x close

ทดลอง วัคซีนหวัด 2009 ไทยผลิตใช้เอง

วัคซีน ไข้หวัดใหญ่ 2009

วัคซีน ไข้หวัดใหญ่ 2009


เดินหน้า ทดลอง วัคซีนหวัด 2009 ไทยผลิตใช้เอง  (เดลินิวส์)

         เริ่มแล้วการทดลองวัคซีน หวัด 2009 ที่ไทยผลิตเองด้วยวิธีฉีดพ่นทางจมูกอาสาสมัคร 24 คน ชี้หากได้ผลเดินเข้าสู่การทดลองในระยะที่ 2 กับอาสาสมัครอีก 400 คน คาดได้วัคซีนใช้จริงภายใน 4 เดือน ระบุ อภ. มีเชื้อในสต๊อก 60 ลิตร สามารถผลิตวัคซีนได้มากถึง 10 ล้านโดส 

         เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. ที่อาคารเฉลิม พระเกียรติ 50 ปี คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล นพ.วิชัย โชควิวัฒน ประธานกรรมการบริหารองค์การเภสัชกรรม (บอร์ด อภ.) ในฐานะประธานคณะกรรม การจริยธรรมการวิจัยมนุษย์ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) นพ.วิทิต อรรถเวชกุล ผอ.อภ. รศ.ประตาป สิงหศิวนนท์ คณบดีคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ศ.พรรณี ปิติสุทธิธรรม คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมแถลงข่าว “โครงการศึกษาวิจัยทางคลินิกของวัคซีนไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิดเอ (เอช 1 เอ็น 1) ชนิดเชื้อเป็นแบบพ่น” ที่เริ่มพ่นวัคซีนให้กับอาสาสมัครทดลองกลุ่มแรก 24 คน 

         นพ.วิชัย กล่าวว่า ในการทดลองระยะแรกเพื่อพ่นวัคซีนให้กับอาสาสมัคร 24 คน อายุตั้งแต่ 18-49 ปี เป็นชาย 15 คน และหญิง 9 คน แบ่งกลุ่มละ 12 คน กลุ่มแรกรับวัคซีนที่มีปริมาณเชื้อ 6.5 ล็อก และกลุ่มที่สองรับวัคซีน 7.5 ล็อก โดยทั้งสอง กลุ่มจะมีอาสาสมัคร 6 คนที่ได้รับสารเลียนแบบ ซึ่งทั้งหมดจะทำการทดสอบในศูนย์วัคซีนเพื่อติดตามผลอย่างใกล้ชิด และจะมีการบันทึกติดตามข้อมูลโดยละเอียด 

         นพ.วิชัย กล่าวว่า สำหรับการทดลองวัคซีนนอกจากมีผู้แทนองค์การอนามัยที่เชี่ยวชาญด้านการวิจัยโรคเขตร้อนเข้ามาช่วยดูแลอย่างใกล้ชิดเพื่อให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์สากลแล้ว ยังมีคณะกรรมการกำกับดูแลข้อมูลเพื่อความปลอดภัย ซึ่งมี ศ.นพ. วิษณุ ธรรมลิขิตกุล รองคณบดี ฝ่ายวิจัย คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล เป็นประธาน และมี นพ.เคนจิ ฮิรายามา คณบดีคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยนางาซากิ ประเทศญี่ปุ่น เข้ามาช่วยดูแลเพิ่มเติม ซึ่งจะเป็นผู้สรุปผลการวิจัยวัคซีนในระยะแรกเพื่อเข้าสู่การทดลองวัคซีนระยะที่ 2 ในอาสาสมัคร 400 คนต่อไป โดยกระบวนการทั้งหมดคาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 4 เดือนหลังจากนี้ ทั้งนี้หากผลการทดลองไม่ได้ผลไม่สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ ในการวิจัยจะต้องเริ่มกระบวนการวิจัยใหม่ทั้งหมด

         ด้าน ศ.พรรณี กล่าวว่า อาสาสมัครทั้ง 24 คน ไม่เคยป่วยด้วยโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 และไม่ป่วยเป็นโรคปอด เนื่องจากการพ่นวัคซีนอาจลงไปถึงปอดได้ ซึ่งทั้งหมดเป็นไปตามกระบวนการจริยธรรมทดลองในมนุษย์เพื่อความปลอดภัยของอาสาสมัคร และจะพักอยู่ที่ศูนย์ทดลองวัคซีนเป็นเวลา 7 วัน เพื่อดูภูมิต้านทานโดยการตรวจเลือด พร้อมเก็บตัวอย่างเชื้อไปตรวจดูผลวัคซีนจากนั้นให้กลับบ้านได้ และหลัง 21 วันให้กลับมารับการตรวจใหม่เพื่อดูการกระตุ้นอีกครั้ง โดยการทดลองวัคซีนระยะแรกนี้จะใช้เวลาประมาณ 2 เดือน ระหว่าง 18 ธ.ค. 2552-15 ก.พ. 2553 และหากได้ผลจะเข้าสู่การทดลองกับอาสาสมัครในระยะที่ 2 ต่อไป เพื่อดูประสิทธิภาพวัคซีนในแต่ละกลุ่มช่วงอายุ

         ส่วน นพ.วิทิต กล่าวว่า ต้องรอผลทดลองวัคซีนโดยระหว่างนี้ อภ.จะเพาะเชื้อในไข่เพื่อเตรียมความพร้อมไว้ โดยขณะนี้มีอยู่ในสต๊อกแล้ว 60 ลิตร ซึ่งหากการทดลองพบว่า ขนาดวัคซีนที่ใช้ปริมาณเชื้อ 6.5 ล็อกได้ผล จะสามารถผลิตวัคซีนได้ถึง 10 ล้านโดส แต่หากเป็นขนาด 7.5 ล็อก จะได้วัคซีนจำนวน 5 แสน-1 ล้านโดส โดยวัคซีนที่ผลิตได้ทั้งหมดจะมอบให้กระทรวงสาธารณสุขโดยไม่คิดมูลค่าใด ๆ เพื่อเป็นการรับผิดชอบต่อสถานการณ์ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ร่วมกัน

         ที่ศูนย์วิจัยสุกร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ต.ทับกวาง อ.แก่งคอย จ.สระบุรี วันเดียวกัน นายชโลธร ผาโคตร รอง ผวจ. สระบุรี นพ.วิทยา สุภรณ์พันธ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด นายภานพ ทองสวัสดิ์วงศ์ ปศุสัตว์จังหวัด รศ.อุทัย ขันโธ ผอ. สถาบันวิจัยฯ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักงานควบคุมโรคที่ 2 จ.สระบุรี เข้าตรวจสอบสภาพโรงเลี้ยงสุกรภายในสถานีวิจัยสุกร หลังตรวจพบโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ในสุกร รศ.อุทัย เปิดเผยว่า ตั้งแต่ตรวจพบเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ในสุกร เล้าอนุบาล 1 ตัว ซึ่งถูกถ่ายทอดจากคนซึ่งเป็นนิสิตฝึกงานในศูนย์วิจัยสุกรทับกวาง ขณะนี้ทางศูนย์วิจัยสุกรทับกวางได้ดำเนินการตามมาตรฐานการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรคอย่างเร่งด่วนและเข้มงวด จนอยู่ในสภาวะปกติแล้ว โดยไม่มีการแพร่ระบาดของโรคออกไปภายนอกแต่อย่างใด




ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ทดลอง วัคซีนหวัด 2009 ไทยผลิตใช้เอง อัปเดตล่าสุด 21 ธันวาคม 2552 เวลา 18:54:08
TOP