x close

สาว ๆ นักช้อป หิ้วของหนักระวังนิ้วพัง

ช้อปปิ้ง

สาว ๆ นักช้อป หิ้วของหนักระวังนิ้วพัง (ไทยรัฐ)

          ฤดูท่องเที่ยวเช่นนี้ สำหรับสาวขาช้อปเวลาออกทริป สถานที่หนึ่งซึ่งจะพลาดเสียไม่ได้ไม่ว่าจะไปมุมไหนของโลกนั่นคือ แหล่งช้อปปิ้ง หากไม่ได้อะไรติดไม้ติดมือกลับบ้านถือว่ายังไปไม่ถึง บางคนอาจช้อปเพลินจนหิ้วของพะรุงพะรัง ซึ่งการหิ้วของหนัก ๆ เป็นเวลานาน ๆ นั้น บางครั้งจะรู้สึกปวด อาจเป็นสัญญาณก่อให้เกิดอันตรายต่อมือและนิ้วมือของคุณได้

          นพ.กวี ภัทราดูลย์ ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ เฉพาะทางศัลยกรรมทางมือและจุลศัลยกรรม ศูนย์ศัลยกรรมทางมือ รพ.เวชธานี เตือนผู้ที่ใช้มือทำงานเป็นเวลานาน ๆ เช่น การหิ้วของหนัก หรือการใช้มือยึดหรือถืออะไรนานต่อเนื่อง เมื่อใดก็ตามที่รู้สึกเจ็บปวดบริเวณโคนนิ้ว ขณะที่มีการงอ หรือเหยียดนิ้วมือ เมื่อถูกกดจะปวดมากขึ้น บางรายอาจถึงขั้นมีก้อนของการอักเสบเล็ก ๆ ที่เคลื่อนไหวตามเส้นเอ็น

          ถ้าหากก้อนการอักเสบมีขนาดโตขึ้น จะทำให้การเคลื่อนไหวของเส้นเอ็นลำบากมาก ขึ้นจนกระทั่งนิ้วมือติดอยู่ในท่างอ ไม่สามารถเหยียดได้ชั่วคราว การเคลื่อนไหวของนิ้วมือลำบากมากขึ้นโดยเฉพาะในตอนเช้า หรือตื่นขึ้นมาจะพบว่านิ้วมืออยู่ในท่างอ เหยียดไม่ออก ต้องใช้มืออีกด้านกางนิ้วออกเพื่อปลดล็อก ถ้าคลำดูบริเวณโคนนิ้วจะพบก้อนที่ทำให้มีอาการเจ็บปวดร่วมด้วย โดยนิ้วที่มักพบบ่อยที่สุดในการเกิดอาการนี้ คือ นิ้วหัวแม่มือ เพราะเป็นนิ้วที่มีการเคลื่อนไหวเป็นเอกเทศมากที่สุด

การปฐมพยาบาลเบื้องต้น ในกรณีที่เกิดอาการดังกล่าว

          1. ใช้หัวแม่มือ "กดและคลึง" จุดที่เจ็บตั้งแต่โคนนิ้วด้านใน บริเวณฝ่ามือตามแนวของกระดูกไล่เรื่อยขึ้นไป จนถึงปลายนิ้ว ใช้เวลาประมาณ 2 นาที

          2. ให้ใช้ปลายนิ้วหัวแม่มือ "กดและจิก" ลงไปตรงจุดที่เจ็บ เพื่อส่งพลังไปที่จุดเส้นประสาทโดยตรง ซึ่งผู้ป่วยบางรายจะรู้สึกเหมือนมีลมออกที่หูได้ ใช้เวลาประมาณ 30 วินาที

          3. ใช้หัวแม่มือ "กดและนวด" ลงบนจุดที่เจ็บรวมทั้งจุดต่าง ๆ ที่อยู่รอบ ๆ บริเวณจุดที่เจ็บด้วย ประมาณ 20 ครั้ง

          4. ใช้นิ้วโป้งกับนิ้วชี้จับนิ้วตรงบริเวณที่เจ็บ จากนั้น "ดึงหรือกระตุก" ให้นิ้วงอลงมาด้านล่าง ให้ดันหงายขึ้นไปด้านบนสลับกันไล่ตามข้อนิ้วทั้งสามข้อ

          5. ใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นประคบที่บริเวณนิ้ว หรือข้อที่มีอาการเจ็บหรือมีปัญหานิ้วล็อก เพื่อกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดลมให้ปลอดโปร่งไม่ติดขัด หรือแช่มือในน้ำอุ่น

          6. ออกกำลังกายยืดกล้ามเนื้อ หรือ Stretching Exercise โดยการดัดนิ้วในท่ารำละคร อาจทำประมาณ 20-30 ครั้ง หรือบ่อยเท่าที่ต้องการ

          แต่ถ้าหากลองปฐมพยาบาลดูแต่อาการยังไม่ดีขึ้น กลับมาจากทริปคงต้องพบหมอกันแล้ว การรักษามีหลายแบบขึ้นอยู่กับความรุนแรง และระยะเวลาของโรค หากเป็นระยะเริ่มต้นจะได้ยาลดการอักเสบ เพื่อลดการหนาตัวของปลอกหุ้มเส้นเอ็น และลดอาการปวด ซึ่งจะได้ผลดีในระยะแรกคือเมื่อมีอาการน้อยกว่า 1 เดือน และยังไม่มีการล็อกของนิ้วในท่างอ

          ถ้าปวดมาก หรือรับประทานยาแล้วอาการยังไม่ดีเท่าที่ควร แพทย์จะพิจารณาฉีดยา เพื่อลดการอักเสบ ซึ่งโดยทั่วไปอาการปวดจะหายไปใน 2-3 วัน แต่ถ้าหากมีอาการของนิ้วล็อกบ่อย ๆ โดยมีอาการปวดร่วมด้วยหรือไม่ก็ได้ การรักษาโดยรับประทานยาหรือการฉีดยาอาจจะไม่ได้ผล แพทย์จะพิจารณาเรื่องการผ่าตัดแก้ไขให้เส้นเอ็นมีการเคลื่อนไหวกลับสู่ปกติ

          การรักษาด้วยวิธีผ่าตัด สามารถทำได้โดยการฉีดยาเฉพาะที่ และเปิดขยายปลอกหุ้มเอ็นเพื่อให้การเคลื่อนไหวของเส้นเอ็นเป็นปกติ โดยขณะผ่าตัดคนไข้จะไม่มีความรู้สึกเจ็บ และยังสามารถเคลื่อนไหวได้ตลอดเวลา เมื่อผ่าตัดเสร็จแล้วโดยใช้เวลา 10-15 นาที คนไข้สามารถเคลื่อนไหวนิ้วมือได้ทันที โดยจะมีแผลเป็น 2-3 รอยเย็บ ซึ่งไม่ควรโดนน้ำจนกว่าจะตัดไหมแล้ว ประมาณ 10-14 วัน

          ในระยะเวลาผ่าตัด คนไข้จะไม่มีการเกิดนิ้วล็อกเลย เนื่องจากปลอกหุ้มเอ็นได้ขยายมากขึ้น  และเส้นเอ็นทำงานปกติ และกลับไปใช้งานมือและนิ้วได้ตามปกติหลังผ่าตัด

          สำหรับนักท่องเที่ยวที่ไม่สามารถเลี่ยงการใช้งานมือมาก ๆ เป็นเวลานาน นพ.กวี มีคำแนะนำดี ๆ มาฝาก เพื่อช่วยลดความเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดอาการนิ้วล็อกได้ว่า หลังจากใช้งานมือเป็นเวลานาน ๆ ควรหยุดให้มือได้พักผ่อนบ้างเป็นระยะ ๆ ยืดกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นบ้างโดยดัดนิ้วท่ารำละคร เพราะต้องไม่ลืมว่า สาเหตุของอาการนิ้วล็อกมาจากการใช้งานที่ต่อเนื่องนั่นเอง




ขอขอบคุณข้อมูลจาก




เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สาว ๆ นักช้อป หิ้วของหนักระวังนิ้วพัง อัปเดตล่าสุด 11 มกราคม 2553 เวลา 15:23:39 1,314 อ่าน
TOP