x close

โรคเซลฟี่ โรคฮิตของคนติดจอ เช็กดูซิ เสพติดหรือยัง?


โรคเซลฟี่


เซลฟี่ โรคฮิตของคนติดจอ โพสต์รูปหวังคนไลค์ (สสส.)
โดย ฉัตร์ชัย นกดี Team Content www.thaihealth.or.th

          ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีต่าง ๆ ทำให้ชีวิตเราง่ายขึ้น แต่ถ้าใช้ไม่ระวังอาจได้ของแถมสารพัดโรค ปัจจุบันมองไปทางไหนเราก็จะเห็นคนติดจอกันเต็มไปหมด ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ คอยแชท แชร์ ไลน์ กันตลอดเวลา ซึ่งพฤติกรรมของคนติดจอแบบนี้เรียกว่า "เซลฟี่" (Selfie) โดยเป็นพฤติกรรมที่ชอบถ่ายรูปตัวเองในอิริยาบถต่างๆ ไม่ว่าจะไปที่ไหน ทำอะไร กินอะไร แล้วนำไปแชร์ในเครือข่ายสังคมออนไลน์ เพื่อรอให้เพื่อน ๆ มากดไลค์ หรือเขียนข้อความแสดงความเห็นต่าง ๆ
         
          นายธาม เชื้อสถาปนศิริ ผู้จัดการกลุ่มงานวิชาการ โครงการศึกษาและเฝ้าระวังสื่อเพื่อสุขภาวะของสังคม และเครือข่ายครอบครัวเฝ้าระวังและสร้างสรรค์สื่อ (มีเดียมอนิเตอร์) อธิบายเกี่ยวกับโรคฮิตของคนติดจอว่า "เซลฟี่" เป็นพฤติกรรมที่เกิดมาจากเทคโนโลยี เช่น การดูโทรทัศน์ และการใช้อินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะการใช้สังคมออนไลน์ต่าง ๆ

          เรื่องนี้ทำให้วัยรุ่นทั่วโลกไม่ใช่เพียงแต่ในประเทศไทยเท่านั้น ที่มีพฤติกรรมโชว์รูปถ่ายตัวเอง สิ่งเหล่านี้เรียกได้ว่า เป็นปรากฏการณ์ ยุคมิลเลนเนียม หลังจากยุค Y2K สิ้นสุดไป ซึ่งคนรุ่นนี้จะอยู่กับโซเชียลมีเดียค่อนข้างมาก โดยจะแตกต่างกับคนสมัยก่อนที่โตมากับสื่อโทรทัศน์ที่เป็นฝ่ายตั้งรับและกดดูอย่างเดียว ถ้าไม่ชอบก็เปลี่ยนช่อง

          แต่ปัจจุบันโลกโซเชียลมีเดียทำให้คนทั่วไปรู้สึกมีอำนาจที่จะสื่อสารกับโลก และหลายคนเลือกที่จะพูดเรื่องตัวเองผ่านรูปถ่าย เพราะเป็นเรื่องที่พูดได้ดีและง่ายที่สุด ทุกยุคทุกสมัยมนุษย์อยากเล่าเรื่องตัวเองอยู่เสมอ ซึ่งคนที่พูดเรื่องตัวเองสมัยก่อนจะต้องอดทนในการเขียนยาว แต่คนรุ่นปัจจุบันจะพูดเขียนน้อยลง แต่จะสื่อด้วยรูปภาพแทน


โรคเซลฟี่


ขาดความมั่นใจ-หลงตัวเอง-เห็นแก่ตัว

          "โซเชียลมีเดียทำให้เราหันมาสนใจตัวเองมากขึ้น ซึ่งเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของผู้ให้บริการ เช่น ทวิตเตอร์จะมีสโลแกนว่า คุณทำอะไรอยู่เกิดอะไรขึ้น ส่วนเฟซบุ๊ก จะมีสโลแกนว่า คุณทำอะไรอยู่บอกโลกหน่อย สิ่งเหล่านี้ส่งเสริมให้ผู้ใช้พูดเรื่องตัวเองมากขึ้น เด็กรุ่นนี้มีแนวโน้มที่จะให้ความสำคัญกับตัวเอง ยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง อาจนำไปสู่การหลงตัวเอง เมื่อทำซ้ำ ๆ บ่อย ๆ"

          "และสิ่งที่น่าห่วง คือการรอคอยให้คนเข้ามากดไลค์รูปหรือสิ่งที่ตัวเองโพสต์ สิ่งเหล่านี้จะมีผลต่อความมั่นใจ เพราะถ้ามีคนมากดไลค์มากก็จะรู้สึกมีความสุข มีคุณค่า พึงพอใจที่ได้รับการยอมรับ ซึ่งตรงนี้อันตรายในสังคมที่จะให้การยอมรับ เพราะแทนที่จะวัดที่คุณต้องเป็นคนเรียนเก่ง เป็นคนโอบอ้อมอารี กลับมาวัดจากจำนวนคนกดไลค์" นายธาม กล่าว

          นอกจากนี้สิ่งที่น่าห่วง คือ เด็กหรือผู้ใหญ่ที่เริ่มเสพติดพฤติกรรม "เซลฟี่" จะประสบเรื่องการตระหนักความภาคภูมิใจในตัวเองที่ลดต่ำลง หรือบางคนกลายเป็นคนหลงตัวเอง แตกต่างกับคนที่มีความตระหนักรู้ที่จะมีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น เพราะถูกเชื่อมโยงความสัมพันธ์กับผู้อื่น เป็นที่รักของคนในสังคม เช่น การเป็นลูกที่ดีของพ่อแม่ แต่ขณะที่เซลฟี่นั้นจะทำให้เป็นคนที่ขาดความรู้สึกเห็นอกเห็นใจผู้อื่น


โรคเซลฟี่


แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าเสพติดเซลฟี่

          ผู้จัดการกลุ่มงานวิชาการโครงการศึกษาและเฝ้าระวังสื่อ เพื่อสุขภาวะของสังคมฯ บอกอีกว่า การถ่ายรูปตัวเองไม่ใช่เรื่องที่ผิด แต่อะไรที่มากเกินไปก็ไม่ดี ดังนั้นจะต้องมีความพอดี และเราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราเป็นเซลฟี่หรือไม่ โดยให้ลองสังเกตว่า ทุกครั้งที่เราสื่อสารกับคนอื่นผ่านสังคมออนไลน์ เราพูดเรื่องตัวเองมากเกินไปหรือไม่ เรามีนิสัยที่หมกมุ่นหรือไม่ โพสต์เสร็จแล้วยังนั่งรอคนเข้ามากดไลค์อยู่หรือไม่

          นายธาม อธิบายว่า ในชีวิตจริงเราจะใช้ชีวิตแต่หน้าจออย่างเดียวไม่ได้ พฤติกรรม "เซลฟี่" อาจนำไปสู่โรคสมาธิสั้น โรคติดโทรศัพท์ โรคก้มหน้าก้มตา ส่งผลให้มีทักษะในการสื่อสารต่ำ เก่งเฉพาะในโลกออนไลน์ แต่พอชีวิตจริงมักขาดการสื่อสารกับคนในสังคม พูดจาสื่อสารไม่เก่ง

          นอกจากนี้ อาจเป็นโรคทางกาย เช่น โรคนัยน์ตาเสื่อม การมีภาวะเครียด กระวนกระวายใจ หลงตัวเอง ขี้อิจฉาคนอื่น ทนเห็นคนอื่นมีไลค์มากกว่าไม่ได้ และจะตระหนักคุณค่าตัวเองต่ำลง ในหลายประเทศพบว่า ยิ่งเป็นเซลฟี่ จะเป็นคนเห็นแก่ตัวมากขึ้นในระดับรุนแรง
         

          นายธาม ฝากทิ้งท้ายด้วยว่า การปฏิสัมพันธ์กับผู้คนจริง ๆ น่าจะมีความสุขมากกว่าอยู่ในโลกออนไลน์ โดยเฉพาะเพื่อนในเฟซบุ๊กที่น้อยคนจะเป็นเพื่อนที่จริงใจ การสื่อสารผ่านโลกออนไลน์มีประโยชน์ แต่ขอให้เลือกปริมาณการใช้งานให้พอเหมาะ และมีสมดุล ยืนยันว่าโลกชีวิตจริงดีกว่า เพราะคนเราเวลาพูดคุยกัน เราจะเห็นสีหน้า แววตา แต่ในโลกออนไลน์จะไม่มีสิ่งเหล่านี้
         
          เทคโนโลยีที่พัฒนาก้าวหน้าไปเรื่อย ๆ ก็ส่งผลร้ายต่อชีวิตของเราได้เช่นกัน หากเราใช้มากเกินไป ดังนั้น เราต้องรู้จักเลือกใช้ เลือกเล่นให้พอประมาณ     
             



                                                                                                                                                                                                          
ขอขอบคุณข้อมูลจาก






เรื่องที่คุณอาจสนใจ
โรคเซลฟี่ โรคฮิตของคนติดจอ เช็กดูซิ เสพติดหรือยัง? อัปเดตล่าสุด 18 ตุลาคม 2560 เวลา 16:31:02
TOP