x close

สธ. แนะเลือกซื้อลูกชิ้นปลาให้ปลอดภัย ไร้สารเรืองแสง


ลูกชิ้นปลา

 

สธ. แนะเลือกซื้อลูกชิ้นปลาให้ปลอดภัยไร้สารเรืองแสง (กระทรวงสาธารณสุข)

          กระทรวงสาธารณสุข แนะเลือกซื้อลูกชิ้นปลาอย่างปลอดภัยไร้สารเรืองแสง ย้ำซื้อจากร้านที่เชื่อถือได้ สังเกตบรรจุภัณฑ์ต้องปิดสนิท ไม่ฉีกขาด ลักษณะลูกชิ้นปลาไม่มีเมือกหรือจุดสี มีสีและกลิ่นธรรมชาติ 

          เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2557 นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์  ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า จากกรณีพบสารเรืองแสงในลูกชิ้นปลา ส่วนใหญ่เกิดจากการปนเปื้อนของแบคทีเรีย 2 กลุ่ม กลุ่มแรก คือ กลุ่มซูโดโมแนส (Pseudomonas) มักพบบริเวณส่วนเมือกที่ปกคลุมผิวด้านนอกและด้านในทางเดินอาหารของปลา มีทั้งสายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดอันตรายและไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย ซึ่งสายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดอันตรายจะเป็นกลุ่ม Pseudomonas aeruginosa มีเอนไซม์สลายเม็ดเลือดแดง ก่อให้เกิดโรคติดเชื้อในระบบปัสสาวะ โลหิตเป็นพิษ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ปอดอักเสบ การติดเชื้อในแผลน้ำร้อนลวก หรือไฟลวก ตาอักเสบ และหนองฝีต่าง ๆ

          กลุ่มที่สอง คือ กลุ่มวิปริโอ (Vibrio) พบได้ทั่วไปในธรรมชาติโดยเฉพาะผัก ผลไม้ และอาหาร มีทั้งชนิดที่เป็นอันตรายและไม่เป็นอันตรายเช่นเดียวกัน ซึ่งชนิดที่เป็นอันตรายจะก่อให้เกิดอหิวาตกโรค กระเพาะลำไส้อักเสบ แต่แบคทีเรียชนิดนี้สามารถทำลายได้ด้วยความร้อน 56 องศาเซลเซียส 

          ทั้งนี้การปนเปื้อนของแบคทีเรียอาจเกิดจากกระบวนการผลิตที่ไม่ถูกสุขลักษณะ เช่น การฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่ไม่เหมาะสมทำให้เชื้อยังไม่หมด หรือปนเปื้อนระหว่างและหลังการผลิต ทั้งจากการบรรจุ อุปกรณ์การผลิต ผู้ผลิต รวมทั้งการขนส่งและระหว่างรอจำหน่ายหากเก็บผลิตภัณฑ์ไว้ในอุณหภูมิที่สูงกว่า 4 องศาเซลเซียส สามารถทำให้เชื้อแบคทีเรียเติบโตได้อย่างรวดเร็ว

          ด้าน ดร.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กรมอนามัยมีแนวทางในการควบคุมและป้องกันการปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียต่าง ๆ โดยบังคับให้สถานที่ผลิตลูกชิ้นต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์วิธีการผลิตที่ดีในการผลิตอาหาร ว่าด้วยสุขลักษณะทั่วไป (GMP) หรือคำแนะนำคณะกรรมการสาธารณสุข ฉบับที่ 6/2549 เรื่องการควบคุมการประกอบกิจการการผลิตลูกชิ้นด้วยเครื่องจักร

          โดยคำแนะนำดังกล่าว ได้มีการควบคุมตั้งแต่สถานที่ตั้งและอาคารที่ใช้ในการผลิต สุขลักษณะของเครื่องมือ เครื่องจักร และอุปกรณ์ในการผลิต การควบคุมกระบวนการผลิต การสุขาภิบาล การบำรุงรักษา การทำความสะอาด สุขอนามัยของผู้ปฏิบัติงาน รวมทั้งสุ่มตรวจสอบสุขลักษณะของสถานที่ผลิตครอบคลุมตั้งแต่กรรมวิธีการผลิต แหล่งวัตถุดิบที่นำมาใช้ เครื่องมือเครื่องใช้ในการผลิต วิธีการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์  ตู้เย็น ตู้แช่แข็ง และกระบวนการขนส่ง สุดท้ายตรวจสอบสถานที่จำหน่าย โดยมีการสุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ เช่น ลูกชิ้นปลา ลูกชิ้นกุ้ง เพื่อตรวจวิเคราะห์หาจุลินทรีย์ที่ทำให้เรืองแสง จุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรคอื่น วัตถุเจือปนอาหารที่อาจจะนำมาใช้ในขั้นตอนการผลิต

          ในส่วนของการเลือกซื้อลูกชิ้นปลานั้น นพ.พรเทพ มีคำแนะนำดังนี้

          ควรเลือกซื้อลูกชิ้นปลาจากร้านค้าที่เชื่อถือ มีเครื่องหมาย อย. ระบุวัน เดือน ปีหมดอายุ

          เลือกซื้อลูกชิ้นปลาที่สะอาด มีการจัดเก็บเป็นอย่างดี

          บรรจุภัณฑ์ควรปิดสนิท ไม่ฉีกขาด หรือกรอบจนเกินไป

          ลูกชิ้นปลาไม่มีเมือกหรือจุดสี มีสีและกลิ่นตามธรรมชาติ

          หลังจากการซื้อควรเก็บไว้ในตู้เย็นที่อุณหภูมิไม่เกิน 4 องศาเซลเซียส

          ก่อนนำมารับประทานควรนำไปลวกหรือปรุงประกอบด้วยความร้อนให้สุกอย่างทั่วถึง และไม่ควรทิ้งไว้ที่อุณหภูมิห้องเกิน 2 ชั่วโมง


ขอขอบคุณข้อมูลจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สธ. แนะเลือกซื้อลูกชิ้นปลาให้ปลอดภัย ไร้สารเรืองแสง อัปเดตล่าสุด 11 กันยายน 2557 เวลา 10:08:20
TOP