x close

ครม.อนุมัติ 450 ล้าน คุม ไข้หวัด 2009



ครม.อนุมัติ 450 ล้าน คุมหวัด09 ตั้ง 8 เงื่อนไข คลีนิก รับยาต้านไวรัส (มติชนออนไลน์)

          ครม.อนุมัติงบฯ 450 ล้านให้สธ.คุม-ป้องกันหวัด 2009 ตั้งเงื่อนไข 8 ข้อให้คลีนิกรับ"ยาต้านไวรัส" วิทยาปัดถูกบีบนำร่องที่ราชบุรี "มานิต" แอ่นอกรับคิดเร็วไปหน่อย แต่เพื่อหยุดตาย วัคซีนไทยล็อตแรกเสร็จ 12 สิงหาคม จัดหา 424 อาสาสมัคร

  อนุมัติ 450 ล้าน คุมหวัด2009

          คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติงบฯกลางให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) 450 ล้านบาท จากที่ขอไป 756 ล้านบาท เพื่อดำเนินการ 4 ข้อ คือ 

          1. สนับสนุนเงินการเฝ้าระวังป้องกัน และควบคุมโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 แก่หน่วยงานส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค สังกัด สธ. รวมถึงหน่วยนอกสังกัด สธ. เช่น สำนักการแพทย์กรุงเทพ 
          2. จัดซื้อยาซานามีเวียร์ 20,000 ชุด ซึ่งเป็นยาต้านไวรัสใช้สำรองกรณีที่ผู้ติดเชื้อดื้อยาโอเซลทามีเวียร์ เป็นเงิน 9 ล้านบาท 
          3. ใช้ประชาสัมพันธ์และการสื่อสารสาธารณะ เช่น โทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ โรงภาพยนตร์ เอสเอ็มเอส อินเตอร์เน็ต ข่าวสั้น เป็นต้น
          4. ซื้อเครื่องช่วยหายใจทั้งเด็กและผู้ใหญ่ เป็นเงินกว่า 180 ล้านบาท

          ทั้งนี้ นพ.ภูมินทร์ ลีธีระประเสริฐ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุม ครม. เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม ว่า การตัดวงเงินงบฯจาก 756 ล้านบาท เหลือ 450 ล้านบาท เนื่องจากสำนักงบประมาณมีความเห็นว่า ยอดเงิน 450 ล้านบาท น่าจะเพียงพอต่อการใช้ตามวัตถุประสงค์ทั้ง 4 ข้อหลัก ดังนั้น จากนี้เป็นหน้าที่ของสำนักงบประมาณที่จะหารือกับ สธ.ในการดำเนินการต่อไป

  เงื่อนไข 8 ข้อ คลีนิกรับยาต้าน

          นพ.ภูมินทร์ ลีธีระประเสริฐ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันที่ 29 กรกฎาคม สธ.จะแถลงความคืบหน้ายอดผู้เสียชีวิตและผู้ติดเชื้อในประเทศไทย ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญออกมาระบุว่า
ขณะนี้ประเทศไทยน่าจะมีผู้ติดเชื้อประมาณ 5 แสนคน แต่ที่สามารถตรวจยืนยันได้มีกว่า 8,000 คน ซึ่งจากข้อมูลสถิติผู้ที่เสียชีวิต 80 - 90 เปอร์เซ็นต์ ผู้ป่วยได้รับยาล่าช้าประมาณ 6 - 7 วัน ทำให้เสียชีวิต ทางคณะอนุกรรมการของ สธ.เสนอให้พิจารณาแจกจ่ายยาต้านไวรัสให้กับคลีนิกทั่วประเทศกว่า  13,000 แห่ง เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับยารักษาเร็วขึ้น

          "คลีนิกที่จะได้รับยาต้องยอมรับเงื่อนไข 8 ข้อที่อนุกรรมการระบุ อาทิ ต้องให้แพทย์เป็นผู้สั่งจ่ายยา คลีนิกต้องขึ้นทะเบียนและมีมาตรการส่งตัวผู้ป่วยให้โรงพยาบาล อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องที่ สธ.ต้องไปพูดคุยกับคลีนิกที่จะเข้าโครงการ เพื่อแก้ปัญหาการสั่งจ่ายยารักษาล่าช้า" นพ.ภูมินทร์กล่าว

          ด้านนายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการ สธ. กล่าวถึงเงื่อนไข 8 ข้อที่คลีนิกเข้าร่วมโครงการจ่ายยาต้านไวรัสว่า อยู่ระหว่างการตรวจทานความถูกต้อง โดยจะแถลงรายละเอียดวันที่ 29 กรกฎาคมนี้ เวลา 11.00 น. ที่ สธ. พร้อมแถลงการณ์การระบาดของโรคประจำสัปดาห์ จากนั้นจะประชุมนายแพทย์สาธารณสุขทุกจังหวัด (นพ.สสจ.) และจะแจกข้อสรุปเงื่อนไขดังกล่าวเป็นคู่มือ เพื่อให้คลีนิกที่เข้าร่วมโครงการปฏิบัติตาม เพราะหากจ่ายยาไม่รัดกุมอาจเกิดปัญหาขึ้น ยาที่เหลืออีกประมาณ 40 ล้านเม็ดจะกลายเป็นแป้งไปหมด

  "วิทยา" ปัดถูกบีบนำร่อง "ราชบุรี"

          นายวิทยา กล่าวว่า ส่วนการที่เกรงว่าคลีนิกจะจ่ายยาต้านไวรัสในราคาที่สูงขึ้นนั้น ไม่กังวล ประชาชนรู้ดีว่าราคาต้นทุนของยาชนิดนี้ที่องค์การเภสัชกรรม (อภ.) จำหน่ายเม็ดละ 25 บาท ประชาชนต้องพิจารณาเองว่า จะเข้ารับการรักษาพยาบาลที่ใด แต่หากใช้บริการในโรงพยาบาลของรัฐทุกแห่งทั่วประเทศที่อยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพจะให้การรักษาฟรี นายวิทยา ยังปฏิเสธข่าวถูกนักการเมืองกดดันให้นำร่องจ่ายยาต้านไวรัสให้คลีนิกใน จ.ราชบุรี ว่า ไม่ใช่ แต่เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ที่อยู่ภายใต้กรอบที่คณะอนุกรรมการกำหนดไว้อยู่แล้ว และมีเงื่อนไขที่ชัดเจน จึงไม่ทราบว่าฝ่ายการเมืองที่ว่าหมายถึงใคร

          "นักการเมืองใน สธ. มีเพียง 2 คน คือ ผมและนายมานิต (นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการ สธ.) แต่ขอยืนยันว่าไม่เคยเข้าไปล็อบบี้ในเรื่องนี้ เพียงแต่ได้เสนอปัญหาที่ผ่านมาให้ทีมผู้เชี่ยวชาญ ทราบข้อมูลว่า ผู้ป่วยจำนวนหนึ่งที่เสียชีวิตเพราะมีโรคประจำตัว อีกส่วนหนึ่งไปรักษาและได้รับยาช้า" นายวิทยา กล่าว

  "มานิต" อ้างคิดเร็วหวังหยุดตาย

          ด้านนายมานิต กล่าวว่า ขณะนี้มี จ.ราชบุรี เพียงจังหวัดเดียวที่มีการนำร่องให้จ่ายยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ให้กับคลินิกประมาณ 150 แห่ง ให้ยาคลีนิกละ 5 ชุดรักษา โดยเริ่มจ่ายยาให้ตั้งแต่วันที่ 25 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยการตัดสินใจดำเนินการดังกล่าว ยังไม่ผ่านความเห็นชอบจากทีมผู้เชี่ยวชาญของ สธ.แต่อย่างใด เป็นการตัดสินใจร่วมเพียง 2 คน คือ ตนเป็นผู้ขอหารือร่วมกับ นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัด สธ. เท่านั้น

          "ยอมรับว่าผมคิดเร็ว ตัดสินใจเร็วไปหน่อย ยังไม่ได้หารือกับผู้เชี่ยวชาญ ก็ตัดสินใจนำร่องจ่ายยาต้านไวรัสทันที สาเหตุที่ต้องเร่งตัดสินใจ เพราะหากไม่นับกรุงเทพฯ จ.ราชบุรี จะเป็นจังหวัดมีจำนวนผู้ป่วยมาก และมีเสียชีวิตมากที่สุดคือ 7 คน จึงต้องการแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน เพื่อลดจำนวนผู้เสียชีวิตให้ได้ โดยช่วง 2 - 3 วันที่ผ่านมา คลีนิกได้เริ่มจ่ายยาให้ผู้ป่วยบ้างแล้ว และในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา จ.ราชบุรี ยังไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่มแต่อย่างใด" นายมานิตกล่าว 

          ศ.ดร.อัมมาร สยามวาลา ประธานอนุกรรมการพัฒนาระบบการเงินการคลัง ในคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า หาก สธ.จะจ่ายยาต้านไวรัสให้กับคลีนิก รัฐบาลจะต้องสนับสนุนยาชนิดนี้ให้กับคลีนิกฟรี หรือจะต้องเป็นผู้แบกรับภาระค่ายาที่คลีนิกเรียกเก็บจากผู้ป่วย เนื่องจากผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาและได้รับยาจากโรงพยาบาลไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย หากจะดำเนินการในคลีนิกต้องไม่เสียค่าใช้จ่ายด้วย

  ใช้ 424 อาสาสมัครทดลองวัคซีน

          นพ.วิชัย โชควิวัฒน ประธานคณะกรรมการบริหารองค์การเภสัชกรรม (บอร์ด อภ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาการศึกษาวิจัยในคน กล่าวถึงความคืบหน้าการเตรียมอาสาสมัครสำหรับทดลองวัคซีนไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ว่า การผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 2009 ชนิดเชื้อเป็นแบบพ่นเข้าโพรงจมูก ที่ อภ.ได้รับหัวเชื้อ และเทคโนโลยีการผลิตมาจากประเทศรัสเซียนั้น ล่าสุดอยู่ระหว่างการเพิ่มจำนวนในไข่ไก่ฟัก เพื่อให้ได้เชื้อในปริมาณมากพอ เบื้องต้นคาดว่าไม่น่ามีปัญหาและจะสามารถผลิตวัคซีนล็อตแรกได้ในวันที่ 12 สิงหาคมนี้ จากนั้นจะนำมาทดสอบในมนุษย์ ขณะนี้ได้มอบหมายให้ รศ.พญ.พรรณี ปิติสุทธิธรรม หัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์เขตร้อน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดลและคณะทำงานเป็นผู้รับผิดชอบ ในการจัดหาอาสาสมัครที่เข้าร่วมทดลองวัคซีนดังกล่าวจำนวนทั้งสิ้น 424 คน ซึ่งเป็นตัวเลขมาตรฐานในการทดลองวิจัยในมนุษย์ ที่สหภาพยุโรป หรืออียู เป็นผู้กำหนด

  "สงขลา - พิจิตร" เสียชีวิตอีก 2

          นพ.สุเทพ วัชรปิยานันทน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) สงขลา เปิดเผยถึงสถานการณ์การระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 ใน จ.สงขลา ว่า ขณะนี้มีผู้ป่วยสะสม 223 ราย เสียชีวิต 1 ราย เป็นชายอายุ 40 ปี โดยผู้เสียชีวิตเป็นกลุ่มเสี่ยง เนื่องจากโรคอ้วนมีน้ำหนักตัวมากกว่า 100 กิโลกรัม และมีโรคหอบหืดเป็นโรคประจำตัว ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน

          นายสมชัย หทยตันติ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร กล่าวว่า มีชายอายุ 42 ปี อยู่ อ.บึงนาราง จ.พิจิตร เสียชีวิตด้วยไข้หวัดใหญ่ 2009 เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคมที่ผ่านมา เป็นรายแรกของ จ.พิจิตร ทั้งนี้ผู้เสียชีวิตมีประวัติเป็นโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง

          นพ.สัญชัย ปิยะพงษ์กุล นพ.สสจ.อุดรธานี กล่าวว่า  มีผู้เสียชีวิตจากไข้หวัดใหญ่ 2009 แล้ว 3 ราย แต่ยืนยันผลจาก สธ.  1 ราย อีก 2 รายอยู่ระหว่างรอผลการตรวจ โดยรายแรกเป็นผู้ชายอายุ 55 ปี มีโรคประจำตัวคือ โรคเก๊าต์และโรคสะเก็ดเงิน รายที่ 2 อายุ 29 ปี มีโรคแทรกซ้อนคือ ปอดแตก และรายที่ 3 อายุ 31 ปี  ไม่มีโรคแทรกซ้อนและโรคประจำตัว



ขอขอบคุณข้อมูลจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ครม.อนุมัติ 450 ล้าน คุม ไข้หวัด 2009 โพสต์เมื่อ 29 กรกฎาคม 2552 เวลา 08:41:18
TOP