x close

How to ป้องกันโรคจากภาวะกรด-ด่างเกิน


เคล็ดลับสุขภาพ
 

How-to ป้องกันโรคจากภาวะกรด-ด่างเกิน (ชีวจิต)
เรื่อง : พาฝัน รงศีริกุล

          วิถีชีวิตปัจจุบันที่เร่งรีบพฤติกรรมการกินอาหารที่ไม่เหมาะสม การออกกำลังกายไม่เพียงพอ หรือความเครียดเรื้อรังสะสม ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ร่างกายเสียสมดุลความเป็นกรด-ด่างอยู่เสมอ หากปล่อยทิ้งไว้อาจนำไปสู่โรคร้าย ทั้งเบาหวาน หัวใจ มะเร็ง จึงควรรู้เท่ากันสัญญาณต่าง ๆ ของร่างกาย เพื่อเร่งปรับพฤติกรรมให้ร่างกายกลับสู่ภาวะสมดุลโดยเร็ว จึงจะมีสุขภาพแข็งแรง ปราศจากโรคภัยค่ะ


เมื่อร่างกายเสียสมดุล

          รองศาสตราจารย์ศรีสนิท อินทรมณี ภาควิชาเคมีคลินิก คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายภาวะที่ร่างกายเสียสมดุลกรด-ด่างว่า

          "ในภาวะปกติ เลือดของเราจะมีความเป็นด่างอ่อน ๆ หรือมีค่า pH ประมาณ 7.35-7.45 เมื่อค่า pH ในเลือดเปลี่ยนแปลงไปจากปกติ จะทำให้เกิดภาวะกรดเกินหรือภาวะด่างเกินได้ ถ้าค่า pH ในเลือดต่ำกว่า 6.8 จะเกิดภาวะเลือดเป็นกรด (Acidosis) อาจโคม่า และเสียชีวิตได้ หรือถ้า pH ในเลือดสูงกว่า 7.8 จะเกิดภาวะเลือดเป็นด่าง (Alkalosis) อาจมีอาการชักและเสียชีวิตในที่สุด"

          แต่ไม่ต้องตกใจไปค่ะ อาจารย์บอกว่า ภาวะกรดเกินและด่างเกินเกิดขึ้นได้น้อยมาก นอกจากจะมีความผิดปกติของปอดหรือไตซึ่งเป็นอวัยวะที่ควบคุมสมดุลกรด-ด่างในร่างกายเท่านั้น โดยปกติแล้ว หากร่างกายมีภาวะเป็นกรดหรือด่างไม่มาก คืออยู่ระหว่าง 6.8-7.8 ร่างกายจะมีกลไกปรับสภาพความเป็นกรดด่างในร่างกายในสมดุลได้ โดยการขับถ่ายกรดออกนอกร่างกายทางปัสสาวะ (กรดอินทรีย์) หรือลมหายใจออก (ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์)


อาหารที่เป็นกรด


กรดเกินเกิดจากอะไร

          สาเหตุหลัก ๆ ที่ทำให้ร่างกายมีภาวะกรดเกินมาจากความเครียด เชื้อโรค และอาหารที่เรากินในแต่ละวัน โดยอาหารเป็นปัจจัยหลัก เนื่องจากอาหารในปัจจุบันส่วนใหญ่มีฤทธิ์เป็นกรด จึงควรรู้จักอาหารเหล่านี้เพื่อหลีกเลี่ยงและกินให้น้อยลงค่ะ

          คุณสุพิศ กลิ่นหวล นักโภชนาการชำนาญการพิเศษ ฝ่ายโภชนาการ โรงพยาบาลกลาง สำนักการแพทย์ กล่าวว่า อาหารที่มีความกรดเป็นสูงได้แก่

          อาหารประเภทแป้งและคาร์โบไฮเดรต โดยเฉพาะอย่างยิ่งแป้งที่ผ่านการขัดสีแล้วจะยิ่งมีความเป็นกรดมากขึ้น

          อาหารที่มีส่วนผสมของน้ำตาล โดยเฉพาะน้ำตาลทรายขาว ขนมหวาน น้ำอัดลม

          ของหมักดอง น้ำส้มสายชู

          น้ำชา กาแฟ และเครื่องดื่มที่แอลกอฮอล์

          เนื้อสัตว์ทุกชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื้อหมู เนื้อวัว เนื้อไก่ รวมไปถึงนมวัว

          อาหารสำเร็จรูป อาหารกระป๋อง อาหารแช่แข็ง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ผงชูรส ลืมผสมอาหาร อาหารที่ทอดด้วยน้ำมัน

          นอกจากนี้ ความเครียดหรือการนอนหลับไม่เพียงพอยังอาจทำให้ร่างกายเกิดสภาวะเป็นพิษและเสียสมดุลได้ ปัจจุบันแม้จะยังไม่มีข้อสรุปความเครียดเพิ่มปริมาณของกรดในร่างกายได้จริงหรือไม่ แต่มีงานวิจัยจากสหรัฐอเมริกา ระบุว่า ความเครียดเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะกรดเกิน กระเพาะอาหารหรือกรดไหลย้อนแย่ลง เพราะความเครียดจะทำให้ร่างกายรับภาวะความเป็นกรดได้รวดเร็วมากขึ้น

          อาจารย์ศรีสนิท กล่าวว่า การออกกำลังกายหนักเกินไปก็ทำให้เกิดภาวะกรดเกินในร่างกายได้เช่นกัน เพราะการออกกำลังกายหนัก ๆ จะเกิดการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ ร่างกายจะหายใจนำก๊าซออกซิเจนเข้าไปไม่เพียงพอ ทำให้เกิดกรดแล็กติก (Lactic Acid) ค้างอยู่ในร่างกายเป็นจำนวนมาก เกิดอาการปวด เกร็ง ชา เป็นตะคริว แต่ภาวะเช่นนี้เป็นเพียงชั่วคราวเท่านั้น ถ้าได้นั่งพักสักครู่ อาการก็จะดีขึ้น


ด่างเกินมาจากไหน

          เป็นภาวะที่ร่างกายมีคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Dioxide) ต่ำ หรือมีไบคาร์บอเนต (Bicarbonate) สูงเกินไป มักเกิดในผู้ที่ปอดและไตทำงานได้ไม่ดี เนื่องจากไตและปอดมีหน้าที่รักษาสมดุลความเป็นกรด-ด่างในร่างกายและกำจัดกรดหรือด่างส่วนเกิน เมื่อไตหรือปอดทำงานได้ไม่ดี จึงทำให้มีค่าคาร์บอนไดออกไซด์ในร่างกายต่ำหรือสูงเกินไป ซึ่งเป็นอันตรายต่อร่างกาย

          ส่วนในกรณีที่ร่างกายมีไบคาร์บอเนตมากเกินไป ซึ่งอาจมาจากการได้รับไบคาร์บอเนตในปริมาณมาก ไบคาร์บอเนตนี้พบได้ในเบกกิ้งโซดา (ผงฟู) ยาลดกรด หรือเป็นผลจากอาการท้องร่วง อาเจียน สูญเสียน้ำ เมื่อร่างกายขาดคลอไรด์ ไตจะพยายามรักษาไบคาร์บอเนตในร่างกาย ทำให้มีปริมาณไบคาร์บอเนตสะสมในร่างกายมากเกินไป

          นอกจากนี้ยังอาจพบได้ในผู้เป็นโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ เช่นโรค Hyperventilation หรืออาการที่หายใจลึกหรือเร็วกว่าปกติ Altitude หรือภาวะที่ออกซิเจนในเลือดต่ำ ซึ่งทำให้หายใจเร็วขึ้น จนระดับคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำ เป็นไข้ ติดเชื้อ เป็นเหตุให้ร่างกายเสียสมดุลชั่วขณะ เป็นต้น หรือแม้แต่การได้รับกชสารพิษ สารกระตุ้น เช่น ฝุ่นละออง ก็ทำให้ร่างกายเกิดภาวะไม่สมดุลได้เช่นกัน


ภาวะกรดเกิน


เมื่อกรดเกินแล้วเป็นอย่างไร

          สังเกตง่าย ๆ ผู้ที่มีภาวะกรดเกินจะมีอาการเหนื่อยง่ายหอบ หายใจถี่ ไม่ค่อยมีแรง แขนขาเป็นตะคริว ขี้หนาว คลื่นไส้ ปวดศีรษะบ่อย ๆ ผิวแห้ง ไม่ชุ่มชื่น มีกระ เกลื้อน สิว เล็บเปราะบาง ผมไร้น้ำหนัก แตกปลาย เสียวฟันได้ง่าย มีรอยแตกที่มุมปาก เป็นหวัดติดเชื้อง่ายคอและทอนชิลอักเสบบ่อย ๆ

          นอกจากนี้ ดร.วิลเลียม โฮวาร์ด เฮย์ (William Howard Hay) แพทย์ชาวอเมริกัน ยังกล่าวไว้ในหนังสือ A New Health Era ว่า โรคต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับมนุษย์นั้น เป็นผลมาจากภาวะกรดเกินในร่างกาย จนทำให้มีสารพิษสะสม (Autotoxication)

          ภาวะกรดเกินมีผลต่อการทำงานของร่างกายแทบทุกส่วน เป็นผลให้เกิดอาการผิดปกติต่าง ๆ ดังนี้

          1. ระบบย่อยอาหาร มีอาการอาหารไม่ย่อย คลื่นไส้ กรดไหลย้อน กรดเกินในกระเพาะ

          2. ระบบไหลเวียนโลหิต เป็นสาเหตุหลักของโรคหัวใจ เพราะเมื่อร่างกายมีภาวะความเป็นกรดสูง ทำให้ต้องเร่งสร้างผนังหลอดเลือดให้หนาขึ้นด้วยไขมันเพื่อป้องกันการรั่วซึม เป็นเหตุให้หัวใจทำงานหนักขึ้น

          3. ระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง เนื่องจากเชื้อโรคตัวร้ายจะเจริญได้ดีในภาวะที่เป็นกรดสูง เมื่อมีภาวะความเป็นกรดสูง จึงทำให้เป็นหวัด ติดเชื้อได้ง่าย

          4. ระบบทางเดินหายใจ สภาวะเป็นกรดทำให้การลำเลียงออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ในร่างกายติดขัด เมื่อเซลล์ต่าง ๆ ขาดออกซิเจนไปเลี้ยง ส่งผลให้เกิดการติดเชื้อได้ง่าย จึงเป็นไข้ หลอดลมอักเสบ และโรคหืดได้

          5. ระบบกระดูก เนื่องจากร่างกายต้องดึงแคลเซียม และแมกนีเซียมจากกระดูกไปเพื่อลดระดับความเป็นกรดในเลือด ทำให้เป็นโรคกระดูกพรุน ฟันโยกและผุง่าย เป็นสาเหตุหลักของโรครูมาตอยด์ (Rheumatoid) และโรคข้อเสื่อม (Osteoarthritis) ซึ่งเกิดจกการสะสมของกรดในข้อต่อต่าง ๆ ทำให้กระดูกอ่อนถูกทำลาย

          6. ผิวหนัง ติดเชื้อได้ง่าย ภูมิต้านทานการติดเชื้อลดลง ผิวหนังถลอกและเป็นแผลได้ง่าย

          7. ระบบประสาท อ่อนแอ เป็นผลให้ความคิด ความจำ และอารมณ์ผิดปกติ

          8. ไต เนื่องจากไตมีหน้าที่รักษาสมดุลความเป็นกรดในร่างกาย หากร่างกายมีภาวะกรดเกิน ไตจะดึงแร่ธาตุจากกระดูกมาทิ้งลงในเลือด ถ้าปล่อยไว้นานวันเข้า แร่ธาตุเหล่านี้ไปพอกพูนที่ไต อาจทำให้เป็นนิ่วในไตได้

          9. กล้ามเนื้อ ขาดความยืดหยุ่น เพราะกรดจะไปขัดขวางการเปลี่ยนกลูโคสและออกซิเจนเป็นพลังงานทำให้กล้ามเนื้อยืดหยุ่นน้อยลง





เมื่อด่างเกินแล้วเป็นอย่างไร

          อาจมีอาการเวียนศีรษะ มึนศีรษะ กล้ามเนื้อกระตุก มือสั่นกล้ามเนื้อหดเกร็งอย่างต่อเนื่อง คลื่นไส้ อาเจียน มีอาการชาหรือปวดเสียวบริเวณใบหน้า มือ เท้า ความคิดสับสน (Confusion) ซึ่งเป็นอาการทางระบบประสาท จนอาจถึงขั้นหมดสติและเสียชีวิตได้


Did you Know?

          การกินยาลดกรดชนิดที่มีแคลเซียมและคาร์บอเนตมากเกินไป อาจเป็นเหตุให้ระดับแคลเซียมและกรดในร่างกายไม่สมดุลจนมีผลเสียต่อไต นอกจากนี้ยาลดกรดชนิดที่มีแคลเซียมอาจทำให้ร่างกายหลั่งกรดออกมามากขึ้น แม้ว่าจะช่วยลดกรดได้ในช่วงแรกหลังกินยาก็ตาม ผู้ป่วยเป็นโรคไตควรระวัง เพราะสารอะลูมินัมจากยาลดกรด อาจสะสมจนเป็นพิษต่อร่างกาย


อาหารเพื่อสุขภาพ


เมื่อกรดเกินแล้วต้องทำอย่างไร

          เพื่อปรับสมดุลความเป็นกรด-ด่างในร่างกาย อาจารย์สาทิส อินทรกำแหง กูรูต้นตำรับชีวจิต แนะนำให้กินอาหารที่เป็นกรดให้น้อยลง และกินอาหารที่จะไปสร้างภาวะด่างให้ร่างกายเพิ่มขึ้น

          อาหารที่ช่วยเพิ่มความเป็นด่าง ได้แก่

          ข้าวไม่ขัดสีจำพวกข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ

          เนื้อปลา อาหารทะเล

          เมล็ดพืชต่าง ๆ เป็นต้นว่า อัลมอนด์ แฟลกซ์ซีด เมล็ดฟักทอง เมล็ดทานตะวัน ลูกเดือย ลูกบัว ข้าวฟ่าง งาดำ งาขาว ข้าวโอ๊ต หัวมัน เช่น มันไข่ มันเลือด

           ผักและผลไม้ คุณสุพิศแนะนำให้กินผักใบเขียว ผักบุ้ง ปวยเล้ง ขึ้นฉ่าย ฟักทอง กระเทียม มะเขือเทศ ข้าวโพด สาหร่าย แตงกวา หน่อไม้ฝรั่ง พืชตระกูลกะหล่ำ บรอกโคลี เยื่อไผ่ อะโวคาโด แอปเปิล แตงโม กล้วย ลูกแพร์ องุ่นม่วง

          นอกจากนี้ยังแนะนำให้กินผลไม้รสเปรี้ยวบางชนิดที่หลังจากผ่านกระบวนการย่อยแล้ว ส่วนที่เหลือจะมีความเป็นด่าง เช่น เลมอน มะนาว ส้ม สับปะรด กีวี

          อีกทั้งยังควรกินแร่ธาตุแคลเซียม โซเดียม แนะแมกนีเซียมเสริม เพื่อทดแทนปราณแร่ธาตุที่สูญเสียไปจากการรักษาสมดุลกรด-ด่างในร่างกาย

          แหล่งแมกนีเซียมในธรรมชาติ

          พบในอาหารจำพวกผักใบเขียว เช่น ผักโขม ถั่วและธัญพืช โดยเฉพาะเมล็ดฟักทอง เมล็ดทานตะวัน งา ปลาแมคเคอเรล ปลาทูน่า ถั่วเหลือง ถั่วแดง ข้าวไม่ขัดสี ข้าวโอ๊ต อะโวคาโด กล้วย

          แหล่งแคลเซียมในธรรมชาติ

          พบในผักใบเขียวจำพวกผักกวางตุ้งไต้หวัน คะน้า ผักกะหล่ำ (เขียว, ม่วง) บรอกโคลี ถั่วแขก กระเจี๊ยบเขียว เต้าหู้ เมล็ดอัลมอนด์ งา ปลากระป๋องต่าง ๆ เช่น ปลาซาร์ดีนในน้ำมัน ปลาแซลมอน

          แหล่งโซเดียมในธรรมชาติ

          พบได้ในเกลือ ผงฟู อาหารทะเล โดยเฉพาะปูทะเล ซอสถั่วเหลือง ในผลไม้ เช่น ลูกมะกอก แตงโม แคนตาลูป ลูกพลัม เสาวรส องุ่น กล้วย มะเฟือง และในผัก คือ มะเขือยาว ผักโขม พืชตระกูลพริก มันฝรั่ง มะเขือเทศ

          ที่สำคัญ อย่าลืมออกกำลังกายสม่ำเสมอ แต่ไม่หักโหมจะช่วยเพิ่มออกซิเจนให้หมุนเวียนไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ได้ดีขึ้น และยังช่วยเสริมภูมิต้านทานที่เสียไปจากภาวะกรดเกิน ต้านการติดเชื้อ ช่วยคงน้ำหนัก เผาผลาญไขมัน รักษารูปร่าง และยังช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของโรคในระบบทางเดินอาหาร เช่น โรคกระเพาะอักเสบอีกด้วย

          นิตยสาร นิวยอร์กไทมส์ แนะนำว่า ควรออกกำลังกายสม่ำเสมอสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง จะช่วยลดความเสี่ยงเป็นโรคกรดไหลย้อนได้ แต่ผู้มีปัญหากรดไหลย้อนควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายแบบแอโรบิกที่เคลื่อนไหวร่างกายอย่างรุนแรง เช่น วิ่งเต็มที่อย่างต่อเนื่องหรือการออกกำลังกายที่ต้องนอนราบกับพื้น

          ชีวจิต ขอแนะนำว่า รำกระบองดีที่สุดค่ะ เพราะเป็นการออกกำลังกายที่ไม่รุนแรง และช่วยให้โกรทฮอร์โมนหลั่ง แถมยังได้บริหารกระดูกสันหลังและฝึกสมาธิไปในตัว จึงช่วยคืนสมดุลสู่ร่างกาย

          สุดท้าย ควรดูแลอารมณ์ให้ดีอยู่เสมอ หมั่นคลายความเครียดและพักผ่อนให้เพียงพอ ก็จะช่วยให้ภาวะกรดเกินดีขึ้นได้ค่ะ


เมื่อด่างเกินแล้วควรทำอย่างไร

          ควรรักษาที่ต้นเหตุและโรคที่เป็น ถ้าเป็นที่ระบบทางเดินหายใจ ควรนั่งพักสักครู่ หายใจลึก ๆ ช้า ๆ เพื่อควบคุมระดับออกซิเจนในร่างกาย และควรไปพบแพทย์

          เมื่อใช้วิธีปรับสมดุลกรด-ด่างตามธรรมชาติเช่นนี้แล้ว ร่างกายก็จะสดใสแข็งแรง โรคร้ายก็ไม่รุกรานเลยค่ะ





ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ขอขอบคุณข้อมูลจากฝ่ายโภชนาการโรงพยาบาลกลาง สำนักการแพทย์



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
How to ป้องกันโรคจากภาวะกรด-ด่างเกิน อัปเดตล่าสุด 4 กรกฎาคม 2557 เวลา 13:22:13 56,854 อ่าน
TOP