x close

โรคแพ้ถั่วปากอ้า G6PD อันตรายไหม เช็กอาการจากอะไรได้บ้าง

          โรคแพ้ถั่วปากอ้า เกิดจากอาการแพ้ถั่วปากอ้าจริงหรือไม่ แล้วมีสารอะไรในถั่วปากอ้าที่ทำให้เราแพ้ วันนี้เราจะตีแผ่โรค G6PD ให้หมดเปลือก !
 
โรคแพ้ถั่วปากอ้า

          โรคแพ้ถั่วปากอ้า หรือโรค G6PD บางคนอาจไม่เคยรู้จักโรคนี้เลย หรืออาจได้ยินผ่านหูมาบ้าง วันนี้เราจะมาเจาะลึกกันค่ะว่า โรคแพ้ถั่วปากอ้าอาการเป็นอย่างไร เกิดจากอะไรได้บ้าง หรือเจ้าโรค G6PD อันตรายไหม เป็นแล้วควรต้องรักษาอย่างไร หรือมีข้อควรระวังอะไรในการใช้ชีวิตบ้าง

          โรคแพ้ถั่วปากอ้า คืออะไร

          โรคแพ้ถั่วปากอ้า หรือ โรค G6PD ย่อมาจาก Glucose-6-phosphate dehydrogenase deficiency โดยทางการแพทย์จะเรียกโรคนี้ว่า ภาวะพร่องเอนไซม์ G6PD ซึ่งเอนไซม์ G6PD นี้เป็นเอนไซม์สำคัญที่อยู่ในเซลล์ทุกชนิด คอยทำหน้าที่สร้างสารที่ช่วยป้องกันไม่ให้เม็ดเลือดแดงแตกง่าย หรือเกิดภาวะเม็ดเลือดแดงเสียหายจากการได้รับยาหรือสารบางชนิด ดังนั้นผู้ป่วยภาวะพร่องเอนไซม์ G6PD ก็จะมีความผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับเม็ดเลือดแดงได้ง่ายกว่าคนทั่วไป โดยเฉพาะหากถูกกระตุ้นด้วยสารบางอย่างที่เม็ดเลือดแดงไม่อาจต้านทานได้ เช่น สารบางอย่างในถั่วปากอ้า เป็นต้น ด้วยเหตุนี้เราจึงเรียกโรค G6PD ว่า โรคแพ้ถั่วปากอ้า นั่นเอง

          โรคแพ้ถั่วปากอ้า เกิดจากอะไร

          โรคแพ้ถั่วปากอ้า เกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรมบนโครโมโซม X จึงพบโรคนี้ได้มากในเพศชาย เพราะมีโครโมโซม XY ดังนั้นหากโครโมโซม X มีการกลายพันธุ์ก็จะเกิดภาวะพร่อง G6PD ทันที แต่ในเพศหญิง หากโครโมโซม X กลายพันธุ์ จะเป็นเพียงพาหะเท่านั้น ทว่าหากเพศหญิงที่เป็นพาหะโรค G6PD มีลูกชาย เด็กชายคนนั้นก็จะมีภาวะพร่อง G6PD หรือเป็นโรคถั่วปากอ้าทันที เนื่องจากความบกพร่องทางพันธุกรรมนี้ถ่ายทอดผ่านทางยีนนั่นเอง


          อย่างไรก็ตาม โรคแพ้ถั่วปากอ้ายังอาจพบในเพศหญิงที่ได้รับพันธุกรรมที่ผิดปกติมาจากบิดาและมารดา หรือได้รับพันธุกรรมที่ผิดปกติจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพียงคนเดียวก็ได้เช่นกัน

          โรคแพ้ถั่วปากอ้า อาการเป็นอย่างไร

          โดยปกติแล้วผู้ป่วยโรคแพ้ถั่วปากอ้าจะไม่แสดงอาการ แต่หากได้รับสารกระตุ้นหรือมีการติดเชื้อบางอย่างก็จะเกิดภาวะเม็ดเลือดแดงแตกเฉียบพลัน ซึ่งอาการจะเกิดขึ้นใน 24-48 ชั่วโมง หลังจากได้รับสารกระตุ้น ทั้งนี้อาการโรคแพ้ถั่วปากอ้าอาจเป็นตั้งแต่อาการปวดท้อง อาเจียน หรือท้องเดิน ท้องเสีย มีไข้ต่ำ ๆ ปวดหลัง มีปัสสาวะเป็นสีโคล่า อันเกิดจากสารฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดงรั่วออกมา และร่างกายกำจัดออกทางปัสสาวะ

          นอกจากนี้ผู้ป่วยอาจมีภาวะซีด ตัวเหลือง ตาเหลือง อ่อนเพลีย เหนื่อยง่ายร่วมด้วย อย่างไรก็ตาม ในผู้ป่วยบางรายอาจพบว่ามีปริมาณปัสสาวะน้อยจนอาจนำไปสู่ภาวะไตวายเฉียบพลันได้ด้วย ทั้งนี้อาการโรคถั่วปากอ้ายังมีแบบชนิดเรื้อรัง กล่าวคือ ผู้ป่วยมีอาการเม็ดเลือดแดงแตกแบบเป็น ๆ หาย ๆ มีภาวะซีดเรื้อรัง รวมทั้งภาวะตับโต ม้ามโต อันเกิดจากภาวะเม็ดเลือดแดงแตกค่อนข้างถี่มาก ทว่าอาการนี้ไม่ค่อยพบในประเทศไทย ส่วนใหญ่ที่พบจะเป็นผู้ป่วยโรคถั่วปากอ้าที่มีอาการแบบเฉียบพลันมากกว่า

          แต่อย่างไรก็ตาม อาการโรคถั่วปากอ้าจะมีความรุนแรงไม่เท่ากันในแต่ละคนนะคะ บางคนอาจมีอาการแสดงมากหลังได้รับสารกระตุ้น แต่บางคนก็มีอาการแสดงน้อยหลังได้รับสารกระตุ้น หรือต้องได้รับสารกระตุ้นในปริมาณมาก ๆ จึงจะแสดงอาการป่วย เป็นต้น

โรคแพ้ถั่วปากอ้า

          โรค G6PD แพ้ยาอะไรบ้าง หรือแพ้สารตัวไหน อาหารอะไรควรเลี่ยง

          เนื่องจากปกติแล้วผู้ป่วยโรคถั่วปากอ้าจะไม่แสดงอาการ เว้นเสียแต่ว่าได้รับสารกระตุ้นที่อาจแฝงมาในรูปอาหาร ยา หรือสารต่าง ๆ ซึ่งเราจะพามาดูว่าปัจจัยกระตุ้นให้เกิดอาการโรคถั่วปากอ้ามีอะไรบ้าง

          1. อาหาร

          สารในถั่วปากอ้า บลูเบอร์รี ไวน์แดง โยเกิร์ตที่มีส่วนประกอบของถั่วปากอ้า ไวน์แดง พืชตระกูลถั่ว บลูเบอร์รี โซดาขิง โทนิค (Tonic) อาหารที่ใช้ดินประสิวในการถนอมอาหาร เช่น กุนเชียง ไส้กรอก หมูยอ ปลาเค็ม หรือแฮมที่มีสีสดผิดปกติ

          2. ยา

          ยกตัวอย่างเช่น ยาปฏิชีวนะกลุ่มซัลฟา ยาปฏิชีวนะกลุ่มฟลูออโรควิโนโลน ยาต้านมาลาเรียบางชนิด ยาแอสไพริน ยาฟีนาโซไพริดีน หรือยาแก้ปวดที่รู้จักกันในนามยาล้างไต

          3. สารเคมีใกล้ตัว

          สารเคมีในชีวิตประจำวันที่มีสารแนฟทาลีนเป็นส่วนประกอบ เช่น ลูกเหม็น เป็นต้น

          นอกจากนี้การติดเชื้อบางอย่าง เช่น ไข้หวัด หรือหลอดลมอักเสบ ก็อาจเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดภาวะเม็ดเลือดแดงแตกได้

โรคแพ้ถั่วปากอ้า

          โรค G6PD กินถั่วเหลืองได้ไหม

          หลายคนสงสัยว่าโรคแพ้ถั่วปากอ้าจะสามารถกินถั่วชนิดอื่นที่ไม่ใช่ถั่วปากอ้าได้ไหม เช่น ถั่วเหลืองซึ่งเป็นถั่วที่สามารถนำมาแปรรูปเป็นอาหารได้หลายอย่าง ตั้งแต่นมถั่วเหลือง เต้าหู้ น้ำเพื่อสุขภาพอย่างน้ำเต้าหู้ หรือจะกินเล่นเป็นสแน็กก็ได้เช่นกัน ซึ่งคำถามนี้อาจตอบได้ว่าผู้ป่วยโรค G6PD สามารถกินถั่วเหลืองและถั่วชนิดอื่น ๆ ได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ความรุนแรงของโรค G6PD ในผู้ป่วยแต่ละรายไม่เท่ากัน รวมทั้งความรุนแรงในการแพ้สารกระตุ้นก็ไม่เท่ากันในแต่ละคนด้วย ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยก็แนะนำให้กินถั่วเหลืองและผลิตภัณฑ์ถั่วเหลืองในปริมาณน้อย ๆ ก่อน เพื่อตรวจสอบอาการผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นกับร่างกายของเรา และหากมีความไม่ชอบมาพากลจะได้ทำการรักษาอย่างทันท่วงทีนะคะ

          โรค G6PD อันตรายไหม

          จริง ๆ แล้วโรคนี้ไม่ถือว่ารุนแรง ผู้ป่วยสามารถดำรงชีวิตได้ตามปกติหากสามารถหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นให้เกิดอาการได้ และอย่างที่บอกว่าความรุนแรงของโรค G6PD ในแต่ละบุคคลไม่เท่ากัน ฉะนั้นตัวผู้ป่วยเองควรต้องคอยสังเกตอาการตัวเองหากบังเอิญได้รับสารกระตุ้น ซึ่งหากมีอาการรุนแรงมาก ก็สามารถปรึกษาแพทย์เพื่อทำการรักษาตามอาการแสดงได้

          โรค G6PD รักษาหายไหม

          เนื่องจากโรค G6PD เป็นความผิดปกติทางพันธุกรรม ดังนั้นจึงไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แพทย์เพียงจะทำการรักษาตามอาการหลังจากที่ผู้ป่วยมีภาวะเม็ดเลือดแดงแตก ซึ่งการรักษาโรค G6PD มีแนวทางดังต่อไปนี้

          - ในผู้ป่วยที่มีภาวะเม็ดเลือดแดงแตกแต่อาการยังไม่รุนแรงมาก แพทย์อาจให้เลือด ให้สารน้ำเพื่อป้องกันภาวะไตวาย

          - ในผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจวายจากอาการซีดมาก แพทย์ก็จะให้ออกซิเจน ให้เลือดอย่างช้า ๆ และให้นอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล

          - ในผู้ป่วยที่มีภาวะไตวาย อันเนื่องจากไม่ปัสสาวะเป็นเวลานาน แพทย์อาจรักษาด้วยการล้างไต หรือเปลี่ยนถ่ายเลือดในกรณีที่ผู้ป่วยเป็นเด็กเล็ก

          - ในผู้ป่วยเด็กที่มีภาวะซีดเหลืองจากโรค G6PD ในระดับเบา แพทย์จะรักษาด้วยการส่องไฟ เพื่อช่วยลดปริมาณสารสีเหลืองในเลือดได้ แต่หากทารกมีอาการซีดเหลืองจากโรค G6PD ในระดับรุนแรง แพทย์จะรักษาด้วยการถ่ายเลือดเพื่อกำจัดสารสีเหลืองออกไปจากร่างกาย ป้องกันไม่ให้สารนี้ไปทำลายสมองของทารก

โรคแพ้ถั่วปากอ้า

          โรค G6PD ป้องกันได้ไหม

          โรคแพ้ถั่วปากอ้าเป็นความผิดปกติทางพันธุกรรม ดังนั้นการป้องกันไม่ให้เกิดโรคนี้ในเด็กจึงทำได้ค่อนข้างยาก ฉะนั้นแพทย์จึงจะแนะนำวิธีป้องกันโรค G6PD ด้วยการให้ผู้ป่วยดูแลตัวเองอย่างถูกวิธี เพื่อหลีกเลี่ยงอาการของโรคแทน

          ป่วยโรค G6PD ควรดูแลตัวเองอย่างไร
     
          - หากทราบว่าตัวเองเป็นโรคแพ้ถั่วปากอ้า ก็ควรหลีกเลี่ยงอาหารและยาที่มีผลทำให้เกิดภาวะเม็ดเลือดแดงแตกเฉียบพลัน

          - ควรแจ้งให้แพทย์ พยาบาล และเภสัชกรทราบทุกครั้งว่าตัวเองป่วยเป็นโรค G6PD

          - เมื่อมีอาการเจ็บป่วย ควรปรึกษาแพทย์ และไม่ควรซื้อยามากินเองไม่ว่ากรณีใด ๆ

          - เมื่อมีอาการซีดลง เหนื่อย อ่อนเพลีย มีปัสสาวะสีโคล่า ควรพบแพทย์โดยด่วน

          - สำหรับผู้ป่วยเด็ก ผู้ป่วยควรแจ้งทางโรงเรียนให้ทราบว่าเด็กเป็นโรคแพ้ถั่วปากอ้า ต้องหลีกเลี่ยงอาหารและยาอะไรบ้าง

          - เมื่อเด็กโตขึ้น ผู้ปกครองควรสอนให้เขาหลีกเลี่ยงอาหารหรือสารที่อาจกระตุ้นภาวะเม็ดเลือดแดงแตกได้ รวมทั้งสอนให้เขาสังเกตอาการผิดปกติ เช่น สีของปัสสาวะ สีผิวที่อาจซีดเหลืองเมื่อได้รับสารกระตุ้น เป็นต้น

          อย่างไรก็ดี โรค G6PD หรือโรคแพ้ถั่วปากอ้าไม่ใช่โรคที่มีความรุนแรงจนถึงขีดอันตราย เพียงแต่ผู้ป่วยควรระมัดระวังในการรับประทานอาหารบางชนิด การใช้ยา และการเข้าใกล้สารเคมีอย่างลูกเหม็นเท่านั้น นอกจากนี้ผู้ป่วยก็สามารถใช้ชีวิตตามปกติได้ไม่เป็นปัญหาอะไรค่ะ


ขอบคุณข้อมูลจาก
RAMA CHANNEL, วิจัยไทยคิด, สมาคมโลหิตวิทยาแห่งประเทศไทย, Center of Maternal and Newborn
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
โรคแพ้ถั่วปากอ้า G6PD อันตรายไหม เช็กอาการจากอะไรได้บ้าง อัปเดตล่าสุด 24 พฤศจิกายน 2563 เวลา 20:01:37 187,843 อ่าน
TOP