x close

ถึงเวลา...ล้างพิษให้ต่อมไทรอยด์



ต่อมไทรอยด์
 

ล้างพิษให้ต่อมไทรอยด์ (อาหาร&สุขภาพ)

           คุณคิดว่าจะเพิ่มการทำงานของต่อมไทรอยด์ได้หรือไม่? ต่อไปนี้ คือ 5 วิธี ที่จะเร่งการทำงานของต่อมที่มีความสำคัญต่อสุขภาพนี้

           เป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่าเมื่อสตรีมีอายุมากขึ้น ระดับฮอร์โมนก็จะลดลง แต่คนส่วนมากไม่ได้ตระหนักว่าสิ่งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับเฉพาะเอสโตรเจนและโปรเจสเทอโรนเท่านั้น แต่ฮอร์โมนจากต่อมไทรอยด์ก็ลดลงเช่นกัน สตรีมีแนวโน้มที่จะมีความผิดปกติของต่อมไทรอยด์มากกว่าผู้ชายถึงห้าเท่า และพบได้มากขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น

           สตรีที่มีอายุระหว่าง 30 ถึง 50 ปี มักจะเป็นโรคไทรอยด์ทำงานน้อยกว่าปกติ (hypothyroidism) และประมาณการกันว่ามีสตรีที่อายุ 40 ขึ้นไปจำนวนราว 10% ที่ยังไม่ทราบหรือยังไม่ได้รับการวินิจฉัยว่าได้ป่วยเป็นโรคนี้แล้ว นี่จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทางสมาคมแพทย์ต่อมไร้ท่อของอเมริกา (American Association of Clinical Endocrinologists) แนะนำให้สตรีทุกคนที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป ให้เข้รับการตรวจฮอร์โมนกระตุ้นไทรอยด์ หรือ TSH (thyroid-stimulating hormone)

           แพทย์หญิงแทสนีม บาเทีย, M.D. ผู้อำนวยการการแพทย์ของศูนย์การแพทย์ Atlanta Center for Holistic & Integrative Medicine กล่าวว่า "ดิฉันมักจะเช็กการทำงานของไทรอยด์เมื่อผู้ป่วยบอกว่าอ่อนเพลีย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะพบอะไรไปทุกครั้ง"

           ดร.บาเทีย กล่าวอีกว่า ขั้นตอนที่สำคัญขั้นแรกในการป้องกันและตรวจจับปัญหาของต่อมไทรอยด์ก็คือคอยสังเกตร่างกายของเราเอง หากคุณเรียนรู้ที่รู้จักสัญญาณที่พบได้บ่อย ๆ ก็จะสามรถทำให้ไทรอยด์สมดุลได้โดยธรรมชาติ โดยไม่ต้องรับประทานฮอร์โมนต่อมไทรอยด์ "บางครั้ง คุณก็อาจหลีกเลี่ยงไม่ต้องใช้ยาได้ หรือแม้ว่าคุณจะต้องใช้ฮอร์โมนต่อมไทรอยด์ การรักษาแบบธรรมชาติก็ยังช่วยได้"


ต่อมไทรอยด์

ตรวจดูลำคอ

           ทุกครั้งที่คุณส่องกระจก คุณก็จะมองเห็นภาพสะท้อนของสุขภาพออกมา ต่อมไทรอยด์ที่ขึ้นอาจหมายถึงต่อมมีการผลิตฮอร์โมนมากหรือมก็น้อยเกินไป ลองวิธีง่าย ๆ เหล่านี้จาก American College of Endrocrinology ทุก ๆ สองเดือน

          1. ยกกระจกขึ้นส่องหน้าและเน้นไป ยังบริเวณคอส่วนล่างด้านหน้าบริเวณเหนือกระดูกก้านคอ

          2. เงยหน้าขึ้นพร้อมกับขยับกระจกตามขึ้นไปด้วย

          3. จิบน้ำคำขนาดกลาง ๆ

          4. ในขณะที่กลืนน้ำ ให้มองไปที่บริเวณที่ตั้งของต่อมไทรอยด์ ดูว่ามีอะไรโป่งบวมผิดปกติขึ้นมาหรือไม่ (หมายเหตุ : อย่าสับสนกันระหว่างต่อมไทรอยด์กับลูกกระเดือกซึ่งอยู่เหนือกว่าด้านบน)

          5. หากเห็นอะไรที่น่าสงสัย ให้นัดแพทย์ เพื่อปรึกษา

สิ่งที่ควรมองหาในลำคอ

           อาการของต่อมไทรอยด์ที่ทำงานน้อยกว่าปกติ (hypothyroid) ได้แก่ รู้สึกหนาว, ท้องผูก, อ่อนเพลีย, น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น และผมร่วง เหล่านี้มักเกิดขึ้นก่อนที่ผลการตรวจเลือดจะแสดงออกมาให้เห็น ความรู้สึกเหนื่อยเกิดขึ้นเป็นอย่างแรกในตอนเช้าเป็นสัญญาณบ่งบอกที่สำคัญกว่าการทำงานของต่อมไทรอยด์อ่อนแอลง อารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น รู้สึกซึมเศร้าหรือกระวนกระวาย ก็อาจเป็นสัญญาณที่ดูได้ยากขึ้นมาหน่อย ก่อนที่เส้นผมจะร่วงก็อาจมีการเปลี่ยนแปลงของผิวสัมผัสของเส้นผม เช่น  ผมอาจขาดง่ายหรือเส้นผมบางลง

           ส่วนอาการของต่อมไทรอยด์ทำงานมากกว่าปกติ (hyperthyroid) เกิดขึ้นได้จากการมีอะดรีนาลีนมากขึ้น ฮอร์โมนนี้เป็นฮอร์โมนความเครียดในร่างกายของเรา ทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น หรือหัวใจเต้นผิดจังหวะ แล้วนำไปสู่การเป็นอัมพฤกษ์หรือหัวใจล้มเหลว แล้วยังทำให้เหงื่อแตก, ทนต่ออากาศร้อนไม่ได้, นอนไม่หลับ, น้ำหนักตัวลดลง และหน้าแดง ในผู้ที่ป่วยด้วยต่อมไทรอยด์ทำงานมากผิดปกติ ต่อมไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนไทร็อกชินอออกมามากกว่าปกติ ฮอร์โมนนี้ไปกระตุ้นอวัยวะต่าง ๆ มากเกินไปและเร่งการทำงานของร่างกายหลายอย่าง หากปล่อยไว้ไม่ทากรรักษาก็จะทำให้สูญเสียแร่ธาตุในกระดูก และทำให้เกิดโรคกระดูกพรุนขึ้นในอนาคต

           หากคิดว่าตัวคุณมีปัญหากับต่อมไทรอยด์ ต้องให้แพทย์ตรวจโดยละเอียดเพื่อที่จะได้ทราบถึงสาเหตุอย่างแน่ชัด

ตรวจสุขภาพ

ต้องทำอะไรบางอย่าง

           คุณไม่สามารถเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมในร่างกายที่มีแนวโน้มที่จะทำให้ต่อมไทรอยด์มีปัญหาได้ แต่ก็มีวิธีที่จะสกัดกั้นไม่ให้มันทำงานหรือหลีกเลี่ยงไม่ให้อาการเลวร้ายลง

1. ร่างกายต้องได้รับไอโอดีนเพียงพอ

           แร่ธาตุนี้เป็นสิ่งจำเป็นในการผลิตฮอร์โมนของต่อมไทรอยด์ T3 และ T4 ทั้งคู่เป็นตัวควบคุมว่าร่างกายจะเมตาบอไลซ์แคลอรี่สักเท่าไร นั่นคือ การได้รับไอโอดีนไม่เพียงพออาจทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นและรู้สึกอ่อนเพลีย หลายปีก่อน ก่อนที่จะมีการเติมไอโอดีนลงไปในเกลือและอาหารอื่น ๆ ตอนนั้นมีการขาดไอโอดีนให้เห็นได้บ่อยมาก ปัจจุบันในอเมริกาพบได้น้อยมาก แต่ผู้ที่รับประทานอาหารมังสวิรัติก็ยังมีความเสี่ยง เนื่องจากไม่รับประทานไข่และอาหารนม เช่นเดียวกับผู้สูงอายุที่ต้องหลีกเลี่ยงการใช้เกลือที่เติมไอโอดีนเพราะต้องการควบคุมความดันโลหิต

           หมายเหตุ : เกลือที่พบในอาหารที่ผ่านกระบวนการผลิต (แหล่งโซเดียมส่วนมากที่เราได้จากอาหาร) มักไม่ต้องมีการเติมไอโอดีนลงไปด้วย การโรยเกลือเพิ่มเติมลงไปในอาหารที่มีโซเดียมสูงอยู่แล้วไม่ใช่ความคิดที่ดี แต่เราก็ยังสามารถพบไอโอดีนได้ในอาหารที่เกือบจะไม่มีโซเดียม ได้แก่ นม, เนื้อสัตว์ที่ได้รับการเลี้ยงด้วยการเติมไอโอดีน หากคุณไม่ดื่มนม ก็ยังพบไอโอดีนได้ในไข่, โยเกิร์ต, หรือปลาทะเล

2. รับประทานในรูปอาหารเสริมเพื่อสุขภาพที่แข็งแรง

           อาหารเสริมวิตามินเกลือแร่รวมจะมีไอโอดีนอยู่ในปริมาณที่แนะนำ คือวันละ 150 ไมโครกรัม (micrograms) แล้วยังมีสารอาหารอื่นที่ช่วยส่งเสริมการทำงานของต่อมไทรอยด์ อย่างเช่น ซีเลเนียม ไม่ควรใช้อาหารเสริมสำหรับต่อมไทรอยด์ที่ทำมาจากอวัยวะหมู แม้ว่าอาหารเสริมนี้จะสามารถจำหน่ายได้โดยไม่ต้องมีใบสั่งของแพทย์ แต่มันก็ไม่ได้มีการควบคุม ดังนั้นจึงไม่สามารถบอกได้ว่าในสารสกัดนั้นคุณจะได้สารออกฤทธิ์เท่าไร

           ดังนั้น ให้อ่านฉลากและมองหาคำว่า "โพแทสเซียมไอโอไดด์" (potassium iodide) ไม่ใช่คำว่า "สาหร่ายทะเล" (kelp) การศึกษาในปี 2009 พบว่า ปริมาณไอโอดีนอาหารเสริมเกลือแร่รวม 19 ชนิด ที่มีไอโอดีนที่ได้จากสาหร่ายทะเล มีปริมาณต่ำกว่าที่ผลิตภัณฑ์เหล่านี้โฆษณาเอาไว้อย่างน้อย 20% แพทย์หญิงแองเจล่า เหลียง, M.D. ผู้ทากรศึกษาเรื่องนี้ และเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยอสตัน กล่าวว่า "ไอโอดีนจากสาหร่ายทะเลขึ้นอยู่กับสภาพของน้ำทะเลที่มันเจริญเติบโต ดังนั้นจึงมีปริมาณแตกต่างกันไป"

           ข้อควรระวังอีกอย่างก็คือ : การรับประทานไอโอดีนในปริมาณสูง (วันละ 1,000 ไมโครกรัม) อาจไปทำอันตรายต่อต่อมไทรอยด์ได้

3. อย่ารับประทานสารไนเตรท

           สิ่งที่ฮอทด็อกและผักปวยเล้งมีเหมือนกันคือสารไนเตรท จาการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร International Journal of Cancer ระบุว่า ผู้เข้าร่วมทดลองที่บริโภคสารไนเตรทในปริมาณสูงที่สุด-ซึ่งมักพบได้มากในผักใบหรืออาหารเนื้อที่ผ่านกระบวนการผลิต มีแนวโมที่จะเป็นมะเร็งที่ต่อมไทรอยด์สูงกว่าคนที่รับประทานน้อยที่สุด มีทฤษฎีหนึ่งกล่าวว่า : ไนเตรทที่มากเกินไปจะไปกระตุ้นฮอร์โมนที่คาดว่าทำให้เกิดเนื้องอกขึ้น จึงแนะนำให้เลือกเนื้อสัตว์ที่ไม่มีไนเตรท และผักที่ปลูกด้วยวิธีธรรมชาติหรืออร์แกนิค ซึ่งอาจมีสารประกอบที่อาจเป็นอันตรายนี้อยู่น้อยกว่า

4. ปรับสภาพรอบข้างให้ปลอดภัย

           ดอกเตอร์ราเซล เจ ทาห์ชิบ, D.O. จาก Advance Health Integrative Medicine ในเมืองลอสแองเจลิส กล่าว สารพิษจากสภาพแวดล้อม เช่น สารบิสฟีนอล เอ (bisphenol A-BPA) ซึ่งเป็นสารเคมีที่มีอยู่ในพลาสติคบางชนิดก็สามรถรบกวนการทำงานของต่อมไทรอยด์ได้ จึงขอแนะนำให้ทำการศึกษาผลิตภัณฑ์พลาสติกให้ดีก่อนที่จะซื้อ และจำด้วยว่า BPA อาจซ่อนตัวอยู่ได้ในที่ต่าง ๆ เช่น ฝาปิดถ้วยกาแฟที่ซื้อตามข้างทาง (เอาฝาทิ้งไป อย่าจิบกาแฟผ่านรูเจาะบนฝาเหล่านี้) อีกอย่างหนึ่งที่ต้องคอยสังเกตไว้ก็คือโลหะหนัก อย่างเช่นปรอท ก็สามารถพบได้ในปลาตัวใหญ่ ๆ อย่างเช่นปลาทูน่า ซึ่งปรอทอาจทำให้ต่อมไทรอยด์เสียสมดุลได้

5. ควบคุมความเครียด

           ท้ายสุด ควบคุมความเครียดในทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะมาจากการงาน, การออกกำลังกายหนักเกินไป หรือปัญหาความสัมพันธ์ให้ได้ ดร.บาเทีย กล่าวว่า การมีความเครียดอยู่เสมอบีบให้ต่อมไทรอยด์ทำงานหนักขึ้นจนกระทั่งถึงจุดที่มันเริ่มเสื่อม ดังนั้น ให้นอนหลับให้เพียงพอและออกกำลังกายให้เพียงพอ และฝึกเทคนิคบริหารความเครียดด้วย







ขอขอบคุณข้อมูลจาก

คอลัมน์ : Special Report
เรื่อง : Problem Solved : Detox Your Thyroid
วารสาร : Prevention; Fit & Firm at 40
ผู้แปล : ฉัตรตระกูล เจียจันทร์พงษ์, M.P.H.

 


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ถึงเวลา...ล้างพิษให้ต่อมไทรอยด์ อัปเดตล่าสุด 14 กรกฎาคม 2557 เวลา 15:56:34 93,857 อ่าน
TOP