x close

ภาวะพร่องฮอร์โมน ปัญหาสุขภาพที่ทำบ้านแตกได้ง่าย ๆ


ภาวะพร่องฮอร์โมน
ภาวะพร่องฮอร์โมน กระทบชีวิตประจำวันขนาดไหนกัน


รู้หรือไม่ ? บ้านแตกได้ง่าย ๆ เมื่อฮอร์โมนบกพร่อง (247 freemagazine)
โดย iD11 by 247 Team
ขอขอบคุณข้อมูลจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์พันธ์ศักดิ์ ศุกระฤกษ์ ผู้อำนวยการด้านการแพทย์ ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพไวทัลไลฟ์ ในเครือโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์อินเตอร์เนชั่นแนล

          ภาวะพร่องฮอร์โมนคืออะไร ส่งผลกระทบอย่างไรต่อสุขภาพและการใช้ชีวิตประจำวัน ลองมาดู

          อุณหภูมิร้อนแรงอย่างนี้ ยิ่งเป็นตัวช่วยเร่งอารมณ์หงุดหงิดได้ดีทีเดียว โดยเฉพาะกับคู่รักที่มีพฤติกรรม เหมือน "ลิ้น" กับ "ฟัน" อยู่แล้ว ยิ่งเสี่ยงต่อการทะเลาะเบาะแว้งได้ แต่เหตุผลเรื่องดินฟ้าอากาศจริง ๆ แล้ว มันก็เป็นเพียงแค่เหตุผลหนึ่งที่หยิบยกมาอ้าง แต่จริง ๆ แล้วมันยังมีอีกหนึ่งเหตุผลสำคัญที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการกระทบกระทั่งและอาจก่อให้เกิดปัญหาครอบครัวได้ง่าย ๆ ก็คือ ภาวะฮอร์โมนที่ผิดปกติ หรือที่เรียกกันว่า ภาวะพร่องฮอร์โมน

ภาวะพร่องฮอร์โมนคืออะไร

          ภาวะพร่องฮอร์โมน คือ ภาวะที่ฮอร์โมนในร่างกายขาดความสมดุลหรือฮอร์โมนที่สำคัญบางชนิดมีปริมาณลดน้อยลงไป ทั้งนี้ ฮอร์โมนเป็นสารที่หลั่งออกมาจากต่อมไร้ท่อเข้าสู่กระแสเลือดเพื่อส่งไปยังอวัยวะต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อภาวะการเจริญเติบโต การซ่อมแซมเซลล์ และการทำงานของฮอร์โมนอย่างสมดุล รวมทั้งมีผลต่ออารมณ์และความรู้สึกนึกคิด

สาเหตุการเกิด

          ภาวะพร่องฮอร์โมนเกิดได้จากสาเหตุหลากหลาย เช่น ทำงานหนัก เครียด พักผ่อนน้อย นอนดึก ตื่นเช้า ได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ หรือแม้แต่อายุที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ในช่วงกลางคืนร่างกายผู้ชายจะผลิตฮอร์โมนได้กว่า 90% ถ้ามีการหลับสนิทในความมืดต่อมใต้สมองก็จะทำงานได้ดี และจะเริ่มมีการหลั่งฮอร์โมนเข้าสู่กระแสเลือดและส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น ฮอร์โมน LH ส่งไปที่อัณฑะที่สร้างฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (testosterone) รวมไปถึงการสร้างกล้ามเนื้อ ประสาทการรับรู้ อารมณ์ และพลังงานของร่างกาย

          นอกจากนี้ฮอร์โมนอื่น ๆ ไม่ว่าฮอร์โมนจากต่อมไทรอยด์ที่ควบคุมการเผาผลาญอาหารเป็นพลังงาน หรือฮอร์โมน DHEA-S ที่ผลิตจากต่อมหมวกไตก็จะได้รับการควบคุมจากฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างความสมดุลของฮอร์โมนทั้งหลายอันเป็นรากฐานในการมีสุขภาพดี

เป็นแล้วก็แก้ได้

          เราสามารถปรับเพิ่มระดับฮอร์โมนในร่างกายได้ โดยการรับฮอร์โมนและอาหารเสริมภายใต้การควบคุมดูแลของแพทย์ควบคู่ไปกับการพักผ่อนและการออกกำลังกาย เรามีแบบทดสอบภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชายเบื้องต้น (ADAM Score Test) ที่จะช่วยตรวจสภาวะฮอร์โมนได้ หรือไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อผลการตรวจที่แม่นยำพร้อมเติมฮอร์โมนให้สมดุลโดยวิธีการที่เหมาะสมและปลอดภัยตามความจำเป็นของคนไข้แต่ละคน


ภาวะพร่องฮอร์โมน


Did You Know ?

          ภาวะพร่องฮอร์โมนส่งผลที่เกิดต่อร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และพฤติกรรมได้หลากหลาย เช่น เมื่อระดับฮอร์โมนเพศชายและโกรทฮอร์โมนตกก็จะเกิดภาวะอ้วนลงพุง (Metabolic Syndrome) เบาหวาน ไขมันอุดตันในเส้นเลือด นอกจากนี้ยังเกิดอาการเหนื่อยล้าง่าย สมรรถภาพและกิจกรรมทางเพศลดลง และอาการซึมเศร้า

          50 = การเกิดภาวะพร่องฮอร์โมนส่วนใหญ่มักจะเกิดในคุณผู้ชายอายุ 50 ปีขึ้นไป

         อีกหนึ่งวิธีที่ช่วยแก้ภาวะพร่องฮอร์โมนคือการกระตุ้นการสร้างฮอร์โมนตามธรรมชาติ สามารถทำได้ง่าย ๆ เช่น เข้านอนตั้งแต่หัวค่ำเพื่อให้แน่ใจว่าหลับสนิทได้ตอนประมาณเที่ยงคืน ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งการออกกำลังกายเพื่อกระตุ้นฮอร์โมนนี้ ต่างจากการออกกำลังกายเพื่อรักษาสุขภาพตามปกติ (30 นาที) คือ ต้องทำอย่างน้อยวันละ 45 นาที หรือ 300 นาทีต่อสัปดาห์ เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และสำคัญที่สุดคือ คิดบวก มองทุกอย่างในแง่ดี เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดภาวะซึมเศร้า





ขอขอบคุณข้อมูลจาก

 


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ภาวะพร่องฮอร์โมน ปัญหาสุขภาพที่ทำบ้านแตกได้ง่าย ๆ อัปเดตล่าสุด 14 สิงหาคม 2557 เวลา 10:52:43 6,529 อ่าน
TOP