x close

เครียดลงกระเพาะ อาการไหนบอกชัด เช็กแล้วปรับให้ทันก่อนป่วย

          ความเครียดมีกันได้ทุกคน แต่หากเครียดลงกระเพาะขึ้นมาจะไม่ใช่แค่ปวดหัวแล้วนะ แต่อาจเป็นโรคกระเพาะได้ด้วย

เครียดลงกระเพาะ

          สิ่งที่อันตรายอย่างความเครียด นอกจากจะทำให้เรารู้สึกปวดหัว อ่อนเพลีย นอนไม่หลับแล้ว ยังอาจลุกลามไปลงกระเพาะอาหาร เพิ่มอาการป่วยในทางเดินอาหารให้เราได้อีกอย่าง ดังนั้นถ้าใครรู้สึกไม่ค่อยสบายเหมือนจะเป็นโรคกระเพาะ และรู้ตัวว่าเครียดบ่อย ๆ ลองมาเช็กอาการกันหน่อยว่าเราป่วยโรคเครียดลงกระเพาะอยู่ไหม อาการไหนใช่ จะได้ปรับตัวเพื่อเลี่ยงหรืออย่างน้อยก็ช่วยให้เข้าใจโรคที่เป็นอยู่ และหาทางรักษาอย่างตรงจุด

ความเครียด VS โรคกระเพาะ เกี่ยวกันอย่างไร


          หลายคนอาจสงสัยว่า เครียดแล้วทำไมลามไปเป็นโรคกระเพาะได้ ก็ต้องอธิบายแบบนี้ค่ะว่า ความเครียดแบบมาก ๆ หรือเครียดบ่อย ๆ ต่อเนื่องกันนาน ๆ จะส่งผลให้ระบบประสาทอัตโนมัติไปกระตุ้นต่อมหมวกไตให้หลั่งฮอร์โมนอะดรีนาลินออกมามากกว่าปกติ ทำให้ร่างกายตื่นตัวตลอดเวลา ขณะที่ต่อมไทรอยด์ก็หลั่งฮอร์โมนเร่งปฏิกิริยาการเผาผลาญอาหารออกมามาก ส่งผลให้นอนไม่ค่อยหลับ และพอนอนไม่หลับก็อาจจะหิวตอนดึกได้อีก

          อีกทั้งความเครียดที่สะสมยังกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งน้ำย่อยออกมามาก กรดในกระเพาะอาหารเพิ่มสูงขึ้นจนเกิดการระคายเคือง ดังนั้นคนที่มีภาวะเครียดมาก ๆ จึงอาจมีอาการโรคกระเพาะที่มีสาเหตุมาจากความเครียด หรือที่เราเรียกว่าเครียดลงกระเพาะนั่นเอง

เครียดลงกระเพาะ อาการเป็นอย่างไร


          ส่วนใหญ่โรคเครียดลงกระเพาะจะมีอาการ ดังนี้

     1. จุก แน่นลิ้นปี่แบบเป็น ๆ หาย ๆ โดยมักเกิดขึ้นตอนท้องว่าง หรือหลังรับประทานอาหาร

     2. ปั่นป่วนในท้อง รู้สึกคลื่นไส้ อยากอาเจียน  

     3. แน่นท้อง ท้องอืด อาหารไม่ย่อย

     4. เรอ หรือผายลมบ่อย จากกรด-แก๊สในกระเพาะอาหาร

     5. อาจมีอาการท้องผูก หรือถ่ายบ่อยครั้งได้ในบางคน

     6. อาการจะกำเริบเมื่อรู้สึกเครียด

           อย่างไรก็ดี อาการเครียดลงกระเพาะจะค่อนข้างคล้ายอาการโรคกระเพาะโดยทั่วไป ดังนั้นหากเป็นโรคกระเพาะก็ไม่ควรเทน้ำหนักไปโทษความเครียดเพียงอย่างเดียว แต่ควรตรวจหาสาเหตุอื่น ๆ ด้วย เช่น การกินยาที่ระคายเคืองกระเพาะอาหาร การมีพฤติกรรมสุขภาพอื่น ๆ ที่ไม่เหมาะสม หรือการติดเชื้อแบคทีเรีย H.pylori ในกระเพาะ เป็นต้น


เครียดลงกระเพาะ VS กรดไหลย้อน อาการแตกต่างกันไหม


เครียดลงกระเพาะ

          คนที่มีความเครียดมักจะมีภาวะหลอดอาหารมีความไวต่อสิ่งกระตุ้นมากเกินไป (Esophageal hypersensitivity) ทำให้หลอดอาหารไวต่อกรด เมื่อมีภาวะน้ำย่อยย้อนขึ้นมาในหลอดอาหารแม้เพียงเล็กน้อยก็ทำให้เกิดอาการคล้ายโรคกรดไหลย้อน ทว่าอาการโรคเครียดลงกระเพาะกับอาการโรคกรดไหลย้อนก็มีจุดสังเกตที่แตกต่างกัน ดังนี้

          - จุดเกิดโรคอยู่คนละตำแหน่งกัน โดยโรคเครียดลงกระเพาะจะเกิดในกระเพาะอาหาร ส่วนโรคกรดไหลย้อนจะเกิดในหลอดอาหาร หรือนอกหลอดอาหาร แต่ไม่เกี่ยวกับกระเพาะอาหาร

          - อาการเครียดลงกระเพาะจะจุกแน่นใต้ลิ้นปี่ ต่างจากโรคกรดไหลย้อนที่จะเกิดอาการแสบร้อนกลางอกหรือลิ้นปี่

          - โรคเครียดลงกระเพาะจะมีอาการแบบเป็น ๆ หาย ๆ และมักจะเกิดขึ้นตอนท้องว่าง หรือหลังมื้ออาหาร ในขณะที่โรคกรดไหลย้อนจะมีอาการหลังมื้ออาหารประมาณ 30-60 นาที

          - โรคกรดไหลย้อนมักมีน้ำรสขมหรือเปรี้ยวไหลย้อนขึ้นมาทางปาก แต่โรคเครียดลงกระเพาะจะไม่ค่อยเจออาการนี้ มีแต่อาการเรอบ่อย และความรู้สึกจุกเสียดหน้าอก


เครียดลงกระเพาะอันตรายไหม


          แม้โรคเครียดลงกระเพาะจะไม่ใช่โรคที่ร้ายแรง แต่ก็เป็นโรคเรื้อรังที่ทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยแย่ลง เพราะอาการมักเป็น ๆ หาย ๆ และแม้ผู้ป่วยราว ๆ 50% จะมีอาการดีขึ้นได้ แต่อีก 20% อาจมีอาการต่อเนื่องเป็นเวลานาน

          อย่างไรก็ตาม หากพบว่ามีอาการผิดปกติ เช่น น้ำหนักลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ กินอาหารได้น้อยลง อิ่มเร็วขึ้น มีอาการคลื่นไส้ อาเจียนเรื้อรัง ควรพบแพทย์เพื่อตรวจเช็กว่าเสี่ยงจะมีอาการแทรกซ้อนหรือภาวะของโรคอื่นซ่อนอยู่หรือไม่ เช่น โรคลำไส้แปรปรวน โรคลำไส้อักเสบ รวมไปถึงโรคอื่น ๆ ในลำไส้ใหญ่ และถ้าหากอาเจียนหรือถ่ายอุจจาระเป็นสีดำ อาจเป็นสัญญาณกระเพาะทะลุ เลือดออกในกระเพาะ ต้องรีบพบแพทย์โดยด่วน

เครียดลงกระเพาะ รักษายังไงดี


เครียดลงกระเพาะ

          วิธีรักษาโรคเครียดลงกระเพาะโดยส่วนใหญ่ต้องอาศัยการปรับพฤติกรรมของผู้ป่วย เช่น

     1. รับประทานอาหารให้ตรงเวลา และครบ 3 มื้อ

     2. เลือกกินอาหารที่ไม่กระตุ้นอาการของโรค เช่น อาหารรสจืด อาหารย่อยง่าย อาหารที่ไม่มีกรดหรือแก๊สเยอะ เป็นต้น และควรเลี่ยงอาหารรสจัด อาหารมัน ๆ ของทอด ที่ทำให้จุกแน่นท้อง

          - เป็นโรคกระเพาะห้ามกินอะไร แล้วกินอะไรได้บ้าง อาการจะไม่กำเริบ

          - 7 ผลไม้เคลือบกระเพาะ กินอะไรดีเมื่อแสบท้องกระเพาะอาหาร

     3. หลีกเลี่ยงการดื่มชา กาแฟ เครื่องดื่มชูกำลัง และน้ำอัดลม เพราะอาจทำให้กระเพาะอาหารอักเสบ หรือกระตุ้นอาการที่เป็นอยู่ให้กำเริบหนักขึ้น

     4. งดสูบบุหรี่ และงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งหมด เพราะระคายเคืองกระเพาะอาหาร

     5. หลีกเลี่ยงการรับประทานยาแก้ปวดกลุ่มแอสไพริน รวมทั้งยาแก้อักเสบกลุ่มเอ็นเสด เช่น ไอบูโพรเฟน ไดโคลฟีแนค นาพร็อกเซน ฯลฯ เพราะยาจำพวกนี้จะมีฤทธิ์ไปกระตุ้นกระเพาะอาหารให้เกิดการอักเสบมากขึ้น แต่ในกรณีที่จำเป็นต้องใช้ยาบางชนิด เช่น ยารักษาข้ออักเสบ ควรปรึกษาแพทย์ก่อน

     6. ออกกำลังกายและพักผ่อนให้เพียงพอ ซึ่งจะช่วยให้ร่างกายหลั่งสารเอ็นดอร์ฟินมาผ่อนคลายความเครียดและทำให้อารมณ์ดีขึ้นได้ ส่งผลดีต่ออาการที่เป็นอยู่ด้วย

     7. หากลองปรับพฤติกรรมแล้วอาการก็ยังไม่ดีขึ้น แนะนำให้ไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษาเพิ่มเติม ซึ่งแพทย์อาจรักษาด้วยยา หรือให้คำแนะนำการปฏิบัติตัวที่เหมาะสมกับอาการที่เป็นอยู่
 

เครียดลงกระเพาะ ป้องกันได้ไหม


          สาเหตุหลัก ๆ ของโรคเครียดลงกระเพาะก็เกิดจากความเครียด ดังนั้นวิธีป้องกันโรคเครียดลงกระเพาะก็ต้องโฟกัสที่การจัดการความเครียดของตัวเอง โดยแพทย์อาจแนะนำให้ลดความเครียดด้วยการพุดคุย ระบายความเครียดกับคนที่ไว้ใจ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หากิจกรรมที่ชื่นชอบทำคลายเครียด หรืออาจปรึกษานักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์ก็ได้

10 วิธีคลายเครียดให้หมดไป ภายในไม่กี่นาที

          เห็นไหมคะว่าแค่เครียดก็อันตรายต่อสุขภาพได้ ดังนั้นลองเช็กตัวเองดูว่ามีสัญญาณเครียดเกินไปหรือยัง เช่น หายใจเร็ว ปวดหัว มีปัญหาความจำ กินเก่ง กินจุบจิบ อยากกินแต่ของหวาน หรือนอนไม่ค่อยหลับ เพราะถ้าเรารู้ตัวทันจะได้แก้ปัญหาได้ไว ไม่ให้กระทบกับสุขภาพร่างกายจนเสี่ยงป่วยโรคต่าง ๆ
              

บทความที่เกี่ยวข้องกับโรคเครียดลงกระเพาะ


     โอ๊ย…ปวดท้อง อาการโรคกระเพาะถามหาหรือเปล่า ?

      คุณมีแผลในกระเพาะอาหารหรือเปล่า ?

     ปวดยอดอก เจ็บกระเพาะ ระวังอาจไม่ใช่เพียงโรคกระเพา

      10 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับโรคกระเพาะ -=By หมอแมว=-

     10 สมุนไพรใกล้ตัว บรรเทาโรคกระเพาะได้ชัวร์ไม่ต้องทนกินยา

     ปวดท้องตรงกลาง ปวด ๆ หาย ๆ ป่วยอะไรได้บ้าง

     ปวดท้องข้างซ้าย เกิดจากอะไร เคลียร์ให้เข้าใจ อย่าปล่อยให้สายเกินแก้

      9 วิธีหายใจคลายเครียด จัดไปให้หายกังวลใน 10 นาที !

      11 วิธีคลายเครียดง่าย ๆ แบบไม่ต้องลุกจากโต๊ะทำงาน


* หมายเหตุ : อัปเดตข้อมูลล่าสุดวันที่ 20 กันยายน 2564

ขอบคุณข้อมูลจาก
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
โรงพยาบาลศิครินทร์ สมุทรปราการ
ชัวร์ก่อนแชร์
โรงพยาบาลสมิติเวช
โรงพยาบาลพญาไท
นิตยสารชีวจิต 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เครียดลงกระเพาะ อาการไหนบอกชัด เช็กแล้วปรับให้ทันก่อนป่วย อัปเดตล่าสุด 20 กันยายน 2564 เวลา 17:30:39 235,805 อ่าน
TOP