x close

เรือล่มเกาหลีใต้ทำนักประดาน้ำกู้เรือป่วยเป็นโรคน้ำหนีบ DCS นับสิบราย


ข่าวเรือล่มที่เกาหลี
ภาพประกอบจาก JUNG YEON-JE / AFP

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

 
          เรือล่มเกาหลีใต้ ยังกู้เรือต่อ ขณะที่นักประดาน้ำกู้ เรือเซวอล เรือล่มเกาหลีใต้ ป่วยเป็นโรคน้ำหนีบ หรือ โรคลดความกด DCS นับสิบราย

          การกู้ร่างผู้สูญหายที่จมไปลงพร้อมกับเรือเซวอลของเกาหลีใต้ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่องนับแต่เกิดเหตุการณ์ขึ้นเมื่อวันที่ 16 เมษายน 2557 โดยการดำเนินการกู้ร่างผู้โดยสารซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กนักเรียนชั้นมัธยมเป็นไปอย่างยากลำบาก สืบเนื่องจากสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวย โดยเฉพาะคลื่นลมแรง รวมทั้งน้ำทะเลที่เย็นและขุ่น ส่งผลให้เจ้าหน้าที่นักประดาน้ำหลายรายเผชิญกับโรคน้ำหนีบ หรือ DCS (Decompression sickness) ไปแล้วนับสิบราย

          เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2557 สำนักข่าวยอนฮับของเกาหลีใต้ รายงานว่า ในขณะที่การค้นหาผู้สูญหายย่างเข้าสู่วันที่แปด มีนักประดาน้ำ 10 ราย ถูกส่งเข้ารักษาตัวในห้องปรับความดัน เพื่อรักษาอาการน้้ำหนีบ หรือโรคลดความกด โดยในวันอังคารที่ผ่านมา (22 เมษายน 2557) หนึ่งในนักประดาน้ำจากทีมเก็บกู้วัตถุใต้น้ำที่เข้าร่วมปฏิบัติการครั้งนี้ ถูกส่งตัวรักษาในห้องปรับความดันหลังมีอาการปวดหัวอย่างรุนแรง และแขนชา

          สำหรับโรคน้ำหนีบ หรือ โรคลดความกด หรือ Decompression sicknes (DCS) เป็นโรคที่เกิดขึ้นได้บ่อยกับนักดำน้ำ รวมทั้งผู้ที่ทำงานเหมืองหรืออุโมงค์ลึก ๆ ซึ่งมีความกดอากาศมากกว่าปกติ สาเหตุเกิดจากร่างกายไม่สามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของความกดอากาศได้ทัน เมื่อนักประดาน้ำดำขึ้นจากน้ำอย่างรวดเร็ว ก๊าซเฉื่อยโดยเฉพาะก๊าซไนโตรเจนซึ่งมีผสมอยู่ในอากาศที่นักประดาน้ำใช้หายใจจากถังออกซิเจน จึงเข้าละลายในกระแสเลือดรวมทั้งเนื้อเยื่อต่าง ๆ ในร่างกายอยู่มาก เมื่อขึ้นสู่ผิวน้ำอย่างรวดเร็วโดยไม่ได้มีพักตามระดับเพื่อปรับความดัน และขับไนโตรเจนออกผ่านการหายใจเสียก่อน ทำให้ก๊าซเหล่านี้ขยายตัวกลายกลายเป็นฟองอากาศอยู่ในกระแสเลือด นอกจากเบียดที่ของออกซิเจนในกระแสเลือดแล้ว หากไหลไปที่ส่วนใดก็ทำให้เกิดอันตรายได้ โดยอาการมีตั้งแต่วิงเวียน อาเจียน เกิดรอยช้ำเป็นจ้ำตามผิวหนัง ชา ไปจนถึงเป็นอัมพาต และหมดสติได้ รวมทั้งหากฟองก๊าซอุดตันหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ ก็ทำให้หัวใจขาดเลือดและเสียชีวิตได้

          การรักษาโรคน้ำหนีบ หรือ โรคลดความกด สามารถทำได้โดยเข้ารักษาในห้องปรับความดัน (Hyperbaric Chamber) ซึ่งเมื่อปิดประตูสนิทแล้วจะจำลองให้สภาพภายในมีความดันอากาศสูงเท่ากับตอนอยู่ใต้น้ำ เพื่อให้ฟองอากาศสลายกลับเข้าไปในกระแสเลือด จากนั้นค่อย ๆ ลดความดันลงทีละน้อย ให้ผู้ป่วยได้หายใจขับเอาก๊าซเฉื่อยเหล่านั้นออกมา หากรักษาได้ทันท่วงทีก็สามารถหายเป็นปกติได้ 100% แต่หากไม่รีบมารักษาเสียตั้งแต่รู้ตัวว่ามีอาการผลการรักษาอาจไม่เต็มประสิทธิภาพ

          นี่จึงเป็นโรคที่นักประดาน้ำที่ทำงานในการกู้เรือเซวอลหลายรายต้องประสบ แม้จะยังไม่มีใครเสียชีวิตด้วยโรคน้ำหนีบที่ว่านี้ แต่ก็มีนักประดาน้ำสังเวยชีวิตให้กับการปฏิบัติหน้าที่ไปแล้วหนึ่งราย จากการบาดเจ็บที่ต้องทำงานในสภาพอากาศเลวร้ายและไม่เอื้อต่อการดำน้ำเป็นอย่างยิ่ง ทว่ากลับเป็นข่าวที่ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนมากอยู่พักเดียวเท่านั้น แล้วก็ถูกกลบทับด้วยข่าวการกู้ร่างผู้สูญหายในเรือ อย่างไรก็ดี ทางรัฐบาลเกาหลีใต้ระบุชัดเจนต่อสื่อว่า ปฏิบัติการค้นหาร่างผู้สูญหายจะต้องดำเนินต่อไป แต่จะต้องอยู่ภายใต้ขอบเขตที่ไม่ละเมิดต่อความปลอดภัย และสุขภาพของนักประดาน้ำ





เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เรือล่มเกาหลีใต้ทำนักประดาน้ำกู้เรือป่วยเป็นโรคน้ำหนีบ DCS นับสิบราย อัปเดตล่าสุด 24 เมษายน 2557 เวลา 19:45:46 1,150 อ่าน
TOP