x close

ไข้หวัด 2009 ระลอก 2 เริ่มออกฤทธิ์ สู่โรงงาน - โรงเรียน



ไข้หวัดใหญ่ 2009


ไข้หวัด 2009 ระลอก 2 เริ่มออกฤทธิ์ สู่โรงงาน - โรงเรียน (ไทยรัฐ)

         หวัด 2009 ระลอกสอง เริ่มออกฤทธิ์ระบาดเข้าโรงงาน-โรงเรียนใน จ.ปราจีนบุรี ยโสธร อุบลราชธานี สธ.เร่งรณรงค์ฉีดวัคซีนต่อเนื่อง หลัง 15 จังหวัดยังดำเนินการไม่เข้าเป้า พบตายเพิ่ม3ราย...

         เมื่อวันที่ 22 ก.พ. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังการประชุมผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ว่า สถานการณ์การระบาดโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ตั้งแต่วันที่ 28 เม.ย. 2552 – 20 ก.พ. 2553 พบผู้ป่วยรวม 33,336 ราย โดยมีผู้เสียชีวิตเพิ่มในสัปดาห์ที่ผ่านมาจำนวน 3 ราย ทำให้จำนวนผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 209 ราย สำหรับผู้เสียชีวิต 3 ราย มี 2 รายอยู่ในกลุ่มเสี่ยง คือ รายแรกเป็นเด็กชายอายุ 2 ปีป่วยด้วยโรคปอด พบที่กรุงเทพฯ และรายที่สองเป็นผู้หญิงอายุ 65 ปี ป่วยด้วยโรคหัวใจ เบาหวาน และโรคไต พบที่ จ.เชียงใหม่ ส่วนอีก 1 ราย ไม่ได้อยู่ในกลุ่มเสี่ยง แต่คาดว่าเสียชีวิตเพราะได้รับยาช้า คือ เด็กหญิงอายุ 6 ปี พบที่ จ.พิษณุโลก 

         ขณะเดียวกันยังได้รับรายงานเพิ่มเติมว่า พบการระบาดเป็นกลุ่มใน 3 จังหวัด คือ ปราจีนบุรี เป็นโรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ จ.ยโสธรเป็นโรงเรียนระดับมัธยมศึกษา และ จ.อุบลราชธานี เป็นโรงเรียนระดับประถมศึกษา แต่ขณะนี้สถานการณ์ในทั้ง 3 จังหวัดไม่น่าห่วงแล้ว อย่างไรก็ตามการรณรงค์ฉีดวัคซีนยังต้องเดินหน้าต่อไป พร้อมๆกับการให้ยาอย่างทันท่วงที

         นายจุรินทร์ กล่าวอีกว่า สำหรับการบริการฉีดวัคซีนให้แก่กลุ่มเสี่ยง ขณะนี้มียอดฉีดวัคซีนสะสมเป็น 291,302 ราย คิดเป็นร้อยละ 14.6 ของเป้าหมาย กลุ่มที่มีการฉีดวัคซีนน้อยที่สุด ได้แก่กลุ่มผู้พิการ เนื่องจากความลำบากในการเข้าถึงบริการของโรงพยาบาลโดยมียอดผู้รับบริการสะสม เพียง 3,321 ราย ส่วนหญิงตั้งครรภ์มีเพียง 18,532 ราย สาเหตุเพราะยังไม่มั่นใจในความปลอดภัย ส่วนกลุ่มที่มีการฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้น คือ กลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรังอยู่ที่ 107,454 ราย นอกจากนี้ จากการรณรงค์บริการฉีดวัคซีนโดยสมัครใจในกลุ่มเสี่ยง พบว่ามี 15 จังหวัดที่ยังมีผู้เข้ารับบริการต่ำกว่าร้อยละ 10 โดยสุพรรณบุรีต่ำสุดมีเพียงร้อยละ 3.7 รองลงคือ ปทุมธานีร้อยละ 4.6 ชลบุรีร้อยละ 5.6 กาญจนบุรีร้อยละ 5.8 ส่วน กทม.พบร้อยละ 6.8 ส่วนจังหวัดที่เหลือ ได้แก่ ราชบุรี สมุทรสาคร ภูเก็ต สตูล สมุทรปราการ จันทบุรี สุรินทร์ อุบลราชธานี ยโสธร และร้อยเอ็ด

         นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มเสี่ยง จึงจำเป็นต้องเร่งรณรงค์ให้เข้ารับบริการฉีดวัคซีน โดยเฉพาะกลุ่มที่มีโรคเรื้อรัง เพราะมีผู้เสียชีวิตจากกลุ่มนี้มาก ล่าสุดตนได้สั่งการณ์ให้ทุกจังหวัด รายงานสถานการณ์การระบาด แนวทางการควบคุมมาให้ส่วนกลางรับทราบ รวมทั้งการดำเนินการรณรงค์เรื่องวัคซีน โดยให้ยึดหลักการรับบริการโดยสมัครใจ 

         ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากรายงานเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์จากการรับวัคซีนสะสม ตั้งแต่วันที่ 11 ม.ค. – 16 ก.พ. 2553 เป็นจำนวนทั้งสิ้น 279 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.12 มีอาการรุนแรงทั้งสิ้น 19 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.008 ราย แบ่งเป็นบุคลากรสาธารณสุข 2 ราย หญิงตั้งครรภ์ 14 ราย และผู้ป่วยโรคเรื้อรังอีก 3 ราย โดยยังเหลืออีก 7 รายที่ต้องรอข้อสรุปจากผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งจะนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณาผลข้างเคียงหรือเหตุข้างเคียงที่อาจ เกี่ยวพันธ์กับวัคซีน พิจารณาในวันที่ 3 มี.ค. อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นข้อมูลในภาพรวมและการสอบสวนเฉพาะรายยังไม่พบข้อมูลที่บ่งถึงความไม่ปลอดภัยของวัคซีน



ขอขอบคุณข้อมูลจาก
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ไข้หวัด 2009 ระลอก 2 เริ่มออกฤทธิ์ สู่โรงงาน - โรงเรียน อัปเดตล่าสุด 25 กุมภาพันธ์ 2553 เวลา 17:59:24
TOP