x close

สแกนกรรม พิชิตโรคร้ายที่คุณสร้างเอง


ตรวจสุขภาพ

สแกนกรรม พิชิตโรคร้ายที่คุณสร้างเอง (สสส.)
เรื่องโดย นายฉัตร์ชัย นกดี Team content www.thaihealth.or.th

          โรคภัยไข้เจ็บร้ายแรงที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโรคมะเร็ง โรคเบาหวาน หรือแม้แต่โรคหัวใจ ซึ่งอยู่ ๆ ก็เกิดขึ้นเอง โดยไม่มีสัญญาณใด ๆ มาก่อน และเมื่อเป็นเช่นนี้ใครหลายคนมักฟันธงว่า เป็นเรื่องของเวรกรรม ซึ่งส่งผลให้ต้องมาเจ็บป่วยในชาตินี้ ข้อเท็จจริงเรื่องนี้เป็นอย่างไรไม่มีใครรู้ แต่ที่แน่ ๆ คือกลุ่มโรค NCDs นั้นเกิดจากกรรมที่ทำแน่นอน

          แต่ "กรรม" ที่ว่านี้ ไม่ได้หมายถึงเวรกรรม แต่หมายถึง "พฤติกรรม" การใช้ชีวิตของคนเรา ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการนำมาซึ่งโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ
            
          กลุ่มโรค NCDs หรือกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ประกอบด้วย โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดสมองและหัวใจ โรคถุงลมโป่งพอง โรคมะเร็ง โรคความดันโลหิตสูง และโรคอ้วนลงพุง ซึ่ง ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัช ผู้จัดการ สสส. ได้อธิบายไว้ในงานเปิดตัวแคมเปญรณรงค์ "กลุ่มโรค NCDs วิกฤตโรค วิกฤตโลก" จัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ว่า จากข้อมูลองค์การอนามัยโลก ระบุประชากรทั่วโลกเสียชีวิตด้วยกลุ่มโรค NCDs 63 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่คนไทยเสียชีวิตด้วยกลุ่มโรคนี้ สูงกว่าอัตราการเสียชีวิตเฉลี่ยของประชากรทั้งโลกถึง 10 เปอร์เซ็นต์ และสูงกว่าทุกประเทศในโลก และมีแนวโน้มว่าจะสูงขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งที่กลุ่มโรค NCDs เป็นโรคที่เกิดจากปัจจัยที่หลีกเลี่ยงและป้องกันได้
         

ตรวจสุขภาพ


          ขณะที่ ศ.พญ.วรรณี นิธิยานันท์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกลุ่มโรค NCDs และนายกสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย อธิบายว่า กลุ่มโรค NCDs เกิดจากกรรม คือ พฤติกรรม และกรรมพันธุ์ ซึ่งโรคบางโรคนั้นสามารถถ่ายทอดมาทางพันธุกรรมได้ ดังนั้น ยิ่งมาเจอกับพฤติกรรมเสี่ยงนั่นคือ ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ กินอาหารรสจัดหวานมันเค็ม ออกกำลังกายไม่เพียงพอ และมีความเครียดด้วยแล้ว กลุ่มโรค NCDs ก็จะเกิดเร็วขึ้น

          "ความน่ากลัวของกลุ่มโรค NCDs ก็คือ เมื่อเป็นแล้วจะไม่มีวันหาย แต่เป็นโรคที่สามารถป้องกันได้จากพฤติกรรม แม้จะมีความเสี่ยงจากการสืบทอดทางพันธุกรรม แต่หากไม่มีพฤติกรรมเสี่ยงก็จะช่วยชะลอโรคที่จะมาเยือนได้ นอกจากนี้ เมื่อเป็นแล้วระยะแรกจะไม่แสดงอาการ ถ้าไม่ตรวจก็จะไม่มีทางรู้ อย่างเช่น ความดันโลหิตสูง หรือระดับน้ำตาลในเลือดสูง เป็นต้น แต่ที่น่าสนใจคือ เมื่อปรับพฤติกรรมเสี่ยงแล้วก็สามารถที่จะควบคุมโรคได้ ดังนั้นถ้าเรามีพฤติกรรมการกินที่ไม่ถูกต้อง ก็จะมีความเสี่ยงในการเกิดโรคนั่นเอง"
         

          แต่ประเด็นสำคัญคือ จะรู้ได้อย่างไรว่าขณะนี้เรามีพฤติกรรมที่เสี่ยงมากน้อยต่อการเกิดโรคเหล่านี้ ซึ่งล่าสุด สสส.ได้มีการพัฒนาแบบประเมินร่วมกับเครือข่ายจัดทำแบบประเมินความเสี่ยงกลุ่มโรค NCDs ขึ้น หรือเรียกว่าการสแกนกรรม (พฤติกรรม) นั่นเอง เมื่อทราบแล้วว่าเรามีพฤติกรรมเสี่ยงอย่างไร และเสี่ยงต่อการเกิดโรคใด ก็จะได้สามารถตัดกรรมนั้นได้ เพื่อชะลอการเกิดหรือไม่เป็นโรคต่าง ๆ ได้         

          ซึ่งการสแกนกรรมที่ว่านี้ นพ.ขวัญประชา เชียงไชยสกุลไทย นักวิจัยสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ให้ข้อมูลว่า สามารถเข้าไปทดลองสแกนกรรมกันได้ที่ ncdsthailand.com และที่ เฟซบุ๊ก Thai.HealthyLifestyle โดยจะมีแบบสอบถามให้ทำคือข้อมูลพื้นฐานและข้อมูลทางกายภาพ เช่น ข้อมูลประวัติการเจ็บป่วยของครอบครัว พฤติกรรมการบริโภคอาหาร และระดับความเครียด เป็นต้น


สแกนกรรม


          สำหรับแบบทดสอบนี้อิงข้อมูลทางสถิติมาประมวลผล เพื่อบอกว่าพวกเราแต่ละคนมีความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยมากน้อยเพียงไร พฤติกรรมการบริโภคเสี่ยงให้เกิดการเจ็บป่วยมากน้อยเพียงไร โดยเมื่อทำการประเมินเสร็จแล้วผลที่ออกมาจะแบ่งเป็น 2 ส่วน

          ส่วนแรกคือความเสี่ยงต่อการเกิดโรค NCDs ว่ามีความเสี่ยงมากน้อยเพียงไร ภายใน 10 ปี หากไม่ปรับปรุงพฤติกรรมก็จะมีภาวะเสี่ยง และส่วนที่ 2 คือพฤติกรรมเสี่ยงที่จะทำให้เจ็บป่วยมากน้อยเพียงไรในแต่ละเรื่อง ซึ่งข้อมูลทั้งสองส่วนเชื่อมโยงกันได้ เช่น ทานผักน้อย ก็เสี่ยงที่จะเป็นโรคอะไรบ้าง อาทิ มะเร็ง เบาหวาน หลอดเลือดหัวใจและสมอง เป็นต้น เพื่อที่จะได้ปรับพฤติกรรมก่อนโรคมาเยือน

          แม้กรณีที่ความเสี่ยงโรคอาจจะมีไม่มาก แต่พฤติกรรมเสี่ยงยังมีก็ต้องปรับพฤติกรรมเช่นกัน ก่อนที่ความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้น เช่น มาวัดอีกครั้งตอน 6 เดือนข้างหน้า ความเสี่ยงน้อยอาจจะกลายเป็นความเสี่ยงมากก็ได้

          ขณะที่การให้ความรู้แก่ประชาชนนั้น ได้รับการบอกผ่านจาก รศ.ดร.วิลาสินี อดุลยานนท์ ผู้อำนวยการสำนักรณรงค์สื่อสารสังคม สสส. ว่า นอกจากการรณรงค์ร่วมกับภาคีเครือข่ายผ่านสื่อแขนงต่าง ๆ ทั่วประเทศแล้ว ยังได้จัดทำภาพยนต์โฆษณารณรงค์ชุด "Slow" เพื่อสื่อสารถึงพฤติกรรมเสี่ยงในชีวิตประจำวันที่ค่อย ๆ สะสมและนำไปสู่โรคในกลุ่มโรค NCDs รวมทั้งร่วมกับสถานีโทรทัศน์ Thai PBS ผลิตรายการ ชีวิตลิขิตโรค และ NCDs Reality เพราะรักจึงยอมเปลี่ยนแปลง โดยคัดเลือกอาสาสมัครที่มีความเสี่ยงมาปรับเปลี่ยนตัวเองด้านต่างๆ ทั้งนี้ รายการ ชีวิตลิขิตโรค ออกอากาศทุกวันเสาร์ เวลา 17.30-18.00 น. และรายการ NCDs Reality เพราะรักจึงยอมเปลี่ยนแปลงออกอากาศทุกวันเสาร์ เวลา 18.00-18.50 น.ทาง Thai PBS
         
          โรคร้ายเหล่านี้สามารถป้องกัน หรือลดความเสี่ยงได้ ด้วยการมีความรู้ที่ถูกต้องและมีวินัยที่จะประพฤติตนเองให้เหมาะสม หรือตัดพฤติกรรมเสี่ยงต่อการเกิดโรคออกไปจากชีวิต จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ควรเริ่มทำตั้งแต่วันนี้
 

 




ขอขอบคุณข้อมูลจาก




เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สแกนกรรม พิชิตโรคร้ายที่คุณสร้างเอง อัปเดตล่าสุด 2 มิถุนายน 2557 เวลา 14:19:26 1,565 อ่าน
TOP