไม่ได้ ใจสั่น หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ หายใจไม่อิ่ม แน่นหรือปวดท้อง และชาตามร่างกาย 

          2. อาการทางใจ จะมีความวิตกกังวล ครุ่นคิดตลอดเวลา หงุดหงิดง่าย โกรธ ฉุนเฉียว ก้าวร้าว เบื่อหน่าย ท้อแท้ หมดหวัง สิ้นหวัง รู้สึกไม่มีทางออก ไม่มีสมาธิ ฟุ้งซ่าน หมกมุ่นมากเกินไป

          3. มีปัญหาพฤติกรรมสัมพันธภาพกับผู้อื่น โดยมีการโต้เถียงกับผู้อื่น หรือแม้กระทั่งคนในครอบครัว ใช้อารมณ์ปานกลางถึงรุนแรง ยับยั้งตนเองไม่ได้ มีความคิดที่จะตอบโต้โดยใช้กำลังในการเอาชนะ หรือเอาชนะทางความคิดกับคนที่เคยสนิทกัน เป็นต้น


          ลองสำรวจดูซิว่ามีใครที่อยู่รอบตัวมีอาการลักษณะเช่นนี้แล้วบ้าง ถ้าพบใครเริ่มมีอาการเครียดจากการเมืองแล้ว ต้องแนะนำ 6 วิธีที่ช่วยให้เขาได้ผ่อนคลาย นั่นก็คือ

          1. ให้หันเหความสนใจไปเรื่องอื่น ๆ แทน

          2. ลดความสำคัญของปัญหาการเมืองลงมาชั่วขณะ ให้ความสำคัญกับเรื่องเร่งด่วนอื่น ๆ

          3. พูดคุยกับผู้ที่มีแนวคิดใกล้เคียงกัน เพื่อระบายปัญหาออกไป 

          4. ออกกำลังกายตอนเช้าหรือตอนเย็นอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3-5 วัน วันละไม่ต่ำกว่า 30 นาที และพักผ่อนให้เพียงพอ 

          5. ฝึกผ่อนคลายด้วยตนเอง เช่น การฝึกสติ ฝึกการทำสมาธิ  ฝึกโยคะ ฝึกผ่อนคลายกล้ามเนื้อ

          6. หันมาหาวิธีการทำให้จิตใจสงบ อาจใช้ศาสนาช่วยในการขัดเกลาจิตใจ เพื่อปล่อยวาง

          นอกจากนี้ นายแพทย์วชิระ ก็บอกด้วยว่า หากสถานการณ์ทางการเมืองคลี่คลายลง หรือผู้ที่มีอาการละความสนใจไปที่เรื่องอื่นแทน อาการต่าง ๆ จะหายไปได้เอง แต่หากยังมีอาการเกิน 1 สัปดาห์ แนะนำให้ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาหรือจิตแพทย์ หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่อยู่ใกล้บ้านทันที หรือใช้บริการปรึกษาทางสายด่วนสุขภาพจิต หมายเลข 1323 และ 1667 ตลอด 24 ชั่วโมง






อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
    

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
5 กลุ่มเสี่ยงป่วยพีเอสเอส อาการเครียดจากการเมือง อัปเดตล่าสุด 25 ตุลาคม 2560 เวลา 17:39:55 1,866 อ่าน
TOP