x close

วิจัยโรคสมองอักเสบ ติดจากไวรัสนิปาห์ค้างคาว


วิจัยโรคสมองอักเสบติดจากไวรัสนิปาห์ค้างคาว (ไทยรัฐ)

โดย เพ็ญพิชญา เตียว

         เพื่อเฝ้าติดตามการกลายพันธุ์ของไวรัสดังกล่าว โดย "ค้างคาว" เป็นตัวพาหะนำโรคไวรัสนิปาห์ ถูกพบครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2541 ที่ประเทศมาเลเซีย การติดของเชื้อดังกล่าวก่อให้เกิด โรคสมองอักเสบ ที่มีอัตราการเสียชีวิต เฉลี่ยร้อยละ 40 ...  

         "โลก" ใบกลมๆ ที่สิ่งมีชีวิตอาศัยใบนี้ นับวันจะเริ่มเข้าสู่ขั้น "วิกฤติ" ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากสภาวะ "โลกร้อน" ทำให้สภาพอากาศแปรปรวน พายุฝนไต้ฝุ่นที่รุนแรง น้ำท่วม แผ่นดินไหว เกิดโรคร้ายๆ ผุดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ทั้ง ซาร์ส ไข้หวัดนก ชิคุนกุนยา ไข้หวัด 2009 รวมทั้ง ไวรัสนิปาห์ ที่พาหะนำโรคล้วนมาจากสิ่งมีชีวิตทั้งสัตว์ มนุษย์เรานั่นเอง

         เพื่อเฝ้าติดตามการกลายพันธุ์ของไวรัสดังกล่าว โดย "ค้างคาว" เป็นตัวพาหะนำโรค ดร.สุภาภรณ์ วัชรพฤกษาดี นักวิชาการประจำศูนย์ความร่วมมือองค์การอนามัยโลก ไวรัสสัตว์สู่คน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย หนึ่งในทีมงานของ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ได้ร่วมทำการศึกษาวิจัยเรื่อง "การศึกษาโรคสมองอักเสบอุบัติใหม่ที่เกิดจากไวรัสนิปาห์ในค้างคาวไทย" ขึ้น โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สนับสนุนทุน

         สำหรับไวรัสนิปาห์ ถูกพบครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2541 ที่ประเทศมาเลเซีย การติดของเชื้อดังกล่าวก่อให้เกิด โรคสมองอักเสบ ที่มีอัตราการเสียชีวิต เฉลี่ยร้อยละ 40 ซึ่งที่ผ่านมาพบว่ามีการระบาดของโรคที่ประเทศบังกลาเทศอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี พ.ศ.2544 เป็นต้นมา และมีอัตราการเสียชีวิตเฉลี่ยร้อยละ 70 โดยผู้ป่วยติดเชื้อฯจะมีอาการคล้ายเป็นหวัด มีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อาเจียน จนถึงอาการหนักคือสมองอักเสบ โดยอาจมีอาการทางระบบทางเดินหายใจ...

         ดร.สุภาภรณ์ บอกว่า จากการเฝ้าเพื่อติดตามการกลายพันธุ์ของไวรัส ที่สามารถแพร่กระจายจากสัตว์สู่คนโดยตรง หรือสัตว์ทั้งยุง แมลง เห็บ ริ้น ไร เป็นตัวเก็บกัก เพาะ หรือเป็นพาหะนำโรคอย่างเช่น โรคชิคุนกุนยาที่แพร่ระบาดทางภาคใต้ ของไทย ทำให้ทีมวิจัยได้มุ่งไปที่ "ค้างคาว" สัตว์อีกชนิดหนึ่งที่ไม่ควรมองข้าม ด้วยการสำรวจ เฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง เพื่อเตรียมความพร้อมในการตั้งรับกับโรคใหม่ที่อาจเกิดขึ้นในประเทศไทยใน "ค้างคาวแม่ไก่" 

         สำหรับการวิจัย เริ่มแรกทีมงานเก็บตัวอย่างเยี่ยวค้างคาวในพื้นที่ศึกษารวม 7 แห่ง ได้แก่ ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี สระบุรี สิงห์บุรี พระนครศรีอยุธยา และ อ่างทอง เพื่อนำมาตรวจหาเชื้อไวรัสโดยวิธี "ทางอณูชีววิทยา" ผลที่ได้พบว่า มีเชื้อไวรัสนิปาห์ ซึ่งเป็นสายพันธุ์เดียวกับที่พบในมาเลเซียและบังกลาเทศในทุกพื้นที่ ศึกษา   ในช่วงระหว่างเดือนมกราคม-มิถุนายน (ปี 2552) 

         แต่...การแพร่กระจายของเชื้อไวรัส จะไม่มีความสัมพันธ์โดยตรงกับฤดูผสมพันธุ์ ในเดือนพฤษภาคมซึ่งเป็นช่วงปลายฤดูกาลผสมพันธุ์ ซึ่งจะพบลูกค้างคาวหัดบินจำนวนมากในช่วงนี้ ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า "กลไกการแพร่เชื้อไวรัสในค้างคาวครั้งแรกของโลก สามารถยืนยันได้ว่า เชื้อไวรัสนิ-ปาห์จะแพร่กระจายจากเยี่ยวค้างคาวเฉพาะฤดูกาล เท่านั้น ซึ่งนับว่าสอดคล้องกับการระบาดในประเทศบังกลาเทศ"

         ด้าน ดร.ไสว วังหงษา นักวิชาการจากกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวว่า จากการสำรวจในพื้นที่ 16 แห่ง พบว่าค้างคาวแม่ไก่ในที่ราบภาคกลางมีประมาณ 40,000 ตัว โดยพื้นที่น่าจับตามองเป็นพิเศษ คือ ภาคตะวันออก ที่ส่วนใหญ่ เป็นสวนผลไม้ แหล่งอุตสาหกรรม และพื้นที่เลี้ยงสุกรในเขตจังหวัดชลบุรีและฉะเชิงเทรา

         อย่างไรก็ตาม แม้ขณะนี้บ้านเรายังไม่พบการระบาดของเชื้อดังกล่าว แต่ทีมวิจัยก็ยังคงเฝ้าติดตามฝูงค้างคาวแม่ไก่อย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งย้ำเตือนให้ประชาชนไม่ควรบริโภคหรือชำแหละค้างคาว ไม่รับประทานผลไม้ที่มีรอยกัดแทะ เหล่านี้ก็เพื่อป้องกันไม่ให้โรคนี้อุบัติขึ้นได้ใน...เมืองไทย





ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก




เรื่องที่คุณอาจสนใจ
วิจัยโรคสมองอักเสบ ติดจากไวรัสนิปาห์ค้างคาว อัปเดตล่าสุด 24 พฤษภาคม 2561 เวลา 15:16:42
TOP